Categories
บทเรียนพระคัมภีร์

1โครินธ์ บทที่ 8

อาหารบูชารูปเคารพ

 

พระธรรม        1โครินธ์ 8:1-13

อ้างอิง             1คร.3:18;7:25;10:19,28;13:8,9,12;2คร.6:3

บทนำ             อาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรับประทาน แต่การรับประทานอาหารที่บูชารูปเคารพนั้นจำเป็นต้องรับประทานหรือไม่ นั่นคือประเด็นปัญหาที่ อ.เปาโลนำมาอภิปรายกันในบทนี้ และบทที่ 10

 

บทเรียน

8:1 “เรื่อง​ของ​อาหาร​ที่​บูชา​รูป‍เคารพ​นั้น เรา​ทั้ง‍หลาย​ทราบ​แล้ว​ว่า “ทุก‍คน​ต่าง​ก็​มี​ความ​รู้” ความ​รู้​นั้น​ทำ​ให้​ลำ‌พอง แต่​ความ​รัก​เสริม‍สร้าง​ขึ้น”

(Now concerning food offered to idols: we know that “all of us possess knowledge.” This “knowledge” puffs up, but love builds up. )

8:2 “ถ้า​ใคร​ถือ‍ว่า​ตัว​รู้​สิ่ง‍ใด​แล้ว คน‍นั้น​ยัง​ไม่​รู้​ตาม​ที่​ตน​ควร​จะ​รู้”

     (If anyone imagines that he knows something, he does not yet know as he ought to know. )

8:3 “แต่​ถ้า​ใคร​รัก​พระ‍เจ้า พระ‍เจ้า​ก็​ทรง​รู้‍จัก​ผู้‍นั้น”

     (But if anyone loves God, he is known by God.)

8:4 “เพราะ‍ฉะนั้น การ​กิน​อาหาร​ที่​บูชา​รูป‍เคารพ​นั้น เรา​รู้​อยู่​แล้ว​ว่า “รูป‍เคารพ​ใน​โลก​นี้​เป็น​สิ่ง‍ไร้‍สาระ” และ “มี​พระ‍เจ้า​แท้‍จริง​เพียง​องค์​เดียว” 

   (Therefore, as to the eating of food offered to idols, we know that “an idol has no real existence,”   and that “there is no God but one.” )

8:5 “และ​แม้​จะ​มี​หลาย​สิ่ง​ที่​เขา​เรียก​กัน​ว่า​เจ้า​ใน​สวรรค์​และ​บน​แผ่น‍ดิน​โลก ราว​กับ​ว่า​มี​พระ‍เจ้า​และ​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​มาก‍มาย”

     (For although there may be so-called gods in heaven or on earth—as indeed there are many “gods” and many “lords”— )

8:6 “แต่​ว่า​สำหรับ​เรา​นั้น​มี​พระ‍เจ้า​องค์​เดียว​คือ​พระ‍บิดา ทุก‍สิ่ง​เกิด‍มา​จาก​พระ‍องค์​และ​เรา​อยู่​เพื่อ​พระ‍องค์ และ​มี​พระ‍เยซู‍คริสต์​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​เพียง​องค์​เดียว ทุก‍สิ่ง​เกิด​มา​โดย​พระ‍องค์​และ​เรา​ก็​เป็น​มา​โดย​พระ‍องค์”

    (yet for us there is one God, the Father, from whom are all things and for whom we exist, and one  Lord, Jesus Christ, through whom are all things and through whom we exist.)

8:7 “แต่​ไม่‍ใช่​ว่า​ทุก‍คน​มี​ความ​รู้​อย่าง‍นี้ เพราะ​มี​บาง‍คน​ที่​เคย​นับ‍ถือ​รูป‍เคารพ​มา​ก่อน เมื่อ​กิน​อาหาร​นั้น​ก็​ถือ‍ว่า​เป็น​ของ​บูชา​แก่​รูป‍เคารพ​จริงๆ และ​มโน‌ธรรม​ของ​พวก‍เขา​ยัง​อ่อน‌แอ​อยู่ จึง​เป็น​มลทิน” 

    (However, not all possess this knowledge. But some, through former association with idols, eat  food as really offered to an idol, and their conscience, being weak, is defiled. )

8:8 “อาหาร​ไม่‍ได้​ทำ​ให้​เรา​ใกล้‍ชิด​พระ‍เจ้า ถ้า​เรา​ไม่​กิน เรา​ก็​ไม่​ด้อย​ลง ถ้า​กิน เรา​ก็​ไม่‍ได้​ดี​ขึ้น” 

     (Food will not commend us to God. We are no worse off if we do not eat, and no better off if  we do.)

8:9 “แต่​จง​ระวัง​อย่า​ให้​สิทธิ​ของ​พวก‍ท่าน ทำ​ให้​พวก​ที่​มี​ความ​เชื่อ​อ่อน‌แอ​สะดุด”

           (But take care that this right of yours does not somehow become a stumbling block to the weak. )

8:10 “เพราะ‍ว่า​ถ้า​ใคร​เห็น​ท่าน​ที่​มี​ความ​รู้ นั่ง​รับ‍ประ‌ทาน​อาหาร​ใน​โบสถ์​ของ​รูป‍เคารพ มโน‌ธรรม​ที่​อ่อน‌แอ​ของ​คน‍นั้น​ก็​จะ​เหิม​ขึ้น​และ​กิน​ของ​ที่​บูชา​แก่​รูป‍เคารพ​ไม่​ใช่​หรือ?”

       (For if anyone sees you who have knowledge eating in an idol’s temple, will he not be encouraged, if his conscience is weak, to eat food offered to idols? )

8:11 “ความ​รู้​ของ​ท่าน​จะ​ทำ​ให้​พี่‍น้อง​ที่​มี​ความ​เชื่อ​อ่อน‌แอ ซึ่ง​พระ‍คริสต์​ทรง​ยอม​วาย‍พระ‍ชนม์​เพื่อ​เขา​ต้อง​พินาศ​ไป”

      (And so by your knowledge this weak person is destroyed, the brother for whom Christ died.)

8:12 “และ​เมื่อ​พวก‍ท่าน​ทำ​ผิด​ต่อ​พี่‍น้อง​เช่น‍นี้ และ​ทำ‍ร้าย​มโน‌ธรรม​ที่​อ่อน‌แอ​ของ​พวก‍เขา ท่าน​ก็​ทำ​ผิด​ต่อ​พระ‍คริสต์​ด้วย”

     (Thus, sinning against your brothers and wounding their conscience when it is weak, you sin against Christ. )

8:13 “เพราะ‍ฉะนั้น​ถ้า​อาหาร​เป็น​เหตุ​ที่​ทำ​ให้​พี่‍น้อง​ของ​ข้าพ‌เจ้า​สะดุด ข้าพ‌เจ้า​จะ​ไม่​กิน​เนื้อ‍สัตว์​อีก‍ต่อ‍ไป เพื่อ​ว่า​จะ​ไม่​ทำ​ให้​พี่‍น้อง​ต้อง​สะดุด”

   (Therefore, if food makes my brother stumble, I will never eat meat, lest I make my brother stumble.)

 

ข้อมูลมีประโยชน์

 8:1       “เรื่องของอาหารที่บูชารูปเคารพนั้น” (concerning food offered to idols) = อีกเรื่องหนึ่งที่ชาวโครินธ์เขียนจดหมายไปถาม อ.เปาโล (7:1)

“บูชารูปเคารพ” = เซ่นไหว้รูปเคารพ

= การถวายเครื่องเซ่นบนแท่นบูชาของคนต่างชาติ ปุโรหิตจะรับประทานเนื้อที่เหลือจากการเซ่นไหว้หรือผู้ที่ถวายกับญาติมิตรจะรับประทานเนื้อที่เหลือในงานเลี้ยงที่วิหาร (ข.10) หรือไม่ก็เอาไปขายในตลาดเนื้อทั่วไป คริสเตียนบางคนในเมืองโครินธ์เชื่อว่า ถ้ากินเนื้อนั้นเข้าไปเท่ากับว่า ได้มีส่วนในการนมัสการรูปเคารพด้วย ทำให้เสียคำพยานเพื่อพระคริสต์ แต่ก็มีคริสเตียนคนอื่นไม่ได้คิดเช่นนั้น

“ทุกคนต่างก็มีความรู้” (all of us possess knowledge) –รม.15:14

“ความรู้นั้นทำให้ลำพอง” (This “knowledge” puffs up) = ความรู้ทำให้คนบางคนหยิ่งผยองเกินควร

“แต่ความรักเสริมสร้างขึ้น” (but love builds up  ) = ข้อเตือนสติใน ข้อ 7-13

8:2    “ยังไม่รู้ตามที่ตนควรจะรู้” (he does not yet know as he ought to know) =แม้แต่คริสเตียนที่มีปัญญามากที่สุด และมีความรู้มากที่สุด ก็ยังมีความรู้อย่างจำกัด เพราะมีแต่พระเจ้าผู้เดียวเท่านั้นที่รู้ทั้งหมดทุกสิ่ง

8:3   “แต่ถ้าใครรักพระเจ้า พระเจ้าก็ทรงรู้จักผู้นั้น”(But if anyone loves God, he is known by God)

=สิ่งที่มีค่ามากกว่า ความรู้ ก็คือ ความรัก

ความรักของพวกเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า พระเจ้าทรงยอมรับพวกเขาและจะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างฐานะประชากรของพระองค์ (กท.4:9)

-คำยืนยันของเปาโลเหมือนกันคำฮีบรูในพันธสัญญาเดิมว่า “ยาดา” ที่แปลว่า ”รู้จัก”

เช่น ปฐก.18:19 (ได้เลือก) ;2ซมอ.7:20;สดด.1:6 (ทรงดูแล); อมส.3:2 (ได้เลือกสรร) ;นฮม.1:7(ห่วงใย)

8:4  “รูปเคารพในโลกนี้เป็นสิ่งไร้สาระ” (an idol has no real existence) = ไม่มีความหมายอะไร ไม่ได้เป็นพระเจ้าจริง ๆ และไม่มีฤทธิ์อำนาจใด ๆ (สดด.115:4-7;135:15-17;อสย.44:12-20 และเชื่อว่ามีวิญญาณต่าง ๆ (ที่ไม่บริสุทธิ์) อยู่เบื้องหลัง

8:5  “มีหลายสิ่งที่เขาเรียกกันว่าเจ้า” (although there may be so-called gods) = เทพเจ้าตามตำนานของกรีกและโรมัน

8:6       “มีพระเจ้าองค์เดียว” (one Lord ) –ฉธบ.6:4

“ทุกสิ่งเกิดมาจากพระองค์…ทุกสิ่งเกิดมาโดยพระองค์” (all things and for whom we exist…through whom are all things) = พระเจ้าพระบิดาเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งพระองค์ทรงสร้าง (กจ.4:24;รม.11:36)

“และมีพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว” (one Lord, Jesus Christ) –ฮบ.2:10 ,พระเยซูเป็นพระเจ้าพระบุตรผู้ทรงร่วมกับพระบิดาในการทำให้ทุกสิ่งเกิดขึ้น (ยน.1:3;คส.1:136;ฮบ.1:2)

8:7     “มีความรู้เช่นนี้” (this knowledge) = รู้ว่ารูปเคารพเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความว่างเปล่า ไม่มีตัวตนจริง ๆ -1คร.8:1

“นับถือรูปเคารพ” (idols) = เซ่นไหว้รูปเคารพ

= กราบไหว้เทพเจ้าที่มีรูปเคารพเป็นตัวแทน

“นโมธรรมของพวกเขายังอ่อนแออยู่จึงเป็นมลทิน” (their conscience, being weak, is defiled)

= พวกเขาคิดว่า การรับประทานเนื้อที่เซ่นไหว้รูปเคารพเท่ากับเข้าไปมีส่วนในการนมัสการรูปเคารพนั้น และเป็นการกระทำบาปต่อพระเจ้า –รม.14:14;1คร.10:28

8:8    “อาหารไม่ได้ทำให้เราใกล้ชิดพระเจ้า” (Food will not commend us to God) –รม.14:17

8:9   “สิทธิของพวกท่าน” (this right of yours) = อิสรเสรีที่เรามี

= การกินเนื้อที่เซ่นไหว้รูปเคารพ เพราะรู้ว่ารูปเคารพนั้นไม่มีความหมายอะไรให้ต้องกังวลเกินเหตุ (ข.4)

          “พวกที่มีความเชื่ออ่อนแอ” (stumbling block to the weak) = คริสเตียนที่มีจิตสำนึกยังอ่อนและคิดว่าการกินอาหารที่เซ่นไหว้รูปเคารพเป็นสิ่งผิดแน่ ๆ จะประนีประนอมไม่ได้เด็ดขาด

8:10     “ท่านที่มีความรู้” (you who have knowledge) –ข.1,4,8

“นั่งรับประทาอาหารในโบสถ์ของรูปเคารพ” (eating in an idol’s temple) = นักโบราณคดี ค้นพบวิหาร 2 แห่งตรงบริเวณหรือโครินธ์โบราณ ซึ่งมีห้องสำหรับกินเลี้ยงเนื้อที่ถวายแก่รูปเคารพแล้ว

= งานเลี้ยงแบบที่คริสเตียนอาจได้รับเชิญจากเพื่อนต่างศาสนาให้ไปร่วมด้วย

8:12    “ทำร้ายมโนธรรมที่อ่อนแอของพวกเขา” (wounding their conscience when it is weak) การกินเนื้อที่เซ่นไหว้เคารพ โดยที่เจ้าตัวรู้สึกว่าผิด มีส่วนทำให้จิตสำนึกของคน ๆ นั้นตายด้านมากขึ้น และเขาอาจจะทำผิดได้ง่ายขึ้นในภายหน้า ทำให้เกิดทำผิดที่ก่อเกิดความวิบัติในทางจิตวิญญาณและในทางศีลธรรมได้

“ท่านก็ทำผิดต่อพระคริสต์ด้วย” (you sin against Christ. ) –มธ.10:40;18:5;มก.9:37;ลก.9:48;รม.14:15,19-20

8:13     “ข้าพเจ้าจะไม่กินเนื้อสัตว์อีกต่อไป” (I will never eat meat) –เปาโลใช้ตัวเองเป็นแบบอย่างให้แก่คริสตจักรที่จะปฏิบัติตาม (รม.14:21)

 

คำถามนำอภิปราย

  1. ปกติคุณรับประทานอาหารไหว้รูปเคารพหรือไม่? ทำไม?
  2. หากคุณรับประทานตามข้อ 1 เคยมีคนสะดุดในสิ่งที่คุณทำหรือไม่? แล้วคุณตอบว่าอย่างไร?
  3. หากคุณไม่เคยรับประทานตามข้อ 1 คุณเคยสะดุดที่เห็นคนอื่นกระทำเช่นนั้นหรือไม่? แล้วคุณทำอย่างไร?
  4. คุณเคยมีปัญหาหรือความขัดแย้ง ระหว่าง “ความรู้” กับ “ความรัก” บ้างหรือไม่? ในเรื่องอะไร?
  5. คุณเคยกระทำบางสิ่งแล้วรู้สึกผิด รบกวนใจบ้างหรือไม่? ในเรื่องอะไร? แล้วคุณทำต่อไปหรือไม่? ทำไม?
  6. คุณเคยทำในสิ่งที่คุณแน่วใจว่าไม่ผิด แต่คนอื่นเห็นว่าผิดบ้างหรือไม่? เรื่องอะไร? แล้วผลเป็นอย่างไร?
  7. นอกจากอาหารไหว้รูปเคารพแล้ว คุณเคยมีปัญหากับการรับ “ประทานอาหาร” ประเภท อื่นใดหรือไม่?

ทำไม? แล้วคุณแก้ปัญหาอย่างไร?

ศจ.ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

Categories
บทเรียนพระคัมภีร์

บทเรียนพระคัมภีร์ (แปล) มัทธิว บทที่ 1

บทที่ 1 — ต้นกำเนิดพระเยซูคริสต์ (มัทธิว 1:1-25)

คำนำ

เราทุกคนคุ้นเคยกับถ้อยคำที่แตะต้องใจจากปลายปากกาของ อ.เปาโลเป็นอย่างดี :

พระคัมภีร์ (ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และ) เป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การปรับปรุงแก้ใข คนให้ดี และการอบรมในทางธรรม เพื่อคนของพระเจ้า จะพรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง (2 ทิโมธี 3:16-17)2

แต่พอมาถึงพระกิตติคุณมัทธิว 1:1-17 เราเหมือนถูกทดสอบต่อคำพูดของ อ.เปาโลในทันที พวกเรากี่คนกันที่เห็นว่า ลำดับพงศ์พันธ์ ตามที่บันทึกในพระคัมภีร์ “มีประโยชน์” หรือ “มีสาระสำคัญ” สำหรับเรา? พูดตามตรงนะครับ พออ่านมาถึงเรื่องลำดับพงศ์พันธ์ มีความรู้สึกอยากข้ามไปทุกที แต่เมื่ออดทนอ่าน (เวลาอ่านทั้งเล่ม) ผมมักสงสัยว่าผมได้อะไรจากเรื่องลำดับพงศ์พันธ์นี้

ผมชอบเข้าข้างตัวเอง คิดเอาว่าเรื่องลำดับพงศ์พันธ์นั้น “น่าเบื่อ” และ “ไม่เกิดประโยชน์” สู้พระวจนะตอนอื่นๆไม่ได้ แต่พออ่านบทแรกของมัทธิว รู้สึกทึ่งครับ ลองคิดดู : พระกิตติคุณมัทธิวเป็นหนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ใหม่ แต่เริ่มต้นด้วยลำดับพงศ์พันธ์ของพระเยซูคริสต์ แปลว่าหนังสือเล่มนี้มีบทนำ เริ่มด้วยการพูดถึงลำดับวงศ์ตระกูล แถมยังเป็นบทนำของหนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ใหม่ทั้งหมดด้วย

ตามปกติ เวลาเทศนาผมมักมีปัญหาทุกครั้ง เพราะต้องหาเรื่องเล่า เพื่อนำร่องเข้าสู่คำเทศนา ผมพยายามหาเรื่องที่ดึงความสนใจผู้ฟัง เพื่อโยงเข้าสู่พระวจนะตอนที่จะใช้เทศนาให้ลื่นไหลไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เป็น นักเทศน์มา ไม่เคยเลยสักครั้ง ที่จะเกริ่นนำการเทศนา ด้วยเรื่องลำดับพงศ์พันธ์

เนื่องจากผมและมัทธิว มีแนวคิดที่แตกต่างกัน จึงขอบอกว่าผมเองเป็นฝ่ายพลาด ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าอย่างท่านมัทธิว ผู้เขียนหนังสือมหัศจรรย์เล่มนี้ ทำให้ต้องกลับมาทบทวนใหม่ ว่าทำไมมัทธิวถึงเห็นว่า การนำเรื่องลำดับพงศ์พันธ์ขึ้นมาเกริ่นนั้นน่าสนใจ ในขณะที่ผมกลับเห็นเป็นตรงข้าม บทเรียนตอนนี้ ผมจะพยายามหาข้อมูลมาสนับสนุนเรื่องบทนำของมัทธิว เราผู้เชื่อทั้งใหม่และเก่าจะได้รับ “ประโยชน์” ใด จากลำดับพงศ์พันธ์นี้

เวลาอ่าน “คำเทศนาบนภูเขา” หรือคำอุปมาเรื่องใดเรื่องหนึ่งในพระกิตติคุณมัทธิว แน่นอน เรารู้สึกว่าน่าสนใจกว่าเรื่องลำดับพงศ์พันธ์ในมัทธิว 1:1-17 แต่บางครั้งเรื่องที่เราว่าไม่น่าสนใจนี้ กลับกลายเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มหาศาลในชีวิตจริง เรารู้อยู่ว่าเรื่องวงศ์ตระกูลเป็นเรื่องสำคัญ สมมุติว่าผมอยากหาซื้อหมาดีๆสักตัว เรื่องแรกที่ต้องคิด คือสายพันธ์ของมัน (เพ็ดดิกรี) ผมต้องอยากรู้ว่าในสายพันธ์ของมัน มีใครเป็นแชมเปี้ยนบ้าง หรือสมมุติว่าผมอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ ว่ามีเศรษฐีชื่อนายเดฟฟินบาวว์ (ผู้เขียน) ตายโดยไม่มีทายาทรับมรดก แน่นอน ผมต้องอยากรู้ที่มาที่ไปของนายคนนี้ มีลูกหลานหลายคน ใช้เวลาทุ่มเทสืบเสาะ ค้นหาต้นตระกูลของตน มีเหตุผลหลายประการ ที่ทำไมคนเราถึงอยากรู้รากเหง้าของต้นตระกูลตัวเอง

เรื่องลำดับพงศ์พันธ์เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนยิว กษัตริย์อิสราเอลต้องเป็นยิว ไม่ใช่คนต่างชาติจากที่ไหนก็ได้ (ฉธบ. 17:15) ต่อมามีการเปิดเผยว่า ต้องเป็นยิวที่สืบเชื้อสายมาทางดาวิดเท่านั้น (2 ซามูเอล 7:14) เมื่อชาวยิว อพยพกลับจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน เรื่องสำคัญที่ต้องรีบทำคือ แสดงตนว่าเป็นชาวยิวแท้ สามารถสืบประวัติย้อนกลับไปต้นตระกูลได้ คนจะรับตำแหน่งปุโรหิตได้ ต้องมีชื่อบันทึกอยู่ในลำดับพงศ์พันธ์ (เอสรา 2:62) นักเขียน ชื่อบรูเนอร์ เล่าให้ฟังว่า รับไบฮีเลล (Rabbi Hillel) มีความภูมิใจมากที่สามารถสืบเสาะ ย้อนกลับไปไกลถึงต้น ตระกูลของท่าน – กษัตริย์ดาวิด – บรูเนอร์ยังเล่าอีกว่าโจเซฟัส เริ่มเขียนชีวประวัติของตนเองด้วยเรื่องวงศ์ตระกูล ต่อมากษัตริย์เฮโรดผู้ยิ่งใหญ่ เป็นลูกครึ่งยิว-เอโดม แน่นอนชื่อและลำดับพงศ์พันธ์ของท่านคงไม่มีการบันทึกไว้เป็นทางการ แต่ก็ยังมีคำสั่งให้ทำลายบันทึกนั้น เพราะถ้าไม่มีชื่อของท่านปรากฏอยู่ ท่านคงรู้สึกเสียหน้า ไม่อยากให้ใครมารู้ปูมหลังได้ 3

ข้อแตกต่างในการบันทึกลำดับพงศ์พันธ์ของพระเยซู

เรารู้ว่าในหนังสือพระกิตติคุณ ลำดับพงศ์พันธ์ของพระเยซูคริสต์มีบันทึกไว้สองแบบ แบบแรกพบได้ใน มัทธิวบทที่ 1 แบบที่สองอยู่ในพระกิตติคุณลูกา 3:23-38 มัทธิวแบ่งเรื่องลำดับพงศ์พันธ์ออกเป็นสามช่วง เริ่มจากอับราฮัมก่อน แล้วต่อลงมาเรื่อยๆ จนจบลงที่องค์พระเยซูคริสต์ ส่วนลูกาเริ่มที่องค์พระเยซูคริสต์ก่อน แล้วย้อน กลับขึ้นไปจนถึงอาดัม ผู้เป็น “บุตรพระเจ้า”

ข้อแตกต่างโดยรวมอยู่ที่ตรงรูปแบบ แต่มีบางชื่อในลำดับพงศ์พันธ์ของทั้งสองแตกต่างกัน :

ความยากอยู่ที่ตอนแรกของลูกา ซึ่งใช้ชื่อต่างกับของมัทธิว คงไม่เป็นปัญหา ถ้าเรากำลัง ศึกษาเรื่องราวของบุคคลสองคน แต่ว่าลำดับพงศ์พันธ์ทั้งสองเป็นเรื่องของพระเยซูคริสต์ นอกจากนั้น ทั้งสองเล่มใช้ทางสายของโยเซฟ สามีนางมารีย์ ผู้ทำหน้าที่เป็นบิดา-มารดาของพระองค์ที่บนโลก มัทธิวกล่าวว่าโยเซฟเป็นบุตรของยาโคบ ที่สืบเชื้อสายมาจากดาวิด โดยทางบุตรของดาวิด ที่สืบต่อๆมาทางสายของซาโลมอน (มัทธิว 1:16) และลูกากล่าวว่า โยเซฟเป็นบุตรของเฮลี ที่สืบเชื้อสายมาจากดาวิด โดยทางนาธัน ผู้เป็นบุตรของดาวิดเหมือนกัน เป็นพี่น้องกับซาโลมอน (ลูกา 3:23)4

ขณะที่หลายคนสรุปว่าปัญหานี้ยังหาทางออกไม่ได้ อีกหลายต่อหลายคนคิดอีกแบบ เจมส์ มอนท์โกเมอรี่ บอยส์ เขียนถึงความเป็นไปได้ออกมาเป็นโครงร่างที่น่าสนใจ เจย์ เกรเชม มาเคน นำมาถ่ายทอดให้ฟังเมื่อหลายปีที่แล้ว :

มีหลายวิธีที่น่าจะนำมาใช้ประนีประนอมกันขณะที่ยังหาทางออกไม่ได้ แต่ทั้งหมดแล้ว เรามักคิดกันว่า กุญแจไขปัญหาที่แท้จริงของกรณีนี้ … น่าจะอยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่า มัทธิว มีความตั้งใจดี แต่นำเสนอรายชื่อคนที่สืบทอดตำแหน่งแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น (เป็นได้ หรือมีแนวโน้มว่าเป็นไปได้) จากสายราชบัลลังก์ของดาวิด ในขณะที่ลูกาใช้วิธีย้อนถอยกลับไปทางโยเซฟ ไปทางนาธัน และดาวิด ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะนำข้อขัดแย้งระหว่างพระกิตติคุณทั้งสองเล่มมาใช้เปรียบเทียบกันเมื่อพูดถึงต้นกำเนิดของพระเยซูคริสต์ พระเป็นเจ้าของเรา 5

ผมค่อนข้างเอนเอียงไปทางบอยส์ ที่เสนอทางออกแบบที่สอง – ลำดับพงศ์พันธ์ตามของมัทธิว มาทางสายครอบครัวของ โยเซฟ ขณะที่ลำดับพงศ์ตามแบบลูกา ออกไปทางบรรพบุรุษทางสายของนางมารีย์

ตามความเห็นของผม มีทางออกที่ดีกว่าถ้ามองในมุมมองของสองสาย คือสายของโยเซฟ และสายของนางมารีย์ ทั้งคู่มีบรรพบุรุษคนเดียวกัน คือกษัตริย์ดาวิด … . จากมุมมองนี้ ความต่างระหว่างทั้งสองสาย ไม่ใช่เป็นเรื่องทายาทตาม “กฎหมาย” หรือตามความสัมพันธ์ “บิดา-บุตร” เช่นที่มาเคนเสนอ แต่ตามการสืบทอดราชบัลลังก์ ของผู้ที่นั่งบนบัลลังก์จริงๆ หรือสืบทอดจากบิดาสู่บุตรหัวปี ถึงแม้บุตรนั้นจะไม่ได้ขึ้น ครองบัลลังก์ก็ตาม6

ผมไม่ได้พยายามเสนอทางออกแบบกำปั้นทุบดิน แต่อยากชี้ให้เห็นว่ายังมีข้อขัดแย้งในลำดับพงศ์ของทั้งคู่ ฟังดูคล้ายกับที่พวกนักวิชาการชอบเสนอทางออกแบบมีเหตุมีผล จุดประสงค์ของผมคือ ต้องการแสดงให้เห็นว่าการลำดับพงศ์ของมัทธิว กระทำอย่างรอบคอบ เพื่อสอนเราถึงความจริงสำคัญบางประการ ความจริงพื้นฐานของข่าวประเสริฐในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และสำหรับชีวิตของเรา

บทเรียนจากการลำดับพงศ์ของพระกิตติคุณมัทธิว
มัทธิว 1:1-17

รูปแบบการสอนตอนนี้ขอเป็นแบบตั้งข้อสังเกตและเสนอข้อสรุป ผมขอเริ่มด้วยข้อสังเกตจากลำดับพงศ์ ตามที่บันทึก อยู่ในข้อ 1-17 ก่อน และพยายามหาข้อสรุปจากการตั้งข้อสังเกตนี้

ข้อสังเกตประการแรก : มัทธิวเริ่มด้วย “หนังสือลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นเชื้อสายของดาวิด ผู้สืบตระกูลเนื่องมาจากอับราฮัม” (มัทธิว 1:1) คำที่ว่า “หนังสือลำดับพงศ์” ในภาษากรีก แปลตรงตัวว่า “หนังสือต้นกำเนิดของพระเยซูคริสต์” ซึ่งเกือบเหมือนคำแปลภาษากรีกของปฐมกาล 2:4 และ 5:1:7

  • เรื่องฟ้าสวรรค์และแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสร้างมีดังนี้ — ในวันที่พระเจ้าทรงสร้างแผ่นดินและฟ้าสวรรค์ (ปฐมกาล 2:4)
    (คำแปลในภาษากรีก: “เรื่องปฐมกาลของฟ้าสวรรค์และแผ่นดิน ….”)
  • ต่อไปนี้เป็นหนังสือลำดับพงศ์พันธ์ของอาดัม เมื่อพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์นั้น พระองค์ทรงสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า (ปฐมกาล 5:1).
    (คำแปลภาษากรีก: “เรื่องปฐมกาล/เผ่าพันธ์ของมนุษย์/อาดัม … .”)

ข้อสรุป: ผมว่าความคล้ายคลึงกันนี้ “บังเอิญ” เอามาก ซึ่งคล้ายกับคำนำของพระกิตติคุณยอห์นข้อแรก บทที่ 1: “ในปฐมกาล พระวาทะดำรงอยู่… .” แน่นอน ยอห์นโยงตอนต้นหนังสือของเขา (และที่สำคัญที่สุดองค์พระ ผู้เป็นเจ้า )เข้ากับปฐมกาลบทที่ 1 และการทรงสร้าง ในมัทธิวที่เรากำลังศึกษาอยู่ เหมือนจะชี้เราให้ย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดพงศ์พันธ์แรกในพระคัมภีร์ อยู่ในปฐมกาลบทที่ 5 ในปฐมกาลบทที่ 5 หลังจากที่อาดัมล้มลงในความบาป พระเจ้าเคยเตือนอาดัมว่า ถ้าวันใดเขา (พวกเขา) กินจากต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว เขา(พวกเขา) จะต้องตาย (ปฐมกาล 2:17) จุดประสงค์หนึ่งในต้นกำเนิดพงศ์พันธ์ คือย้ำหนักแน่น ถึงความจริงของพระวจนะ ทุกคนที่สืบทอดพงศ์พันธ์ของอาดัมตายลงตามที่พระเจ้าตรัสไว้ทุกประการ ทำนองเดียวกับพระ กิตติคุณมัทธิว พระคัมภีร์ใหม่ เริ่มต้นด้วยลำดับพงศ์พันธ์ สิ่งนี้นอกจะย้ำเตือนเราว่า บรรดาชื่อในลำดับพงศ์พันธ์ที่เกริ่นนำนั้น ตายไปหมดแล้ว ; คำพูดของมัทธิวแฝงเป็นนัยให้รู้ว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นจุดเริ่มของเผ่าพันธ์ใหม่ ที่จะไม่มีวันตาย โดยทั่วไปลำดับพงศ์พันธ์เป็นการบันทึกรายชื่อของคนที่สิ้นชีวิตไปแล้ว พงศ์พันธ์ของพระเยซูคือจุดเริ่มต้นของเชื้อสายใหม่ เป็นเชื้อสายของผู้ที่อยู่ “ในพระคริสต์” โดยทางความเชื่อ และได้รับชีวิตนิรันดร์ นับเป็นพงศ์พันธ์ที่น่าตื่นเต้นมหัศจรรย์ ! ใครบ้างเล่า จะไม่อยากมีชื่ออยู่ในผู้สืบเชื้อสายพงศ์พันธ์ของพระเยซูคริสต์ ?

ข้อสังเกตุประการที่สอง: หลายชื่อในลำดับพงศ์นี้เป็นชื่อที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นชื่อของมนุษย์ที่มีตัวตนจริงๆ เคยมีชีวิต อยู่บนโลกนี้ แต่ก็เป็นเพียงมนุษย์

ข้อสรุป: พระเยซูทรงเป็นมนุษย์ (และเป็นพระเจ้าด้วย) มนุษย์จริงๆทีมีต้นตอ มีวงศ์ตระกูล ข้อเท็จจริงที่ว่าพระเยซูเป็นมนุษย์นั้นสำคัญยิ่ง เพราะสามารถแยกผู้ที่ยึดเอาความจริงออกจากพวกเทียมเท็จได้ :

ท่านที่รักทั้งหลาย อย่าเชื่อวิญญาณเสียทุกๆวิญญาณ แต่จงพิสูจน์วิญญาณนั้นๆ ว่ามาจากพระเจ้า หรือไม่ เพราะว่ามีผู้พยากรณ์เท็จเป็นอันมากจาริกไปในโลก โดยข้อนี้ท่านทั้งหลายก็จะรู้จัก พระวิญญาณของพระเจ้า : คือวิญญาณทั้งปวงที่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมนุษย์ วิญญาณนั้นก็มาจากพระเจ้า (1 ยอห์น 4:1-2 ผมขอย้ำความจริงนี้ด้วย)

ข้อสังเกตูประการที่สาม: ทุกคนที่อยู่ในรายชื่อพระกิตติคุณของมัทธิวล้วนแล้วแต่เป็นคนบาป บางคนก็บาปแบบไม่ธรรมดา! นี่ เป็นปัญหาหนึ่งของลำดับวงศ์ตระกูล – เพราะบรรพบุรุษของเราบางคนก็แย่เอามากๆ เราๆท่านๆคงมีโครงกระดูกบรรพบุรุษซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าบ้างไม่มากก็น้อย ถึงแม้คนดีที่สุดของตระกูล ก็ยังเรียกไม่ได้ว่าสมบูรณ์แบบ เราคงต้องให้เรื่องราวของพวกเขาเป็นบทเรียนสอนใจ ดาวิดและซาโลมอนเป็นมหาบุรุษ แต่ก็เคยทำผิดร้ายแรง ไม่ว่าจงใจหรือไม่ก็ตาม แถมบางคนยังเป็นตัวการขัดขวางแผนการและพระสัญญาของพระเจ้าด้วยซ้ำ อับราฮัมแรกๆก็พยายามชักจูงพระเจ้าให้สนับสนุนบุตรชายคนโต ที่เกิดจากหญิงรับใช้มาเป็นทายาท (ปฐก. 15:1-3) ท่านและนางซาราห์พยายามผลิตทายาทสืบสกุลผ่านทางนางฮาการ์ ทาสสาวชาวอียิปต์ (ปฐก. 16) แม้พระเจ้าจะบอกแล้วก็ตาม (ในตอนนั้น) ว่าทายาทที่พระองค์สัญญาไว้ จะเกิดจากตัวท่านเองและนางซาราห์/ซาราย (ปฐก. 17:19) อับราฮัมยังปกปิดเรื่องภรรยา เที่ยวบอกใครต่อใครว่าเป็นน้องสาว ทำให้เธอเป็นที่หมายปองของชายอื่น ท่านไม่เพียงหลอกฟาโรห์เท่านั้น (ปฐก. 12:10-20) แต่หลอกอาบีเมเลคด้วย (ปฐก. 20) และเมื่อถูกอาบีเมเลคตำหนิ ท่านกลับบอกอาบีเมเลคว่าท่านและซาราห์ทำอย่างนี้ตลอด ไม่ว่าไปที่ไหน (ปฐก. 20:13) อิสอัคบุตรของอับราฮัม ทำอย่างเดียวกับภรรยา นางรีเบคคา (ปฐก. 26:7) ตระกูลนี้มีโครงกระดูกแอบซ่อน ไว้ในตู้ มากมาย!

ข้อสรุป: พระพรที่พระเจ้าประทานให้ประชากรของพระองค์ ไม่เกี่ยวข้องกับการทำความดี มีเพียงคำอธิบายเดียวว่ามาจาก พระเมตตาและพระคุณเท่านั้น พระ พรของพระเจ้าเทลงให้คนบาปทุกคน ไม่ว่าเขาจะทำดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพระคุณที่ผ่าน มาทางพระเยซูคริสต์เท่านั้น ลำดับพงศ์ขององค์พระเยซูคริสต์ เน้นให้เห็นชัดเจนเรื่องความบาปของมนุษย์ ผมชอบในสิ่งที่ เฟรเดอริค บรูเนอร์สรุปเอาไว้ :

“เราจะเห็นว่ามัทธิวเจาะเรื่องลำดับพงศ์ของพระเยซูในพระคัมภีร์เดิม และนำมาเรียงให้เห็นชัดอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเข้าใจได้ แถมยังเป็นการประกาศข่าวประเสริฐในอีกรูปแบบ – คือรูปแบบที่ว่า พระเจ้าทรงเอาชนะและให้อภัยบาปผิดได้ สามารถนำคนบาปที่กลับใจมาทำให้แผนการ และพระประสงค์ อันยิ่งใหญ่ของพระองคในประวัติศาสตร์สำเร็จลง (สำหรับการกลับใจของยูดาห์ ปฐก. 38:26; สำหรับ ดาวิด 2 ซมอ. 12:13)8

ข้อสังเกตุประการที่สี่ : มัทธิวใส่ชื่อสตรีถึงสี่ท่านลงในลำดับพงศ์ของท่าน นับว่าเป็นเรื่องพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับประเพณียิว เรานึกว่าลูกาน่าจะเป็นคนที่ใส่ชื่อสตรีลงในลำดับพงศ์ เพราะท่านมักให้ความสำคัญกับสตรี แต่กลับกลายเป็นมัทธิวที่ออกจะยิวแท้ ใส่ชื่อสตรีทั้งสี่ท่านนี้ลงไป สตรีทั้งสี่ท่านนี้ไม่ใช่คนสำคัญยิ่งใหญ่ใดในพระคัมภีร์เดิม แถมสามท่านยังเป็นต่างชาติโดยกำเนิด ส่วนอีกคน – นางบัทเชบา เป็นต่างชาติโดยการแต่งงานกับอุรียาห์ ชาวฮิทไทต์ (มัทธิว 1:6; 2 ซมอ. 11:3) สตรีเหล่านี้ไม่ได้ใสบริสุทธิ์เหมือน “หิมะหน้าหนาว” อย่างพวกยิวจ๋าชอบกล่าวหา 9

ข้อสรุป: พระสัญญาเรื่องความรอดของพระเจ้าที่ผ่านทางพระเมสซิยาห์ มีสำหรับคนบาปที่ไม่สมควรได้รับ รวมทั้งคนต่าง ชาติด้วย .

สตรีสี่คนที่โดดเด่นที่สุดในประวัติ ศาสตร์ของยิวคือ – ซาราห์ เรเบคคา ราเชล และเลอาห์ คนแรกเป็น ภรรยาของอับราฮัม ต่อมาอิสอัค และยาโคบตามลำดับ ถึงไม่มีชื่อปรากฎอยู่ แต่ชื่อสามีของสตรีเหล่านี้มีบันทึกอยู่ในลำดับพงศ์ ซึ่งมัทธิวมีโอกาสที่จะเอ่ยชื่อสตรีเหล่านี้ขึ้นมา แต่มัทธิวกลับใส่ชื่อสตรีที่น่าสนใจอีกสี่ท่านแทน และเรื่องราวของสตรีทั้งสี่ก็ประกาศถึงพระคุณ ละพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

เรื่องอื้อฉาวของสตรีทั้งสี่ประกาศ ถึงพระเมตตาคุณของพระเจ้า ซึ่งเป็นหัวใจของพระกิตติคุณมัทธิว มัทธิวจะค่อยๆสอนเราว่า พระเยซูไม่ได้เสด็จมาในโลกนี้เพื่อคนชอบธรรม แต่เพื่อคนบาป (มัทธิว 9:13); ในลำดับพงศ์ของมัทธิว ท่านสอนว่าพระเยซูไม่ได้มาเพื่อ แต่มาโดยทางคน บาป พระเจ้าไม่ได้เสด็จมาอย่างถ่อมพระองค์ในสภาพยากจนเฉพาะวันคริสต์มาสเท่านั้น ; แต่พระองค์ทรงทำสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ในสมัยพระคัมภีร์เดิม พระเมตตาคุณของพระเจ้า เป็นความจริงลึกซึ้งที่สุดที่มัทธิวค้นพบ ทั้งจากในฉบับพระคัมภีร์ฮีบรูดั้งเดิม และในองค์พระเยซูคริสต์ (9:13; 12:7) และผ่านทางสตรีทั้งสี่ท่านนี้ี่ ท่านทำให้ความจริงเรื่องพระเมตตาคุณเด่นชัดขึ้น ด้วยลำดับพงศ์ของพระเยซูตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว

เรื่องลำดับพงศ์แรกของพระคัมภีร์ใหม่ มีเรื่องสอนใจเราอย่างน่ามหัศจรรย์ เชื้อสายตั้งแต่อับราฮัมจนถึงพระเยซูคริสต์ ผู้สืบเชื้อสายมาทางดาวิด ถูกเลือดต่างชาติปะปนอยู่นับครั้งไม่ถ้วน ตัวกษัตริย์ดาวิดเอง มีย่าทวดของย่าทวดเป็นชาวคานาอัน มีแม่ของย่าทวดเป็นคนเยริโค มีทวดเป็นชาวโมอับ และมีภรรยาเป็นคนฮิทไทต์ มัทธิวต้องการให้คริสตจักรตระหนักตั้งแต่แรกว่า ไม่ใช่แค่คณะที่ปกครองในกรุงเยรูซาเล็ม (กิจการ 15) แต่พระราชกิจของพระเจ้าเป็นสากลโลก พระองค์ไม่ได้ทรงมีความคิดแคบๆ เหมือนพวกหัวรุนแรง หรือพวกชาตินิยมนะครับ10

ข้อสังเกตุประการที่ห้า : มัทธิวมีความรอบคอบในการแสดงให้เห็นว่า เชื้อสายของพระเจ้าเป็นเชื้อสายที่ทำให้พระองค์เป็นทั้ง “บุตรดาวิด” และ “บุตรของอับราฮัม”:

“หนังสือลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นเชื้อสายของดาวิด ผู้สืบตระกูลเนื่องมาจาก อับราฮัม(มัทธิว 1:1)

อับราฮัมและดาวิดเป็นสองบุคคลใน พระคัมภีร์เดิมที่พระเจ้าทรงทำพระสัญญานิรันดร์และสำคัญมากด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์

พระเจ้าตรัสแก่อับรามว่า “เจ้าจงออกจากเมือง จากญาติพี่น้อง จากบ้านบิดาของเจ้า ไปยังดินแดน ที่เราจะบอกให้เจ้ารู้ เราจะให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ เราจะอวยพรแก่เจ้า จะให้เจ้ามีชื่อเสียงใหญ่โต เลื่องลือไป แล้วเจ้าจะช่วยให้ผู้อื่นได้รับพร เราจะอำนวยพร แก่คนที่อวยพรเจ้า เราจะสาปคนที่แช่งเจ้า บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า” (ปฐมกาล 12:1-3)

พระเจ้าตรัสแก่เจ้าว่า พระเจ้าจะทรงให้เจ้ามีราชวงศ์ เมื่อวันของเจ้าครบแล้ว และเจ้านอนพักอยู่กับ บรรพบุรุษของเจ้า เราจะให้บุตรชายคนหนึ่งของเจ้าเกิด ขึ้นสืบต่อจากเจ้าผู้ซึ่งเกิดมาจากตัวเจ้าเองและ เราจะสถาปนาอาณาจักรของเขา เขาจะเป็นผู้สร้างนิเวศเพื่อ นามของเราและเราจะสถาปนาบัลลังก์ แห่งราชอาณาจักรของเขาให้อยู่เป็นนิตย์ เราจะเป็นบิดาของเขา และเขาจะเป็นบุตรของเรา ถ้าเขากระทำผิดเราจะตีสอนเขาด้วยไม้เรียวของมนุษย์ ด้วยการเฆี่ยนแห่งบุตรมนุษย์ทั้งหลาย แต่ความรัก มั่นคงของเราจะไม่พรากไปจากเขาเสีย ดังที่เราพรากไปจากซาอูล ซึ่งเราได้ถอดเสียให้พ้นหน้าเจ้า (2ซามูเอล 7:11ข-15)

พระสัญญาแรก พระสัญญาของอับราฮัม พระเจ้าสัญญาว่าอับราฮัมจะมีบุตรชาย และโดยทางเชื้อสายของอับราฮัม พระ เจ้าสัญญาว่าจะทรงทำให้เป็นชนชาติยิ่งใหญ่ และทาง “เชื้อสาย” นี้เอง พระองค์ไม่เพียงแต่อำนวยพระพรให้อับราฮัม เท่านั้น แต่ให้ทั้งมวลมนุษยชาติ “เชื้อสาย” ที่ทรงสัญญานี้ จะเป็นแหล่งแห่งพระพร ที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในองค์พระเยซูคริสต์:

ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ถึงแม้เป็นคำสัญญาของมนุษย์ เมื่อได้ รับรองกันแล้ว ไม่มีผู้ใดจะล้มเลิกหรือเพิ่มเติมขึ้นอีกได้ บรรดาพระสัญญา ที่ได้ประทานไว้แก่อับราฮัม และพงศ์พันธุ์ของท่านนั้น มิได้ตรัสว่า และแก่พงศ์พันธุ์ทั้งหลาย เหมือนอย่างกับว่าแก่คนมากคน แต่ เหมือนกับว่าแก่คนผู้เดียวคือ แก่พงศ์พันธุ์ของท่าน ซึ่งเป็นพระคริสต์ (กาลาเทีย 3:15-16)

ในพระสัญญาที่สอง พระสัญญาของดาวิด พระเจ้าสัญญากับดาวิดว่าราชวงศ์ของท่าน จะยั่งยืนเป็นนิตย์ โดยทาง “เชื้อสาย” ของดาวิด การปกครองของพระเมสซิยาห์จะเป็นไปชั่วกาลปวสาน ดังนั้นพระเยซูจึงทรงถูกเรียกว่าเป็น “บุตรดาวิด” (มัทธิว 9:27; 12:23; 15:22; 20:30, 31; 21:9, 15;ดู 22:42-46 ด้วย)

ข้อสรุป: (1) พระเยซูทรงเป็นทั้ง “บุตรของอับราฮัม” และ “บุตรดาวิด” ทรงเป็นผู้กระทำให้ทั้งพระสัญญาอับราฮัม (ดูกาลาเทีย 3:15-16) และพระสัญญาดาวิด (ดูมัทธิว 22:42-46) สำเร็จเป็นจริง ทรงเป็นทายาทอันชอบธรรมของราชบัลลังก์ ดาวิด ; เป็นกษัตริย์ของอิสราเอล11 (2) เมื่อเราเห็นว่าพระสัญญาอับราฮัม และพระสัญญาดาวิดสำเร็จเป็นจริงในองค์พระเยซูคริสต์ ทำให้เรามั่นใจอีกครั้ง ว่าพระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ และรักษาพระสัญญาของพระองค์เสมอ ไม่ว่าพระองค์ตรัสอย่างไร พระองค์จะทำ ที่กางเขนบนเนินหัวกระโหลก พระเจ้าของเราร้องว่า “สำเร็จแล้ว” (ยอห์น 19:30) พระเจ้าทรงทำสิ่งที่ พระองค์เริ่มต้น ให้สำเร็จลงทุกประการ (ฟีลิปปี 1:6)

ข้อสังเกตุประการที่หก:12

  1. พระธรรมมาลาคี หนังสือเล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์เดิม จบลงด้วยคำพยากรณ์ที่เล็งถึงการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ และยอห์นผู้ให้บัพติสมา ผู้มาเตรียมมรรคาของพระองค์ :

“ดูเถิด เราจะส่งเอลียาห์ผู้เผยพระวจนะ มายังเจ้าก่อนวันแห่งพระเจ้า คือวันที่ใหญ่ยิ่ง และน่าสะพรึงกลัวมาถึง และท่านผู้นั้นจะกระทำให้จิตใจของพ่อหันไปหาลูก และจิตใจของลูกหันไปหาพ่อ หาไม่เราจะมาโจมตีแผ่นดินนั้นด้วยคำสาปแช่ง” (มาลาคี 4:5-6)

  1. มัทธิวหนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ใหม่ เริ่มด้วยการย้อนประวัติศาสตร์กลับไปยังพระคัมภีร์เดิม โดยใช้เรื่องลำดับพงศ์พันธ์
  2. ลำดับพงศ์ของหนังสือมัทธิวเริ่มที่อับราฮัม และจบลงที่พระเยซูคริสต์
  3. ลำดับพงศ์ของหนังสือมัทธิวครอบคลุมประวัติศาสตร์อิสราเอลทั้งหมด จากอับราฮัมถึงพระเยซูคริสต์
  4. หนังสือมัทธิว มากกว่าเล่มอื่นใด ย้ำเรื่องคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เดิมว่าสำเร็จเป็นจริง :

มัทธิวนำพระวจนะจากพระคัมภีร์เดิมมาใช้อ้างอิงไม่ต่ำกว่าสี่สิบครั้ง และใช้คำนำที่เกือบเหมือนสูตรตายตัวว่า ‘ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า ซึ่งตรัสไว้โดยผู้เผยพระวจนะ…’ มีไม่ต่ำกว่าสิบหกครั้ง 13

ข้อสรุป : ลำดับพงศ์ของมัทธิว กล่าวชัดกว่าสิ่งที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอในพระกิตติคุณทั้งเล่ม การมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์ พระราชกิจที่ทรงกระทำสำเร็จตามคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เดิมทุกข้อ แม้กระทั่งพระสัญญาของอับราฮัม และพระสัญญาของดาวิด ลำดับพงศ์นี้บอกเราว่าพระเยซูทรงเป็นผู้กระทำให้พระคัมภีร์เดิมทั้งหมดสำเร็จลงอย่างครบถ้วน ไม่ว่าเล่มใดในพระคัมภีร์เดิมที่เราเปิดดู จะพบพระคริสต์อยู่ที่นั่น

ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า บรรพบุรุษของเราทั้งสิ้นได้อยู่ใต้เมฆ และได้ผ่านทะเลไปทุกคน ได้รับบัพติศมาในเมฆและในทะเลเข้าสนิทกับโมเสสทุกคน และได้รับประทานอาหารทิพย์ทุกคน และได้ดื่มน้ำทิพย์ทุกคน เพราะว่าเขาได้ดื่มน้ำซึ่งไหลออกมาจากพระศิลา ที่ติดตามเขามา พระศิลานั้นคือพระคริสต์ (1 โครินธ์ 10:1-4 ผมขอย้ำด้วย)

เหตุฉะนั้นอย่าให้ผู้ใดพิพากษาปรักปรำท่านในเรื่องการกิน การดื่ม ในเรื่องเทศกาล วันต้นเดือน หรือวันสะบาโต สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของเหตุการณ์ที่จะมีมาในภายหลัง แต่กายนั้นเป็นของพระคริสต์ (โคโลสี 2:16-17)

นับเป็นการเริ่มต้นพระกิตติคุณที่ น่าทึ่งมาก – ด้วยการนำรายชื่อยาวเหยียดมาเสนอ! แต่สำหรับชาวยิวแล้ว เรื่องนี้ เป็นเรื่องแสนธรรมดา ซึ่งเราจะได้เห็นต่อๆไป การนำพระเยซูชาวนาซาเร็ธมาเป็นท้องเรื่องของทุกสิ่งที่พระเจ้ากระทำให้กับประชากรของพระองค์ ตั้งแต่แรกเริ่มโบราณกาล จนกระทั่งพระสัญญาทั้งสิ้นสำเร็จลงในหนังสือพระกิตติคุณ เป็นพระราชกิจสูงสุดของพระเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์มานานหลาย ร้อยปี – ในองค์พระเยซูคริสต์ 14

… ถ้ามองข้ามคำวิจารณ์ต่างๆไป มันแจ่มแจ้งเหมือนเที่ยงวันหรือไม่ว่ามัทธิวเป็นผู้เริ่มต้นของหนังสือพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม? ท่านเป็นผู้เดียวที่เชื่อมโยงพระคัมภีร์ใหม่เข้ากับพระคัมภีร์เดิม เพื่อแสดงให้เห็นพระราชกิจที่สำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ฮีบรูฉบับเดิมทุกประการ ท่านนำถ้อยคำในพระคัมภีร์เดิมมาใช้อ้างอิงมากกว่าพระกิตติคุณมาระโกและลูการวมกัน นอกจากนี้ มัทธิว (เพียงผู้เดียว) เขียนพระกิตติคุณเล่มนี้เพื่อชาวยิว เรียกว่าท่านน่าจะเป็นผู้เริ่มต้น หรือผู้นำของพระกิตติคุณทั้งสี่อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นผู้เชื่อมโยงสิ่งใหม่ให้เข้ากับสิ่งเก่าด้วย – แม้สิ่งใหม่จะเป็นการยกให้ “ยิวมาก่อน” เราควรว่าตามท่านดีกว่า ถึงจะดูล้าสมัยไปสักนิดก็ตาม!15

เป็นที่รู้กันดีว่า มัทธิวรักที่จะเล่าสิ่งที่พระเยซูทำสำเร็จตามคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เดิมตลอดเวลา ท่านจึงชอบเขียนว่า : “ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า ซึ่งตรัสไว้โดยผู้ เผยพระวจนะ…” (โดยเฉพาะ ในบทที่ 1 และ 2) ในลำดับพงศ์ของมัทธิว ท่านไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จตอนหนึ่งตอนใดในพระคัมภีร์เดิม แต่เป็นพระคัมภีร์เดิมในภาพรวมทั้งหมด พระเยซูเป็นผู้ทำให้คำพยากรณ์ และเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพระคัมภีร์เดิมสำเร็จครบถ้วนทุกประการ16

ข้อสังเกตุประการที่เจ็ด: ลำดับพงศ์ของมัทธิวมีการจัดเตรียมเป็นอย่างดี เป็นหมวดหมู่และเรียงตามลำดับ :

ดังนั้นตั้งแต่อับราฮัมลงมาจนถึงดาวิดจึงเป็นสิบสี่ชั่วคน และนับตั้งแต่ดาวิดลงมา จนถึงต้องถูกกวาดไปเป็นเชลยที่กรุงบาบิโลน เป็นเวลาสิบสี่ชั่วคน และนับตั้งแต่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่กรุงบาบิโลน จนถึงพระคริสต์เป็นสิบสี่ชั่วคน (มัทธิว 1:17)

ลำดับพงศ์ของมัทธิวแบ่งออกเป็นสามช่วง แต่ละช่วงมีสิบสี่ชื่อ17 การจะทำเช่นนี้ได้ ท่านต้องละบางชื่อไป แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะในภาษากรีก (คำว่า “เป็นบุตรของ”) หมายถึงเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษ ซึ่งอาจเป็นลูก เป็นหลาน เป็นเหลนก็ได้ ที่ผมพยายามชี้ให้เห็นคือ มัทธิวต้องการให้เราเห็นลำดับพงศ์ที่ท่านจัดเรียงไว้เป็นลำดับ

ผมพบว่า ข้อสังเกตของบรูเนอร์ ในเรื่องโครงสร้างลำดับพงศ์นี้น่าสนใจทีเดียว :

“ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องสิบสี่ชื่อ – สามช่วงนี้ให้ง่ายที่สุด เราต้องลองเรียงตัวอักษรของแต่ละช่วงใหม่ เช่นสิบสี่ชื่อ แรกจากอับราฮัมจนถึงดาวิดเป็นตัวเอนขวา (/) สิบสี่ชื่อของช่วงที่สอง จากกษัตริย์ซาโลมอนไปจนถูกต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน เอนซ้าย (\) และสิบสี่ชื่อสุดท้าย จากเป็นเชลยในบาบิโลนจนถึงพระเยซูคริสต์ เอนขวาใหม่” (/)18

บรูเนอร์แนะว่า ช่วงแรกจากอับราฮัมถึงดาวิด ทุกอย่างดูจะเป็นขาขึ้น คือดีขึ้นและดีขึ้นตามลำดับ ต่อมาบุตรของดาวิด กษัตริย์ซาโลมอน ดูจะพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ในหนังสือของบรูเนอร์ (หน้า 5) เชื่อว่าเป็นช่วงที่สำแดงเด่นถึงพระเมตตาคุณของพระเจ้า ที่เห็นเช่นนี้ได้ เพราะมีการนำชื่อสตรีต่างชาติเข้ามาบันทึกอยู่ในลำดับพงศ์

ช่วงที่สอง อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองสุดเริ่มดิ่งลง (หลังจากดาวิดและซาโลมอน) ลงไปจนถึงจุดตกต่ำที่สุด – เมื่ออิสราเอลตกไปเป็นเชลยของบาบิโลน หลังจากซาโลมอนสิ้นชีวิต อาณาจักรแตกออกเป็นสอง บรรดากษัตริย์ที่ปกครองฝ่ายเหนือมีแต่ดำเนินอยู่ในความชั่วและชั่ว ส่วนกษัตริย์ของฝ่ายยูดาห์มีทั้งดีและชั่วผสมกันไป การที่ต้องตกไปเป็นเชลยเป็นเพราะความดื้อดึง และกบฏไม่รู้จักจบสิ้นของยูดาห์ ถ้ามองด้วยสายตามนุษย์ ความหวังของอิสราเอลที่พระเจ้าจะทำตามพระสัญญาที่ให้ไว้ในพระคัมภีร์เดิมดูจะหดลงเหลือแค่หนวดแมว

ช่วงที่สาม เริ่มจะดีขึ้นอีกครั้ง พระเจ้าทรงช่วยกู้ประชากรของพระองค์ออกจากบาบิโลน และนำพวกที่เหลือกลับสู่มาตุภูมิ มีทั้งภัยอันตรายและความผิดหวัง แต่อิสราเอลเริ่มมีความหวัง

ข้อสรุป : พระเจ้าผู้ครอบครอง ทรงควบคุมอยู่เหนือประวัติศาสตร์อิสราเอล เพื่อพระประสงค์และพระสัญญาของพระองค์จะสำเร็จลงอย่างครบถ้วน เมื่อผม อ่านพระคัมภีร์เดิม ผมทึ่งเป็นที่สุดที่เห็นมนุษย์ก่อแต่เรื่องไม่รู้จบ ในขณะที่พระสัญญาของ พระเจ้ายังคงดำเนินต่อไป ดีที่สุดของมนุษย์ก็ยังเป็นคนบาป ต่ำกว่ามาตรฐานพระเจ้าชนิดสุดกู่ ดาวิดและซาโลมอน กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตมีแต่เรื่องวุ่นวาย บาปของทั้งสองสร้างผลกระทบใหญ่หลวงให้กับอิสราเอล ถ้าพระสัญญาของพระเจ้าจะ สำเร็จลงโดยต้องพึ่งคนพวกนี้ เราทั้งหลายคงจะน่าสมเพชเป็นที่สุด

เมื่อผมอ่านพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ผมมักนึกถึงพระคำตอนที่ว่า ทูตสวรรค์กำลังเฝ้าดูเหตุการณ์ต่างๆ (1 โครินธ์ 11:10; เอเฟซัส 3:10; 1 เปโตร 1:10-12) พวกทูตสวรรค์คงหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อเห็นอับราฮัมเที่ยวบอกใครๆว่าภรรยาเป็นน้องสาว และส่งนางไปให้ฟาโรห์ (ปฐก. 12:10-20) แล้วไปทำเช่นเดิมอีกกับอาบีเมเลค ทั้งๆที่พระเจ้าสัญญาจะประทานบุตรชายให้โดยนางซาราห์ (ปฐก. 17:15-21; 20:1-18) ยูดาห์เป็นต้นสายของวงศ์วานที่พระเมสซิยาห์จะมาบังเกิด (ปฐก. 49:8-12) แต่ยูดาห์เกือบจะอดมีบุตรเพราะความบาปของท่าน (ปฐก. 38) ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พวกทูตสวรรค์ต้องกลั้นหายใจ กลัวว่าพระสัญญาจะไม่มีทางเกิดขึ้นเป็นจริง ถ้ามองด้วยสายตามนุษย์ วุ่นวายสิ้นดี

วิธีการที่มัทธิวเรียบเรียงลำดับพงศ์พันธ์เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นขั้นเป็นตอน และแบ่งเป็นสามช่วง แต่ละช่วงมีสิบสี่ชื่อ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ละเอียดและเป็นระเบียบของท่าน ใช่หรือไม่? ถ้ามองตามมุมมองของมนุษย์ ดูจะมีแต่เรื่องสับสนวุ่นวาย แต่ผลลัพธ์กลับชัดเจนและเป็นเรื่องเดียว นั่นคือพระเจ้าทรงควบคุมอยู่ พระประสงค์และพระสัญญาจะเกิดขึ้นเป็นจริงเสมอ

สำหรับมัทธิว สามช่วงสิบสี่ชื่อนี้ เป็นการจัดเรียงอย่างมีระเบียบ สอดคล้องกันและมีความหมาย เมื่อมัทธิวมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ไปที่ประชากรของพระเจ้า ท่านเห็นการสืบทอดต่อมาของสิบสี่ชั่วคน คั่นด้วยแต่ละยุคของประวัติศาสตร์ – ระหว่างอับราฮัม ดาวิด การเป็นเชลย และพระคริสต์ – ท่าน เกิดความประทับใจ ในการครอบครองอยู่ของพระเจ้า ไม่ว่าจะเบื้องหลัง อยู่ภายใต้ อยู่เหนือ และตลอดความสับสนอลหม่าน ความบาป การกบฏดื้อดึง ตลอดประวัติศาสตร์ที่ขึ้นๆลงๆของอิสราเอล พระเจ้าค่อยๆทำ พระประสงค์ของพระองค์ให้สำเร็จลงแต่ละปีๆ บรรดาผู้คนที่โลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์ยุคโน้น คงคิดว่าวุ่นวายจริงหนอ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปที่พระคัมภีร์เดิม ผ่านมุมมองประวัติศาสตร์ที่พระเยซูคริสต์นำเสนอ เราเห็นพระหัตถ์อันมั่นคงและแน่นอนของพระเจ้า … สามช่วงสิบสี่ชื่อ หมายถึงการครอบครองอยู่โดยพระเจ้าของเรา 19

ข้อสังเกตุประการที่แปด : ลำดับพงศ์ของมัทธิวไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน ตามรูปแบบที่เราคิด เช่น เรียงลำดับจากอิสอัคไปยาโคบ และต่อไปที่ยูดาห์ (มัทธิว 1:2) โดยทั่วๆไป การสืบทอดวงศ์ตระกูลมักจะผ่านทางบุตรหัวปี เรารู้ว่าเอซาวเป็นบุตรคนโตของ อิสอัค ไม่ใช่ยาโคบ แต่การลำดับพงศ์กลับผ่านไปทางยาโคบ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเล่าธรรมดาๆ แต่เป็นแผนการของพระเจ้าที่สำเร็จลง :

อิสอัคอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อภรรยาของท่าน เพราะนางเป็นหมัน พระเจ้าประทานตามคำอธิษฐานของท่าน เรเบคาห์ภรรยาของท่านก็ตั้งครรภ์ เด็กก็เบียดเสียดกันอยู่ในครรภ์ของนาง นางจึงพูดว่า “ถ้าเป็นเช่นนี้ ฉันจะมีชีวิตอยู่ทำไม” นางจึงไปทูลถามพระเจ้า พระเจ้าตรัสกับนางว่า “ชนสองชาติ อยู่ในครรภ์ของเจ้า และประชาชนสองพวกเกิดจากเจ้าจะต้องแยกกัน พวกหนึ่งจะแข็งแรงกว่าอีกพวกหนึ่ง พี่จะรับใช้น้อง” (ปฐมกาล 25:21-23)

ข้อสรุป : ลำดับพงศ์ของมัทธิวเป็นข้อพิสูจน์ถึงการทรงเลือกของพระเจ้า แม้ว่าโยเซฟเป็นลูกคนโปรดของยาโคบ (และท่านแบ่งส่วนมรดกบุตรหัวปีให้หลานถึงสองเท่าโดยรับเป็นบุตรของตนเอง – ปฐมกาล 48) แต่กลับเป็นทางสายของยูดาห์ ที่พระเมสซิยาห์ทรงมาบังเกิด ยูดาห์ไม่ได้เป็นบุตรหัวปี ; รูเบนเป็น ตามด้วยสิเมโอน รูเบนเสียตำแหน่งเพราะล่วงเกิน เอาภรรยาของบิดามาเป็นของตน (ปฐมกาล 49:3-4) สิเมโอนและเลวี สังหารชาวเมืองเชเคมอย่างโหดเหี้ยม (ปฐมกาล 34) ดังนั้นการสืบทอดพงศ์พันธ์จึงไม่สามารถทำได้โดยทางสิเมโอน (ปฐมกาล 49:5-7) ตามที่ อ.เปาโลชี้ให้เห็นในหนังสือโรมบทที่ 9 ลำดับพงศ์ตามพระสัญญานั้นเป็นการทรงเลือกที่ชัดเจนยิ่งนัก :

แต่มิใช่ว่าพระวจนะของพระเจ้าได้ล้มเหลวไป เพราะว่าเขาทั้งหลายที่เกิดมาจากอิสราเอลนั้น หาได้เป็น คนอิสราเอลแท้ทุกคนไม่ และมิใช่ว่าทุกคนที่เป็นเชื้อสายของอับราฮัมเป็นบุตรแท้ของท่าน แต่ว่า เขา จะ “เรียกเชื้อสายของท่านทางอิสอัค” หมายความว่าคนที่เป็นบุตรของพระเจ้านั้น มิใช่บุตรทางเนื้อ หนัง แต่บุตรตามพระสัญญา จึงจะถือว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายได้ เพราะพระสัญญามีว่าดังนี้ :

เราจะมา ตามฤดูกาล และนางซาราห์จะมีบุตรชาย” และมิใช่เท่านั้น แต่ว่า นางเรเบคคาก็ได้มีครรภ์กับชายคนหนึ่งด้วย คืออิสอัคบรรพบุรุษของเรา— แม้ก่อนบุตรนั้นบังเกิดมา และยังไม่ได้กระทำดีหรือชั่ว เพื่อพระดำริของพระเจ้าในการทรงเลือกนั้น จะตั้งมั่นคงอยู่ ไม่ใช่ตามการประพฤติ แต่ตามซึ่งพระองค์ทรง เลือก — พระองค์จึงตรัสแก่นางนั้นว่า “พี่จะปรนนิบัติน้อง” ตามที่มีคำเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ยาโคบนั้นเรารัก แต่เอซาวเราได้ชัง” (โรม 9:6-13)

แม้ยาโคบจะต่อสู้ทั้งกับพระ เจ้าและมนุษย์ (ดูปฐมกาล 32:28) ในที่สุดท่านก็พบว่า พระเจ้าเองเป็นผู้ยกมนุษย์ขึ้นให้เหนือกว่ามนุษย์ผู้อื่น ท่านกล่าวทิ้งท้ายไว้ก่อนตายว่า :

โยเซฟเอาบุตรลงจากเข่าของท่าน แล้วกราบลงถึงดิน โยเซฟจูงบุตรทั้งสองเข้าไปใกล้บิดา มือขวาจับ เอฟราอิมให้อยู่ข้างซ้ายอิสราเอล และมือซ้ายจับมนัสเสห์ให้อยู่ข้างขวาอิสราเอล ฝ่ายอิสราเอลก็เหยียด มือขวาออกวางบนศีรษะเอฟราอิมผู้เป็นน้อง และมือซ้ายวางไว้บนศีรษะมนัสเสห์ เหยียดมือออกไขว้กันเช่นนั้น เพราะมนัสเสห์เป็นบุตรหัวปี แล้วอิสราเอลกล่าวคำอวยพรแก่โยเซฟว่า “ขอพระเจ้าที่อับราฮัมและอิสอัค บิดาข้าพเจ้า ดำเนินอยู่เฉพาะพระพักตร์นั้น ขอพระเจ้าผู้ทรงบำรุงเลี้ยงชีวิตข้าพเจ้า ตั้งแต่เกิดมาจนวันนี้ ขอทูตสวรรค์ที่ได้ช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากความชั่วร้ายทั้งสิ้น โปรดอวยพรแก่เด็กทั้งสองนี้ ให้เขาสืบชื่อ ของข้าพเจ้าและชื่อของอับราฮัม และชื่อของอิสอัคบิดาของข้าพเจ้าไว้ และขอให้เขาเจริญขึ้นเป็นมวลชน บนแผ่นดินเถิด” ฝ่ายโยเซฟเมื่อเห็นบิดาวางมือข้างขวาบนศีรษะของ เอฟราอิมก็ไม่พอใจ จึงจับมือบิดา จะยกจากศีรษะเอฟราอิมวางบนศีรษะมนัสเสห์ โยเซฟเตือนบิดาว่า “ไม่ถูก คุณพ่อ เพราะคนนี้เป็นหัวปี ขอพ่อวางมือขวาบนศีรษะคนนี้เถิด” บิดาก็ไม่ยอม ตอบว่า “พ่อรู้แล้ว ลูกเอ๋ย พ่อรู้แล้ว เขาจะเป็นคนเผ่าหนึ่งด้วย และเขาจะใหญ่โตด้วย อย่างไรก็ดีน้องชายจะใหญ่โตกว่าพี่ และพงศ์พันธุ์ของน้องนั้น จะเป็นคนหลายประชาชาติด้วยกัน” วันนั้นอิสราเอลก็ให้พรแก่ทั้งสองคนว่า “พวกอิสราเอลจะใช้ชื่อเจ้าให้พรว่า ‘ขอพระเจ้าทรงโปรดให้ท่านเป็นเหมือนเอฟราอิม และเหมือนมนัสเสห์ เถิด'” อิสราเอลจึงให้เอฟราอิมเป็นใหญ่กว่ามนัสเสห์ (ปฐมกาล 48:12-20)

โยเซฟรู้สึกหนักใจที่บิดาสับสน ไม่รู้ว่าหลานคนใดคือบุตรหัวปี สมควรได้รับมรดกตามสิทธิ ท่านพยายามนำมือบิดาไปวางไว้ที่บุตรหัวปี เพื่อจะได้รับพร แต่ยาโคบไม่สนใจทำตาม ท่านรู้ดีว่ากำลังทำสิ่งใด และในขณะที่ท่านสลับมือกลับ ผมเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นพยานอย่างดีถึงการทรงเลือกของพระเจ้าผู้ควบคุม ทุกสิ่งล้วนแล้วมาจากพระองค์ เพราะพระองค์เป็นผู้ครอบครอง ลำดับพงศ์ของมัทธิวจึงเป็นพยานถึงการทรงเลือกของพระเจ้า

ต้นกำเนิดของพระเมสซิยาห์
มัทธิว 1:18-25

ลำดับพงศ์ตามข้อ 1-17 แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ มัทธิวแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นลูกหลานของอับราฮัมและดาวิด และเป็นไปตามพระสัญญาที่ทรงกระทำไว้กับทั้งสอง เมื่อได้พิสูจน์ถึงความเป็นมนุษย์ของพระเยซูแล้ว (เป็นมนุษย์เที่ยงแท้แน่นอน) ท่านต้องเปิดเผยให้รู้ถึงต้นกำเนิดแท้จริงของพระเมสซิยาห์ พระเมสซิยาห์ไม่ได้เป็นเพียงมนุษย์เท่านั้น ; พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าด้วย – พระเจ้า ผู้สถิตกับเรา ข้อ 18-25 พูดถึงขั้นตอนที่นางมารีย์ตั้งครรภ์ มิใช่โดยโยเซฟ แต่โดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ :

เรื่องพระกำเนิดของพระเยซูคริสต์เป็นดังนี้ คือมารีย์ผู้เป็นมารดาของพระเยซูนั้น เดิมโยเซฟ ได้สู่ขอหมั้นกันไว้แล้ว ก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกันก็ปรากฏว่า มารีย์มีครรภ์แล้วด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่โยเซฟคู่หมั้นของเขาเป็นคนมีธัมมะ ไม่พอใจที่จะแพร่งพรายความเป็นไปของเธอ หมายจะถอนหมั้นเสียลับๆ แต่เมื่อโยเซฟยังคิดในเรื่องนี้อยู่ ก็มีทูตองค์หนึ่งของพระเป็นเจ้า มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า “โยเซฟบุตรดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของเจ้าเลย เพราะว่าผู้ซึ่งปฏิสนธิในครรภ์ของเธอเป็นโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ เธอจะประสูติบุตรชาย แล้วเจ้าจงเรียกนามท่านว่า เยซู เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่จะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา” ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า ซึ่งตรัสไว้โดยผู้เผยพระวจนะว่า ดูเถิด หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง และเขาจะเรียกนามของท่านว่าอิมมานูเอล (แปลว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเรา) ครั้นโยเซฟตื่นขึ้นก็กระทำตามคำซึ่งทูตของพระเจ้าสั่งนั้น คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา แต่มิได้สมสู่กับเธอจนประสูติบุตรชายแล้ว และโยเซฟเรียกนามของบุตรนั้นว่าเยซู

เราไม่มีเวลาพอจะอรรถาธิบายพระคำสุดแสนมหัศจรรย์ตอนนี้ แต่ผมขอให้ข้อสังเกตบางประการ

ข้อแรก มัทธิวมุ่งความสนใจของผู้อ่านไปที่โยเซฟ ขณะที่ลูกาให้ความสำคัญที่นางมารีย์ แต่ที่สุดแล้วน้ำหนักไปลงที่การถือกำเนิดขององค์พระเยซูคริสต์เท่าเทียมกัน แต่ทำไมมัทธิวถึงให้เราเห็นว่าเรื่องของโยเซฟนั้นสำคัญ? เหตุผลหนึ่งคือ โดยทางโยเซฟนี้เอง ที่เป็นผู้ต่อลำดับพงศ์จากดาวิดมายังพระเยซู โยเซฟไม่ได้เป็นบิดาทางกายของพระเยซู เป็นเพียงบิดาทางกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นพระเยซูจึงได้เป็น “บุตรดาวิด” โดยทางท่าน

มัทธิวเพียงต้องการให้เราเห็นข้อเท็จจริงว่าโยเซฟนั้นเป็นผู้ “มีธัมมะ” (1:19) แน่นอนท่านเป็นเช่นนั้น ผมกลัวว่าพวกเราจะมองไม่เห็นถึงบทบาทสำคัญที่โยเซฟมีต่อพระเยซูในวัยเยาว์ เราไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้ ดูเหมือนเป็นที่เข้าใจว่านางมารีย์อายุยังน้อยเมื่อมีพระเยซู – อาจในวัยรุ่น และโยเซฟนั้นอายุมากกว่า (เข้าใจกันว่าท่านเสียชีวิตก่อนพระเยซูเสด็จออกทำพันธกิจ) ผมเชื่อว่าโยเซฟมีธัมมะในใจพอ ท่านเสนอขอถอนหมั้นนางมารีย์อย่างลับๆ แทนที่จะเอาเรื่องเอาราวกับเธอทางข้อกฎหมาย เมื่อเดือนที่แล้วท่านนายกเทศมนตรีอิลลินอยส์ จอร์จ ไรอัน ยกโทษให้นักโทษประหารถึงสี่คน และบางคนลดโทษให้เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต ที่ทำเช่นนั้นเพราะเมื่อมีการสอบสวนกันอย่างรอบคอบ พบว่านักโทษบางคนบริสุทธิ์ และคนที่ทำผิดจริงถูกนำตัวมาลงโทษ ไรอันกล่าวเมื่อถูกวิจารณ์ว่า “ท่านทำในสิ่งที่กล้าหาญมาก” แต่ท่านกลับพูดว่ามันเป็นเพียง “ทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

โยเซฟคงรู้จักนางมารีย์เป็นอย่าง ดี ; รู้พื้นเพว่าเธอเป็นคนอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์และซื่อตรง เธอคงบอกโยเซฟว่า เธอไม่เคยมีสัมพันธ์กับชายใด และแน่ๆเล่าเรื่องทูตสวรรค์ที่มาพบและการตอบสนองของเอลีซาเบธ เรื่องที่มารีย์เล่าฟังดูเหลือเชื่อ จนทำให้โยเซฟคิดสงสัย …….ในความมีธัมมะของท่าน ท่านไม่ยอมให้เรื่องนี้รู้ถึงมือกฎหมาย เพราะเป็น เรื่องคอขาดบาดตาย ท่านยอมให้นางมารีย์ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเงียบๆ คอยเวลาที่ความจริงเปิดเผย เพื่อยืนยันตามคำบอกเล่าของนาง ผมคาดเดาไปเองหรือเปล่า? น่าจะใช่ แต่อยากจะบอกว่า มัทธิวบอกเราตั้งแต่ต้นว่าโยเซฟเป็นคนมีธัมมะ เพราะเหตุนี้ผมจึงคิดว่าสิ่งที่โยเซฟทำเพื่อนางมารีย์นั้น เป็นเพราะความมีธัมมะของท่าน

ต้องเป็นคนมีธัมมะในใจ และมีความเชื่อมากพอ จึงจะเชื่อคำพูดของทูตสวรรค์ในความฝันได้ว่านางมารีย์ตั้งครรภ์โดยเดชของ พระวิญญาณบริสุทธิ์ ต้องเป็นคนมีธัมมะพอที่จะรับหญิงตั้งครรภ์นี้มาเป็นภรรยา โดยที่ทุกคนคิดว่าท่านเป็นบิดาของเด็ก แลดูเหมือนทั้งคู่ทำบาปก่อนแต่งงาน ต้องเป็นคนที่สงบและมีความมั่นคงในจิตใจ พอที่จะจัดการกับสถานการณ์อันเจ็บปวดนี้ ได้ และพร้อมรับเรื่องอื่นๆที่จะตามมา เมื่อพระเยซูถือกำเนิด (ไม่ว่าการเดินทางไปเบธเลเฮม ไม่มีที่พักอาศัย) โยเซฟยอม เสี่ยงภัย ทิ้งประเทศอิสราเอล นำครอบครัวไปหลบภัยในประเทศอียิปต์ ท่านใช้สติปัญญา และเชื่อฟังการทรงนำของพระเจ้า ผ่านทางนิมิตที่มีมาหลายครั้ง พระเจ้าทรงมีพระคุณอย่างเหลือล้นที่จัดเตรียมคนเช่นนี้ให้กับนางมารีย์ เพื่อให้นางมั่นใจและสบายใจ เพื่อให้นางมีที่ปรึกษา มีผู้คอยคุ้มครองดูแลนางและบุตรที่กำลังเกิดมา!

ประการที่สอง มัทธิวมีความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง ที่ประกาศถึงการกำเนิดอันบริสุทธิ์ของพระเยซู ใน ข้อ 1-17 มัทธิวแสดง ให้เห็นต้นกำเนิดเชื้อสายของพระเยซู ซึ่งผ่านมาทางอับราฮัมและดาวิด ตอนนี้มัทธิวกำลังแสดงให้เห็นชัดว่าพระเยซูไม่ได้เป็น เพียงมนุษย์ธรรมดาเท่านั้น พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าด้วย ความเป็นพระเจ้าของพระองค์ทำให้คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกิดขึ้น เป็นจริง (อิสยาห์ 7:14, นำมาอ้างในมัทธิว 1:23) ทูตสวรรค์เองก็ประกาศถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ที่นางมารีย์ตั้งครรภ์ ทูตสวรรค์ประกาศว่าไม่ใช่เป็นเพราะมนุษย์คนใด แต่เป็นโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ข้อ 20-21) การประกาศว่าโยเซฟ มิใช่เป็นบิดาที่แท้จริงของพระเยซูนั้น กระทำด้วยความนุ่มนวลแต่ชัดเจน

ประการที่สาม ในพระคำตอนนี้ มัทธิวอธิบายถึงพระลักษณะและพระราชกิจขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยชื่อสองชื่อ ในลำดับ พงศ์ข้อ 1-17 มัทธิวโยงพระเยซูเข้ากับบุคคลสำคัญสองท่านในพระคัมภีร์เดิม : อับราฮัมและดาวิด พระเยซูทรงเป็น “บุตร ดาวิด” และทรงเป็น “บุตรของอับราฮัม” ด้วย ดังนั้นพันธสัญญาของทั้งอับราฮัมและของดาวิด จึงสำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ ต่อมาในข้อ 18-25 มัทธิวอธิบายถึงพระบุคคลของพระเยซูคริสต์และพระราชกิจของพระองค์ โดยชื่อสองชื่อของพระองค์ : (1) เยซู (โยชูวา = ยาเวห์ทรงกู้); และ (2) อิมมานูเอล (“พระเจ้าอยู่ด้วยกับเรา“)

ชื่อนี้มีความหมายมากเพียงใด? มากครับ! สำหรับชาวยิวแล้วชื่อแต่ละชื่อมีความหมายและสำคัญจนเรานึกไม่ถึง “อับราม” แปลว่า “บิดาผู้สูงส่ง” ส่วน “อับราฮัม” แปลว่า “บิดาของผู้คนมากมาย” พระเยซูทรงตั้งชื่อซีโมนว่า “เปโตร” หรือ “เปตรอส” แปลว่าศิลา ชื่อของพระเยซูบ่งถึงพระลักษณะและพระราชกิจของพระองค์ คำว่าเยซูมาจากภาษาฮีบรู โยชูวา แปลว่า “พระเยโฮวาห์เป็นความรอด” ตามที่ทูตสวรรค์แจ้งแก่โยเซฟ ว่าเด็กที่จะเกิดแก่นางมารีย์นั้น จะมีนามว่า “เยซู” “เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่จะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา” (มัทธิว 1:21) พระเยซูทรงเป็นหนทาง ความรอดของพระเจ้า เป็นผู้ที่พระเจ้าจะทำให้แผนการความรอดเพื่อคนบาปทั้งหลายสำเร็จลง พระองค์ทรงเป็นผู้เดียว ที่มีคุณสมบัติพอสำหรับพระราชกิจนี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ ทรงปราศจากบาป จึงทรงเป็น “ลูกแกะ ของพระเจ้า” ที่สมบูรณ์ ไร้ตำหนิ การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ไม่ใช่เป็นเพราะบาปของพระองค์ แต่เป็นบาปของเรา ทุกครั้งที่เราฉลองพิธีมหาสนิท เรากำลังนมัสการพระเยซูผู้เป็นพระผู้ช่วยให้รอด เป็นผู้ช่วยกอบกู้เราให้พ้นจากโทษความผิดบาป

พระเยซูทรงถูกเรียกอีกด้วยว่าเป็น องค์ “อิมมานูเอล” ตามคำพยากรณ์ของอิสยาห์ 7:14 เราไม่มีเวลาพอที่จะเจาะเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่าอิสยาห์เองยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพยากรณ์ ว่าหมายถึงพระเมสซิยาห์ที่จะเสด็จมาในอนาคต (ดู 1เปโตร 1:10-12) ตามข้อพระคำในพระคัมภีร์เดิมที่มัทธิวยกมา ยังเห็นไม่ชัดเจน เหมือนยังมีม่านบัง ถึงพระราชกิจของพระเมสซิยาห์ ซึ่งกินความหมายลึกซึ้งกว้างไกลกว่าจะบรรยายเป็นคำพูดได้ ส่วนมากสิ่งที่เป็นเหมือนม่านบัง จะไม่มีใครมองทะลุได้หมด จนพระราชกิจของพระคริสต์สำเร็จลง โดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ “อิมมานูเอล” แปลว่า “พระเจ้าอยู่ด้วยกับเรา” ในการลง มาบังเกิด พระเจ้าเสด็จเข้ามาในโลกนี้ มารับสภาพเนื้อหนัง อยู่ท่ามกลางมนุษย์ ท่านยอห์นพูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างสวยงามว่า :

พระวาทะได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง เราทั้งหลายได้เห็นพระสิริของพระองค์ คือพระสิริอันสมกับพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา ยอห์น ได้เป็นพยานให้แก่พระองค์ และร้องประกาศว่า “นี่แหละคือพระองค์ผู้ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงว่าพระองค์ผู้ เสด็จมาภายหลังข้าพเจ้าทรงเป็นใหญ่กว่าข้าพเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนข้าพเจ้า” และ เราทั้งหลายได้รับจากความบริบูรณ์ของพระองค์ เป็นพระคุณซ้อนพระคุณ เพราะว่าพระเจ้าได้ทรง ประทานธรรมบัญญัตินั้นทางโมเสส ส่วนพระคุณและความจริงมาทางพระเยซูคริสต์ ไม่มีใครเคยเห็น พระเจ้าเลย พระบุตรองค์เดียวผู้ทรงสถิตอยู่ในพระทรวงของพระบิดา พระองค์ได้ทรงสำแดงพระเจ้าแล้ว (ยอห์น 1:14-18)

การสถิตอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางเรา ไม่ใช่แป็นเวลาแค่สามสี่ปีที่พระเยซูทำพันธกิจบนที่โลก ถ้อยคำสุดท้ายของพระกิตติคุณ มัทธิว ทำให้ผู้อ่านมั่นใจว่าพระองค์จะสถิตกับเรา จนถึงสิ้นยุค :

พระเยซูจึงเสด็จเข้ามาใกล้แล้วตรัสกับเขาว่า “ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดี ทรงมอบไว้แก่เราแล้ว เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค” (มัทธิว 28:18-20)

ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงยัง “อยู่กับเรา” พระองค์ทรงส่งพระวิญญาณของพระองค์ มาอยู่ท่ามกลางเรา และภายในเรา :

เราจะทูลขอพระบิดา และพระองค์จะประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งให้แก่ท่าน เพื่อจะได้อยู่กับท่านตลอดไป คือพระวิญญาณแห่งความจริง ซึ่งโลกรับไว้ไม่ได้ เพราะแลไม่เห็นและไม่รู้จักพระองค์ ท่านทั้งหลาย รู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสถิตอยู่กับท่าน และจะประทับอยู่ในท่าน (ยอห์น 14:16-17)

สำหรับพวกเรา บ่อยครั้งหลงลืมความสำคัญของ “อิมมานูเอล” ไป เมื่อไม่นานมานี้ผมกลับไปอ่านพระคัมภีร์เดิมห้าเล่มแรกอีกครั้ง ทึ่งครับ กับสิ่งที่ธรรมิกชนในยุคพระคัมภีร์ใหม่ได้รับ การมีประสบการณ์ความชื่นชมยินดี ความรู้สึกปลอดภัย ใน “การสถิตอยู่กับเรา” ของพระองค์ ชนิดที่ธรรมิกชนในพระคัมภีร์เดิมไม่มีโอกาสได้รับ ลองคิดถึงความต่างของธรรมิกชนใน ยุคพระคัมภีร์เดิม เช่นเรื่อง “ระยะทาง” และความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้น:

พระเจ้าเสด็จลงมาบนยอดภูเขาซีนาย พระเจ้าทรงเรียกโมเสสให้ขึ้นไปบนยอดเขา โมเสสก็ขึ้นไป พระเจ้าตรัสสั่งโมเสสว่า “เจ้าจงลงไปกำชับประชาชน เกรงว่าเขาจะล่วงล้ำเข้ามาถึงพระเจ้า เพราะอยาก เห็น แล้วเขาจะพินาศเสียเป็นจำนวนมาก อีกประการหนึ่ง พวกปุโรหิต ที่เข้ามาเฝ้าพระเจ้า นั้นให้เขาชำระตัวให้บริสุทธิ์ ด้วยเกรงว่าพระเจ้าจะทรงพระพิโรธลงโทษเขา” ฝ่ายโมเสสกราบทูล
พระเจ้าว่า”ประชาชนขึ้นมาบนภูเขาซีนายไม่ได้ เพราะพระองค์ทรงสั่งข้าพระองค์ทั้งหลายว่า ‘จงกั้น เขตรอบภูเขานั้น ชำระให้เป็นที่บริสุทธิ์'” พระเจ้าจึงตรัสกับโมเสสว่า “ลงไปเถิด แล้วกลับขึ้นมาอีก พาอาโรนขึ้นมาด้วย แต่อย่าให้พวกปุโรหิตและประชาชนล่วงล้ำขึ้นมาถึงพระเจ้า เกรงว่าพระองค์จะลงโทษเขา” โมเสสก็ลงไปบอกประชาชนตามนั้น (อพยพ 19:20-25)

ในอพยพ 32 ชาวอิสราเอลทำบาปใหญ่หลวงเมื่อโมเสสไม่อยู่ พวกเขายุให้อาโรนทำวัวทองคำ และเริ่มนมัสการมัน พระเจ้า ประสงค์จะกำจัดคนอิสราเอลให้หมดสิ้น และสร้างพงศ์พันธ์ขึ้นมาใหม่โดยทางโมเสส เมื่อโมเสสเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ พระเจ้าทรงยอมให้ โดยส่งทูตสวรรค์มานำคนอิสราเอลไปยังดินแดนพันธสัญญา แต่พระองค์ตรัสว่าจะไม่ไปด้วยเพราะ เหตุว่า:

เราจะใช้ทูตผู้หนึ่งนำหน้าเจ้าไปและจะไล่คนคานาอัน คนอาโมไรต์ คนฮิตไทต์ คนเปริสซี คนฮีไวต์ คนเยบุส ออกเสียจากที่นั่น จงนำไปถึงแผ่นดินซึ่งมีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์ แต่เราจะไม่ขึ้นไปกับพวกเจ้า เกรงว่าเราจะทำลายล้างพวกเจ้าเสียกลางทาง เพราะว่าเจ้าเป็นชนชาติที่หัวแข็ง” (อพยพ 33:2-3)

แต่แล้วพระเจ้าก็ยอมไปด้วย พระองค์ทรงสถิตอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์ ในอภิสุทธิสถานในพลับพลา ถึงกระนั้น ก็ยังมีสิ่งที่ขวางกั้นระหว่างมนุษย์และพระเจ้า ม่านในพลับพลา ที่ปุโรหิตใช้กั้น แยกประชากรอิสราเอล ออกจากพระเจ้า :

ให้คนอิสราเอลตั้งเต็นท์ตามที่ของตนแต่ละพวก และแต่ละคนตามค่ายของตน และแต่ละคนตามธงเผ่าของตน แต่ให้คนเลวีตั้งเต็นท์รอบพลับพลาพระโอวาท เพื่อมิให้พระพิโรธเกิดเหนือชุมนุมชนอิสราเอล ให้เผ่าเลวีปฏิบัติ งานพลับพลาพระโอวาท” (กันดารวิถี 1:52-53)

มนุษย์ไม่อาจเข้าเฝ้าพระเจ้าได้ โดยไม่มีเครื่องถวายบูชา ถึงกระนั้นก็ยังมีขอบเขตในการเข้าเฝ้า ช่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเมื่อพระเยซูถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้ :

ซึ่งมีตั้งแต่ปฐมกาล ซึ่งเราได้ยิน ซึ่งเราได้เห็นกับตา ซึ่งเราได้พินิจดู และจับต้องด้วยมือของเรานั้น เกี่ยวกับพระวาทะแห่งชีวิต (และชีวิตนั้นได้ปรากฏ และเราได้เห็น และเป็นพยาน และประกาศชีวิต นิรันดร์นั้นแก่ท่านทั้งหลาย ชีวิตนั้นได้ดำรงอยู่กับพระบิดาและได้ปรากฏแก่เราทั้งหลาย) (1ยอห์น 1:1-2)

เรามาโบสถ์ด้วยความแน่ใจว่าพระเจ้าสถิตอยู่ เราไม่ต้องนำเครื่องเผาบูชามาถวาย เราไม่ถูกกำจัดขอบเขตการเข้าเฝ้า และขณะที่พระเจ้าอยู่กับเราในโบสถ์ พระองค์สถิตอยู่ในเราเสมอโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และจะอยู่ต่อไปจนสิ้นยุค ผู้ที่ช่วยกู้เรา คือผู้ที่อยู่ติดสนิทกับเรา และพระองค์สัญญาว่าจะไม่ทอดทิ้งเราเลย :

ท่านจงอย่าเป็นคนเห็นแก่เงิน จงพอใจในสิ่งที่ท่านมีอยู่ เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสว่า เราจะไม่ละท่าน หรือทอดทิ้งท่านเลย เหตุฉะนั้นเราทั้งหลายอาจกล่าวด้วยใจเชื่อมั่นว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นพระ ผู้ช่วยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่กลัว มนุษย์จะทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า? (ฮีบรู 13:5-6)

เราไม่เห็นจะต้องกลัวเมื่ออยู่ ใกล้องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราอย่างที่ธรรมิกชนในพระคัมภีร์เดิมเคยเป็น ในพระคริสต์เรามีหน ทางเข้าเฝ้าพระเจ้า และเราสามารถเข้าไปด้วยใจกล้าหาญ :

เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย เมื่อเรามีใจกล้าที่จะเข้าไปสู่สถานศักดิ์สิทธิ์โดยพระโลหิตของพระเยซู ตามทางใหม่และเป็นทางที่มีชีวิต ซึ่งพระองค์ได้ทรงเปิดออกให้เราผ่านเข้าไปทางม่านนั้น คือทาง พระกายของพระองค์ และเมื่อเรามีปุโรหิตใหญ่เหนือหมู่คนของพระเจ้าแล้ว ก็ให้เราเข้าไปใกล้ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยไว้ใจเต็มที่ มีใจที่ได้รับการทรงชำระให้สะอาดแล้ว และมีกายที่ล้างชำระด้วยน้ำ บริสุทธิ์ ขอให้เรายึดมั่นในความหวังที่เราทั้งหลายเชื่อและรับไว้นั้น โดยไม่หวั่นไหว เพราะว่าพระองค์ผู้ทรงประทานพระสัญญานั้นทรงสัตย์ซื่อ และขอให้เราพิจารณาดูว่า จะทำอย่างไร จึงจะ ปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น แต่จงพูดหนุนใจกันให้มากยิ่งขึ้น เพราะท่านทั้งหลายก็รู้อยู่ว่าวันนั้นใกล้เข้ามาแล้ว (ฮีบรู 10:19-25)

คิดดูดีๆ ผู้ที่ช่วยมนุษย์ให้พ้นจากความผิดบาป สัญญาว่าจะอยู่ท่ามกลางเรา และอยู่กับเรา เป็นได้อย่างไรกัน? เราจะสัมผัสถึงการช่วยกู้ และการทรงอยู่กับเราได้อย่างไร? โดยทางพระเยซูคริสต์เท่านั้น เราต้องสารภาพบาปผิดของเรา และวางใจในองค์พระเยซู ว่าพระองค์ทรงโปรดยกโทษให้ เราต้องรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด และเมื่อนั้นพระองค์จะทรงช่วยเรา และสถิตอยู่กับเรา คุณรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยแล้วหรือยัง? พระองค์สถิตอยู่กับคุณและภายในคุณหรือยัง? นี่เป็นพระ ราชกิจที่พระองค์เสด็จมากระทำบนโลกนี้ ผมภาวนาขอให้คุณมีโอกาสรู้จักพระองค์ ได้ต้อนรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด และเป็นผู้อยู่เคียงข้างคุณตลอดไป

โดย : Robert L (Bob) Deffinbaugh

ได้รับอนุญาตและเป็นลิขสิทธิของ https://bible.org/

แปล : อรอวล ระงับภัย (Church of Joy)

1 เป็นลิขสิทธิ์ของ (Copyright © 2003) Community Bible Chapel, 418 E. Main Street, Richardson, TX 75081. บทเรียนพระธรรมมัทธิวบทนี้ (Studies in the Gospel of Matthew ) จัด เตรียมโดย Robert L. Deffinbaugh เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2003 สามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น ทางคริสตจักรของเราเชื่อว่าบทเรียนเหล่านี้ ถูกต้องตรงตามพระ วจนะคำทุกประการ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม ไม่มีการหวงห้ามถ้าต้องการใช้สำหรับการเรียนการสอนพระวจนะ เป็นงานของ Community Bible Chapel.

2 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็นฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำพระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.

3 อ้างจากข้อเขียนของ Michael Green, Matthew For Today: Expository Study of Matthew (Dallas, Texas: Word Publishing, 1989), p. 37.

4 อ้างจากข้อเขียนของ James Montgomery Boice, The Gospel of Matthew (Grand Rapids, Michigan: Baker Books, 2001), vol. 1, p. 16.

5 จาก Boice, p. 16, citing J. Gresham Machen, The Virgin Birth of Christ (1930; reprint, London: James Clarke, 1958), p. 209.

6 จาก Boice, p. 17.

7 ทอม ไรท์ เพื่อนของผมชี้ข้อสังเกตุนี้ให้เห็น หลังจากที่ผมได้เทศนาพระธรรมตอนนี้ไปแล้ว

8 จาก Fredrick Dale Bruner, The Christbook: A Historical/Theological Commentary (Waco, Texas: Word Books, 1987), vol. 1, p. 6.

9 อย่าลืมว่ายูดาห์เองยังสารภาพว่าทามาร์นั้น “ชอบธรรมยิ่งกว่าเรา” (ปฐก. 38:26) บัทเชบาตกเป็นเหยื่อ มากกว่า จะเป็นผู้ล่อลวง (2 ซมอ. 12:1-4) และราหับมีชื่ออยู่ใน “ทำเนียบผู้เชื่อ” (ฮีบรู 11:31).

10 จาก Bruner, p. 6.

11 อย่างที่นาธานาเอลกล่าวไว้ (และต่อมามัทธิวก็แสดงให้เราเห็น) ว่าพระเยซูทรงเป็น “บุตรพระเจ้า” ดังนั้นพระองค์จึงเป็น “กษัตริย์ของอิสราเอล” (ยอห์น 1:49).

12 ผู้อ่านคงพอรู้สึกว่าผม “ยึดติด” กับข้อสังเกตูของนักวิชาการหลายต่อหลายคน จนทำให้เกิดเป็นข้อสรุปข้อที่หก

13 จาก James Montgomery Boice, vol. 1, p. 15.

14 จาก M ichael Green, p. 37.

15 J. จากผู้เขียนชื่อ Sidlow Baxter, Explore the Book (Grand Rapids, Michigan: Zondervan Publishing House, 1960), Six volumes in one, vol. 5, p. 148.

16 จาก Bruner p. 13.

17 ผมรู้สึกดีใจที่บรูเนอร์ตั้งข้อสังเกตุนี้ ท่านยังชี้ให้เป็นอีกว่ารายชื่อตอนที่สามนี้มีแค่ 13 ชื่อ ไม่ใช่ 14 ผมคงต้องขอคิดแตก ต่างจากบรูเนอร์ในเรื่องนี้ เพราะมัทธิวเองเป็นปุถุชน อาจมีข้อบกพร่องบ้างเช่นเดียวกับเราทั้งหลาย ตามมุมมองของผม เราไม่ควรด่วนสรุปเอาเองเรื่องการดลใจและข้อผิดพลาด ยอห์น มอร์เรอ เพื่อนสนิทของผมเคยกล่าวไว้ว่า : “มัทธิวนั้นเป็นคนเก็บภาษี เขาต้องนับเลขเป็น” ผมคิดว่ามีคำตอบสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่ข้อผิดพลาดของมัทธิว

18 จาก Bruner, p. 4.

19 จาก Bruner, p. 13.

 

Categories
บทเรียนพระคัมภีร์

1โครินธ์ 7/1

ปัญหาเรื่องการแต่งงาน (1)

พระธรรม        1โครินธ์ 7:1-24

อ้างอิง              1คร.7:4-17; 26,39;6:20;14:33;2คร.8:8;11:17

บทนำ

คริสเตียนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพหรือสถานภาพใด เมื่อพระเจ้าทรงเรียกเรา ก็ขอให้เราอยู่ในสภาพหรือฐานะนั้นด้วยการสำแดงพระเจ้าและพระคุณของพระองค์ให้ทุกคนได้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรามีครอบครัวก็ขอให้ชีวิตครอบครัวของเราเป็นพยานที่ดีที่ถวายเกียรติแด่พระคริสต์

บทเรียน

7:1 “เกี่ยว‍กับ​เรื่อง​ที่​พวก‍ท่าน​เขียน​มา​นั้น “การ​ที่​ผู้‍ชาย​ไม่​แตะ‍ต้อง​ผู้‍หญิง​เลย​ก็​ดี​แล้ว” 

     (Now concerning the matters about which you wrote: “It is good for a man not to have sexual relations with a woman.”)

7:2 “แต่​เพราะ‍เหตุ​การ​ล่วง‍ประ‌เวณี ผู้‍ชาย​แต่‍ละ‍คน​ควร​มี​ภรรยา​เป็น​ของ​ตน และ​ผู้‍หญิง​แต่‍ละ‍คน​ควร​มี​สามี​เป็น​ของ​ตน” 

     (But because of the temptation to sexual immorality, each man should have his own wife and  each woman her own husband.)

7:3 “สามี​พึง​สัม‌พันธ์​กับ​ภรรยา​ตาม‍ควร และ​ภรรยา​ก็​พึง​สัม‌พันธ์​กับ​สามี​ตาม‍ควร​เช่น‍เดียว‍กัน” 

     (The husband should give to his wife her conjugal rights, and likewise the wife to her husband.)

7:4 “ภรรยา​ไม่‍มี​อำนาจ​เหนือ​ร่าง‍กาย​ของ​ตน แต่​สามี​มี​อำนาจ​เหนือ​ร่าง‍กาย​ของ​ภรรยา ทำ​นอง​เดียว‍กัน​สามี​ไม่‍มี​อำนาจ​เหนือ​ร่าง‍กาย​ของ​ตน แต่​ภรรยา​มี​อำนาจ​เหนือ​ร่าง‍กาย​ของ​สามี” 

    (For the wife does not have authority over her own body, but the husband does. Likewise the  husband does not have authority over his own body, but the wife does. )

7:5 “อย่า​ปฏิ‌เสธ​ความ​สัม‌พันธ์​ฉัน​สามี​ภรรยา​เว้น‍แต่​ได้​ตก‍ลง​กัน​เป็น​การ​ชั่ว‍คราว เพื่อ​อุทิศ​ตัว​ใน​การ​อธิษ‌ฐาน แล้ว​จึง​ค่อย​มา​มี​ความ​สัม‌พันธ์​กัน​อีก เพื่อ​ไม่‍ให้​ซา‌ตาน​ล่อ‍ลวง​ให้​ทำ​ผิด​เพราะ​ตัว​อด​ไม่‍ได้” 

    (Do not deprive one another, except perhaps by agreement for a limited time, that you may devote yourselves to prayer; but then come together again, so that Satan may not tempt you because of your lack of self-control.)

7:6 “ข้าพ‌เจ้า​กล่าว​เช่น‍นี้​เป็น​การ​อนุญาต ไม่‍ใช่​สั่ง” 

    (Now as a concession, not a command, I say this. )

7:7 “ข้าพ‌เจ้า​ต้อง‍การ​ให้​ทุก‍คน​เป็น​เหมือน​ข้าพ‌เจ้า แต่​ว่า​แต่‍ละ‍คน​ก็​ได้​รับ​ขผอง‍ประ‌ทาน​ของ​ตัว​เอง​จาก​พระ‍เจ้า คน​หนึ่ง​ได้​รับ​อย่าง‍นี้ และ​อีก‍คน‍หนึ่ง​ได้​รับ​อย่าง​นั้น”

     (I wish that all were as I myself am. But each has his own gift from God, one of one kind and one  of another.)

7:8 “ข้าพ‌เจ้า​ขอ​กล่าว​กับ​พวก​ที่​ไม่​แต่ง‍งาน​และ​พวก​แม่‍ม่าย​ว่า การ​ที่​พวก‍เขา​จะ​อยู่​เหมือน​ข้าพ‌เจ้า​ก็​ดี​แล้ว” 

      (To the unmarried and the widows I say that it is good for them to remain single as I am. )

7:9 “แต่​ถ้า​ควบ‍คุม‍ตัว​ไม่​อยู่ ก็​จง​แต่ง‍งาน​เสีย​เถิด เพราะ‍ว่า​แต่ง‍งาน​เสีย​ก็​ดี‍กว่า​มี​ใจ​เร่า‍ร้อน​ด้วย​กาม‍ราคะ”

     (But if they cannot exercise self-control, they should marry. For it is better to marry than to burn with passion.)

7:10 “ส่วน​คน​ที่​แต่ง‍งาน​แล้ว ข้าพ‌เจ้า​ขอ​สั่ง ไม่‍ใช่​ข้าพ‌เจ้า​สั่ง​เอง แต่​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​ทรง​บัญชา​ว่า อย่า​ให้​ภรรยา​แยก​จาก​สามี” 

      (To the married I give this charge (not I, but the Lord): the wife should not separate from her husband )

7:11 “แต่​ถ้า​นาง​แยก​จาก​สามี​แล้ว ก็​อย่า​ให้​นาง​แต่ง‍งาน​ใหม่ หรือ​ไม่​ก็​ให้​นาง​คืน‍ดี​กับ​สามี และ​อย่า​ให้​สามี​หย่า​ภรรยา​เลย”

     (but if she does, she should remain unmarried or else be reconciled to her husband), and the  husband should not divorce his wife.)

7:12 “ข้าพ‌เจ้า​ขอ​กล่าว​กับ​พวก​ที่​เหลือ ข้าพ‌เจ้า​เอง​กล่าว (องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​ไม่‍ได้​ตรัส) ว่า ถ้า​พี่‍น้อง​คน​ไหน​มี​ภรรยา​ที่​ไม่​เชื่อ​ใน​พระ‍คริสต์ และ​นาง​พอ‍ใจ​จะ​อยู่​กับ​สามี ก็​ไม่‍ให้​สามี​หย่า​นาง”

     (To the rest I say (I, not the Lord) that if any brother has a wife who is an unbeliever, and she  consents to live with him, he should not divorce her. )

7:13 “ถ้า​หญิง​คน‍ไหน​มี​สามี​ที่​ไม่​เชื่อ​ใน​พระ‍คริสต์ และ​สามี​พอ‍ใจ​จะ​อยู่​กับ​นาง ก็​ไม่‍ให้​นาง​หย่า​สามี​นั้น”

       (If any woman has a husband who is an unbeliever, and he consents to live with her, she should  not divorce him.)

7:14 “เพราะ‍ว่า​สามี​ที่​ไม่​เชื่อ​นั้น​ได้​รับ​การ​ทรง​ชำระ​ให้​บริ‌สุทธิ์​ทาง​ภรรยา และ​ภรรยา​ที่​ไม่​เชื่อ​ก็​ได้​รับ​การ​ทรง​ชำระ​ให้​บริ‌สุทธิ์​ทาง​สามี มิ‍ฉะนั้น​ลูกๆ ของ​พวก‍ท่าน​ก็​เป็น​มลทิน แต่​บัด‍นี้​เด็ก​เหล่า‍นั้น​บริ‌สุทธิ์” 

   (For the unbelieving husband is made holy because of his wife, and the unbelieving wife is made holy because of her husband. Otherwise your children would be unclean, but as it is, they are holy.)

7:15 “แต่​ถ้า​คน​ที่​ไม่​เชื่อ​จะ​แยก​จาก​ไป ก็​ให้​เขา​แยก​จาก​ไป​เถิด ใน​กรณี​นี้​ไม่​จำ‍เป็น​ที่​พี่‍น้อง‍ชาย‍หญิง​ต้อง​ถูก​ผูก‍มัดเพราะ‍ว่า​พระ‍เจ้า​ทรง​เรียก​เรา​ให้​อยู่​อย่าง​สันติ”

     (But if the unbelieving partner separates, let it be so. In such cases the brother or sister is not enslaved. God has called you to peace. )

7:16 “ท่าน​ผู้​เป็น​ภรรยา ท่าน​รู้​ได้​อย่าง‍ไร​ว่า​ท่าน​จะ​ช่วย​สามี​ให้​รอด​ไม่‍ได้? ท่าน​ผู้​เป็น​สามี ท่าน​รู้​ได้​อย่าง‍ไร​ว่า​ท่าน​จะ​ช่วย​ภรรยา​ให้​รอด​ไม่‍ได้?”

    (For how do you know, wife, whether you will save your husband? Or how do you know, husband, whether you will save your wife?).

7:17 “อย่าง‍ไร​ก็​ตาม องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​ทรง​กำ‌หนด​สภาพ​แต่‍ละ‍คน​มา​อย่าง‍ไร และ​พระ‍เจ้า​ทรง​เรียก​แต่‍ละ‍คน​ใน​สภาพ​อย่าง‍ไร ก็​ให้​เขา​ดำ‌เนิน​ต่อ‍ไป​อย่าง​นั้น ข้าพ‌เจ้า​สั่ง​คริสต‌จักร​ทั้ง‍หมด​ให้​ทำ​เช่น‍นี้” 

     (Only let each person lead the life that the Lord has assigned to him, and to which God has called him. This is my rule in all the churches)

7:18 “มี​ชาย​คน​ไหน​ที่​พระ‍เจ้า​ทรง​เรียก​เมื่อ​เขา​ได้​เข้า‍สุหนัต​แล้ว ก็​อย่า​ให้​เขา​ลบ​รอย​นั้น​เสีย หรือ​มี​ชาย​คน​ไหน​ที่​พระ‍เจ้า​ทรง​เรียก​เมื่อ​เขา​ไม่‍ได้​เข้า‍สุหนัต ก็​อย่า​ให้​เขา​เข้า‍สุหนัต” 

   (Was anyone at the time of his call already circumcised? Let him not seek to remove the marks of circumcision. Was anyone at the time of his call uncircumcised? Let him not seek circumcision.) 

7:19 “การ​เข้า‍สุหนัต​หรือ​ไม่​นั้น​ไม่​สำคัญ​อะไร แต่​การ​ถือ​รักษา​พระ‍บัญญัติ​ของ​พระ‍เจ้า​นั้น​สำคัญ” 

(For neither circumcision counts for anything nor uncircumcision, but keeping the commandments of God.)

7:20 “ให้​แต่‍ละ‍คน​อยู่​ตาม​สภาพ​ที่​เป็น​อยู่​ใน​เวลา​ที่​พระ‍เจ้า​ทรง​เรียก​นั้น”

       (Each one should remain in the condition in which he was called.)

7:21 “พระ‍เจ้า​ทรง​เรียก​ท่าน​เมื่อ​ยัง​เป็น​ทาส​อยู่​หรือ? อย่า​เป็น​ห่วง​เลย แต่​ถ้า​ท่าน​สามารถ​เป็น​ไท​ได้ ก็​จง​ใช้​สิทธิ์​นั้น”

  (Were you a bondservant when called? Do not be concerned about it. (But if you can gain your freedom, avail yourself of the opportunity.)

7:22 “เพราะ‍ว่า​ผู้​ใด​ที่​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​ทรง​เรียก เมื่อ​ยัง​เป็น​ทาส ผู้​นั้น​เป็น​เสรี‍ชน​ของ​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า ใน​ทำ‌นอง‍เดียว‍กัน​คน​ที่​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​เมื่อ​เป็น​ไท คน​นั้น​เป็น​ทาส​ของ​พระ‍คริสต์” 

  (For he who was called in the Lord as a bondservant is a freedman of the Lord. Likewise he who was free when called is a bondservant of Christ. )

7:23 “พระ‍เจ้า​ทรง​ซื้อ​พวก‍ท่าน​ด้วย​ราคา​สูง อย่า​เป็น​ทาส​ของ​มนุษย์​เลย”

                 (You were bought with a price; do not become bondservants of men.)

7:24 “พี่‍น้อง​ทั้ง‍หลาย แต่‍ละ‍คน​ได้​รับ​การ​ทรง‍เรียก​ใน​สภาพ​ใด ก็​ให้​อยู่​ใน​สภาพ​นั้น​กับ​พระ‍เจ้า”

                 (So, brothers, in whatever condition each was called, there let him remain with God.)

 

ข้อมูลมีประโยชน์

7:1       “เกี่ยวกับเรื่องที่พวกท่านเขียนมานั้น” (Now concerning the matters about which you wrote)

= ชาวโครินธ์เขียนจดหมายถามปัญหาที่ทำให้ อ.เปาโล ปวดหัวหลายเรื่อง (8:1;12:1;16:1)

          “การที่ผู้ชายไม่แตะต้องผู้หญิงเลยก็ดีแล้ว” (“It is good for a man not to have sexual relations with a woman) = เป็นการดีที่ผู้ชายจะไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิง หรือเป็นการดีที่ผู้ชายจะไม่แต่งงาน แต่ในตอนอื่น ๆ อ.เปาโลเห็นด้วยกับการแต่งงาน –อฟ.5:22-23;คส.3:18-19;1ทธ.3:2,12;5:14 และใน 1ทธ.4:1-3 อ.เปาโลกล่าวว่า การห้ามไม่ให้แต่งงานก็ถือว่าเป็นเครื่องหมายของพวกนอกรีตในยุคสุดท้าย

7:2       “แต่เพราะเหตุการล่วงประเวณี” ( But because of the temptation to sexual immorality ) = มีการล่วงประเวณีหรือการผิดศีลธรรมเกิดขึ้นอย่างมากในโครินธ์ -ตัวอย่างเช่น ในวิหารของเทวี อะโพร์ไดท์ ที่บนภูเขาอะโครโครินธ์ ซึ่งเป็นภูเขาหินเหนือโครินธ์ มีผู้หญิงโสเภณีเป็นปุโรหิตรับใช้อยู่นับพันคน (6:18)

7:3       “สามีพึงสัมพันธ์กับภรรยาตามควร” (The husband should give to his wife her conjugal rights)

= สามีควรทำหน้าที่ต่อภรรยาของตนอย่างสมบูรณ์ และภรรยาก็ควรกระทำเช่นนั้นต่อสามี

= คู่สมรสควรมีเพศสัมพันธ์กันตามปกติ การไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์เป็นการลิดรอนสิทธิตามธรรมชาติของอีกฝ่ายหนึ่ง และอาจนำไปสู่การทดลอง

7:4       “ทำนองเดียวกัน” (Likewise) = ทั้งสามีและภรรยามีสิทธิทางการสมรสและเป็นเจ้าของสิทธินั้นในตัวของอีกฝ่ายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว

7:5       “อย่าปฏิเสธความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา” (not deprive one another) = อย่าปฏิเสธเพศสัมพันธ์

“เพื่อไม่ให้ซาตานล่อลวงให้ทำผิดเพราะตัวอดไม่ได้” (so that Satan may not tempt you because of your lack of self-control) = คริสเตียนซึ่งถูกคู่สมรสของตนปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ อาจถูกซาตานล่อลวงให้ทำผิดบาปทางเพศได้ ทั้ง 2 ต้องตระหนักว่า แรงขับทางเพศที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์นั้นมีพลังยากต้านทานขัดขืน

7:6       “ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ เป็นการอนุญาตไม่ใช่สั่ง” (Now as a concession, not a command, I say this) = แม้การแต่งงานเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และสอดคล้องกับแผนการของพระเจ้า แต่ก็ไม่ได้ต้องเป็นเช่นนี้ในทุกกรณีหรือทุกสถานการณ์ (ข.25-38)

7:7       ”เป็นเหมือนข้าพเจ้า” (I wish that all were as I myself am) = เป็นโสดไม่แต่งงานเหมือนตัว อ.เปาโล

อ.เปาโลมองดูสถานภาพโสดที่ไม่แต่งงานนั้น เป็นของประทานจากพระเจ้า

-เป็นเหตุให้ท่านยอมรับสถานภาพของการไม่แต่งงานและใช้สถานภาพนั้นในการรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มที่ – 1คร.7:8;9:5

“แต่ละคนได้รับของประทานของตนเอง” (each has his own gift from God) -มธ.19:11,12;รม.12:6;1คร.12:4,11

7:8       “จะอยู่เหมือนข้าพเจ้าก็ดีแล้ว” (I say that it is good for them to remain single as I am) –1คร.7:1,26

7:9       “…ก็จงแต่งงานเสียเถิด” ( …they should marry ) –1ทธ.5:14

7:10     “ข้าพเจ้าขอสั่งไม่ใช่ข้าพเจ้าสั่งเอง แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชา” (I give this charge (not I, but the Lord) – อ.เปาโลกำลังยกเอาพระบัญชาที่พระเยซูคริสต์เคยตรัสไว้ในช่วงที่ทรงทำพระราชกิจอยู่ในโลกที่ว่าคู่สมรสต้องอยู่ร่วมกัน (มธ.5:32;19:3-9;มก.10:2-12;ลก.16:18)

-ซึ่ง อ.เปาโลอาจได้ยินพระบัญชานั้นมาจากสาวกคนอื่น (กท.1:18-19)

7:11     “แต่ถ้านางแยกจากสามีแล้วก็อย่าให้นางแต่งงานใหม่หรือไม่ก็ให้นางคืนดีกับสามี” (but if she does, she should remain unmarried or else be reconciled to her husband) = อ.เปาโลแย้งตามพระบัญชาของพระเยซูคริสต์ว่า หญิง (หรือชาย) ที่แยกออกไปต้องไม่แต่งงานอีก หรือกลับมาคืนดีกันใหม่ เป็นหลักการที่ชัดเจนว่า คู่สมรสไม่ควรแยกจากกันอย่างถาวร –รม.7:2-3;1คร.7:39

7:12    “ข้าพเจ้าเองกล่าว(องค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ตรัส)” (I say (I, not the Lord))   = อ.เปาโลไม่ได้ยกพระบัญชาของพระเยซูคริสต์เจ้าตรัสไว้ตรง ๆ มาพูด

          “พี่น้องคนไหนมีภรรยาที่ไม่เชื่อ” (brother has a wife who is an unbeliever) -ในข้อนี้ (และในข้อ 13) อ.เปาโลกำลังกล่าวถึงคู่ที่แต่งงานกับมาก่อน แล้วภายหลังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาเป็นคริสเตียน ว่าทั้ง 2 ควรอยู่ด้วยกันต่อไป นอกจากว่า ฝ่ายที่ไม่เป็นคริสเตียน (ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง) ไม่ต้องการอยู่ร่วมด้วย

(ข.16)

7:14     “…ได้รับการทรงชำระให้บริสุทธิ์” (…made holy) = สิ่งที่ อ.เปาโลกล่าวตอนนี้ อยู่ในข่ายของเรื่องที่ “เข้าใจยาก” ดังที่ อ.เปโตร กล่าวถึงใน 2 ปต.3:16

-.ในที่นี้ อ.เปาโลยืนยันว่า คู่สมรสที่ยังไม่เชื่อจะมีส่วนได้รับการชำระให้บริสุทธิ์จากคู่สมรสที่เชื่อในทางใดทางหนึ่ง (1:2)

และส่งผลให้ลูกที่เกิดจากการเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้งสองนั้น บริสุทธิ์ (คือได้รับการชำระให้บริสุทธิ์จากพระเจ้า) ภายใต้พันธสัญญาใหม่ในพระคริสต์ – มลค.2:15

7:15     “ในกรณีนี้ไม่จำเป็นที่พี่น้องชายและหญิงต้องถูกผูกมัด” ( In such cases the brother or sister is not enslaved) = ผู้เชื่อไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้ข้อผูกมัดที่ต้องพยายามอยู่กับผู้ไม่เชื่ออีกต่อไป

“ทรงเรียกเราให้อยู่อย่างสันติ” (God has called you to peace) = ถ้าผู้ไม่เชื่อถูกบังคับให้อยู่กับผู้เชื่อ (หรืงอกลับกัน) บ้านก็จะไม่มีความสุขสงบ –รม.14:19;1คร.14:33

7:16     “รู้ได้อย่างไรว่าจะช่วยสามีให้รอดไม่ได้” (how do you know, wife, whether you will save your husband?) -รม.11:14;1ปต.3:1

7:17    “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดสภาพแต่ละคนมาอย่างไร?” (the Lord has assigned to)

= ให้คริสเตียนแต่ละคนคงสถานภาพตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนด หรือมอบหมายอย่างมั่นใจ ไม่ว่า

พระเจ้าจะวางหรือกำหนดเราไว้ตรงไหนก็ตาม (ข.18)

= ไม่มีการพยายามเปลี่ยนสถานภาพแบบใดที่เราพยายามทำด้วยตัวเองแล้วจะยกระดับความรอดได้

“พระเจ้าทรงเรียกแต่ละคน” ( God has called him) –รม.12:3

“ข้าพเจ้าสั่งคริสตจักรทั้งหมดให้ทำเช่นนี้” (This is my rule in all the churches) = นี่เป็นกฎที่ข้าพเจ้าวางไว้ให้คริสตจักทั้งปวงปฏิบัติตาม –1คร.4:17;14:33;2คร.8:18;11:28

7:18     “เข้าสุหนัต …ไม่ได้เข้าสุหนัต” (circumcised? …uncircumcision?)

= คนเข้าสุหนัตคือชาวยิว และพวกไม่ได้เข้าสุหนัต หมายถึงคนต่างชาติ

= คริสเตียนที่เป็นชาวยิว ก็ไม่จำเป็นต้องพยายามลบร่องรอยของการเคยเข้าสุหนัตที่บ่งบอกว่าเป็นชาวยิวมาก่อน และคนต่างชรติที่มาเป็นคริสเตียนก็ไม่ควรถูกกดกันจากชาวยิวให้ต้องเข้าสุหนัต (กจ.15:1-5; กท.5:1-3)

7:19     “การเข้าสุหนัตหรือไม่นั้น ไม่สำคัญอะไร” (For neither circumcision counts for anything nor uncircumcision) –กท.5:6;6:15;คส.3:11;รม.2:25-27

7:20     “ให้แต่ละคนอยู่ตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาที่พระเจ้าทรงเรียกนั้น” (Each one should remain in the condition in which he was called.) –1คร.7:24

7:21     “ทรงเรียกท่านเมื่อยังเป็นทาสอยู่” (Were you a bondservant when called?) = แม้อยู่ในสภาพทาส (ไม่ว่าจะทางสังคมหรือเศรษฐกิจ)-คริสเตียนควรดำเนินชีวิตอย่างพึงพอใจ โดยตระหนักว่าเราเป็นไท ในพระคริสต์แล้ว (ข.22;ยน.8:32,36)

          “แต่ถ้าท่านสามารถเป็นไทได้ ก็จงใช้สิทธิ์นั้น” ( if you can gain your freedom, avail yourself of the opportunity) = ทาสที่เป็นคริสเตียนเมื่อมีโอกาสเป็นอิสระได้ ก็ควรฉวยโอกาสนั้น ภายใต้จักรวรรดิโรมัน บางครั้งคนชนชั้นสูงไถ่ทาสให้เป็นอิสระ

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดที่คริสเตียนจะยกสถานภาพของตนเอง เพียงแต่สถานภาพทางสังคมนี้ไม่ได้มีผลต่อสถานภาพฝ่ายจิตวิญญาณในพระเจ้า

7:22     “ผู้นั้นเป็นเสรีชนขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (he who was called in the Lord as a bondservant is a freedman of the Lord.) = ได้รับการปลดปล่อยจากบ่วงบาป (รม.6:18,22; ฮบ.9:15; ปท .ยน.8:34,36)

“คนนั้นเป็นทาสของพระคริสต์” (when called is a bondservant of Christ)= เราเป็นไทเพื่อจะรับใช้พระคริสต์ ดุจเป็นทางของพระองค์ เช่นเดียวกับอิสราเอลที่เป็นไทจากการผูกมัดของอียิปต์ แล้วกลายมาเป็นประชากรผู้รับใช้พระเจ้า ร(อพย.6:6-7;16:4-6)

7:23     “ทรงซื้อพวกท่านด้วยราคาสูง อย่าเป็นทาสของมนุษย์เลย” (You were bought with a price)

= ไม่ว่าคริสเตียนจะอยู่ในสถานภาพใด พวกเขาต้องตระหนักว่า พวกเขาเป็นของพระคริสต์ ที่พระองค์ทรงซื้อพวกเขามาด้วยราคาที่สูงด้วยโลหิตของพระองค์ (6:20;1ปต.1:18-19)

7:24     “ก็ให้อยู่ในสภาพนั้นกับพระเจ้า” (there let him remain with God) –1คร.7:20

 คำถามนำอภิปราย

  1. ระหว่างการอยู่เป็นโสดกับการแต่งงานคุณอยากเลือกสถานภาพใด? ทำไม?
  • อะไรคือผลดีของการไม่แต่งงาน?……………………………………………………………………………..

และอะไรคือผลเสียของการไม่แต่งงาน?……………………………………………………………………

  • อะไรคือผลดีของการแต่งงาน?……………………………………………………………………………….

และอะไรคือผลเสียของการแต่งงาน?…………………………………………………………………………

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับใช้พระเจ้า?

  1. สำหรับตัวคุณ หากคุณต้องแต่งงาน อะไรคือเหตุผลสำคัญที่สุดในการแต่งงานของคุณ? ทำไม?
  2. หากคุณแต่งงานแล้ว อะไรคือปัญหาใหญ่ที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคู่สมรสของคุณ? ทำไม? แล้วคุณแก้ไขปัญหาได้หรือไม่? อย่างไร?
  3. คุณเข้าใจอย่างไรในประโยคที่ว่า “ภรรยาไม่มีอำนาจเหนือร่างกายของตน แต่สามีมีอำนาจเหนือร่างกายของภรรยา”? หมายความว่า สามีจะทำอะไรกับร่างกายของภรรยาก็ได้ใช่หรือไม่?
  4. ในทำนองเดียวกัน คุณเข้าใจอย่างไรกับประโยคที่ว่า “สามีไม่มีอำนาจเหนือร่างกายของตน แต่ภรรยามีอำนาจเหนือร่างกายของสามี?

-คุณจะนำมาปฏิบัติได้อย่างไรในชีวิตจริงทั้งใน ข้อ 4 และ 5 นี้?

  1. ทำไม อ.เปาโลจึงห้ามไม่ให้มีการปฏิเสธความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยากันนอกจากมีข้อยกเว้นเป็นการชั่วคราว? มีข้อยกเว้นใดในชีวิตจริงที่เป็นที่ยอมรับได้? ทำไม?
  1. อ.เปาโลมีของประทานในการ “อยู่คนเดียวได้” (ไม่แต่งงาน) คุณเองมีของประทานดังกล่าวหรือไม่? คุณดำเนินชีวิตอยู่อย่างไร? ส่งผลดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง ในชีวิตของคุณ?
  1. ถ้าคุณแต่งงานแล้ว ชีวิตครอบครัวของคุณมีความสุขราบรื่นดีหรือมีความทุกข์? อะไรเป็นสาเหตุ? แล้วคุณแก้ไขอย่างไร?
  1. หากคู่สมรสของคุณต้องการแยกทางหรือหย่าขาดจากคุณ คุณจะทำอย่างไร? ทำไม?

-หากจะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง คุณคิดว่าเขาจะขอเลิกกับคุณด้วยสาเหตุใด? แล้วคุณแก้ไขได้ไหมก่อนที่เขาจะใช้สาเหตุนั้นขอแยกทางจากคุณ? อย่างไร? และทำไม?

  1. การที่คุณรู้ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานภาพใดในทางสังคมหรือเศรษฐกิจสิ่งนั้นไม่ได้มีผลอะไรต่อสถานภาพฝ่ายจิตวิญญาณของคุณเลย ได้ส่งผลอะไรต่อการดำเนินชีวิตและการเป็นพยานเรื่องพระคริสต์บ้างและอย่างไร?

ศจ.ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

Categories
บทเรียนพระคัมภีร์

1โครินธ์ บทที่ 6

ฟ้องกัน ประจานกันเอง!

พระธรรม        1โครินธ์ 6:1-20

อ้างอิง             มธ.18:17;19:28;ลก.22:30;ฉธบ.17:7,19:19;1คร.1:2;4:14;5:1,12;2คร.6:14-15;7:23;10:23

บทนำ             หากเราเชื่อในพระเยซูคริสต์จริง ๆ เราจะไม่ฟ้องร้องกันจนขึ้นโรงขึ้นศาล หากเป็นเรื่องที่สามารถตัดสินกันเองได้ภายในคริสตจักร และเราจะไม่ยอมรับหรือปล่อยให้มีการลดหย่อนมาตรฐานศีลธรรมทางเพศให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาภายในคริสตจักร โดยไม่จัดการแก้ไขให้เรียบร้อยตามครรลองของพระคัมภีร์

บทเรียน

6:1 “เมื่อมีใครในพวกท่านเป็นความกัน เขากล้าไปรับการพิพากษาจากคนไม่ชอบธรรม แทนที่จะรับจากธรรมิกชนหรือ?”

       (When one of you has a grievance against another, does he dare go to law before the  unrighteous instead of the saints?)

6:2 “ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าธรรมิกชนจะพิพากษาโลก? และถ้าพวกท่านจะพิพากษาโลก ท่านไม่เหมาะจะ​พิพากษาเรื่องเล็กน้อยหรือ?”

     (Or do you not know that the saints will judge the world? And if the world is to be judged by you,  are you incompetent to try trivial cases?)

6:3 “พวกท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าเราจะพิพากษาพวกทูตสวรรค์? ถ้าเช่นนั้นก็ยิ่งควรจะพิพากษาเรื่องของชีวิตนี้”

       (Do you not know that we are to judge angels? How much more, then, matters pertaining to this  life!)

6:4 “เมื่อเป็นความกันในเรื่องชีวิตนี้ พวกท่านจะตั้งคนที่คริสตจักรไม่ยอมรับให้ตัดสินหรือ?”

      (So if you have such cases, why do you lay them before those who have no standing in the  church?)

6:5 “ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อให้ท่านละอายใจ ในพวกท่านไม่มีสักคนหนึ่งที่มีสติปัญญาสามารถวินิจฉัยเรื่อง​ระหว่างพี่น้องหรือ?”

      (I say this to your shame. Can it be that there is no one among you wise enough to settle a  dispute between the brothers, )

6:6 “แต่พี่น้องกับพี่น้องต้องถูกพิพากษาต่อหน้าคนที่ไม่มีความเชื่ออย่างนั้นหรือ?”

     (but brother goes to law against brother, and that before unbelievers? )

6:7 “อันที่จริง เมื่อไปเป็นความกันพวกท่านก็ตกจากระดับที่ควร ทำไมท่านจึงไม่ยอมทนต่อการร้ายเสียดีกว่า?  ทำไมท่านจึงไม่ยอมถูกโกงเสียดีกว่า?”

      (To have lawsuits at all with one another is already a defeat for you. Why not rather suffer wrong?   Why not rather be defrauded?)

6:8 “แต่พวกท่านกลับทำร้ายกัน และโกงกันแม้กระทั่งพี่น้อง”

         (But you yourselves wrong and defraud—even your own brothers!)

6:9 “ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าคนไม่ชอบธรรมจะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า? อย่าหลงผิดเลย พวกที่ล่วง‍ประเวณี พวกไหว้รูปเคารพ พวกผิดผัวผิดเมีย พวกโสเภณีชาย พวกรักร่วมเพศ”

      (Or do you not know that the unrighteous will not inherit the kingdom of God? Do not be  deceived: neither the sexually immoral, nor idolaters, nor adulterers, nor men who practice homosexuality, )

6:10 “พวกขโมย พวกที่โลภ พวกขี้เมา พวกชอบกล่าวร้าย พวกฉ้อโกง จะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า”

     (nor thieves, nor the greedy, nor drunkards, nor revilers, nor swindlers will inherit the kingdom of  God.)

6:11 “มีบางคนในพวกท่านเคยเป็นอย่างนี้ แต่ท่านทั้งหลายได้รับการล้างชำระแล้ว ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้ว  และได้รับการชำระให้ชอบธรรมแล้วโดยพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าและโดยพระวิญญาณแห่งพระเจ้าของเรา”

   (And such were some of you. But you were washed, you were sanctified, you were justified in the  name of the Lord Jesus Christ and by the Spirit of our God.)

6:12“ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้” แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ “ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้” แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ​ของสิ่งใดเลย

      (“All things are lawful for me,” but not all things are helpful. “All things are lawful for me,” but I will  not be dominated by anything.) 

6:13 “อาหารมีไว้สำหรับท้อง และท้องก็สำหรับอาหาร” แต่พระเจ้าจะทรงให้ทั้งท้องและอาหารสูญสิ้นไป ร่างกายนั้นไม่ได้มีไว้สำหรับการล่วงประเวณี แต่มีไว้สำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า และองค์พระผู้เป็นเจ้ามีไว้สำหรับร่าง‍ กาย” 

   (“Food is meant for the stomach and the stomach for food”—and God will destroy both one and  the other. The body is not meant for sexual immorality, but for the Lord, and the Lord for the body.)

6:14 “พระเจ้าทรงทำให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นขึ้นมา และพระองค์จะทรงทำให้เราเป็นขึ้นมาโดยฤทธานุภาพของ​พระองค์”

   (And God raised the Lord and will also raise us up by his power.)

6:15 “พวกท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าร่างกายของท่านเป็นอวัยวะของพระคริสต์? เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะเอาอวัยวะ​ของพระคริสต์ มาทำเป็นอวัยวะของหญิงโสเภณีได้หรือ? อย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย”

    (Do you not know that your bodies are members of Christ? Shall I then take the members of Christ and make them members of a prostitute? Never! )

6:16 “ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าคนที่ผูกพันกับหญิงโสเภณีก็เป็นร่างกายเดียวกับนาง? เพราะว่ามีคำกล่าวไว้​ว่า “เขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน

      (Or do you not know that he who is joined to a prostitute becomes one body with her? For, as it  is written, “The two will become one flesh.”)

16:17 “แต่คนที่ผูกพันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นจิตวิญญาณเดียวกับพระองค์”

         (But he who is joined to the Lord becomes one spirit with him.)

16:18 “จงหลีกหนีจากการล่วงประเวณี บาปอย่างอื่นที่มนุษย์ทำนั้นเป็นบาปนอกกาย แต่คนที่ล่วงประเวณีนั้น ทำ​ผิดต่อร่างกายของตนเอง” 

        (Flee from sexual immorality. Every other sin a person commits is outside the body, but the  sexually immoral person sins against his own body.)

16:19 “ท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่า ร่างกายของพวกท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตในท่าน ผู้ซึ่งพวกท่าน​ได้รับจากพระเจ้า และท่านทั้งหลายไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง?”

        (Or do you not know that your body is a temple of the Holy Spirit within you, whom you have from God? You are not your own,)

16:20 “เพราะว่าพระเจ้าทรงซื้อท่านไว้แล้วด้วยราคาสูง ฉะนั้น จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของพวกท่านเถิด”

                   (for you were bought with a price. So glorify God in your body.)

 

ข้อมูลมีประโยชน์

 6:1       “เป็นความกัน” ( grievance against another) = คดีความเรื่องทรัพย์สิน (ปท.ข.7) ไม่ใช่คดีอาญาที่ต้องตัดสินโดยรัฐ (ศาล) –รม.13:3-4

“ธรรมมิกชน” (the saints) = ประชากรของพระเจ้า

= คริสเตียนที่เมืองโครินธ์ต้องหาข้อยุติคดีความเรื่องทรัพย์สินจากคริสเตียนที่มีวุฒิภาวะซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย –มธ.18:17

ในสมัยนั้น โรมยอมอนุญาตให้ชาวยิวใช้กฎหมายของตัวเองในการพิจารณาคดีทรัพย์สินได้

6:2       “ธรรมมิกชนจะพิพากษาโลก” (the saints will judge the world) = ธรรมิกชนผู้เชื่อกลายเป็นประชากรของพระเจ้าที่จะร่วมครองกับพระคริสต์ (ปท. มธ.19:28;2ทธ.2:12;วว.20:4;ลก.22:30;1คร.5:12

“พิพากษาเรื่องเล็กน้อย” (to try trivial cases) = ผู้เชื่อน่าจะมีความสามารถในการตัดสินคดีความท่ามกลางพวกของตน โดยการมองปัญหา/ข้อขัดแย้งจากมุมมองของพระเจ้า กอปรกับการมีบทบาทในอนาคตที่จะต้องพิพากษาโลกและทูตสวรรค์ การพิพากษาเรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่เล็กน้อยไปเลย

6:3       “เราจะพิพากษาพวกทูตสวรรค์” (we are to judge angels? ) -2ปต.2:4;9;ยด.6

6:4       “คนที่คริสตจักรไม่ยอมรับ” (who have no standing in the church? ) = เดิมแปลว่า “คนที่ไม่สำคัญ” หรือ “คนที่เล็กน้อยที่สุด” อาจหมายถึง

  1. เป็นผู้เชื่อที่เล็กน้อยที่สุดในคริสตจักร
  2. คือผู้ที่ไม่เชื่อหรือคนต่างศาสนา

= ไม่ว่าจะเป็นข้อใดล้วนไม่เหมาะสมที่จะให้ตัดสินคดีความภายในของพวกคริสเตียนในคริสตจักร

6:5       “เพื่อให้ท่านละอายใจ” (your shame) –1คร.4:14

“ในพวกท่านไม่มีสักคนหนึ่ง…วินิจฉัยเรื่องระหว่างพี่น้องหรือ?”( no one among you wise enough to settle a dispute between the brothers) –กจ.1:15

6:6       “แต่พี่น้องกับพี่น้อง” (but brother goes to law against brother) –รม.7:1

“ต่อหน้าคนที่ไม่มีความเชื่อ” ( before unbelievers) –2คร.6:14-15;1ทธ.5:8

6:7       “ตกจากระดับที่ควร” (a defeat for you) = พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงแล้ว อาจเพราะความโกรธ, เกลียด แค้น โลภ หรือศักดิ์ศรีหน้าตา แทนที่จะอยู่ในระดับของความรัก การให้อภัยการเสียสละ และการมีน้ำใจต่อกันอย่างพระคริสต์

“ทำไมท่านจึงไม่ยอมถูกโกงเสียดีกว่า?” ( Why not rather be defrauded) –มธ.5:39-40

6:8       “…และโกงกันแม้กระทั่งพี่น้อง” (…wrong and defraud even your own brothers!) –1ธส.4:6

6:9-10 –ดู รม.1:29-31

6:9       “จะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า” ( not inherit the kingdom of God) –อฟ.6:5;มธ.25:34

“อย่าหลงผิดเลย” (Do not be deceived) –โยบ.13:9;1คร.15:33;กท.6:7;ยก.1:16

“พวกที่ล่วงประเวณี” (neither the sexually immoral) = พวกที่ผิดศีลธรรมทางเพศ ในที่นี้อาจหมายถึง 3 ประเภท คือ

  1. คนคบชู้
  2. คน(ผู้ชาย)ขายตัว
  3. ชายรักร่วมเพศ

-ในโรม 1:26 เพิ่มหญิงรักร่วมเพศด้วย

พระคัมภีร์บอกว่า คนที่ยังเลือกประพฤติเช่นนี้ต่อไป โดยไม่ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลง จะถูกตัดออกจากแผ่นดินของพระเจ้า รวมทั้งคนที่ทำผิดอื่น ๆ (ข.9-10)

“คนผิดผัวผิดเมีย” (adulterers) = คนคบชู้-ลนต.18:20;ฉธบ.22:22

“พวกรักร่วมเพศ” (men who practice homosexuality) – ลนต.18:22

6:10     “พวกฉ้อโกง” (nor swindlers ) = คนฉ้อฉล (1ทธ.1:10;วว.21:8;22:15)

6:11     “มีบางคนในพวกท่านเคยเป็นอย่างนี้” (much were some of you) = แม้พระเจ้าทรงเกลียดพฤติกรรมบาปเหล่านั้นที่เอ่ยมา แต่พระเจ้าก็ทรงช่วยคนประเภทที่กล่าวถึงในข้อ 9-10   -อฟ.2:2

“ได้รับชำระให้บริสุทธิ์แล้ว” (you were washed) = การชำระให้บริสุทธิ์ (กจ.22:16;1คร.1:2)

“ได้รับการชำระให้ชอบธรรมแล้ว” (you were sanctified, you were justified) = ถูกนับว่าเป็นคนชอบธรรม –รม.4:25

6:12     “ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้” (All things are lawful for me) = ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ทำทุกสิ่งได้ ไม่ใช่มีสิทธิ์ทำอะไรตามใจได้ทุกอย่างอย่างที่บางคนอ้าง –ข้อ 13; 7:1;10:23

          “แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งนั้นเป็นประโยชน์” (but not all things are helpful) -1คร.10:23

= เปาโลกำลังชี้แจงว่า เสรีภาพทำอะไรตามใจอย่างที่อ้างนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตคริสเตียน

“แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใดเลย” (but I will not be dominated by anything) =ไม่ยอมให้สิ่งใดมาเป็นนายของเรา หากใช้เสรีภาพอย่างไม่ถูกต้อง เราอาจกลายเป็นทาสของสิ่งที่เราทำ

6:13     “อาหารมีไว้สำหรับท้อง” (Food is meant for the stomach) = ชาวโครินธ์บางคนอ้างว่า การรับประทานอาหารทางกายไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ ฉะนั้น พฤติกรรมส่ำสอนทางเพศจึงไม่ส่งผลต่อชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณเช่นกัน

“ร่างกายนั้นไม่ได้มีไว้สำหรับการล่วงประเวณี” (The body is not meant for sexual immorality)

–ศักดิ์ศรีของร่างกายของมนุษย์ก็คือ มีไว้เพื่อพระเจ้า ร่างกายจึงสำคัญ และพระเจ้าสร้างร่างกายนั้นเพื่อใช้ในชีวิตสมรสระหว่างชายและหญิง –17:2-5;ฮบ.13:4;รม.12:1;1คร.6:15,19

6:14     “ทำให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นขึ้นมา…ทำให้เราเป็นขึ้นมา” (God raised the Lord and will also raise us up by his power) –เปาโลกล่าวถึงการเป็นขึ้นจากตายฝ่ายกายของพระเยซูคริสต์ และของผู้เชื่อ (1คร.15:51-53;1ธส.4:16-17)

เพราะฉะนั้น ร่างกายที่ถูกกำหนดไว้ให้เป็นขึ้นจากตายไม่ใช่ให้ใช้เพื่อการผิดศีลธรรม 6:15-รม.12:5;1คร.12:27

6:16     “ผูกพันกับหญิงโสเภณี ก็เป็นร่างกายเดียวกับนาง” (he who is joined to a prostitute becomes one body with her ) = ในเพศสัมพันธ์ ร่างกายของ 2 คนรวมเป็นหนึ่งเดียว (ปท. ปฐก.2:24;มธ.19:4-5) ปกติจะมีชีวิตใหม่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางเพศ  การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเป็นการทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวในการสมรสถูกบิดเบือนหรือละเมิดไป

-โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โสเภณีที่เมืองโครินธ์อุทิศตัวรับใช้เทวี อะโฟรไดท์ ซึ่งเป็นเทวีแห่งความรักและเพศ  -17:21

6:17     “เป็นจิตวิญญาณเดียวกับพระองค์” (one spirit with him) = การเป็นหนึ่งเดียวในระดับสูงที่สุด ที่พระเจ้าประสงค์ให้เกิดขึ้นในชีวิตสมรส (อฟ.5:21-23,32)

6:18     “จงหลีกหนี” (Flee from sexual immorality) = วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือบาปทางเพศ มิฉะนั้นอาจทำให้วิหารของพระเจ้าเสื่อมเสีย

6:19     “…เป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (is a temple of the Holy Spirit) = ร่างกายจึงต้องบริสุทธิ์ ปลอดจากการผิดศีลธรรมทางเพศ พร้อมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตและสำแดงฤทธิ์อำนาจผ่านร่างกายนี้ (รม.8:9)

“ไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง” ( you are not your own) –1ปต.2:9

6:20     “ซื้อท่านไว้แล้วด้วยราคาสูง” (bought with a price) -7:23

“จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของพวกท่านเถิด” (So glorify God in your body) -10:31;รม.6:12-13

 

คำถามนำอภิปราย

  1. คุณเคยมีความขัดแย้งหรือเป็นความกันกับพี่น้องคริสเตียนบ้างไหม? เป็นคนในโบสถ์หรือนอกโบสถ์? เรื่องอะไร? แล้วผลเป็นอย่างไร?
  2. คุณเคยมีคดีความกับคริสเตียนจนขึ้นโรงขึ้นศาลบ้างหรือไม่? เรื่องอะไร? แล้วผลเป็นอย่างไร?
  3. คุณเคยมีคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลกับคนไม่เป็นคริสเตียนบ้างหรือไม่? เรื่องอะไร? แล้วลงเอยอย่างไร?
  4. คุณเคยรู้สึกตกใจ เสียใจ หรือเจ็บปวดกับการที่เห็นพี่น้อง(ผู้เชื่อ) ฟ้องร้องและไปว่าความกันเองต่อหน้าผู้พิพากษาที่ไม่เป็นคริสเตียนบ้างไหม? แล้วคุณทำอะไรบ้าง? ผลเป็นอย่างไร?
  5. คุณเคยถูกใครโกง(หรือเคยโกงใคร) บ้างไหม? เรื่องอะไร? คุณรู้สึกอย่างไร? แล้วคุณแก้ไขอย่างไร?
  6. มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมอะไรที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นในวงการคริสเตียนหรือในคริสตจักรของคุณ ที่คุณรู้แน่ชัดว่าผิดพระคัมภีร์บ้างหรือไม่? แล้วคุณทำอย่างไรบ้าง? (เพราะอะไร?)

…..1) ลงมือแก้ไขทันที?

…..2) ตั้งใจแก้ไขแต่รอจังหวะ?

…..3) ไม่อยากแตะหรือข้องเกี่ยว?

  1. คุณหรือคนในคริสตจักรของคุณ มีปัญหาเรื่องประเวณีหรือเรื่องเพศ บ้างหรือไม่? เกี่ยวกับอะไร? แล้วมีการแก้ไขอะไรหรือไม่? อย่างไร? ผลที่เกิดขึ้นคืออะไร?
  2. จากบทเรียนในวันนี้ เมื่อคุณรู้ว่า ร่างกายของคุณคือวิหารของพระเจ้า คุณจะปฏิบัติต่อร่างกายของคุณเหมือนเดิมหรือแตกต่างจากเดิม? และอย่างไรบ้าง?

ศจ.ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

Categories
บทเรียนพระคัมภีร์

1โครินธ์ 5

คนที่ไม่ควรคบ

พระธรรม        1โครินธ์ 5:1-12

อ้างอิง              1คร.1:8;10:27,14,;2คร.7:7-12;ลนต.18:8;ฉธบ.16:3;22:30;27:20;1ธส.2:17;2ธส.3:6

บทนำ

คนมักคิดว่าคริสตจักรเป็นที่ของนักบุญที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่จริง ๆ แล้ว ก็ยังคงมีคนกระทำบาปผิดอยู่ และบางครั้งไม่มีผู้ใดจัดการกับความผิดบาปเหล่านั้น แต่กลับปล่อยเฉย แบบไม่สนใจที่จะแก้ไข ในคริสตจักรโครินธ์ก็มีปัญหานั้นเช่นกัน แต่ อ.เปาโล ได้กำชับให้มีการจัดการแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว

บทเรียน

 5:1 “มีเรื่องที่ได้ยินมากับหูว่า ในพวกท่านมีการผิดประเวณี และแม้ในพวกต่างชาติก็ไม่มีการผิดประเวณีเช่นนี้ คือคนหนึ่งได้เอาภรรยาของบิดามาเป็นเมีย 

     (It is actually reported that there is sexual immorality among you, and of a kind that is not tolerated  even among pagans, for a man has his father’s wife. )

5:2 “และพวกท่านยังหยิ่งผยอง ท่านควรจะโศกเศร้าและให้คนที่ทำเช่นนี้ถูกขับออกไปจากพวกท่านไม่ใช่หรือ?”

(And you are arrogant! Ought you not rather to mourn? Let him who has done this be removed from among you.)

5:3 “แม้ตัวข้าพเจ้าไม่ได้อยู่กับพวกท่าน แต่ใจของข้าพเจ้าก็อยู่และเสมือนว่าข้าพเจ้าอยู่ด้วย ข้าพเจ้าได้ตัดสินลงโทษคนที่ทำผิดเช่นนี้” 

(For though absent in body, I am present in spirit; and as if present, I have already pronounced  judgment on the one who did such a thing.) 

5:4 “ในพระนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า [ของเรา] เมื่อท่านทั้งหลายประชุมกันและใจของข้าพเจ้าร่วมอยู่ด้วยพร้อมทั้งฤทธานุภาพของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” 

   (When you are assembled in the name of the Lord Jesus and my spirit is present, with the power of our Lord Jesus,) 

5:5 “พวกท่านจงมอบคนเช่นนี้ให้ซาตานทำลายเนื้อหนัง เพื่อจิตวิญญาณของเขาจะได้รับความรอด ในวันขององค์‍พระผู้เป็นเจ้า”

     (you are to deliver this man to Satan for the destruction of the flesh, so that his spirit may be saved in the day of the Lord.)

5:6 “การที่พวกท่านโอ้อวดนั้นไม่ใช่สิ่งดีเลย ท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าเชื้อขนมเพียงนิดเดียว ย่อมทำให้แป้งดิบฟูขึ้นทั้ง​ก้อน?”
(Your boasting is not good. Do you not know that a little leaven leavens the whole lump?)

5:7 “จงชำระเชื้อเก่าเสีย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นแป้งดิบก้อนใหม่ ดังเช่นที่ท่านเป็นพวกไร้เชื้อ เพราะพระคริสต์ผู้ทรงเป็นปัสกาของเราถูกถวายบูชาแล้ว” 

     (Cleanse out the old leaven that you may be a new lump, as you really are unleavened. For Christ, our Passover lamb, has been sacrificed.)

5:8 “เพราะฉะนั้นให้เราถือปัสกานั้น ไม่ใช่ด้วยเชื้อเก่าซึ่งเป็นเชื้อของความชั่วและความเลว แต่ด้วยขนมปังที่ไม่มีเชื้อ คือความจริงใจและสัจจะ”

 (Let us therefore celebrate the festival, not with the old leaven, the leaven of malice and evil, but with the unleavened bread of sincerity and truth.)

5:9 “ข้าพเจ้าเขียนจดหมายบอกพวกท่านแล้วว่า อย่าคบพวกที่ล่วงประเวณี” 

     (I wrote to you in my letter not to associate with sexually immoral people)

5:10 “แต่ไม่ใช่ห้ามคบทุกคนในโลกนี้ที่เป็นคนล่วงประเวณี คนโลภ คนฉ้อโกงหรือคนไหว้รูปเคารพ ถ้าห้ามอย่างนั้นพวกท่านก็ต้องออกไปจากโลกนี้”

   (not at all meaning the sexually immoral of this world, or the greedy and swindlers, or idolaters,  since then you would need to go out of the world.)

5:11 “แต่บัดนี้ข้าพเจ้ากำลังเขียนบอกพวกท่านว่า จงอย่าคบคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่น้องแล้ว แต่ยังล่วงประเวณี โลภ ไหว้รูปเคารพ ชอบกล่าวร้าย เป็นคนขี้เมา และเป็นคนฉ้อโกง แม้จะกินด้วยก็อย่าเลย”

(But now I am writing to you not to associate with anyone who bears the name of brother if he is guilty of sexual immorality or greed, or is an idolater, reviler, drunkard, or swindler—not even to eat with such a one.)

5:12 “ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะไปพิพากษาคนภายนอก แต่ท่านจะต้องพิพากษาคนภายในคณะไม่ใช่หรือ

       (For what have I to do with judging outsiders? Is it not those inside the church whom you are to  judge?)

5:13 “ส่วนคนภายนอกนั้นพระเจ้าจะทรงพิพากษา จงกำจัดคนชั่วออกจากพวกท่านเสียเถิด”

       (God judges those outside. “Purge the evil person from among you.”)

 

ข้อมูลมีประโยชน์

 5:1       “มีเรื่องที่ได้ยินมากับหู” (It is actually reported  ) = “ได้ยินมาจริง ๆ”   (ความหมายตามภาษากรีก)

“แม้ในพวกต่างชาติก็ไม่มีการผิดประเวณีเช่นนี้” (that there is sexual immorality among you, and of a kind that is not tolerated even among pagans) = ไม่เคยเกิดขึ้น แม้แต่ในหมู่คนต่างศาสนา

= การร่วมประเวณีในระหว่างคนที่เป็นญาติกันไม่ปรากฏในสังคมโรมัน

“เอาภรรยาของบิดามาเป็นเมีย” (for a man has his father’s wife) = น่าจะเป็นแม่เลี้ยง ซึ่งในพระคัมภีร์ก็มีคำห้ามเรื่องนี้ไว้ (ลนต.18:8;ฉธบ.22:30;27:20)

5:2       “หยิ่งผยอง” (arrogant) = หยิ่งผยองในเสรีภาพของคน เป็นการบิดเบือนพระคุณของพระเจ้า โดยไร้จิตสำนึก   –ปท.รม.6:1-2

          “ควรจะโศกเศร้า” (rather to mourn) –2คร.7:7-11

“ถูกขับ” (removed) = เลิกคบ,ถูกตัดออกจากคริสตจักร (ยน.9:22) – 1คร.5:13

5:3       “แต่ใจของข้าพเจ้าก็อยู่” (I am present in spirit  ) –คส.2:5;1ธส.2:17

5:4       “ในพระนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อท่านทั้งหลายประชุมกัน” (When you are assembled in the name of the Lord Jesus and my spirit is present) = พวกเขาต้องตัดสินคน       โดยสิทธิอำนาจของพระเยซูคริสต์ –2ธส.3:6

          “พร้อมทั้งฤทธานุภาพของพระเยซูคริสต์” (with the power of our Lord Jesus) = ผ่านทางพระวจนะ และพระวิญญาณบริสุทธิ์

5:5       “จงมอบคนเช่นนี้ให้ซาตานทำลายเนื้อหนัง” (deliver this man to Satan for the destruction of the flesh ) = ต้องปล่อยคนเช่นนั้นให้มารทรมาน เพราะเขาถูกตัดออกจากคริสตจักรหลุดจากการเป็นคนของพระเจ้าเข้าสู่อาณาจักรของมาร – 1ทธ.1:20;มธ.4:10

= เพื่อให้มารจัดการจนกว่านิสัยบาปของเขาจะถูกทำลาย จนสร้างความทุกข์ระทมในชีวิตอย่างมากจนเป็นเหตุให้เขากลับใจ และทำให้เขากลับมาหาพระเจ้า ละทิ้งวิถีชีวิตที่เลวร้าย และจิตวิญญาณของเขาจะได้รับความรอดในวันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า –1คร.1:7-8;3:15

5:6       “การที่พวกท่านโอ้อวดนั้น ไม่ใช่สิ่งดีเลย” (Your boasting is not good) –ยก.4:16

“เชื้อขนมเพียงนิดเดียว” (a little leaven ) –มธ.16:6,12

“ย่อมทำให้แป้งดิบฟูขึ้นทั้งก้อน” (leavens the whole lump) –กท.5:9

= เป็นตัวอย่างประกอบเรื่องความบริสุทธิ์และวินัยของคริสเตียน

เปาโลเอ่ยถึงข้อห้ามในการใช้เชื้อ (ยีสต์) ในขนมปังที่รับประทานในช่วงเทศกาลปัสกา (อพย.12:15)

-ในพระคัมภีร์มักใช้เชื้อ (ยีสต์) เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วและบาป (มก.8:15)

-เวลานี้คริสตจักรที่โครินธ์ได้รับการตักเตือนให้ลงมือกำจัดเชื้อบาปเสีย (ข.8) เพราะว่าพวกเขาเป็นแป้งทั้งก้อนที่ไม่มีเชื้อ และเป็นผู้ที่พระคริสต์ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่แล้ว (2คร.5:17)

5:7       “จงชำระเชื้อเก่าเสีย” (Cleanse out the old leaven) = อาจเกี่ยวโยงกับธรรมเนียมของเทศกาลปัสกา ที่ต้องมีการปัดกวาดเศษขนมปังที่มีเชื้อให้ออกไปจากบ้านก่อนเตรียมมื้อปัสกา

          “ดังเช่นที่ท่านเป็นพวกไร้เชื้อ” ( you really are unleavened) = ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้วในสายพระเนตรของพระเจ้า (1:2;6:11) แต่เปาโลได้ขอให้พวกเขามีความประพฤติที่บริสุทธิ์ด้วย

          “พระคริสต์ผู้ทรงเป็นปัสกาของเรา” ( For Christ, our Passover lamb) – อพย.12:5

= พระเยซูคริสต์ทรงกระทำให้ความหมายที่แท้จริงของการถวายแกะปัสกาของชาวยิวสำเร็จบริบูรณ์ เมื่อยอมให้ตรึงพระองค์บนไม้กางเขนสิ้นพระชนม์ เพื่อไถ่บาปมวลมนุษย์ (ยน.1:29)

= พระคริสต์ผู้ทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้า ถูกตรึงกางเขนในวันเทศกาลปัสกา ซึ่งเริ่มต้นฉลองเมื่อมีการรับประทานเนื้อปัสกาในตอนเย็นก่อนวันนั้น (อพย.12:8)

“ถูกถวายบูชาแล้ว” (has been sacrificed.) –อพย.12:3-6,21;มก.14:12;1ปต.1:19

5:8       “ให้เราถือเทศกาลนั้น” (us therefore celebrate the festival) = เทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ ซึ่งต่อจากเทศกาลปัสกา

= เป็นสัญลักษณ์ของคริสเตียนที่ดำเนินชีวิตที่อุทิศตัวแก่พระเจ้า และไม่เกี่ยวข้องกับบาป อาทิ การผิดศีลธรรมและการชั่วช้าต่าง ๆ

“ขนมปังที่ไม่มีเชื้อ” (the unleavened bread) = อพย.12:14,15;13:7;ฉธบ.16:3

5:9       “ข้าพเจ้าเขียนจดหมาย” (I wrote to you in my letter) = เปาโลให้ความกระจ่างกับจดหมายฉบับก่อนหน้านี้ (ซึ่งสูญหายไป) มีบางคนเข้าใจจดหมายฉบับนั้นผิดไป พวกเขาเข้าใจว่า การแยกตัวออกจากบาปคือการเลิกคนคนที่ทำผิดศีลธรรมทั้งหมด รวมทั้งคนที่ไม่เป็นคริสเตียนด้วย

-แต่เปาโลหมายความว่า พวกเขา ควรแยกตัวออกจากคนที่อ้างตัวว่า เป็นคริสเตียนแต่ยังทำผิดศีลธรรม (ข.10-11)

“อย่าคบ” (not to associate) –อฟ.5:11;2ธส.3:6,14

5:10     “ไม่ใช่ห้ามคบทุกคนในโลก” (not at all meaning the sexually immoral of this world) –1คร.10:27

5:10-11 – รม.1:29-31

5:11    “แม้จะกินด้วยก็อย่าเลย” (not even to eat) = คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคริสเตียน แต่ยังดำเนินชีวิตผิดศีลธรรมที่น่าประณาม และยังคงทำต่อไปอย่าหน้าตาเฉย แถมยังเป็นพยานเท็จเรื่องพระคริสต์  หากว่า คริสเตียนเข้าไปคบหาคลุกคลีกับคนเหล่านี้ คนไม่เป็นคริสเตียนอาจเข้าใจไปว่า คริสตจักรยอมรับการดำเนินชีวิตผิดศีลธรรมเช่นนั้น จะเป็นเหตุให้เสื่อมเสียชื่อเสียงขององค์พระเยซูคริสต์หรืออาจก่อเกิดคำถามหรือข้อสงสัยในลักษณะนิสัยของคริสเตียนขึ้นมาได้ (รม.16:17-18;2ธส.3:6,14-15)

5:12     “พิพากษาคนภายนอก” (judging outsiders?) –มก.4:11 = คริสตจักรต้องไม่พยายามไปตัดสินคนในโลกที่ยังไม่รอด เพราะมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำหน้าที่อยู่แล้ว (รม.13:1-5)

“ต้องพิพากษาคนภายในคณะไม่ใช่หรือ?” (Is it not those inside the church whom you are to judge?  ) = คริสตจักรต้องลงวินัยฝ่ายวิญญาณกับคนที่ประกาศตัวว่าเป็นผู้เชื่ออยู่ในคริสตจักร (ปท. มธ.18:15-18) –1คร.5:3-5;6:1-4

5:13     “ส่วนคนภายนอกนั้นพระเจ้าจะทรงพิพากษา” (God judges those outside ) = พระเจ้าจะเป็นผู้ตัดสินสุดท้ายสำหรับบุคคลภายนอกคริสตจักร (ข.13;วว.20:11-15)

“จงกำจัดคนชั่วออกจากพวกท่านเสียเถิด” (Purge the evil person from among you.”)

= ฉธบ.13:5;17:7;19:19;22:21,24;24:7;วนฉ.20:13

 

คำถามนำอภิปราย

  1. คุณเคยได้ยินเรื่องอะไรไม่ดีเกี่ยวกับคนในคริสตจักรบ้างหรือไม่?   เรื่องอะไร? แล้วคุณทำอย่างไร?
  2. คุณเคยเจอคนในโบสถ์ที่ผิดประเวณีบ้างหรือไม่? เรื่องราวเป็นอย่างไร? แล้วคุณจัดการกับคนนั้นและเรื่องดังกล่าวอย่างไร?
  3. คุณเคยหยิ่งผยอง หรือไม่ใส่ใจกับการกระทำผิดบาปในคริสตจักรบ้างหรือไม่? แล้วผลเป็นอย่างไร?
  4. คุณหรือคณะเคยลงวินัยผู้ใดบ้างหรือไม่? ในเรื่องอะไร? และผลเป็นอย่างไร?
  5. คุณเคยถูกคริสตจักรลงวินัยเพราะกระทำผิดบาปบางอย่างหรือไม่? แล้วคุณยอมรับหรือไม่?   ผลที่เกิดตามมาคืออะไร?
  6. คุณใช้สิทธิอะไรในการลงวินัยหรือตัดสินคนในคริสตจักร? แล้วคนที่ถูกลงวินัยยอมรับการลงวินัยหรือไม่? ทำไม? แล้วลงเอยอย่างไร?
  7. คุณเคยเห็นการขับสมาชิกบางคนออกจากโบสถ์บ้างหรือไม่?   เรื่องราวเป็นอย่างไร?
  8. คุณเคยเห็นคนที่ถูกซาตานทำลายเนื้อหนังบ้างหรือไม่? เป็นอย่างไรผลที่เกิดขึ้นคืออะไร? ดีหรือไม่ดี?
  9. คุณคิดว่า เวลานี้ คริสตจักรของคุณกำลังมีเชื้ออะไรที่กำลังเกิดขึ้น และอาจติดแพร่ทำให้เกิดปัญหาในคริสตจักรได้? คุณจะเสนอให้คริสตจักรทำอะไรบ้าง? และอย่างไร?
  10. คุณเคยกำจัดคนชั่วออกจากในกลุ่ม/คริสตจักรของคุณบ้างหรือไม่? ในเรื่องอะไร และอย่างไร?

ศจ.ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

Categories
บทเรียนพระคัมภีร์

1โครินธ์ บทที่ 4

อย่าออกนอกขอบเขตของพระคัมภีร์

พระธรรม        1โครินธ์ 4:1-21

อ้างอิง             1คร.1:18-19,31;3:5;13,19-20;4:14;6:5;7:17;9:12,14,17,18,23;11:1;15:1;16:10;2คร.10:18;11:23-27

บทนำ             เราควรจะสำนึกอยู่เสมอว่า เราเป็นคนของพระเจ้า เราเป็นผู้รับใช้และผู้รับฉันทะในการเป็นตัวแทนในการประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า เราต้องถ่อมใจ และรวมพลังเป็นหนึ่งในการทำพันธกิจของเรา!

บทเรียน

4:1 “ให้ทุกคนถือว่าเราเป็นคนเช่นนี้คือเป็นเหมือนคนรับใช้ของพระคริสต์ และเป็นผู้รับมอบฉันทะให้ดูแลสิ่งล้ำลึก​ของพระเจ้า”

           (This is how one should regard us, as servants of Christ and stewards of the mysteries of God. 

4:2 “ยิ่งกว่านั้น บรรดาผู้รับมอบฉันทะย่อมได้รับการคาดหวังว่าต้องเป็นคนที่ไว้วางใจได้” 

         (Moreover, it is required of stewards that they be found faithful.)

4:3 “สำหรับข้าพเจ้า การที่พวกท่านหรือมนุษย์คนใดจะไต่สวนตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่สุด ถึง แม้ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้ไต่สวนตัวเอง”

   (But with me it is a very small thing that I should be judged by you or by any human court. In fact,   I do not even judge myself.)

4:4 “เพราะมโนธรรมไม่ได้กล่าวโทษตัวข้าพเจ้า แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าถูกนับว่าไร้ความผิด และผู้ทรงไต่สวน​ตัวข้าพเจ้าคือองค์พระผู้เป็นเจ้า” 

     (For I am not aware of anything against myself, but I am not thereby acquitted. It is the Lord who judges me)

4:5 “ฉะนั้นอย่าตัดสินสิ่งใดก่อนถึงเวลา จงคอยจนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมา พระองค์จะทรงเปิดเผยสิ่งที่ซ่อน​อยู่ในความมืด และจะทรงเผยความมุ่งหมายของจิตใจทั้งหลาย เมื่อนั้นแต่ละคนจะได้รับคำชมเชยจากพระเจ้า”

     (Therefore do not pronounce judgment before the time, before the Lord comes, who will bring to light the things now hidden in darkness and will disclose the purposes of the heart. Then each one will receive his commendation from God.)

4:6 “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าเปรียบสิ่งเหล่านี้กับตัวเองและปอลโล ก็เพื่อประโยชน์ของพวกท่าน เพื่อให้ท่านเรียน​รู้จากเราในคำกล่าวที่ว่า “อย่าออกนอกขอบเขตของพระคัมภีร์” เพื่อว่าพวกท่านจะไม่หยิ่งผยองในการยกคน​หนึ่งเหยียดอีกคนหนึ่ง”

   (I have applied all these things to myself and Apollos for your benefit, brothers, that you may learn by us not to go beyond what is written, that none of you may be puffed up in favor of one against another.)

4:7 “เพราะว่าใครทำให้ท่านวิเศษกว่าคนอื่น? ท่านมีอะไรที่ไม่ได้รับมา? ถ้าท่านได้รับมา ทำไมจึงโอ้อวดเหมือนกับ​ ว่าท่านไม่ได้รับมา?”

     (For who sees anything different in you? What do you have that you did not receive? If then you received it, why do you boast as if you did not receive it?)

     4:8 “ท่านทั้งหลายคงอิ่มหนำแล้วสินะ ท่านคงมั่งมีแล้วสินะ ท่านได้ครอบครองโดยไม่มีเราร่วมด้วยแล้วสินะข้าพเจ้า​อยากให้พวกท่านครอบครองจริงๆ เพื่อเราจะได้ครอบครองร่วมกับท่าน”

     (Already you have all you want! Already you have become rich! Without us you have become kings! And would that you did reign, so that we might share the rule with you!) 

4:9 “เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าพระเจ้าทรงจัดเราผู้เป็นอัครทูตไว้สุดท้าย เหมือนอย่างพวกต้องโทษประหาร คือเรากลาย เป็นการแสดงที่ให้จักรวาล ทูตสวรรค์และมนุษย์ทั้งหลายมองดู”

   (For I think that God has exhibited us apostles as last of all, like men sentenced to death, because we have become a spectacle to the world, to angels, and to men.)

4:10 “เราเป็นคนโง่เพราะเห็นแก่พระคริสต์ และท่านทั้งหลายเป็นคนมีปัญญาในพระคริสต์ เราอ่อนแอ แต่ท่านมี​กำลัง ท่านทั้งหลายมีเกียรติ แต่เราไร้เกียรติ”

     (We are fools for Christ’s sake, but you are wise in Christ. We are weak, but you are strong. You are held in honor, but we in disrepute.)

4:11 “จนถึงเวลานี้เราก็ยังหิว และกระหาย ขาดเครื่องนุ่งห่ม ถูกโบยตี และไม่มีบ้านอยู่” 

       (To the present hour we hunger and thirst, we are poorly dressed and buffeted and homeless, )

4:12 “เราทำงานตรากตรำด้วยมือของตัวเอง เมื่อถูกด่าเราก็อวยพร เมื่อถูกข่มเหงก็ทนเอา”

       (and we labor, working with our own hands. When reviled, we bless; when persecuted, we endure;)

 4:13 “เมื่อถูกกล่าวร้ายก็พยายามวิงวอน เรากลายเป็นเหมือนเศษเดนของโลก และเหมือนราคีของทุกสิ่งจนถึงบัดนี้”

         (when slandered, we entreat. We have become, and are still, like the scum of the world, the refuse of all things.)

4:14 “ข้าพเจ้าไม่ได้เขียนข้อความเหล่านี้เพื่อให้พวกท่านละอายใจ แต่เขียนเพื่อเตือนสติท่านผู้เป็นเหมือนลูกที่รักของข้าพเจ้า”

       (I do not write these things to make you ashamed, but to admonish you as my beloved children.)

4:15 “เพราะว่าในพระคริสต์ถึงแม้ท่านทั้งหลายมีผู้ดูแลสักหมื่นคน แต่ท่านก็มีบิดาเพียงคนเดียว เพราะว่าใน​พระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าได้ให้กำเนิดพวกท่านโดยข่าวประเสริฐ”

       (For though you have countless guides in Christ, you do not have many fathers. For I became your father in Christ Jesus through the gospel.)

     4:16 “เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทำตามอย่างข้าพเจ้า”

         (I urge you, then, be imitators of me.)

4:17 “เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงใช้ทิโมธีลูกที่รักของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ในองค์พระผู้เป็นเจ้ามาหาพวกท่าน เพื่อช่วยให้ระลึกถึงหลักการดำเนินชีวิตของข้าพเจ้าในพระคริสต์ ตามที่ข้าพเจ้าสอนอยู่ในคริสตจักรทุกแห่ง”

       (That is why I sent you Timothy, my beloved and faithful child in the Lord, to remind you of my  ways in Christ, as I teach them everywhere in every church.)

     4:18 “บางคนทำหยิ่งผยองราวกับว่าข้าพเจ้าจะไม่มาหาพวกท่าน”

       (Some are arrogant, as though I were not coming to you. )

4:19 “แต่ถ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงโปรด ข้าพเจ้าจะมาหาท่านในไม่ช้านี้ และข้าพเจ้าจะหยั่งรู้ไม่ใช่ในถ้อยคำของคนที่หยิ่งผยองเหล่านั้น แต่จะหยั่งรู้ในฤทธิ์เดชของพวกเขา”

             (But I will come to you soon, if the Lord wills, and I will find out not the talk of these arrogant people but their power.)

       4:20 “เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าไม่ใช่เรื่องของถ้อยคำ แต่เป็นเรื่องฤทธิ์เดช”

         (For the kingdom of God does not consist in talk but in power. )

4:21 “พวกท่านต้องการสิ่งไหน? จะให้ข้าพเจ้าถือไม้เรียวมาหาท่าน หรือจะให้ข้าพเจ้ามาด้วยความรัก และด้วยใจสุภาพอ่อนโยน?”

       (What do you wish? Shall I come to you with a rod, or with love in a spirit of gentleness?)

 

ข้อมูลมีประโยชน์

 4:1       “คนรับใช้” (servants) –1คร.3:5; “ผู้รับมอบฉันทะ” ( stewards) =ผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ในภาษากรีก = คนจัดการดูแลในบ้าน หรือคนต้นเรือน –1คร.9:17;ทต.1:7

          “สิ่งล้ำลึก” (the mysteries) = สิ่งที่พระเจ้าปิดซ่อนไว้ ที่มนุษย์ไม่มีทางค้นพบเองได้ แต่บัดนี้พระเจ้าเปิดเผยแก่มรรคาของพระองค์ (2:7) –รม.16:25

4:4       “มโนธรรม” (not aware of anything against myself) = จิตสำนึก –กจ.23:1

“ไร้ความผิด” (not thereby acquitted) – รม.2:13

          “ไต่สวนตัวข้าพเจ้า” (judges me) = ตัดสินข้าพเจ้า – 2คร.10:18

4:5       “อย่าตัดสินสิ่งใดก่อนถึงเวลา” (do not pronounce judgment before the time) –มธ.7:1-2

= ก่อนเวลากำหนดที่พระเจ้าพิพากษาผู้เชื่อ (3:13)

“ความมุ่งหมายของจิตใจ” (disclose the purposes of the heart.) = แรงจูงใจ –1ซมอ.16:7;

1พกษ.8:39;1พศด.28:9;สดด.139:23-24;สภษ.16:2;21:2;ลก.16:15;ฮบ.4:12-13

4:6       “พี่น้องทั้งหลาย” (brothers) -1:10

“อย่าออกนอกขอบเขตของพระคัมภีร์” (not to go beyond what is written) = อย่าไปไกลเกินกว่าที่เขียนไว้ (ในพระคัมภีร์) –1คร.1:19;31;3:19-20

= ทั้งเปาโล อปอลโล และคนอื่น ๆ (รวมทั้งผู้ที่ติดตาม) ควรตระหนักถึงความจำกัดของแต่ละคน โดยไม่ควรเย่อหยิ่งยกตัวขึ้นข่มกัน

“ยกคนหนึ่งเหยียดอีกคนหนึ่ง”(be puffed up in favor of one against another) = ยกคนนั้นข่มคนนี้

–1คร.1:12;3:4

4:7       “ท่านมีอะไรที่ไม่ได้รับมา?” (What do you have that you did not receive?) –ยน.3:17;รม.12:3,6

4:8       “อิ่มหนำแล้วสินะ …มั่งมีแล้วสินะ…ครอบครอง…แล้วสินะ” (you have all you want! Already you  have become rich! Without us you have become kings! And would that you did reign)

= มีทุกสิ่งที่ต้องการแล้ว

= อ.เปาโลใช้สำนวนเสียดสีเชิงประชดประชัน ให้บรรดาผู้อ่านชาวโครินธ์สำนึกว่าพวกเขาอวดดีอย่างน่าสมเพชมากเพียงใด;     “มั่งมีแล้ว” –1:5;2คร.9:11;วว.3:17-18

“ครอบครอง…แล้ว” โดยคิดว่า พวกเขาได้ครอบครองร่วมกับพระคริสต์อย่างเต็มตัวแล้ว (รม.5:17; 2ทธ.2:12) โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยพันธกิจของพวกอัครทูต

4:9       “อัครทูต” (apostles) 1:1; “เรากลายเป็นการแสดง” (become a spectacle)

คำกรีกนี้ = “เป้าสายตา” , คำนี้มีรากศัพท์มาจากคำว่า “โรงละคร” (Theatre)

=ในที่นี้ อ.เปาโลหมายถึง ขบวนแห่งชัยชนะของแม่ทัพโรมที่ได้ชัยกลับมาพร้อมเชลยอยู่ท้ายขบวน

-เชลยเหล่านี้ถูกบังคับให้ลงไปต่อสู้กับคู่แข่ง(นักรบ) หรือสัตว์ร้ายในสังเวียน (อัฒจรรย์) ให้คนทั้งหลายชมดู

= ภาพที่ อ เปาโลต้องการวาดให้เห็นว่า ทั้งโลก/จักรวาล และทูตสวรรค์กำลังมองดูอัครทูตที่ต่อสู้ยกสุดท้ายในสังเวียนจนตัวตาย – รม.8:36

4:10     “เราเป็นคนโง่เพราะเห็นแก่พระคริสต์” (We are fools for Christ’s sake) –กจ.17:18;26:24;1คร.1:18

                    “มีเกียรติ…มีกำลัง” (you are strong. You are held in honor) = คำพูดเชิงประชดประชันเช่นกัน บาง

ฉบับแปลว่า “ท่านฉลาดนัก…ท่านเข้มแข็ง”-1คร.2:3;3:18;2คร.11:19

4:11-13 = คำพรรณนาถึงสภาพของเปาโล ในขณะที่เขียนจดหมายฉบับนี้

4:11     “ไม่มีบ้านอยู่” (homeless) = ไร้ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง –รม.8:35;2คร.11:23-27
4:12     “เราทำงานตรากตรำด้วยมือของเราเอง” (working with our own hands ) = อ.เปาโลเป็นช่างทำเต้นท์

เพื่อขาย หารายได้มาทำพันธกิจ (กจ.18:3; ปท.1คร.9:6,18;กจ.20:34-35)

“เมื่อถูกด่า เราก็อวยพร” (When reviled, we bless) –มธ.5:44;ลก.6:28;รม.12:14

“ทนเอา” (we endure) = ไม่ตอบโต้ เมื่อถูกข่มเหง

4:13    “เศษเดนของโลก และเหมือนราคีของทุกสิ่ง” (are still, like the scum of the world, the refuse of

all things) –ยรม.20:18;พคค.3:45

4:14     “ละอายใจ” (ashamed) = ให้อับอาย –1คร.6:5;13:34;2ธส.3:14

“ลูกที่รักของข้าพเจ้า” (my beloved children) –1ธส.2:11

4:15    “ผู้ดูแล” (quides) –กท.3:24; “ข้าพเจ้าได้ให้กำเนิดพวกท่าน” ( I became your father) –1คร.4:14

“โดยข่าวประเสริฐ” (the gospel) –1คร.9:12;14,18,23;15:1

4:16    “ขอให้ท่านตามอย่างข้าพเจ้า” (be imitators of me) = เลียนแบบข้าพเจ้า –1คร.11:1;ฟป.3:17;4:9; 1ธส.1:6;2ธส.3,7,9

4:17     “ข้าพเจ้าจึงใช้ทิโมธีลูกรัก…มาหาท่าน” (I sent you Timothy, my beloved …remind you  ) = เห็นได้ชัดว่าทิโมธีได้เริ่มต้นการเดินทางไปโครินธ์ระหว่างทางไปมาซิโดเนีย (กจ.16:1 ปท. 1ทธ.1:2;1คร.16:10

“คริสตจักรทุกแห่ง” (every church) -1คร.7:17

4:18     “บางคน” (Some) = บางคนในคริสตจักรของชาวโครินธ์เอง = พวกที่พยายามบั่นทอนสิทธิอำนาจของ     อ.เปาโล (9:1-3) และสอนว่า อ.เปาโลไม่มั่นคง (2คร.1:17) และพันธกิจที่ท่านทำก็ไร้ค่า (2คร.10:10)

ปท.12:11-12; “ทำหยิ่งผยอง” (arrogant) = หยิ่งผยองขึ้นมา –ยรม.43:2

“ราวกับข้าพเจ้าจะไม่มาหาพวกท่าน” (  I were not coming to you) –1คร.4:21

4:19     “หยิ่งผยอง” = ยโส -5:2

4:20     “แผ่นดินของพระเจ้า” ( the kingdom of God) = การสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้าที่ครอบครองอยู่ในชีวิตประชากรของพระเจ้า (มธ.3:2) ทำให้ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ (2คร.5:17) และยังเกิดใหม่ (ยน.3:3-8) แสดงออกด้วยชีวิตที่ถ่อมใจและอุทิศชีวิตแด่พระคริสต์และแผ่นดินของพระเจ้า

= ไม่ใช่เรื่องถ้อยคำแต่เป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้า (1:24) ปท. รม.14:17;15:13

4:21     “ถือไม้เรียว” (a rod) = บางฉบับแปลว่า “ถือแส้” –2คร.1:28;2:1;13:2,10

คำถามนำอภิปราย

  1. หากคุณยอมรับว่าคุณเป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์จริง ๆ ชีวิตของคุณจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผ่านมาแล้วบ้าง?
  2. หากวันนี้คุณเชื่อว่า คุณเป็นผู้รับมอบฉันทะที่พระเจ้ามอบหมายให้ดูแลสิ่งล้ำลึกหรือข่าวประเสริฐของพระองค์จริง ๆ

คุณจะทำอะไรที่แตกต่างจากเมื่อวานหรือในอดีตที่ผ่านมาบ้าง? อย่างไร?

  1. หากให้คุณประเมินตัวคุณเองอย่างซื่อตรง คุณคิดว่า คุณเป็นคนที่ไว้วางใจได้ 100 % หรือไม่? ในเรื่องการเป็น

…..1) ตัวแทนของพระคริสต์ในโลกนี้                           …..2) สามี/หรือภรรยา?

…..3) นายจ้าง/ลูกจ้าง?                                             …..4) ผู้นำ/สมาชิก?

  1. คุณคิดว่า คุณควรจะปรับเปลี่ยนตัวคุณในเรื่องอะไรเป็นเรื่องแรก ทำไม? และเมื่อไรจะเริ่มลงมือ?
  2. คุณเคยตัดสินเรื่องใดหรือคนใดก่อนถึงเวลาบ้างหรือไม่? ในเรื่องอะไร? และผลที่เกิดคืออะไร?
  3. คุณเคยทำอะไรที่เข้าข่าย “นอกขอบเขตพระคัมภีร์” บ้างหรือไม่? ในเรื่องอะไร? แล้วเกิดอะไรขึ้น?
  4. คุณเคยหยิ่งผยองหรือโอ้อวดในเรื่องใด แล้วถูกพระเจ้าตีสอนบ้างหรือไม่ ? ในเรื่องอะไรและอย่างไร?
  5. คุณเคยถูกคนที่คุณเคยสอน ช่วยเหลือหรือนำ เล่นงานคุณ ในเรื่องใดบ้างหรือไม่? แล้วผลสุดท้ายเป็นอย่างไร? คุณรู้สึกอย่างไร?
  6. คุณเคยรู้สึกเหมือนกับว่า คุณเป็นเศษเดนของโลก หรือราคีของทุกสิ่งบ้างหรือไม่? ทำไมคุณคิดอย่างนั้น?
  7. หากวันนี้ คุณมีโอกาสที่จะเตือนสติคนในกลุ่มหรือในคริสตจักรของคุณ คุณอยากจะเตือนสติพวกเขาในเรื่องอะไร? ทำไม?

ศจ.ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

Categories
บทเรียนพระคัมภีร์

1โครินธ์ 3 (บทเรียนที่ 3)

เพื่อนร่วมงานเพื่อพระเจ้า

พระธรรม        1โครินธ์ 3:1-23

อ้างอิง             1คร.1:12;6:19;2คร.6:16;กจ.18:4-11,24-28;สดด.94:11;โยบ

บทนำ               พระเจ้าประสงค์ให้เราร่วมมือกัน ไม่ใช่แตกแยกกันหรือขัดเคืองกัน พระเจ้าประสงค์ให้เราตระหนักว่า เราเหล่าผู้เชื่อล้วนเป็นของพระคริสต์เหมือนกัน เราจึงควรร่วมมือกันทำงานเป็นทีมถวายเกียรติแด่พระองค์!

 

บทเรียน

3:1 “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่อาจจะพูดกับท่าน เหมือนพูดกับพวกที่อยู่ฝ่ายจิตวิญญาณ แต่ต้องพูดเหมือนพวกที่​อยู่ฝ่ายเนื้อหนัง เหมือนกับพวกที่เป็นทารกในพระคริสต์”

     (But I, brothers, could not address you as spiritual people, but as people of the flesh, as infants in Christ. )

3:2 “ข้าพเจ้าเลี้ยงพวกท่านด้วยน้ำนม ไม่ใช่ด้วยอาหารแข็ง เพราะว่าเมื่อก่อนท่านไม่สามารถรับ และเดี๋ยวนี้ท่านก็​ยังคงไม่สามารถรับได้”

     (I fed you with milk, not solid food, for you were not ready for it. And even now you are not yet ready,)

3:3 “เพราะว่าท่านทั้งหลายยังอยู่ฝ่ายเนื้อหนัง เพราะเมื่อยังอิจฉากัน และขัดเคืองใจกัน พวกท่านก็อยู่ฝ่ายเนื้อหนัง​ และประพฤติอย่างคนทั่วไปไม่ใช่หรือ?”

     (for you are still of the flesh. For while there is jealousy and strife among you, are you not of the  flesh and behaving only in a human way? )

3:4 “เพราะเมื่อคนหนึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ของเปาโล” และอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ของอปอลโล” ท่านทั้งหลายก็เป็นเหมือนคนทั่วไปไม่ใช่หรือ?”

    (For when one says, “I follow Paul,” and another, “I follow Apollos,” are you not being merely human?)

3:5 “อปอลโลคือใคร? เปาโลคือใคร? คือผู้ปรนนิบัติซึ่งได้สอนพวกท่านให้เชื่อ ตามงานที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำ‌หนดให้แต่ละคน”

     (What then is Apollos? What is Paul? Servants through whom you believed, as the Lord assigned  to each. )

3:6 “ข้าพเจ้าปลูก อปอลโลรดน้ำ แต่พระเจ้าทรงทำให้เติบโต”

     (I planted, Apollos watered, but God gave the growth. )

3:7 “เพราะฉะนั้นคนที่ปลูกและคนที่รดน้ำไม่สำคัญอะไร แต่พระเจ้าผู้ทรงให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ”

     (So neither he who plants nor he who waters is anything, but only God who gives the growth.)

3:8 “คนที่ปลูกและคนที่รดน้ำก็เป็นพวกเดียวกัน และทุกคนก็จะได้บำเหน็จตามการงานของตน”

     (He who plants and he who waters are one, and each will receive his wages according to his  labor.)

3:9 “เพราะว่าเราร่วมกันทำงานเพื่อพระเจ้า ท่านทั้งหลายเป็นไร่นาของพระเจ้า และเป็นตึกของพระองค์”

     (For we are God’s fellow workers. You are God’s field, God’s building.)

3:10 “โดยพระคุณของพระเจ้าที่ประทานแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้วางรากลงแล้วเหมือนนายช่างผู้ชำนาญ และอีกคน‍หนึ่งก็มาก่อขึ้น แต่ละคนต้องระวังให้ดีว่าเขาจะก่อขึ้นอย่างไร”

     (According to the grace of God given to me, like a skilled master builder I laid a foundation, and  someone else is building upon it. Let each one take care how he builds upon it. )

3:11 “เพราะว่าใครจะมาวางรากอื่นอีกไม่ได้แล้ว นอกจากที่วางไว้แล้วคือพระเยซูคริสต์”

     (For no one can lay a foundation other than that which is laid, which is Jesus Christ.)

3:12 “บนรากนั้นถ้าใครจะก่อขึ้นด้วยทองคำ เงิน เพชรพลอย ไม้ หญ้าแห้งหรือฟาง”

     (Now if anyone builds on the foundation with gold, silver, precious stones, wood, hay, straw)

3:13 “การงานของแต่ละคนก็จะปรากฏให้เห็น เพราะวันพิพากษานั้นจะสำแดงให้เห็น คือจะถูกเผยให้เห็นด้วยไฟ และไฟนั้นจะพิสูจน์ว่าการงานของแต่ละคนเป็นอย่างไร”

     (each one’s work will become manifest, for the Day will disclose it, because it will be revealed by  fire, and the fire will test what sort of work each one has done.)

3:14 “ถ้าการงานของใครที่ก่อขึ้นทนอยู่ได้ คนนั้นก็จะได้บำเหน็จ”

       (If the work that anyone has built on the foundation survives, he will receive a reward. )

3:15 “ถ้าการงานของใครถูกเผาไหม้ไป คนนั้นก็จะได้รับความสูญเสีย ส่วนตัวเขาเองจะรอด แต่เหมือนดังรอด จากไฟ”

       (If anyone’s work is burned up, he will suffer loss, though he himself will be saved, but only as  through fire.)

3:16 “ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าพวกท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในพวกท่าน?”

     (Do you not know that you are God’s temple and that God’s Spirit dwells in you? )

3:17 “ถ้าใครทำลายวิหารของพระเจ้า พระเจ้าจะทรงทำลายคนนั้น เพราะว่าวิหารของพระเจ้าเป็นที่บริสุทธิ์ และพวกท่านเป็นวิหารนั้น”

     (If anyone destroys God’s temple, God will destroy him. For God’s temple is holy, and you are  that temple.)

3:18 “อย่าให้ใครหลอกลวงตัวเอง ถ้าใครในพวกท่านคิดว่าตัวเป็นคนมีปัญญาตามหลักของยุคนี้ จงให้คนนั้นยอมเป็นคนโง่ เพื่อจะได้เป็นคนมีปัญญา”

     (Let no one deceive himself. If anyone among you thinks that he is wise in this age, let him  become a fool that he may become wise.)

3:19 “เพราะว่าปัญญาของโลกนี้ เป็นความโง่ในสายพระเนตรของพระเจ้า เพราะมีเขียนไว้ว่า “พระองค์ทรงจับคนมีปัญญาด้วยอุบายของพวกเขาเอง

     (For the wisdom of this world is folly with God. For it is written, “He catches the wise in their craftiness,” )

3:20 “และมีเขียนไว้อีกว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงทราบความคิดของพวกที่มีปัญญา ว่าเป็นสิ่งไร้ประโยชน์

     (and again, “The Lord knows the thoughts of the wise, that they are futile.”)

3:21 “เพราะฉะนั้น อย่าให้ใครยกมนุษย์ขึ้นอวด เพราะว่าทุกสิ่งเป็นของท่านทั้งหลาย”

     (So let no one boast in men. For all things are yours,)

3:22 “ไม่ว่าจะเป็นเปาโล หรือปอลโล หรือเคฟาส หรือโลก หรือชีวิต หรือความตาย หรือปัจจุบัน หรืออนาคต ทุก‍สิ่งนั้นล้วนเป็นของท่าน”

     (whether Paul or Apollos or Cephas or the world or life or death or the present or the future—all  are yours,)

3:23 “และท่านทั้งหลายเป็นของพระคริสต์ และพระคริสต์ทรงเป็นของพระเจ้า”

     (and you are Christ’s, and Christ is God’s.)

 

ข้อมูลมีประโยชน์

3:1       “พี่น้องทั้งหลาย” ( brothers) -1:10

“พวกที่อยู่ฝ่ายจิตวิญญาณ” (you as spiritual people ) -2:15

“ฝ่ายเนื้อหนัง” (people of the flesh) = ผู้ที่อยู่ฝ่ายโลก

          “ทารก” (as infants) –1คร.14:20

3:2       “น้ำนม…อาหารแข็ง” ( milk … food) –ฮบ.5:12-14;1ปต.2:2

“ยังคงไม่สามารถรับได้” (not ready for it) –ยน.16:12

3:3       “อย่างคนทั่วไป” (you are still of the flesh) = ประพฤติเหมือนคนธรรมดาในโลกที่ทำตามมาตรฐานของมนุษย์เท่านั้น ไม่เหมือนคนของพระเจ้า

          “อิจฉากันและขัดเคืองใจกัน” (jealousy and strife among) –รม.13:13;1คร.1:11;กท.5:20

3:4       “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ของเปาโล…ของอปอลโล” ( I follow Paul,” and another, “I follow Apollos)

= ติดตามเปาโล ติดตามอปอลโล -1:12

3:5       “อปอลโลเป็นใคร” ( What is Paul?) –กจ.18:24

“ผู้ปรนนิบัติ” (Servants ) = ผู้รับใช้ – 1คร.4:1;2คร.6:4;อฟ.3:7;คส.1:23,25

3:6      “ข้าพเจ้าปลูก” (I planted) -กจ.18:4-11, เปาโลทำหน้าที่บุกเบิก ประกาศในที่ ๆ ไม่มีใครประกาศมาก่อน (2คร.10:13-16;รม.15:20-21) –1คร.4:15;9:1;15:1

“อปอลโลรดน้ำ” (Apollos watered) -กจ.18:24-28, อปอลโลรับใช้ในคริสตจักรที่เปาโลก่อตั้ง และสอนกับเสริมสร้างผู้เชื่อใหม่ที่ อ.เปาโลได้นำรับเชื่อไว้

3:8      “ทุกคนก็จะได้บำเหน็จตามการงานของตน” (each will receive his wages according to his labor) –สดด.18:20;62:12;มธ.25:21;1คร.3:14;9:17

3:9       “เราร่วมกันทำงานเพื่อพระเจ้า” (we are God’s fellow workers  ) –มก.16:20;2คร.6:1;1ธส.3:2

“เป็นไร่นาของพระเจ้า” (God’s field) = ไร่นาของพระเจ้าคือผู้คน –อสย.61:3

          “เป็นตึกของพระองค์” (God’s building) = เป็นวิหารของพระเจ้า (ข.16-17) –อฟ.2:20-22;1ปต.2:5

อ.เปาโลเอาภาพสิ่งที่ทำกันในสมัยนั้นมาเปรียบคือ การเพราะปลูก มีไร่นา และมีการปลูกสร้างตึก (เมือง/วิหาร) ซึ่งทั้ง 2 เป็นงานแห่งความอุตสาหวิริยะของมนุษย์

3:10     “พระคุณของพระเจ้าที่ประทานแก่ข้าพเจ้า” ( the grace of God given to me) –รม.12:3

“ข้าพเจ้าได้วางรากลงแล้ว” ( I laid a foundation) = โดยการเทศนาเรื่องพระคริสต์ถูกตรึงบนไม้กางเขน (2:2) –รม.15:20;อฟ.2:20

“อีกคนหนึ่ง” ( someone else) = อปอลโลหรือคนอื่น ๆ

3:11     “พระเยซูคริสต์” (Jesus Christ) –อสย.28:16;อฟ.2:20

3:12     “ใครจะมาวางรากอื่นอีกไม่ได้แล้ว” ( anyone builds on the foundation) = คนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในคริสตจักร

“ทองคำ เงิน เพชรพลอย” (gold, silver, precious stones) = ผลงานที่ทรงคุณค่า ที่จะทนต่อการทดสอบในวันพิพากษาได้ เป็นสัญลักษณ์ของหลักข้อเชื่อและการดำเนินชีวิตคริสเตียนที่บริสุทธิ์

“ไม้หญ้าแห้งและฟาง” ( wood, hay, straw) = ผลงานที่ไร้ค่า ไม่ผ่านการทดสอบเป็นสัญลักษณ์ของ   คำสอน และชีวิตของคนที่นำผู้เชื่อให้สับสนและหลงไปในทางที่ผิด

3:13     เปรียบเทียบ 4:5;2คร.5:10

          “วันพิพากษานั้น” ( the Day ) –1คร.1:8;2ธส.1:7-20;2ทธ.1:12,18;4:8

“ไฟ” (fire) = การพิพากษาของพระเจ้า เป็นการทดสอบคุณภาพผลงานของแต่ละคน งานของผู้เชื่อบางคนจะผ่านการทดสอบในขณะที่ของบางคนไม่ผ่าน และสูญสิ้นไป –กดว.31:22,23;ยรม.23:28,29;มลค.3:3;2ธส.1:7

3:14    “คนนั้นก็จะได้บำเหน็จ” (he will receive a reward) –1คร.3:8

3:15     “สูญเสีย” (loss) = สูญสิ้นไม่ได้รับรางวัล (ข.14)

          “แต่ตัวเหมือนรอดจากไฟ” (only as through fire ) –ยด.23 = รอดอย่างหวุดหวิด การงานของผู้นั้นถูกไฟแห่งความยุติธรรม และการพิพากษาของพระเจ้าเผาผลาญ

3:16     “วิหารของพระเจ้า” ( God’s temple) = คริสตจักร (อฟ.2:21-22)

          “ท่าน” ( you) = เป็นพหูพจน์ (ข.16,17)

ส่วน “วิหารของพระเจ้า” = เป็นเอกพจน์

แต่ใน 1คร.6:19 อ เปาโลกล่าวว่า คริสเตียนแต่ละคนเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์

3:17    “พระเจ้าจะทรงทำลายคนนั้น” (God will destroy him) = คนงานที่โง่เขลาเช่นนั้น ไม่ใช่ผู้รับใช้ของ     พระเจ้าที่แท้จริง

          “คนนั้น” (him) = คนที่ทำให้คริสตจักรท้องถิ่นแตกแยก โดยการแบ่งพรรคแบ่งพวก และชอบโต้แย้งกันในเรื่องข่าวประเสริฐ (1:11-12)

          “ที่บริสุทธิ์” (holy) = แยกไว้สำหรับให้พระเจ้าใช้ แลเพื่อถวายเกียรติสิริของพระองค์ (1:2)

เพราะฉะนั้น เราต้องไม่ทำให้คริสตจักรเป็นมลทิน โดยสร้างความแตกแยกในคริสตจักร

3:18     “คิดว่าตัวเป็นคนมีปัญญา” ( he is wise  ) = คิดว่า ตัวเองฉลาด –อสย.5:21;1คร.8:2;กท.6:3

          “ตามหลักของยุคนี้” (in this age) = ตามมาตรฐานของยุคนี้ –คร.1:20

“จงให้คนนั้นยอมเป็นคนโง่” ( become a fool) = อย่าตามมาตรฐานของยุคนี้ -1:8

“จะได้เป็นคนมีปัญญา” (he may become wise) -1:21,24

3:19    “เป็นความโง่” ( is folly) –รม.1:22;1คร.1:20,27;3:18

“พระองค์ทรงจับคนมีปัญญาด้วยอุบายของพวกเขาเอง” (He catches the wise in their craftiness) = พระเจ้าจับคนฉลาดด้วยเล่ห์เหลี่ยมของพวกเขาเอง –โยบ 5:13

3:20     “เป็นสิ่งไร้ประโยชน์” ( are futile)   -สดด.94:11

3:21     “อย่าให้ใครยกมนุษย์ขึ้นอวด” (no one boast in men) –1คร.4:6 = เหมือนกับยกนายช่างคนใดขึ้นมาและอวดว่า ใครเป็นสาวกของช่างคนใด -1:12;3:4 ปท. 1:31;4:6

“ทุกสิ่งเป็นของท่านทั้งหลาย” (  all things are yours) –รม.8:32

= เป็นเพราะความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อพระเจ้าผ่านพระคริสต์ (ข.23) พวกเขาเป็นทายาทรับสืบทอดมรดกทุกอย่าง –รม.8:17

= เป็นผู้สืบทอดมรดกทางพันธกิจของคนเหล่านั้น ที่ประกาศข่าวประเสริฐอย่างซื่อสัตย์ และเป็นผู้รับมรดกทุกอย่างของพระเจ้าและของพระคริสต์ (เป็นมรดกทุกอย่างที่นักปรัชญาในโลกอ้างว่า ได้รับแล้วโดยสติปัญญาของพวกเขาเอง)

3:23     “ท่านทั้งหลายเป็นของพระคริสต์” (you are Christ’s) = พวกเขาเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์ และเป็นของพระองค์ (1:30)

“พระคริสต์ทรงเป็นพระเจ้า” (Christ is God’s) = พระคริสต์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าพระบิดา

–ยน.10:30

 

คำถามนำอภิปราย

  1.  เวลานี้คุณคิดว่า คุณกำลังเป็นคริสเตียนประเภทใด?

…..1) คนที่อยู่ฝ่ายจิตวิญญาณ

…..2) พวกที่อยู่ฝ่ายเนื้อหนัง?

ทำไมคุณจึงคิดเช่นนั้น?

  1. คุณมีปัญหากับตัวเองมากที่สุดในเรื่องอะไร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ทำให้คุณไม่เจริญเติบโตในฝ่าย             จิตวิญญาณ)? แล้วคุณจะแก้ไขอย่างไร?
  2. มีลักษณะอาการต่อไปนี้อยู่ในคริสตจักรของคุณหรือไม่?

…..1) การอิจฉากัน

…..2) การขัดเคืองใจ

คุณจะมีส่วนทำให้อาการเหล่านั้นลดลงหรือหมดลงได้อย่างไร?

  1. คุณมีส่วนทำให้คริสตจักรของคุณแตกแยกกันเป็นกลุ่มเป็นก๊ก (ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา) บ้างหรือไม่? แล้วคุณจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง?
  2. ใครบ้างที่มีส่วนต่อไปนี้ในชีวิตของคุณ?

…..1) หว่าน

…..2) รดน้ำ

เขาทำอะไร? อย่างไร? เมื่อไร? ที่ไหน?

  1. คุณได้กระทำอะไรเป็นการตอบแทนหรือขอบคุณบุคคลดังกล่าวในข้อ 5 บ้าง? อย่างไร?
  2. คุณเองเคยมีส่วนช่วยพัฒนาชีวิตของบุคคลใดจิตวิญญาณผ่านการกระทำต่อไปนี้บ้าง

…..1) การปลูก?

…..2) การรดน้ำ?

กับใคร? และอย่างไร?

  1. คุณได้วางรากฝ่ายจิตวิญญาณลงในชีวิตของผู้ใด อย่างนายช่างผู้ชำนาญบ้าง? อย่างไร?
  2. เวลานี้ คุณทำหน้าที่ในฐานะวิหารของพระเจ้าได้ดีแล้วหรือไม่? อย่างไร? มีอะไรที่คิดว่าจะปรับปรุงแก้ไขบ้าง?   ทำไม? และอย่างไร?

ศจ.ธงชัย ประดับชนานุรัตน์