Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

เป้าหมายอันทรงคุณค่า!

เป้าหมายอันทรงคุณค่า!

“คุณประสบความสำเร็จในทันทีที่คุณเริ่มต้นมุ่งหน้าสู่เป้าหมายอันทรงคุณค่า!”

(You are successful the moment you start moving toward a worthwhile goal.)

-Charles Carlson-

ชีวิตคนเราจะจบลงอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเรามุ่งหน้าไปที่ไหน!

หากเรามุ่งหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางที่ไร้ค่า ชีวิตของเราจะสูงค่าได้อย่างไร?

หากเรามุ่งไปสู่จุดหมายที่ล้ำค่า ต่อให้ไปไม่ถึง ชีวิตของเราก็มีค่าแล้ว!

ชีวิตของคุณทุกวันนี้ล่ะ… มีเป้าหมายอยู่ที่ไหน?

ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนชั่วคราว หากคุณมีเป้าหมายอยู่ที่ของชั่วคราว  และทุ่มเททั้งหมดที่คุณมีเพื่อสิ่งนั้น คุณกำลังเอา “สิ่งที่มีค่า” ไปแลกกับ “สิ่งที่ไม่มีค่า” อย่างแท้จริง!

แต่ตรงกันข้าม หากว่าคุณยอมเอาทุกอย่างที่คุณมี (ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งชั่วคราว) มาเปลี่ยนกับ “ชีวิตนิรันดร์” ที่พระเจ้าประทานให้ คุณกำลังเอา “สิ่งที่ไม่มีค่า” มาแลกกับ “สิ่งที่ล้ำค่า” อย่างแท้จริง!

อะไรบ้างคือสิ่งที่ชั่วคราวในโลกซึ่งไร้ค่าในสวรรค์?

*   เงินทอง          *   สิ่งของ         *    ตำแหน่งยศศักดิ์       *   ที่ดิน อาคารสถานที่

*   แก้วแหวนเครื่องประดับ         *   รางวัล ปริญญาและประกาศนียบัตรต่าง ๆ  ฯลฯ

แล้วสิ่งใดล่ะ…คือสิ่งที่จะจากโลกนี้ไปและดำรงอยู่อย่างถาวรในสวรรค์ ?  คำตอบคือ…

“วิญญาณของมนุษย์!”

ดังนั้น หากคุณคิดจะลงทุนชีวิตของคุณกับสิ่งที่คู่ควร และคุ้มค่า คุณควรจะทุ่มเทกับวิญญาณจิตของมนุษย์!

โดยเริ่มต้นจากวิญญาณของตัวคุณเองก่อน!

อย่าให้คุณทำให้ชีวิตและวิญญาณของคุณต้องเสียไปเพราะมัวแต่ไปสาละวนอยู่กับการหาได้มา

หรือเก็บรักษาสิ่งของในโลกนี้!  พระเยซูคริสต์ตรัสเตือนสติไว้ว่า…

“เพราะถ้าผู้ใดจะได้สิ่งของสิ้นทั้งโลก แต่ต้องเสียชีวิตของตน ผู้นั้นจะได้ประโยชน์อะไร

เพราะว่าผู้นั้นจะนำอะไรไปแลกเอาชีวิตของตนกลับคืนมา?(มาระโก 8:36-37)

การที่คุณมีเป้าหมายที่จะไปสวรรค์เพื่ออยู่กับพระเจ้านิรันดร์ จึงเป็นเป้าหมายที่มีค่า และยิ่งหากว่าคุณมี

เป้าหมายที่จะพาคนที่คุณรักไปอยู่ในสวรรค์สถานด้วยกันกับคุณด้วยล่ะก็…คุณกำลังมีเป้าหมายที่ล้ำค่ามากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก!

หากคุณบอกว่าคุณรักใครบางคน แต่คุณไม่เคยคิดใส่ใจในการจะพาเขาหรือเธอเข้าในแผ่นดินสวรรค์นิรันดร์อย่างจริงจัง คุณก็กำลังโกหก!

หากว่าคุณกำลังปล่อยหรือสละละ(ทิ้ง)คนที่คุณบอกว่ารัก เพียงเพื่อจะเอาตัวของคุณเองให้รอดหรือเพียงเพื่อจะได้ “ของ” อันชั่วคราวบางอย่าง คุณก็กำลังมุสาอยู่เช่นกัน!  เพราะหากว่าคุณรักใครสักคนหนึ่งจริง ๆ คุณจะยินดีสละทุกอย่างที่คุณมีเพื่อช่วยเขาให้รอดอย่างแน่นอน!

แล้ว…วันนี้

คุณได้ทำอะไรบ้างที่จะช่วยคนที่คุณรักให้ไปสู่จุดหมายปลายทางอันมีคุณค่าคู่ควรที่แสนสุขมั่นคงและปลอดภัยนิรันดร์ ดังที่กล่าวมาแล้ว!

ช่วยตอบที!

– ธงชัย ประดับชนานุรัตน์ –

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ทุกปัญหามีทางออก?

ทุกปัญหามีทางออก?

เฮนรี่ หลุยส์ เมนเคน (Henry Louis Mencken) เคยกล่าวไว้เป็นข้อคิดว่า…

“For every problem, there is a solution that is simple, neat, and  wrong.”

“ในทุกๆ ปัญหามักจะมีทางออกหนึ่งที่ดูเรียบง่าย เรียบร้อย และผิด!”

ไม่มีผู้ใดในพวกเราที่สามารถจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้โดยปราศจากปัญหาได้!  เพียงแต่ว่าปัญหานั้นอาจจะเล็กหรือใหญ่  ง่ายหรือยาก สั้นหรือยาว ฯลฯ แตกต่างกันเท่านั้น !

ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่เรามองหรือจากวิธีที่เราใช้รับมือจัดการกับปัญหาเหล่านั้น!

บางคนมองปัญหา “ใหญ่ ๆ ” ให้ “เล็ก” เกินไป จนเกิดความประมาท หรือชะล่าใจ ผลก็คือต้องเจ็บปวด หรือย่อยยับ เพราะปัญหานั้น!

แต่บางคนกลับตรงกันข้าม เขามองปัญหา “เล็ก ๆ” ให้กลายเป็นเรื่อง “ใหญ่” เกินความเป็นจริง เป็นเหตุที่ทำให้ต้องมีความทุกข์ขมขื่นอย่างทรมานใจและกายอย่างไม่จำเป็น!

จริง ๆ แล้วในยามที่เราเผชิญกับปัญหา (Problem) แต่ละปัญหา  เรามักมีทางเลือกอยู่หลายทางตั้ง แต่ทางที่ง่ายที่สุดจนถึงทางที่ยากที่สุด แต่บางคนมักคิดสั้นหรือคิดตื้น คว้าเอาวิธีแก้ปัญหาหรือทาง ออกที่ดูเรียบง่ายที่สุด แบบสิบเบี้ยใกล้มือ แต่ผลที่ปรากฎออกมากลับกลายเป็นว่า เราเลือกทางออกที่ผิด!

เพราะนั่นเป็นทางออกจากประตูแล้วตกลงไปในเหวลึกแห่งความสิ้นหวัง!

ดร.จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ (John C. Maxwell) ได้แบ่งปันข้อคิดและหลักการที่ท่านได้รับจากปัญหาที่ท่านเผชิญมาตลอดชีวิตของท่าน โดยอธิบายว่าปัญหา (Problems) ต่าง ๆ มีประโยชน์ ดังนี้

Predictorsปัญหาช่วยให้เราคาดการณ์อนาคตได้

Reminders ปัญหาช่วยย้ำเตือนให้เรารู้ว่าไม่มีใครประสบความสำเร็จได้โดยลำพัง

Opportunities –ปัญหาเป็นโอกาสที่ฉุดเราออกจากความจำเจและช่วยพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์

Blessingsปัญหาช่วยเปิดประตูที่ก่อนหน้านี้เราไม่อยากก้าวเข้าไป

Lessonsปัญหาเป็นบทเรียน เสมือนเป็นคำแนะนำสำหรับทุกการท้าทายใหม่ ๆ

Everywhereปัญหาที่มีอยู่ทุกหนแห่งช่วยบอกให้เรารู้ว่าไม่มีใครไม่ต้องพบความยุ่งยากลำบากใจ

Messagesปัญหาคือข่าวสารอันเป็นสัญญาณเตือนภัยก่อนไฟไหม้

Solvableปัญหาเตือนใจเราให้ระลึกไว้เสมอว่าในทุก ๆ กรณีมีทางแก้ไข

ดังนั้น หากเราคาดหวังว่าชีวิตของเราไม่น่าจะเจอปัญหาเรากำลังจะมีปัญหาตามมาในไม่ช้า !

หากว่าเราเครียดกับปัญหาที่เผชิญอยู่หรือยังไม่ได้เจอจนออกอาการเกินควร เรากำลังมีปัญหาที่ไม่จำเป็น!

และหากว่าเราประมาทในการจัดการกับปัญหาที่ประสบอยู่เราก็กำลังเสี่ยงเจ็บปวด และเสียหายอย่างน่าเป็นห่วง!

ขอให้เราตระหนักว่า “ทุกปัญหา” นั้นมีประโยชน์ต่อเราอย่างยิ่ง  หากว่าเรามีทัศนคติที่ถูกต้องและมีวิธีจัดการกับมันได้อย่างเหมาะสม!

ขอให้สำนึกไว้เสมอว่า “ปัญหา” มิได้มีไว้เพื่อให้เราหลบลี้หนีไปด้วยความกลัวหรือมองข้ามมันด้วยความประมาท

เพราะปัญหาคือ “ข้อบกพร่อง หรือ อุปสรรค ที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วง!”

ดังนั้น จงก้าวออกไปจัดการแก้ไขปัญหาที่อยู่ข้างหน้าของคุณ โดยพึ่งอาศัยสติปัญญา และกำลังเรี่ยวแรงที่มาจากพระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่เหนือปัญหาใด ๆ ในโลกนี้  และวางใจในพระองค์อย่างสิ้นเชิงจริง ๆ

แล้วคุณจะกินอิ่มนอนหลับสบาย และมีความสุขได้ในท่ามกลางปัญหาสารพัดที่รุมเร้าชีวิตของคุณ!

เพราะพระเจ้าจะทรงประทานทางออกที่ดีแก่คุณอยู่เสมอ!

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ความผิดพลาดเป็นครู

ความผิดพลาดเป็นครู

สุภาษิต อัฟริกันตอนหนึ่งกล่าวว่า…

“Better a mistake at the beginning than at the end.”

(ผิดพลาดในตอนต้นดีกว่าผิดพลาดในตอนจบ!)

ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ!

คนเราอาจกระทำบางอย่างผิดพลาดในตอนต้น เพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ และขาดประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ ยิ่งหากเราผิดพลาดในช่วงปฐมวัย เราก็ยังมีเวลาแก้ไขในช่วงที่เหลืออีกยาวนานก่อนจะถึงปัจฉิมวัยของเรา!

แต่หากเรามากระทำผิดพลาดในตอนปัจฉิมวัย  ทุกอย่างที่เราเคยทำไว้ตั้งแต่ปฐมวัยจนปัจจุบันอาจถูกทำลายย่อยยับลงอย่างน่าเสียดาย และหายลับไปในพริบตา!

สุภาษิตกรีกก็ยืนยันไปในทำนองเดียวกันว่า …

“The first mistake is a lesson and a teacher for those that follow.”

(ความผิดพลาดแรกคือบทเรียนสำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังตามมา!)

แต่สุภาษิตของพวกเอสโตเนียนยิ่งฉลาดกว่า เพราะเตือนสติไว้ว่า…

“The mistakes of others are good teacher”

(ความผิดพลาดของผู้อื่น คือ ครูที่ดีสำหรับเรา!)

นั่นคือ เราไม่ต้องไปกระทำความผิดพลาดแรกด้วยตัวของเราเอง  เพราะเราสามารถเรียนรู้ได้จากครูคนอื่น นั่นคือ สิ่งผิดพลาดที่ผู้อื่นกระทำ!

ดร.จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ ชี้ให้เราเห็นบทเรียนสอนใจที่ได้รับจากความผิดพลาด (Mistakes) ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

Messagesความผิดพลาดเป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เราตระหนักถึงความจริงของชีวิต

Interruptionsความผิดพลาดเป็นตัวสะกัดให้เราหยุดนิ่งและพิจารณาในสิ่งที่ได้ทำไป  กำลังทำ หรือจะทำอย่างรอบคอบขึ้น

Signpostsความผิดพลาดเป็นป้ายชี้นำทางที่ถูกต้อง

Testsความผิดพลาดเป็นการทดสอบที่ทำให้เรามีวุฒิภาวะมากขึ้น

Awakeningsความผิดพลาดเตือนให้ตื่นตัวและมีสติอยู่เสมอ

Keys ความผิดพลาดเป็นกุญแจที่ใช้ไขประตูแห่งโอกาส

Explorationsความผิดพลาดเป็นการค้นพบเส้นทางที่เราไม่เคยเดินไปมาก่อน

Statementsความผิดพลาดเป็นดุจตำนานที่บอกเล่าถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าของเรา

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ซักเสร็จ? (Success)

ซักเสร็จ? (Success)

ท่านเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ ผู้โด่งดัง เคยกล่าวไว้ว่า…

“บางครั้งการกระทำให้ดีที่สุดนั้นยังไม่พอ เพราะว่าคุณต้องกระทำในสิ่งทีคุณจำเป็นต้องกระทำให้เสร็จด้วย” (Sometimes it is not enough to do your best; you have to do what’s required.)

ผมได้รับเชิญจาก กศน. ไทย ในสิงคโปร์ และพันธกิจไทยเชนลี ให้ไปเป็นวิทยากรกับนักศึกษา กศน. ไทยที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2009 ในหัวข้อว่า “Success”!

ในคืนแรกก่อนผมบรรยาย ผู้นำกิจกรรมนำให้ทุกคนร่วมกันร้องเพลงและมีท่าทางโดยมีเนื้อร้องประกอบการร้องว่า “เรามาซักผ้ากัน” “ซักผ้านั้นมี 4 ขั้นตอน ขยี้ๆ บิดๆ สะบัดๆ ตากๆ นำมาขยี้ๆ  บิดๆ สะบัดๆ แล้วเอาไปตาก!” ในทันใดผมก็ฉุกคิดขึ้นมาว่าการซักเสื้อผ้านั้นสามารถใช้เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพของความสำเร็จ (success) ได้เป็นอย่างดี!

เพราะว่าคนบางคนซักผ้าแล้วปล่อยค้างไว้ หรือซักผ้าแล้วรีบร้อนเอาเข้าเก็บใส่ตู้ทั้ง ๆ ที่ยังแห้งไม่สนิท ก็เลยเกิดกลิ่นหืนอันไม่พึงประสงค์ จะนำเอาเสื้อผ้าเหล่านั้นกลับมาใส่ใหม่ก็ไม่ได้ เพราะ ไม่พร้อมใช้ จึงถือว่ายังซักไม่เสร็จ หรือได้แต่ “ซัก” (“suc”) แต่ไม่ “เสร็จ” (“cess”) !

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าซักผ้าอย่างดีที่สุดจนสะอาดทั้งตัว แต่ไม่เอาไปตากหรืออบให้แห้งสนิทก่อน ก็อาจจะถือว่ากระบวนการซักเสื้อผ้ายังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์! แต่ตรงกันข้าม หากว่าเราซักเสื้อผ้าทุกอย่างตามขั้นตอนของกระบวน การการซักจนเสร็จเรียบร้อย แล้วเอาไปตากจนแห้งสนิท เราก็สามารถนำเสื้อผ้านั้นกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งอย่างมั่นใจ พร้อมกับมีเวลาที่จะไปทำอย่างอื่นหรือเฉลิมฉลองได้อย่างสนุกสนาน

แต่หากว่าซักไม่เสร็จแล้วออกไปสนุกสนานก็คงถูกสะกิดให้กลับไปซักต่อจนกว่าจะเสร็จ!

เหมือนกับภรรยาของผม วันก่อนเธอซักเสื้อผ้าตั้งแต่เช้าจนบ่ายแล้วเสร็จจากนั้นเธอก็มีเวลาไปร่วมฉลองงาน “วันแม่” ที่มี ฯพณฯอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานเปิดงานที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พอดีผมโทร ศัพท์กลับมาหาจากสิงคโปร์เธอก็ส่งเสียงตามสายพร้อมสาธยายออกมาอย่างเบิกบานว่ากำลังสนุกกับงาน “วันแม่” ที่มีการแสดงคอนเสิร์ทหลายชุดที่น่าประทับใจทั้งนั้น  แถมยังได้ขอบัตรชมบางรายการอื่น ๆ ในวันต่อ ๆ ไปให้ผมไปร่วมฉลอง “วันแม่” ด้วยกันอีกด้วย

ใช่ครับ เธอมีความสุข เพราะเธอซักเสื้อผ้าเสร็จ เธอจึงมีอิสระที่จะออกไปเฉลิมฉลองหาความสำราญได้อย่างเต็มที่ แต่หากว่าวันนี้เธอยังซักเสื้อผ้าไม่เสร็จ เธอก็ออกไปทำอย่างนั้นไม่ได้!

จึงกล่าวได้ว่า ความเพลิดเพลินทั้ง หลายที่เธอได้รับ มีสาเหตุมาจากว่า “เธอสามารถพิชิตกองเสื้อผ้าได้ตามวัตถุประสงค์แล้ว นั่นคือ เธอสามารถซักเสร็จ (Success) ตามกรอบเวลาในแผนงานของเธอ!”

ชีวิตของคุณก็เช่นกัน หากว่า “ภาระหน้าที่” ใดๆ ที่คุณต้องกระทำให้เรียบร้อย เปรียบเหมือนกับว่าคุณมี “กอง เสื้อผ้า” ที่คุณต้องซักให้เสร็จตามความรับผิดชอบก่อนที่คุณจะมีอิสระเสรีในการกระทำในสิ่งที่คุณพอใจเป็นส่วน ตัว

พี่น้องที่รัก!  วันนี้ “งานที่ได้รับมอบหมาย” หรือ “เสื้อผ้า” เหล่านั้น คุณซักเสร็จ (success) แล้วหรือยัง?

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ค้อนกับตะปู

อับราฮัม มาสโลว์ (1908-1970) นักจิตวิทยาสัมคมชื่อดัง ชาวอเมริกันเคยกล่าวเตือนสติเราไว้ว่า…

“If the only tool you have is a hammer, you tend to see every problem as a nail.”

(หากคุณมีค้อนเป็นเครื่องมืออยู่อย่างเดียว คุณก็มีแนวโน้มที่จะมองเห็นทุกปัญหาเป็นดุจตะปูไปหมด!)

บ่อยครั้งที่เรามีระบบความคิดที่ติดกับกรอบใดกรอบหนึ่ง ทำให้เรามองทุกปัญหาภายใต้กรอบนั้นอยู่เสมอ หรือเรามักจะมีมุมมองหรือทัศนคติต่อสิ่งต่าง ๆ ในแนวเดียวกันอยู่เสมอ ทำให้เราอาจแก้ปัญหาไม่ถูกทาง และผลที่ตาม มาอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ก็เป็นได้!

คุณต้องตระหนักว่า คุณไม่อาจใช้เครื่องมือหรือวิธีใดเพียงวิธีเดียวในการแก้ทุก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น คุณจะทึกทักหรือบีบให้ทุกเรื่องราวกลายเป็นดุจตะปูที่คุณสามารถใช้ค้อนของคุณทุบได้ทุกครั้งไปไม่ได้!

…คุณไม่อาจแก้ทุกปัญหาโดยใช้วิธีมองโลกในแง่ลบ หรือในแง่บวกเพียงอย่างเดียว!

…คุณไม่อาจแก้ไขความขัดแย้งทุกอย่างโดยใช้วิธีเอาชนะท่าเดียว!

ดังนั้น คุณไม่อาจเผชิญกับทุกวิกฤติโดยถือว่าวิกฤติเหล่านั้นเป็นดุจตะปูเหมือนกัน ที่คุณสามารถจัดการกับทุกวิกฤติเหล่านั้นได้เพียงใช้วิธีเดียวกันดุจค้อนสารพัดนึกอันเดียวเท่านั้นในการทุบลงไป!

คุณต้องตระหนักว่า แต่ละปัญหา, วิกฤติหรือความขัดแย้ง อาจจะต้องใช้วิธีรับมือที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสถานที่  เวลา และบุคคลที่เกี่ยวข้อง!   แม้ว่า ค้อนจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย แต่ก็ไม่ได้หมาย ความว่า คุณจะใช้ค้อนได้กับทุกสถานการณ์ ในพระคัมภีร์ก็มีตัวอย่างของการใช้ค้อนให้เกิดประโยชน์ แต่ก็มิได้หมายความว่า นั่นจะเป็นอุปกรณ์เดียวที่มีใช้อยู่ อาทิ

–  แม้ว่าจะมีการใช้ค้อนทำฐานดอก และกลีบของคันประทีปที่เป็นทองคำบริสุทธิ์ให้เป็นเนื้อเดียวกันกับคันประทีป แต่ก็ยังต้องใช้ตะไกรตัดไส้ตะเกียง เพราะใช้ค้อนตัดไส้ตะเกียงไม่ได้! (อพย.25:31-40)

–  แม้ว่าจะมีการใช้ค้อนและตะปูตอกเงินและทองทำเครื่องประดับ แต่ก็ยังต้องใช้ขวานตัดต้นไม้ เพราะค้อนตัดต้นไม้ไม่ได้!  (ยรม.10:3-4)   ฯลฯ   แต่มิได้หมายความว่า ค้อนจะไม่มีประโยชน์

เพราะว่า บางครั้งพระเจ้าอาจใช้ค้อนในการจัดการกับทั้งคนของพระองค์ และศัตรูของพวกเขาก็ได้!

อย่างเช่นพระเจ้าทรงใช้บาบิโลนเป็น “ค้อน” ทุบบรรดาประชาชาติ และราชอาณาจักรทั้งหลาย รวมทั้งชนชาติอิสราเอลที่ดื้อด้านอยู่ในบาปและไม่ยอมกลับใจ  (ยรม.51:20-23) แต่แล้วพระเจ้าก็ทรงใช้ “มีเดีย” ให้มาเป็นค้อนจัดการกับบาบิโลนเช่นกัน!  (ยรม.51:24-33)

แต่ที่เข้าข่ายคลาสสิกที่สุดก็คือเรื่องราวที่ พระเจ้าทรงใช้หญิงสาวนามยาเอลจัดการปลิดชีพของสิเสรา แม่ทัพของยาบิน กษัตริย์เมืองฮาโซร์ โดยการเชิญชวนให้เขาเข้ามาแวะพักและนอนในเต็นท์ จากนั้นเธอก็หยิบหลักขึงเต็นท์ถือค้อนย่องเข้ามาตอกหลักเข้าที่ขมับของสิเสราจนทะลุติดดิน สิ้นชีวิตลง (วนฉ.4:17-24)!

ดังนั้น จงระวังให้ดี หากว่าคุณยังกระทำผิดบาป โดยไม่สำนึกกลับใจ คุณอาจจะถูกค้อนทุกหัวโดยไม่รู้ตัว

แต่ในขณะเดียวกันก็ขอเตือนสติว่า จงอย่าใช้ค้อนในมือของคุณอย่างพร่ำเพรื่อเกินไปกับทุกคนในทุกเรื่อง เพราะ อาจจะไม่ได้เกิดผลดีอย่างที่คิดเสมอไป  ดีไม่ดี ค้อนนั้นอาจย้อนกลับคืนสนองตัวของคุณก็เป็นได้!

จงระวัง!

− ธงชัย ประดับชนานุรัตน์ −

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ความเจ็บปวดที่เป็นพร!

                              ผมชอบที่ท่านเบนจามิน แฟรงคลินกล่าวว่า 

           “สิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวด มักมีบทเรียนสอนเรา!” (Those things that hurt, instruct.)

 

           …หากคุณเคยรู้สึกเจ็บปวด คุณคงไม่ปฏิเสธความจริงข้างต้น!

            …หากคุณเคยรู้สึกเจ็บปวดเพราะถูกคุณพ่อคุณแม่ตี คุณคงเรียนรู้บทเรียนบางอย่าง!

            …หากคุณเคยเจ็บปวดเพราะประสบอุบัติเหตุ คุณคงเรียนรู้บทเรียนบางอย่าง!

            …หากคุณเคยเจ็บปวดเพราะสอบตกหรือถูกไล่ออก คุณคงเรียนรู้บทเรียนบางอย่าง!