Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

แบบอย่างล้ำค่าในครอบครัว

เอ็ช แจ๊คสัน บราวน์ จูเนียร์ (H.Jackson Brown Jr.)  เคยกล่าวไว้เป็นข้อคิดว่า …

“จงดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่าง เพื่อว่าเมื่อลูก ๆ ของคุณคิดถึงความยุติธรรมและความซื่อตรง พวกเขาจะคิดถึงคุณ!”

(Live so that when children think of fairness and integrity , they think of you.)

คำว่า “fair”(ness) หมายความว่า…

  1. เหมาะสม และยอมรับได้
  2. ปฏิบัติต่อแต่ละคน(ฝ่าย) เท่าเทียมกัน
  3. ยุติธรรมตามกฎหมาย, กฎเกณฑ์

และคำว่า “integrity” หมายความว่า… “ความซื่อสัตย์และยึดหลักคุณธรรม”

หากครอบครัวใดมีความยุติธรรมและความซื่อสัตย์ดังกล่าวปรากฎอยู่ต่อหน้าต่อตาเด็ก ๆ ตลอดเวลาเมื่อเด็ก ๆเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่เขาจะทนไม่ได้ต่อความอยุติธรรม และความอสัตย์ที่เห็น และตัวของพวกเขาเองก็ยากมากที่จะเป็นคนอสัตย์ หรืออยุติธรรม!

นั่นหมายความว่า  ทุกอย่างในบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่พวกเขาได้เห็น ได้ยินและมีประสบการณ์ร่วมกับผู้ใหญ่ (เป็นพ่อเป็นแม่ของพวกเขา) จะกลายเป็นเบ้าหลอมอันทรงพลังในการก่อร่างสร้างชีวิตของพวกเขาให้กลายเป็นอย่างที่เขาคุ้นเคยและจะดำรงเช่นนั้น จากเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ กระทั่งวัยชรา และในยามที่ต้องลาลับจากโลกนี้ไป!

ส่วนคำว่า “live” หมายความว่า…

  1. อยู่, อาศัย
  2. มีชีวิตอยู่
  3. ดำเนินชีวิต
  4. ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่

ในพระคัมภีร์ไบเบิล มักชอบใช้คำว่า “live” ในความหมายของ “การดำเนินชีวิต” อาทิ

ให้เรา ‘live in peace’ (ดำเนินชีวิตอยู่อย่างสงบสุข) ด้วยกันกับคนอื่น  (1ธส.5:13)

ให้เรา ‘live a godly life’ (ดำเนินชีวิตตามทางของพระเจ้า) -2ทธ.3:12
ให้เรา ‘live self-conrolled, upright’ (ดำเนินชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะ สัตย์ซื่อสุจริต)  -ทต.2:12

ดังนั้น หากว่าครอบครัวของคุณเป็นครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ดำเนินชีวิตตามคำแนะนำของพระคัมภีร์ไบเบิล บุตรหลานของคุณจะเติบโตเป็นชายหนุ่มหญิงสาวที่ตั้งเป้าเลือกสรรคนที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ข้างต้นมาเป็นคู่ชีวิตและปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้าสู่พิธีมงคลสมรสอันบริสุทธิ์อย่างมีเกียรติ และประสงค์ที่จะสร้างครอบครัวของเขาตามแบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิตที่ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ของพวกเขาได้มอบไว้ให้เป็นมรดก ประดุจพิมพ์เขียวในการสร้างชีวิตของพวกเขา!

และหากว่าคู่หนุ่มสาวเหล่านี้ดำเนินชีวิตของพวกเขาอย่างเหมาะสมเป็นที่ยอมรับได้ (fair) โดยมีความซื่อสัตย์และคุณธรรม (integrity) ปรากฎให้เห็นชัดต่อทั้งคนภายในบ้านและคนรอบข้าง ก็เชื่อได้เลยว่า ลูกหลานของพวกเขาในอนาคตก็จะดำเนินชีวิตในทำนองเดียวกัน!

พี่น้องที่รัก หากว่าคุณเป็นบุคคลที่แต่งงานและมีครอบครัวแล้ว

…เวลาที่พวกลูก ๆ ของคุณคิดถึง “ความยุติธรรม” (fainess) และ “ความซื่อสัตย์” (integrity) พวกเขาคิดถึงใครก่อน?  พวกเขาคิดถึงคุณหรือไม่?

และหากว่าวันนี้คุณยังเป็นคนโสด ยังไม่ได้มีครอบครัว หากว่าวันหนึ่งคุณได้เข้าพิธีสมรส และมีบุตรธิดาของคุณเอง เวลาที่พวกเขาคิดถึง “ความยุติธรรม” และความ “ซื่อสัตย์ยึดหลักคุณธรรม”

คุณคิดว่า พวกเขาจะคิดถึง “คุณ” ก่อนบุคคลอื่นใดในโลกนี้หรือไม่?

…หากว่าคุณต้องการให้เขาคิดถึงคุณก่อนผู้อื่นล่ะก็ …เห็นทีว่าคุณคงจะต้องเริ่มต้นดำเนินชีวิตอย่างที่อยากให้พวกเขาเห็น และทำตามตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปแล้วล่ะครับ !

เห็นด้วยไหมครับ?

– ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

กุญแจรัก!

“ความรักคือแม่กุญแจที่ใช้ไขเปิดประตูแห่งความสุข!”

(Love is the master key that opens the gates of happiness.)

ใคร ๆ ก็ต้องการได้ความสุข แต่ก็แปลกที่มีน้อยคนนักที่ได้เข้าประตูแห่งความสุขแท้ที่ยั่งยืน!

หลายคนมีโอกาสสัมผัสกับความสุขเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ

เหมือนกับคนกรุงเทพฯ ได้สัมผัสกับอากาศหนาวเย็นเพียงเวลาชั่วครู่

แต่แท้จริงแล้ว เราทุกคนล้วนมีกุญแจที่สามารถเปิดประตูแห่งความสุขอยู่ในมือ นั่นคือ ความรัก!

หากเรามีความรักเป็นตัวนำในการดำเนินชีวิตของเรา เราจะมีความสุขได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเบื้องหน้าของเราจะเผชิญกับสถานการณ์อะไร ต่อให้เจอคนน่าเกลียด เราก็มีความสุขได้ หากว่าเราใช้ความรักนำหน้า “ความรู้สึก” เพราะความรักเป็นเรื่องของ “ความตั้งใจ” และ “การเชื่อฟัง”!

คุณต้องตระหนักไว้เสมอว่า… คุณจะรักคนอื่น ๆ ได้ยากมาก หากว่าคุณใช้ “ความรู้สึก” (Feeling) เป็นตัวนำ!  และด้วยเหตุผลเดียวกัน คนอื่น ๆ ก็จะรักคุณได้ยากเช่นเดียวกัน หากว่าเขาใช้ความรู้สึก (Feeling) เป็นตัวนำในการคบหากับคุณ เพราะว่าคุณเองก็ใช่ว่าจะน่ารักวันละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน ซะเมื่อไหร่ !

จริงไหมครับ?

ดังนั้นหากคุณใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำหรือเป็นกุญแจสำหรับไขประตูแห่งความสัมพันธ์ คุณคงจะไขประตูแห่งความสุขไม่ได้เป็นแน่ เพราะว่า นั่นไม่ใช่กุญแจสำหรับเปิดประตูแห่งความสุขแท้!

แล้วอย่างนั้น กุญแจที่จะไขประตูแห่งความสุขคืออะไร?

คำตอบก็คือ  “ความรัก” ที่เกิดจาก “ความตั้งใจ” และ “การเชื่อฟัง!”

เพราะว่า ความรักเป็นเรื่องที่เหนือความรู้สึก เนื่องจากคุณลักษณะสำคัญของความรัก คือ “ความตั้งใจ”(Willing)! เป็นความตั้งใจที่จะส่งเสริมสวัสดิภาพทั้งกาย จิต และวิญญาณ ให้แก่บุคคลอื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าเขาจะน่ารักหรือไม่น่ารักก็ตาม  เป็นเรื่องของ “ความตั้งใจ” (Willing) จริง ๆ 100 %

เหมือนกับพ่อแม่ที่มีวิญญาณแห่งความเป็นพ่อแม่ จะตั้งใจรักลูกของพวกเขา แม้ว่าลูกของพวกเขาจะเกิดมาไม่สมประกอบดังที่คาดหวังก็ตาม !  แต่พ่อแม่ก็จะรัก!

ทั้ง ๆ ที่เหตุผลหรือปัจจัยที่จะก่อให้เกิด “อารมณ์” หรือ “ความรู้สึก” (Feeling) ให้เกิดความเสน่หา พอใจ แทบไม่มีเลย!  อาทิ ลูกของตนอาจ

…ไม่สวย  ไม่หล่อ        …ไม่น่ารัก

…ไม่เก่ง                        ..ไม่ฉลาด

…ไม่สูง ไม่ขา               …ไม่รวย

…หรือไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ ที่น่าภาคภูมิใจ

….หรืออาจจะสร้างปัญหาหนักอกหนักใจให้กับพ่อแม่อยู่เป็นประจำ  ฯลฯ

แต่พ่อแม่ก็ตั้งใจจะรัก แม้ว่าไม่มีอารมณ์ที่จะรักเลยก็ตาม!

และในวินาทีใดที่พ่อแม่ตั้งใจรักลูกของตน ความสุขก็จะเกิดขึ้นในใจได้ในวินาทีนั้นในบัดดล!

และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรารักคนที่ไม่น่ารักได้ ก็คือ ความเชื่อฟัง (Obeying)!

เชื่อฟังใครนะหรือ?  

ก็เชื่อฟังพระเจ้าแห่งความรักนะสิ!

เพราะว่าพระเจ้าผู้ทรงสร้างมนุษย์อย่างเรา ทรงบัญชาให้เรารักคนอื่น!

“ท่านที่รักทั้งหลาย ขอให้เรารักซึ่งกันและกัน เพราะว่าความรักมาจากพระเจ้า

และทุกคนที่รักก็บังเกิดมาจากพระเจ้า และรู้จักพระเจ้า ผู้ที่ไม่รักก็ไม่รู้จักพระเจ้า

เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก (1ยอห์น 4:7-8)

“ฉะนั้นเราทั้งหลายจึงรู้ และเชื่อในความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา

พระเจ้าทรงเป็นความรัก และผู้ใดที่อยู่ในความรักก็อยู่ในพระเจ้า

และพระเจ้าก็ทรงสถิตอยู่ในผู้นั้น” (1ยอห์น 4:16)

เมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อฟังพระเจ้าแห่งความรัก เราจะได้รับความรักจากพระเจ้าและกลายเป็นผู้ส่งต่อความรักนั้นไปให้แก่คนอื่น ๆ  ได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะน่ารักหรือไม่ก็ตาม!

ดุจเดียวกับบุรุษไปรษณีย์ ต้องส่งจดหมายให้กับผู้รับทุกคนตามที่มีชื่อจ่าไว้หน้าซอง ไม่ว่าผู้รับนั้นจะน่ารักหรือไม่ก็ตาม!

เพราะนั่นคือ หน้าที่ของเขาที่เขาต้องเชื่อฟัง และทำตาม!

เราทุกคนก็เช่นกัน เราแต่ละคนได้รับมอบหมายความรักจากพระเจ้าให้แจกจ่ายความรักของพระองค์ให้แก่ทุกคนโดยไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเรา และเราจะยังคงเป็นหนี้ความรักของพระเจ้าต่อคนเหล่านั้นเสมอไป จนกว่าเราจะได้ส่งต่อความรักนั้นออกไป (PASS THE LOVE FORWARD!)  ให้พวกเขาทำตามพระประสงค์ของพระองค์!

คุณรู้หรือไม่ว่า… สิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งจะเกิดขึ้น เมื่อคุณตั้งใจ (Willing) และเชื่อฟัง (Obeying)  ในการส่งต่อและแสดงความรักต่อคนที่ไม่น่ารักทั้ง ๆ ที่คุณเองไม่มีอารมณ์หรือความรู้สึก (Feeling) ที่จะทำเช่นนั้น นั่นคือคุณจะได้รับความรักและความซาบซึ้งเป็นการตอบสนองมาจากคนที่ตอนแรกดูไม่น่ารักเลยสำหรับเรา! (แม้ว่าจะไม่ทันทีทันใดก็ตาม!)

ดังนั้น จงจำไว้เสมอว่า หากเราเชื่อฟัง (Obeying) ที่จะกระทำตามที่พระเจ้าบัญชาให้เรารักคนอื่น และเราตั้งใจ (Willing) กระทำตามนั้น โดยไม่อิดออด เราจะมีประสบการณ์กับความรู้สึก (Feeling) ที่สุดแสนยอดเยี่ยมเกินพรรณนาที่เป็นผลมาจากการกระทำสิ่งที่กล่าวมา  เพราะว่าความรักนั้นจะเป็นประดุจกุญแจที่ไขเปิดประตูเข้าไปสู่ความสุขแท้ให้กับเราอย่างไม่คาดฝัน!

ไม่เชื่อลองดูสิครับ!

– ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

จะบ่นเรื่องอะไรดี?

อาดัม ซิมเบลอร์ (Adam Zimbler) เคยกล่าวไว้เป็นข้อควรคิดว่า…

“คนที่ไม่เคยมีความสุข คือคนที่บ่นได้ในทุกเรื่องในขณะที่ตื่น และในขณะที่หลับ ก็กำลังคิดว่าจะบ่นเรื่องอะไรดีเกี่ยวกับวันพรุ่งนี้ !”

(People who never achieve happiness are the ones who complain whenever they’re awake,

and whenever they’re asleep, they are thinking about what to complain about tomorrow.)

เมื่อก่อนผมเป็นคนชอบบ่น เดี๋ยวนี้บ่นน้อยลง แต่ก็ยังบ่นอยู่!

เมื่อผมนั่งคิดนั่งพิจารณาดูก็พบสัจธรรมว่า การบ่นของผมไม่เคยทำให้ผู้ใดมีความสุข ทั้งต่อตัวเอง และต่อคนที่ได้ยินผมบ่น  ผมจึงต้องบังคับตัวเองให้ไม่บ่น!

คนที่ชอบบ่นคือคนที่มองอะไรก็หาเรื่องบ่นได้เสมอ

บ่นเรื่องปากท้องก็บ่นได้!  บ่นเรื่องการทำงานกับผู้อื่นก็บ่นได้!

บ่นเรื่องความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวก็บ่นได้!

บ่นเรื่องการถูกเตือนถูกสอนก็บ่นได้! บ่นเรื่องภาวะโลกร้อนก็บ่นได้!

บ่นเรื่องการบ้านการเมืองร้อนแรงก็บ่นได้! บ่นเรื่องการจราจรจราจลก็บ่นได้!

บ่นเรื่องคนแต่งตัวไม่ถูกตาหรือพูดไม่ถูกหูก็บ่นได้!

หรือแม้แต่อ่านบทความนี้แล้วไม่ถูกใจก็ยังบ่นได้เช่นกัน!

“การบ่น” ถือว่าอยู่ในระดับต้น ๆ ในรายการของสิ่งที่พระเจ้าทรงรังเกียจ!

พระเจ้าไม่ทรงพอพระทัยเมื่อคนของพระเจ้าบ่นต่อว่าพระเจ้า!

“เราจะทนชุมนุมชนชั่วร้ายนี้บ่นต่อเรานานสักเท่าใด เราได้ยินเสียงบ่นของคนอิสราเอลซึ่งเขาบ่นว่าเรา”

(กดว.14:27)

พระเจ้าไม่ทรงพอพระทัยเมื่อมีคนบ่นต่อว่าคนที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ทำหน้าที่เพื่อพระองค์ เพราะเปรียบเสมือนการบ่นต่อว่าพระองค์โดยตรง!

“ในเวลาเช้าพวกท่านจะได้เห็นพระสิริแห่งพระเจ้า เพราะคำบ่นต่อว่าของพวกท่านต่อพระเจ้าทราบถึงพระองค์แล้ว เราทั้งสองเป็นผู้ใดเล่า พวกท่านจึงมาบ่นต่อว่าเรา”…  เพราะพระเจ้าทรงทราบคำบ่นของท่านต่อพระองค์ เราทั้งสองนี้เป็นผู้ใดเล่า พวกท่านมิได้บ่นต่อว่าเรา แต่ได้บ่นต่อว่าพระเจ้า”                        (อพย.16:7-8)

ผลที่ตามมาจากการบ่นหรือสบประมาทพระเจ้านั้นน่ากลัวมากจริง ๆ

ดังตัวอย่างในพระคัมภีร์เล่าว่า …โคราห์ กับพรรคพวกพากันไปยืนต่อหน้าโมเสส และต่อว่าโมเสสและอาโรน อีกทั้งยังไม่ยอมให้ความร่วมมือกับโมเสส เมื่อได้รับการร้องขออีก ทั้งหมดจึงต้องพากันเข้าเฝ้าพระเจ้าเพื่อให้พระองค์ทรงตัดสินความ พระเจ้าตรัสสั่งให้คนอื่น ๆ ทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกห่างจากโคราห์ ดาธาน และอาบีรัมที่เป็นหัวโจกในการร่วมกันบ่นว่าโมเสสและอาโรน  แล้วทรงให้แผ่นธรณีที่พวกโคราห์ ดาธานและอาบีรัม พร้อมกับครอบครัวยืนอยู่แยกออกจากกันกลืนคนเหล่านั้นลงไป พร้อมกับมีไฟจากพระเจ้าเผาผลาญคนเหล่านั้นรวมทั้งหมด 250 คน!

แต่กระนั้นก็ตาม ผลปรากฎว่าในวันรุ่งขึ้นก็ยังมีชุมนุมชนอิสราเอลมาบ่นว่า โมเสสกับอาโรนอีก พระเจ้าก็ทรงพระพิโรธอีก แม้ว่าโมเสสกับอาโรนจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อลบมลทินบาปของประชาชน แต่ก็ไม่ทันการแล้ว เพราะว่ามีผู้ที่ต้องตายเพราะภัยพิบัตินั้นอีก 14700 คน! (กดว.16)

จากนั้น พระเจ้าก็ทรงกำชับประชาชนอิสราเอลให้เลิกบ่น และสงบปากคำเสียที โดยให้หมายสำคัญก็คือให้ประมุขของแต่ละเผ่า นำไม้เท้าที่เขียนชื่อแต่ละคนมาวางไว้ในเต็นท์นัดพบ

และพระเจ้าทรงยืนยันว่าทรงสถิตอยู่ฝ่ายอาโรน โดยการให้ไม้เท้าของท่านมีดอกตูม ดอกบาน และเกิดผลอัลมันด์สุก  จากนั้นพระเจ้าทรงกำชับให้เก็บไม้เท้าของอาโรนไว้เป็นเครื่องเตือนประชาชนให้ยุติการบ่น มิฉะนั้นจะตาย!  (กดว.17:4-5,8,10)

ดูเหมือนว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะจบลงได้แล้วและบทเรียนที่ชาวอิสราเอลได้รับ และพระบัญชาของพระเจ้าดังกล่าวน่าจะได้รับการปฏิบัติตามด้วยความยำเกรงพระองค์ แต่ผลปรากฎว่า ไม่ใช่!

ประชาชนยังคงเอาแต่ใจ และขี้บ่นอยู่อีก ผลที่ตามมาก็คือ การลงโทษที่ไม่รีรอจากพระเจ้าก็เกิดขึ้นอีกครั้งจนได้!   เมื่อประชาชนที่เดินทางไม่สะดวกและเผชิญกับความยากลำบากเริ่มบ่นว่าพระเจ้าและโมเสสอีก (กดว.21:5) พระเจ้าจึงทรงบัญชาให้งูกัดประชาชนคนอิสราเอลตายจำนวนมาก!

ประชาชนที่รอดก็เลยลนลานมาหาโมเสส และยอมสารภาพว่าได้กระทำผิดบาปที่บ่นว่าพระเจ้าและโมเสส! (กดว.21:7)

โมเสสจึงอธิษฐานเพื่อประชาชนและพระเจ้าทรงเมตตาโปรดช่วยคนทั้งหลายให้รอดตายจากพิษงูทุกคน!

พี่น้องที่รัก !  เห็นแล้วหรือยังครับว่า การบ่นนั้นนำทุกข์ภัยอย่างมหันต์มาสู่เรา และคนในครอบครัวของเรา!

หลายพันปีต่อมา อาจารย์เปาโลก็นำบทเรียนเรื่องดังกล่าวนั้นมาเตือนสติคนในสมัยของท่านว่า“อย่าบ่น”!

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจพวกเรา ไม่ให้เรามีใจโลภปรารถนาสิ่งที่ชั่วเหมือนเขาเหล่านั้นอย่าให้เราลองดีองค์พระผู้เป็นเจ้า เหมือนอย่างที่บางคนในพวกเขาได้กระทำ แล้วก็ต้องตายด้วยงูร้าย อย่าให้เราบ่นเหมือนอย่างที่บางคนในพวกเขาได้บ่น แล้วก็ต้องพินาศด้วยองค์เพชฌฆาต! (1คร.10:6,9-11)

ดังนั้น ขอให้เราอย่าให้เราบ่นต่อพระเจ้าหรือบ่นต่อว่ากันและกัน ไม่ว่าจะต่อ คนในครอบครัว คนในคริสตจักร หรือ คนในที่ทำงาน ของเรา !

“พี่น้องทั้งหลาย จงอย่าบ่นว่ากันและกัน เพื่อท่านจะไม่ต้องถูกทรงพิพากษา  จงดูองค์พระผู้พิพากษาทรงประทับยืนอยู่ที่ประตูแล้ว” (ยก.5:9)

แต่ให้เราพูดถึงกันอย่างสร้างสรรค์และแสดงความชื่นชมต่อกันด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันด้วยความอดทนและอดกลั้นต่อกัน และกันด้วยความรักจะดีกว่า!

ให้เราคิดถึงแต่ “ส่วนดี” ของผู้อื่นอยู่เสมอ และ “ขอบคุณพระเจ้า” สำหรับสิ่งดีเหล่านั้น และหากว่าบังเอิญเขาทำสิ่งใดที่ดีไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามก็ขอให้เรารีบกล่าว “ขอบคุณ” เขาให้ได้ยินโดยเร็ว  เพราะว่า การกระทำที่ดีเช่นนี้ จะช่วยเปลี่ยนแปลง “คน” ที่เรารู้สึกไม่ชอบ หรือ “เรื่อง” ที่เราไม่พอใจให้กลับกลายเป็น “คน” และ “เรื่อง” ที่ให้กำลังใจ และช่วยเราให้เติบโตขึ้นในพระคุณและความรักของพระเจ้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และในที่สุดเราจะขอบคุณพระเจ้าที่ทรงนำเราหรืออนุญาตให้เราพบกับ “คน” หรือ “เหตุการณ์” เหล่านั้นที่เคยทำให้เราบ่นนั้น เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นได้กลับช่วยเราให้มีจิตวิญญาณที่พัฒนาสูงขึ้นกว่าเดิมได้อย่างน่าอัศจรรย์!

ดังนั้น วันนี้ ขอให้เรามาเปลี่ยน “คำบ่น” ของเราให้กลายเป็น “คำขอบคุณ” และ “คำสรรเสริญ”

จะดีกว่า เห็นด้วยไหมครับ?

– ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

มองสองแง่

“มองอะไรให้มองทั้งสองแง่ อย่ามองแต่แง่ดีเท่าที่เห็น

หรือมองแค่แง่ร้ายหมายประเด็น  จงเยือกเย็นยุติธรรมอย่าลำเอียง!”

ผมอ่านพบข้อคิดข้างต้นแล้วรู้สึกว่าดี ก็เลยนำมาขยายความ!  เพราะในสังคมปัจจุบันคนเรามีความ สุขน้อยลง เพราะชอบมองกันด้านเดียว!

เวลาเราชอบใครเชียร์ใครก็มองแต่ด้านดีด้านเดียวของคนนั้น แต่ปิดตาไม่ยอมมองด้านที่บกพร่องของ เขาหรือเธอ

หรือกลับกัน เวลาเราไม่ชอบใคร (ซึ่งโดยปกติมักจะเกิดจากเรื่องส่วนตัวก่อน) เราก็จ้องแต่ด้านจุดอ่อนหรือด้านที่บกพร่องของตัวเราเองหรือของเขาหรือเธอ และจะเอาเป็นเอาตายให้ได้ ทั้ง ๆ ที่บางทีเรื่องเหล่านั้นช่างเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเปรียบเทียบกับข้อบกพร่องของคนบางคนที่ตัวเราเองชอบหรือเชียร์!

และที่น่าเศร้าก็คือ เวลาเราไม่ชอบใครตาของเรากลับบอดมองไม่เห็นส่วนดีของเขาซึ่งมีมากมายปรากฎอยู่ตรงหน้า!

บางทีเราเองเอาแต่พูดพล่ามหรือเพ้อเจ้อเรื่องความรักของพระเจ้ามากจนเกินไป แต่ที่จะปฏิบัติออกมาต่อผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนที่เราไม่ชอบนั้นช่างน้อยเกินไปหรือไม่มีเลย!

ความรักที่ “เชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ” ที่ควรแสดงออกมาให้ประจักษ์กลับมองไม่เห็น มีแต่ความเกลียดชังปรากฎออกมาทั้งต่อหน้าและลับหลัง!

ในยามที่เรามองผู้อื่นด้วยใจลำเอียงนั้น “ต่อมแห่งความรัก” ของเราจะหยุดทำงาน และ “ต่อมแห่งความชิงชัง” ของเราจะเริ่มทำงานแบบไม่มีวันหยุด จนเป็นเหตุให้เราหมกมุ่นอยู่กับการคิดวางแผนทำร้ายผู้ใดก็ได้ แม้แต่ในวันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์อย่างวันอาทิตย์หรือวันสะบาโต โดยไม่รู้สึกเกรงใจพระเจ้า!

หากว่าเรายังปล่อยให้เครื่องจักรแห่งความมุ่งร้ายของเราสอดส่องและบันทึกจดจำความผิดของผู้อื่นอยู่อย่างหักโหมหามรุ่งหามค่ำอยู่ตลอดเวลาก็จงระวังให้ดี เพราะว่าวันหนึ่งดาบนั้นอาจย้อนคืนสนอง เพราะว่าทุกความเกลียดชังของเราจะถูกเครื่องจักรเดียวกันนั้นจดบันทึกไว้เพื่อเล่นงานตัวของเราเช่นเดียวกัน โดยที่เราไม่รู้ตัว!

ขอให้เราระลึกถึงคุณลักษณะประการหนึ่งของความรักที่ว่า …

“ความรักไม่ช่างจดจำความผิดของผู้อื่น!” (Love keeps no record of wrongs!)

จึงเป็นการดีที่เราจะรีบปิดปุ่มเครื่องจักรแห่งความมุ่งร้ายนี้แล้วรีบกดปุ่มเครื่องจักรแห่งความรักโดย เร็วที่สุด เพื่อเราจะได้พบกับความสันติในใจที่เป็นสุขเกินบรรยาย!

ขอให้ตาใจของเราสามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างถูกต้องและสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำสิ่งใดบกพร่องหรือผิดพลาด ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่เราชอบหรือไม่ชอบ ผิดก็คือ ผิด หน้าที่ของเราก็คือ แสดงความรักต่อเขาด้วยการช่วยเหลือเขาหรือเธออย่างจริงใจด้วยความถ่อมสุภาพ  ไม่ใช่ด้วยท่าทีแห่งการจับผิดหรือมุ่งร้าย ที่ทำให้ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการไปรื้อฟื้นหรือจดจำเรื่องเดิมที่ผ่านมาแล้วเกิน 24 ชั่วโมง!

ให้เรามองไปข้างหน้า และช่วยเขาหรือเธอให้ก้าวพ้นจากความผิดหรือความบกพร่องนั้นตั้งแต่ชั่วโมงที่ 25 นี้ในทันที!

จงจำไว้เสมอว่าเราต้องรังเกียจความบาป ในขณะเดียวกันเราต้องรักคนบาปนั้น!

ในทำนองเดียวกัน หากผู้หนึ่งผู้ใดไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่เราชอบหรือไม่ชอบ หากว่าเขาทำสิ่งใดที่ดีและคู่ควรต่อการยกย่อง เราก็ควรที่จะแสดงความชื่นชมต่อเขาออกมาโดยไม่รีรอ ควบคู่ไปกับการเตือนสติเขาให้ระวังการลื่นไถลหรือล้มลงในความบาปผิดที่ดักรอเขาอยู่!

หากว่าเราได้กระทำต่อกันดังเช่นที่ว่ามานี้ด้วยความรักและความเป็นธรรม ก็เท่ากับว่าเรากำลังก่อร่างสร้างชุมชนของพระเจ้าแท้ขึ้น มาบนพื้นพิภพนี้

เบนจามิน แฟรงคลิน เคยกล่าวไว้ว่า …

ศัตรูที่เปิดเผย อาจเป็นดุจคำแช่งสาป แต่มิตรที่เสแสร้งนั้นเลวร้ายกว่า!”

(An open foe may prove a curse; but a pretended friend is arose.)

ดังนั้น วันนี้ ขอให้เราเป็นชุมชนที่ทุกคนรู้จักมองดูทุกสิ่งด้วยสายตาอันสมดุล รู้จักแยกแยะสิ่งผิดถูกอย่างเป็นธรรม จนกลายเป็นชุมชนดีที่ปลอดจากศัตรูที่เปิดเผย  มิตรเทียม และพี่น้องปลอม!

จะดีไหมครับ?

– ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

พระคัมภีร์นำชีวิต!

bibleผมชอบคำพูดของ Dr. Rick Warren ที่กล่าวว่า …

พระคัมภีร์ เป็นมาตรฐานที่ทรงสิทธิอำนาจสำหรับชีวิตของผม

เป็นเข็มทิศที่ผมพึ่งพิงได้สำหรับทิศทางชีวิตของผม

เป็นคำปรึกษาที่ผมรับฟังเพื่อตัดสินใจได้อย่างฉลาด

เป็นดัชนีชีวิตที่ผมใช้ประเมินทุก ๆ สิ่ง

…พระคัมภีร์ต้องเป็นถ้อยคำแรก และสุดท้ายในชีวิตของผมเสมอไป!”

(The Bible must become the authoritative standard for my life; the compass I rely on for a direction, the counsel I listen to for making wise decisions, and  the benchmark I use for evaluating everything. The Bible must always have the first and the last word in my life.!)

ใช่ครับ ทุกวันนี้ คนเราหัวปั่นไปหมดเพราะไม่รู้จะเชื่อใครหรือเชื่ออะไรกันแล้ว!

คนในสังคมต่างก็อ้างความถูกต้องหรือความชอบธรรม และยิ่งนานก็ยิ่งแตกต่างเป็นคนละฝ่ายกันมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างในด้านทางการตีความกฎหมายที่แต่ละฝ่ายต่างก็ตีความไม่เหมือนกัน (ทั้ง ๆ ที่ล้วนเป็นนักกฎหมายกันทั้งสิ้น!)

หรือความแตกต่างในทัศนะทางการเมือง ที่แตกต่างกันคนละขั้ว ทั้ง ๆ ที่ล้วนเป็นนักวิชาการทางการเมืองด้วยกันทั้งนั้น (บางทีอยู่ในคณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน ยังมองต่างกันอย่างสุดขั้ว)

หรือความแตกต่างในมุมมองเรื่องเศรษฐกิจที่แต่ละค่าย แต่ละสำนักออกมาแสดงความคิดเห็นขัดกันอย่างคนละทิศละทาง ฝ่ายหนึ่งว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ลง อีกฝ่ายกลับบอกว่ากำลังดีขึ้น ฝ่ายหนึ่งว่า เศรษฐกิจเป็นรูปตัว “U” อีกฝ่ายว่าเป็นแบบตัว “V” อีกฝ่ายก็สำทับไปเลยว่า ต้องแบบตัว “W” อย่างแน่นอน!

หรือความแตกต่างในด้านการศึกษาที่นักการศึกษามีนานาทัศนคติที่แตกต่างกันจนระบบการศึกษาบ้านเราทุกวันนี้สับสน และถอยหลังเข้าคลองอย่างไม่น่าเชื่อ ทฤษฏีการเรียนการสอนมากมายในโรงเรียนล้วนล้มหลว เพราะนักเรียนต้องเรียนกวดวิชากันเป็นบ้าเป็นหลัง ตั้งแต่เด็กจนแก่!

ในเรื่องพฤติกรรมของเด็กนั้น ฝ่ายหนึ่งว่าต้องสร้างวินัยและลงวินัยนักเรียนด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยใช้ไม้เรียว เพื่อเด็กจะไม่เสียอย่างปัจจุบัน อีกฝ่ายก็บอกว่าไม่ได้ เพราะไปละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของเด็กนักเรียน  เนื่องจากคนไม่ใช่วัวไม่ใช่ควายจะไปตีอย่างนั้นได้อย่างไร

ผลก็คือ เด็กไทยเวลานี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำสุดหมด ทั้งด้าน I.Q, E.Q, M.Q  หรือ สารพัด Q ทั้งหลาย!

หรือแม้แต่ในเรื่องความแตกต่างในด้านสังคม ที่พวกหนึ่งก็เรียกร้องให้ยึดแนวทางสายอนุรักษ์นิยม  รณรงค์ให้รักนวลสงวนตัวของชายหญิง แต่อีกพวกก็เห็นว่าทั้งเชยและล้าสมัย โดยถือว่าเดี๋ยวนี้ต้องเสรีนิยมหรือหัวก้าวหน้า  หากครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งยังยึดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ก็อาจถูกอีกฝ่ายถากถางว่าเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปีก็เป็นได้

นอกจากนี้ยังมีการเน้นเสรีภาพกันอย่างผิด  จนกระทั่งว่าเดี๋ยวนี้ ใครใคร่ปล่อยตัวจนตั้งท้องก็เป็นสิทธิ์ส่วนตัว คนอื่นอย่ามาวิพากษ์วิจารณ์  ทำได้อย่างมากก็เพียงแค่รณรงค์แจกอุปกรณ์ป้องกันให้ก็พอแล้ว!

จึงกล่าวได้ว่า…

สังคมไทยและสังคมโลกกำลังหลงทาง เพราะว่าทุกวันนี้ บาปได้ล่อลวงจนทำให้วัฒนธรรม ประเพณี เหตุผล และอารมณ์ ความรู้สึกของเราถูกบิดเบือนไป จนกลายเป็นช่องทางในการทำตามใจบาปของคนในสังคมจนเกือบหมดสิ้นแล้ว!

เราจึงต้องเรียกหาและยึดสิ่งที่สามารถจะเป็นมาตรฐานในการดำเนินชีวิตของเราได้  และในที่สุด เราก็พบว่า

พระคัมภีร์คือพระวจนะของพระเจ้าที่พระองค์ทรงมอบให้แก่มวลมนุษยชาติ เปรียบประดุจ “คู่มือชีวิตมนุษย์” อันเป็นของขวัญแห่งความจริงที่ทรงสิทธิอำนาจและไม่แปรปรวนไปตามกระแสใด  ๆ ในโลกนี้

ดังนั้น เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตของคุณ  ขอให้คุณดำเนินชีวิตตามพระวจนะของพระองค์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพราะหากกระทำดังนี้ ชีวิตของคุณก็จะดำเนินอยู่อย่างปลอดภัย  และมั่นคง ตามพระประ สงค์ของพระเจ้าเสมอไป…   ขอให้คุณได้รับประโยชน์สูงสุดจากพระคัมภีร์ เพราะ…

  • พระคัมภีร์จะก่อเกิดความเชื่อที่ถูกต้องและบริสุทธิ์ใสขึ้นในใจของคุณ!
  • พระคัมภีร์จะก่อเกิดปัญญาที่ให้สติและแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างเกิดผลให้แก่คุณ!
  • พระคัมภีร์จะก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และทัศนคติของคุณให้ไปในทางที่ดีขึ้น!
  • พระคัมภีร์จะเสริมสร้างอุปนิสัยใหม่ที่ดีงามตามพระลักษณะของพระเจ้าให้เกิดขึ้นในตัวของคุณ!
  • พระคัมภีร์จะก่อเกิดความชื่นชมยินดีให้แก่ชีวิตของคุณ แม้แต่ในยามที่คุณเผชิญกับภาวะทุกข์โศกเศร้าของชีวิต!
  • พระคัมภีร์จะนำคุณให้มีชัยชนะต่อความยากลำบากหรืออุปสรรคนานาประการในชีวิตของคุณ!
  • พระคัมภีร์จะช่วยคุณให้พิชิตการทดลองหรือการยั่วยวนใจในชีวิตที่คุณเผชิญอยู่ได้!
  • พระคัมภีร์จะช่วยคุณให้รู้จักปลดปล่อยพลังฤทธ์ของพระเจ้าออกมาผ่านการดำเนินชีวิตประจำวันของคุณ!
  • พระคัมภีร์จะช่วยคุณให้ก้าวเดินเข้าสู่ประสบการณ์กับพระคริสต์เป็นส่วนตัวและเป็นส่วนรวมเมื่อศึกษาร่วมกัน!
  • พระคัมภีร์จะนำการรักษามาสู่ความสัมพันธ์ที่แตกหักหรือความเจ็บปวดในชีวิตของคุณได้อย่างเหลือเชื่อ!
  • พระคัมภีร์จะให้ความหวังแก่คุณในการมุ่งหน้าสู่อนาคตอันเป็นนิรันดรของคุณ!
  • พระคัมภีร์จะบอกวิธีและขั้นตอนของการดำเนินชีวิตในความรักอย่างมีความสุขที่เป็นพรต่อตัวของคุณเองและคนรอบข้าง!
  • พระคัมภีร์จะช่วยคุณให้รู้จักวัตถุประสงค์ในการดำเนินชีวิตของคุณตามพระประสงค์ของพระเจ้าและช่วยคุณ ในการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังในชีวิตของคุณได้อย่างถูกต้อง!  ฯลฯ

ดังนั้น พี่น้องที่รัก!  สมควรแล้วหรือยังที่คุณจะจัดเวลาและลงทุนชีวิตของคุณในการเริ่มต้นศึกษา, ใคร่ครวญ, ท่องจำ และนำพระคัมภีร์ไปประยุกต์ปฏิบัติใช้อย่างจริงจังในชีวิตของคุณ ทั้งเป็นส่วนตัวและร่วมกับผู้อื่น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป!

ดีไหมครับ?

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

พูดถึงกันดี ๆ จะดีกว่า!

“อย่าพูดถึงสิ่งไม่ดีเกี่ยวกับผู้หนึ่งผู้ใด…

แต่จงพูดสิ่งดี ๆ ทั้งปวงที่คุณรู้เกี่ยวกับทุก ๆ คนออกไป

(Speak ill of no man, but speak all the good you know of every body.)

ผู้ที่กล่าวข้อความข้างต้นคือ เบนจามิน แฟรงคลิน! ซึ่งผมเห็นด้วยกับท่าน 100 % ครับ!

…หากเราไม่มีเรื่องดี ๆ เกี่ยวกับผู้หนึ่งผู้ใดก็อย่าไปพูดถึงเขาเลย  นอกจากว่าจำเป็นที่ต้องพูดถึง เพราะสถานการณ์บังคับให้ต้องพูด!

แต่กระนั้นก็ตามเราควรจะเลือกพูดถึงเฉพาะเท่าที่จำเป็น และให้น้อยที่สุด!

คนทุกคนแม้แต่คนที่ทำผิดพลาด ล้วนต้องการโอกาสที่จะแก้ตัวใหม่ทั้งสิ้น ดังนั้นเราควรจะให้โอกาสแก่เขา! การที่เราพูดเรื่องไม่ดีของเขาให้น้อยที่สุด (เท่าที่จำเป็น) หรือไม่พูดถึงเลย (หากว่าไม่จำเป็น) จะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่งได้ง่ายขึ้น!

เป็นการดีกว่า หากว่าคุณจะพูดถึงแต่สิ่งดี ๆ เกี่ยวกับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่คุณบอกว่ารักเขา! อย่าให้ความหงุดหงิดของคุณหรือความน่าหงุดหงิดของเขาทำให้คุณพูดเลวร้ายเกี่ยวกับตัวของเขาออกมาอยู่เรื่อยไป เพราะเมื่อคุณหายหงุดหงิด คุณจะเสียใจมากกับการที่คุณทำร้ายคนที่คุณบอกว่ารัก!

และสิ่งที่คุณพูดไม่ค่อยน่าฟังเกี่ยวกับตัวของเขาอาจจะเข้าถึงหูของเขา แล้วสิ่งนั้นจะทำให้เขารู้สึกหงุด หงิด ผลที่ตามมาก็คือ เขาอาจจะพูดบางอย่างที่ทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดเมื่อได้ยินเช่นกัน!

สุดท้ายคุณก็ทนไม่ได้คุณก็เลยพูดบางอย่างที่ชวนให้ผู้ฟังรู้สึกหงุดหงิดเพิ่มขึ้นมาอีก และแล้ววัฎฎจักรอุบาทว์นี้ก็จะหมุนวนเป็นรอบที่ 2 อีกรอบ…

หากว่าคุณไม่รีบตัดวงจรอุบาทว์นี้ทิ้งให้เร็วที่สุด คุณจะต้องหงุดหงิด และขมขื่นไปกับมันอย่างยาวนาน  ผลก็คือ มันจะกัดกร่อนและบั่นทอนความสุขที่คุณพึงมี และมิตรภาพที่คุณเคยมีให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย!

แต่ในทางตรงกันข้าม หากคุณเริ่มพูดดี ๆ เกี่ยวกบคนอื่น ๆ รวมทั้งคนที่คุณรู้สึกหงุดหงิดกับเขาในบางเรื่อง คุณจะกลายเป็นผู้ชนะที่ใสสะอาด!

เพราะว่าคุณจะไม่ต้องเผชิญกับวงจรอันเลวร้ายของคำพูดแย่ๆ ใด ๆ อีกต่อไป!

แต่คุณจะเริ่มได้ยินเสียงสะท้อนดี ๆ กลับคืนมาจากคนที่ได้ยินถ้อยคำดี ๆ ของคุณ  รวมทั้งจากคนที่คุณไม่ชอบเมื่อคำดี ๆ ของคุณเข้าไปถึงหูของเขา!

ด้วยเหตุนี้เอง แทนที่คุณจะต้องหงุดหงิดหรือขมขื่นกับวงจรชั่วร้ายของคำซุบซิบนินทาคำเสียดสี หรือคำวิพากวิจารณ์ ที่เกิดจากผู้อื่นหรือเกิดจากปากของคุณเอง

…คุณจะชื่นชมยินดีกับถ้อยคำชูใจที่หมุนวนกลับมาแทน!

“ถ้อยคำแช่มชื่นเหมือนรวงผึ้ง เป็นความหวานแก่วิญญาณจิตและเป็นอนามัยแก่ร่างกาย”

(Pleasant words are a honeycomb,sweet to the soul and healing to the bones.)

(สุภาษิต 16:24)

และคนที่พูดถ้อยคำที่ดีน่าฟังก็(เกี่ยวกับผู้อื่น) จะได้รับผลลัพธ์ที่ดีกลับคืนสู่ตัวของเขาเอง

“จากผลแห่งถ้อยคำของตนคนก็อิ่มใจในความดี และผลงานแห่งมือของเขาก็กลับมาหาเขา”

(From the fruit of his lips a man is filled with good things

as surely as the work of his hands rewards him.)                  (สุภาษิต 12:14)

แต่การพูดถ้อยคำไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดไม่ดีเกี่ยวกับผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสมไม่ว่าจะจริงใจขนาดไหนก็ตาม ล้วนแล้วแต่ไม่เกิดผลดี!

การรู้จักยับยั้งปากไม่ให้พูดถ้อยคำเหล่านั้น จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อตัวผู้พูดเอง!

“บุคคลที่ยับยั้งถ้อยคำของเขาเป็นคนมีความรู้

และบุคคลผู้มีจิตใจเยือกเย็นเป็นคนมีความเข้าใจ

(A man of knowledge uses words with restraint,

and a man of understanding is even-tempered.)      (สุภาษิต 17:27)

พระคัมภีร์เรียกคนที่รู้จักยับยั้งปากของตนว่า เป็นคนที่มีความรู้และมีความเข้าใจ!

วันนี้ ขอให้เราพูดกันดี ๆ หรือพูดถึงกันอย่างดี ๆ ดังที่คนซึ่งมีความรู้ความเข้าใจกระทำต่อกัน!

จะดีไหมครับ?

– ธงชัย ประดับชนานุรัตน์ –

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

คุณเคยขโมยโดยไม่เจตนาไหม?

จอห์น ดี รอกกี้เฟลเลอร์ มหาเศรษฐีใจบุญชื่อก้องโลก เคยกล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องการถวายสิบลดของเขาว่า…

ผมคงไม่มีทางสามารถถวายสิบลดจำนวน 1 ล้านเหรียญ(สหรัฐ)แรกได้ หากว่าผมไม่ยอมถวายสิบลดของเงินเดือนแรกของผมจำนวน 1.50 เหรียญ (สหรัฐ) ต่อสัปดาห์ก่อน!”

คริสเตียนเรา “ถวายสิบลด” หรือ “ถวายทศางค์” (สิบชักหนึ่ง) จากทรัพย์สิ่งของที่เรามีอยู่ถวายแด่พระเจ้า เพื่อเป็นการนมัสการและขอบคุณพระเจ้า ไม่ได้ถวายเพราะถูกบังคับฝืนใจ ของเราเองและก็ไม่ได้ถวายตามใจเช่นกัน!

การถวายสิบลดนี้ต้องกระทำด้วยความเต็มใจและวางใจพระเจ้าสำหรับสิ่งที่ถวายไปนั้น โดยมีความสำนึกในพระคุณของพระเจ้าเป็นหลัก และแสดงออกถึงการเชื่อฟังพระเจ้าอย่างเป็นรูปธรรมของเรา โดยไม่คำนึงว่าพระเจ้าจะนำไปใช้อย่างไรต่อไป เพราะนั่นเป็นสิทธิขาดของพระองค์!

แท้จริงแล้ว…ก่อนที่จะมีพระบัญญัติให้ถวายสิบลด คนของพระเจ้าได้ถวายสิบลดออกมาจากใจของเขาเอง โดยไม่มีข้อเรียกร้องใด ๆ อาทิ อับราฮัมถวายสิบลดที่ได้จากชัยชนะในสงครามแด่พระเจ้า (ปฐก.14:17-27;ฮบ.7:4-10)  และยาโคบ บนตัวไว้กับพระเจ้าว่าท่านจะถวายหนึ่งในสิบจากทรัพย์สมบัติของท่านถวายแด่พระเจ้า เมื่อพระองค์ทรงนำท่านกลับมาอยู่บ้านเมืองเดิมอย่างปลอดภัย (ปฐก.28:20-22)

การถวายสิบลดทั้ง 2 กรณี นี่จึงเป็นเรื่องของการแสดงความขอบคุณที่พระเจ้าทรงนำและประทานสิ่งต่างๆ !

ต่อมาพระเจ้าทรงกำหนดให้อิสราเอลทุกคนต้องถวายหนึ่งในสิบของผลแรกจากไร่นาและฝูงสัตว์โดยให้ทำอย่างสัตย์ซื่อ โดยไม่ต้องคิดมาก  แต่หากว่าเขาอยากจะไถ่พืชผลหรือสัตว์เลี้ยง เขาก็ทำได้ตามราคาที่ปุโรหิตคำนวณไว้ และต้องเพิ่มจำนวนอีก 1 ใน 5 เป็นค่าปรับ  เพราะว่าเขาได้นำสิ่งที่มอบถวายแด่พระเจ้ากลับมาใช้เอง!

“”ทศางค์ทั้งสิ้นที่ได้จากแผ่นดินเป็นพืชที่ได้จากแผ่นดินก็ดี หรือผลจากต้นไม้ก็ดี

เป็นของพระเจ้าเป็นสิ่งบริสุทธิ์แด่พระเจ้า ถ้าคนใดประสงค์จะไถ่ทศางค์ส่วนใดของเขา

เขาต้องเพิ่มอีกหนึ่งในห้าของทศางค์นั้น และทศางค์ที่ได้มาจากฝูงวัว หรือฝูงแพะแกะ

คือสัตว์หนึ่งในสิบตัวที่ลอดใต้ไม้เท้าของผู้เลี้ยง เป็นสัตว์บริสุทธิ์แด่พระเจ้าอย่าให้คิดว่าดีหรือไม่ ดี

และอย่าให้เขาสับเปลี่ยน ถ้าเขาสับเปลี่ยนทั้งตัวที่นำมาเปลี่ยนกับตัวที่ถูกเปลี่ยนเป็นของบริสุทธิ์ไถ่ไม่ได้

(ลนต.27:30-33)

ทศางค์ที่ประชาชนนำไปถวายพระเจ้านี้ ประชาชน( 11 เผ่า) นำเอาไปให้เผ่าเลวี เปรียบเหมือนเป็นรายได้ของพวกเลวี เพราะว่า พวกเขาเป็นเผ่าที่ไม่มีที่ดินทำกินเหมือนเผ่าอื่น ๆ พวกเขาถูกเรียกออกมาให้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลา!   พวกเขาทำหน้าที่ด้านศาสนกิจต่างๆ และต้องเสี่ยงชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่พิธีกรรมต่าง ๆ เพราะหากว่าพวกเขาประพฤติปฏิบัติไม่สมควรต่อพระเจ้า พวกเขาจะต้องประสบหายนะ (ถึงแก่ความตาย)!

อย่างไรก็ตาม คนเลวีที่ได้รับทศางค์เป็นรายได้ก็ต้องถวายทศางค์อีกเช่นกัน ให้กับพวกปุโรหิตอีกต่อหนึ่ง

ประชาชนจะนำทศางค์นี้ไปถวายที่พลับพลา (หรือพระวิหาร ในสมัยต่อมาหรือคริสตจักรในนี้) และทุกคนในครอบครัวของประชาชนจะร่วมสามัคคีธรรมกินเลี้ยงกับพวกเลวีด้วย (ฉธบ.12:5-7,17-19)

แต่หากว่าบ้านของผู้ถวายทศางค์อยู่ไกลจากพลับพลาไม่สะดวกในการนำพืชผลหรือสัตว์มาถวายก็ให้ขายสิ่งเหล่านั้นในตำบลของตน แล้วนำเงินมาถวายที่พลับพลาแทน (ฉธบ.14:22-27)

ในสมัยของพระเยซูคริสต์ พระองค์ตรัสเตือนผู้ถวายทศางค์ให้กระทำด้วยความรัก ความเมตตา ยุติธรรม และด้วยความเชื่อ หากผู้ที่ถวายขาดท่าทีดังกล่าว แทนที่พระเจ้าจะทรงรับของถวายนั้น ตรงกันข้ามพระเจ้าอาจจะทรงลงโทษเขาแทนก็เป็นได้! (มธ.23:4,23;ลก.11:42,46;18:12)

ในปัจจุบันนี้ พวกคริสเตียนไม่ได้ถูกบังคับให้ถวายสิบลดเหมือนอย่างชาวยิว แต่เราถูกสอนให้ถวายอย่างสุดกำลังและสุดความสามารถด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ถวายด้วยความนึกเสียดาย หรือด้วยความฝืนใจ (2คร.8:3;9:7)  เราถูกสอนให้ตระหนักว่า สิบลดนั้นเป็นของพระเจ้า ไม่ใช่ของของเรา!

แท้จริงแล้วต้องพูดว่า ทั้งสิบส่วนหรือ 100 % ที่เราครอบครองอยู่นั้นล้วนเป็นของ ๆ พระเจ้าอย่างสิ้นเชิง  เราเป็นผู้อารักขาดูแลมีหน้าที่เบื้องต้นในการถวาย 10 ลด จากผลแรกของเราในทันทีด้วยความรัก และด้วยความเชื่อฟังพระองค์อย่างไม่มีข้อแม้ หรือเงื่อนไขใด ๆ !

ปัจจุบันในคริสตจักรจะมีคณะบุคคลที่ดูแลการใช้ทรัพย์(สิบลด)นั้นซึ่งอาจเรียกชื่อแตกต่างหลากหลาย อาทิ คณะธรรมกิจ, คณะมัคนายก, คณะผู้อภิบาล หรือคณะกรรมการคริสตจักร ฯลฯ  คนเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบทั้งต่อพระเจ้าและต่อคริสตจักรในการใช้สิบลดเหล่านั้น “ตามน้ำพระทัยของพระเจ้า” ไม่ใช่ “ตามใจของข้าพเจ้า!”

เราถูกสอนว่า การนำสิบลดไปใช้ตามใจของเราเองนั้น ไม่เรียกว่าการถวายสิบลด!

ดังนั้น เมื่อเราถวาย 10 ลด ขอให้เราถวายด้วยความเชื่อฟัง โดยไม่เจาะจงว่าคริสตจักรต้องนำไปใช้ทำอะไรตามที่เรากำหนด! และให้เราไว้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงใช้สิบลดเหล่านั้นอย่างเกิดผลผ่านคณะบุคคลที่คริสตจักรให้ความเชื่อถือดังกล่าว!

หากบุคคลใดถวาย 10 ลดแด่พระเจ้า โดยมีเงื่อนไข… ตามหลักคำสอนของพระคริสตธรรมคัมภีร์ถือว่า บุคคลคนนั้นไม่ได้ถวาย 10 ลดให้กับพระเจ้า แต่เป็นการนำ 10 ลดของพระเจ้ามาใช้ตามใจตนเอง!

การกระทำเช่นนั้นจะไม่ก่อเกิดประโยชน์ หรือพระพรต่อผู้ถวายแต่ประการใด  เพราะว่า พระเจ้าทรงประสงค์ “ความเชื่อฟัง” มากยิ่งกว่า “เครื่องบูชา” (สิบลด) ที่ถวายโดยไม่เชื่อฟัง!  (1ซมอ.15:22-23)

ดังนั้น ขอให้วันนี้พวกเรามีท่าทีที่ถูกต้องในการถวายทศางค์คืนแด่พระเจ้า!

อนึ่ง สิ่งที่อนุโลมได้ก็คือ หลังจากที่เราแต่ละคนถวายสิบลดแด่พระเจ้าตามแนวทางของพระคริสตธรรมคัมภีร์โดยความสมัครใจด้วยใจชื่นชมในพระคุณของพระเจ้าแล้ว เราอาจจะถวายทรัพย์เพิ่มเติมโดยระบุวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับพระทัยของพระเจ้าก็ย่อมได้!

ด้วยเหตุนี้เอง ขอให้พวกเราแยกแยะให้ออกระหว่างการถวาย 10 ลด โดยไม่มีเงื่อนไขกับการถวายพิเศษโดยมีเงื่อนไข  เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้ไม่ทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  แทนที่จะถวายสิบลดแด่พระเจ้า กลับกลายเป็นการขโมยหรือยักยอกสิบลดของพระเจ้าไปแทน! หากเรากระทำเช่นนั้น… เราย่อมรู้อยู่แก่ใจแล้วใช่ไหมครับว่า ผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการกระทำเช่นนั้นจะเป็นเช่นไร ?

บทส่งท้ายหากว่าเราที่เชื่อพระเจ้าทุกคนเชื่อฟังและรักพระเจ้า และเราสัตย์ซื่อในการถวาย 10 ลด โดยไม่นึกเสียดาย เราอาจจะมีประสบการณ์แห่งพระคุณที่เพิ่มพูนขึ้นอีกมากมายในชีวิตของเรา และเราจะสนุกชื่นชมกับการถวายสิบลดที่เพิ่มมากขึ้น จากการอวยพระพรของพระเจ้าอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้!

เพราะพระองค์สัญญาว่าผู้ใดที่สัตย์ซื่อต่อทรัพย์ที่พระองค์มอบหมายให้ดูแล พระองค์จะทรงเพิ่มเติมให้แก่เขามากยิ่งขึ้นอย่างล้นเหลือ (2คร.9:8-10)!

– ธงชัย ประดับชนานุรัตน์ –