Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ทำอย่างไรชีวิตจึงจะปลอดภัย?

ทำอย่างไรชีวิตจึงจะปลอดภัย

ทำอย่างไรชีวิตจึงจะปลอดภัย?

(จงเชื่อฟังกฎเกณฑ์ของพระเจ้า!)

“ยิ่งคุณเชื่อฟังพระวจนะของพระเจ้าน้อยลงมากเท่าไร จิตวิญญาณของคุณก็จะยิ่งห่างไกลจากพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น!”

(The less you obey the Word of God, The more you distance yourself from God in the spiritual realm.) -Sunday Adelaja-

ถ้าพระเจ้าทรงรักเรา เราก็ควรรักพระองค์เช่นกัน แล้วเราจะรักพระองค์อย่างไร?

ให้ดูองค์พระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่าง แม้พระองค์ทรงทรงทัดเทียมกับพระเจ้าพระบิดา แต่กระนั้น พระองค์ก็ยังคงเชื่อฟังพระบัญชาของพระบิดาด้วยความนอบน้อมจนถึงความมรณา

“ถึง‍แม้‍ว่าพระ‍องค์เป็นพระ‍บุตร พระ‍องค์ก็ทรงเรียน‍รู้ที่จะเชื่อ‍ฟังโดยการทน‍ทุกข์ต่างๆ”  (ฮีบรู 5:8)

ดังนั้น หากเรารักพระเจ้า เราก็ควรเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า และกระทำตามแบบอย่างขององค์พระเยซูคริสต์เช่นกัน อ.เปาโล เปรียบเทียบการเชื่อฟังพระเจ้า พระบิดาของพระคริสต์ กับการเชื่อฟังสามีของภรรยา และการเชื่อฟังพระคริสต์ของคริสตจักร!

ท่านกำชับว่า…

“ส่วนภรรยาจงยอมเชื่อ‍ฟังสามีของตนเหมือนยอมเชื่อ‍ฟังองค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า”  (อฟ.5:22)

“คริสต‌จักรยอมเชื่อ‍ฟังพระ‍คริสต์อย่าง‍ไร ภรรยาก็ควรยอมเชื่อ‍ฟังสามีทุก‍ประ‌การอย่างนั้น” (อฟ.5:24)

ด้วยเหตุนี้ หากเรากล่าวว่า เราเป็นคริสเตียนแต่ไม่เชื่อฟังพระเจ้าและพระบัญญัติกฎเกณฑ์ของพระองค์ เราจะเรียกตัวเราว่าเป็นคริสเตียนได้อย่างไร?

แล้วพระบัญญัติกฎเกณฑ์ของพระเจ้าคืออะไร?

พระบัญญัติเอกของพระเจ้า คือ จงรักพระเจ้าสุดจิตสุดใจ  สุดกำลังและสุดความคิด! และพระบัญญัติรองก็คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

พระเยซูคริสต์ตรัสว่า ธรรมบัญญัติทั้งหมดของพระเจ้า ทั้งหมดสรุปลงเหลือเป็นเพียงพระบัญญัติ 2 ข้อนี้เท่านั้น

 “ธรรม‍บัญญัติและคำของผู้‍เผย‍พระ‍วจนะทั้ง‍หมด ก็ขึ้นอยู่กับพระ‍บัญญัติสองข้อนี้”   (มธ.22:40)

และองค์พระคริสต์ก็ทรงประทานพระบัญญัติใหม่ให้อีกข้อหนึ่งแก่เราแบบเจาะจงเพิ่มไว้อีกข้อหนึ่ง คือ

“เราให้บัญญัติใหม่ไว้กับพวกท่าน คือให้รักซึ่งกันและกันเรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น ถ้าท่านรักกันและกัน ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา”  (ยน.13:34-35)

ดังนั้น พี่น้องที่รัก นับจากนี้เป็นต้นไป ขอให้เราสำแดงความเป็นสาวกแท้ของพระคริสต์ ด้วยการชื่อฟังและปฏิบัติตามพระบัญญัติกฎเกณฑ์แห่งความรักประจักษ์ชัดอย่างแท้จริงแก่ชาวโลกนี้ เพราะหากเรากระทำตามกฎเกณฑ์ของพระเจ้าอย่างนี้ ชีวิตของเราย่อมปลอดภัยเป็นแน่…!

…จริงไหมครับ?

 

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

รับมืออย่างไรกับความแตกต่าง?

ความแตกต่าง

รับมืออย่างไรกับความแตกต่าง?

“สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำก็คือเรียนรู้จักเคารพให้เกียรติ และเปิดใจยอมรับความแตกต่างในท่ามกลางพวกเรา จนกว่าความแตกต่างของพวกเรา ไม่สร้างความแตกต่างอะไรนักในวิถีที่พวกเราได้รับการปฏิบัติ!”

(What we need to do is learn to respect and embrace our differences until our difference don’t make a difference in how we are treated.)     -Yolanda King-

ปัญหาที่เกิดขึ้นในท่ามกลางพวกเราก็คือ เราไม่อาจทนรับกับความแตกต่างในท่ามกลางพวกเราได้ อาทิ

  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีภูมิหลังต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีชาติตระกูลที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีวัฒนธรรมประเพณีที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีรสนิยมที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีความคิดเห็นที่ต่างกัน(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง)
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามาจากสถาบันที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามาจากคณะ/กลุ่มที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามาจากฐานะที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีความรู้หรือฝีมือที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีหลักความเชื่อหรือศาสนศาสตร์ ที่ต่างกัน  ฯลฯ

อะไรจะเกิดขึ้น หากว่า…. เราปฏิเสธไม่ยอมรับความแตกต่างเหล่านั้นในท่ามกลางพวกเราเอง

ถ้าเราดูหมิ่นคนอื่น ๆ เนื่องจากความแตกต่างในเรื่อง ความคิด  ความคิดเห็น ความศรัทธา  ความรู้สึก รสนิยม  รูปแบบ วัฒนธรรม  ฝีมือ หรือวิถีการปฏิบัติตน    ฯลฯ

แน่นอนว่า… เราจะล้มหัวคะมำลง อย่างไม่เป็นท่า เพราะว่า เราจะต้องเจอะเจอกับความแตกต่างเช่นนี้ตลอดเวลา บนเส้นทางชีวิต ดังนั้น ถ้าเราต้องการมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้อย่างมีความสุข แทนที่จะต้องมีความทุกข์ หงุดหงิด อย่างไม่จำเป็น เราต้องเรียนรู้ที่จะชื่นชมในความเหมือนที่เรามีร่วมกัน เราต้องมองให้เห็น เราต้องหาให้เจอ! และเรียนรู้ที่จะยอมรับและแสดงการให้เกียรติต่อความแตกต่างที่เขากับเราต่างก็ล้วนมีเช่นกัน

เราต้องเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า สิ่งที่แบ่งหรือแยกพวกเราออกจากกันนั้น ไม่ใช่ความแตกต่างที่เรามี แต่เป็นการไร้ความสำนึกและความสามารถในการตระหนัก ยอมรับและมองให้เห็นในส่วนดีของความแตกต่างเหล่านั้น

ขอให้เราสำนึกไว้เสมอว่า

  • เราไม่มีทางเห็นด้วยกันในทุก ๆ ประเด็น
  • เราไม่มีทางชื่นชอบในทุก ๆ อย่างที่อีกฝ่ายเลือก
  • เราไม่มีทางพอใจในทุกกรณีที่คนอื่นตัดสิน  ฯลฯ

แต่ขอให้เราให้เกียรติแก่กัน และให้ความเคารพในความแตกต่างที่พวกเราต่างก็มี

ให้เราให้ความสำคัญต่อ “คน” มากว่า “ความเชื่อ” หรือ “ความคิดเห็น”

ขอให้ ให้เกียรติความรู้สึกของคนอื่น แม้ว่า สิ่งนั้นจะไม่ได้มีความหมายอะไรเลยต่อเรา แต่มันอาจหมายถึงทุก ๆ สิ่งของเขา!

ดังนั้น ขอให้เราเรียนรู้ที่จะเปิดความคิด เปิดใจของเราในการให้เกียรติแก่ความคิด ความคิดเห็น อารมณ์ และความเชื่อศรัทธาของผู้อื่น แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะไม่ได้เห็นด้วยก็ตาม

ขอให้เราตระหนักว่า เราไม่จำเป็นต้องคิดต้องเห็นในวิถีหรือทัศนคติเดียวกันเสมอ ขอเพียงให้เราให้เกียรติในความแตกต่างนั้น โดยถือว่า ความแตกต่างไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่มันเป็นเพียงแค่ความแตกต่างเท่านั้น!

คำขวัญที่เราควรจดจำไว้เสมอก็คือ ในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น (รวมทั้งต่อคนไม่เชื่อในพระเจ้าด้วย) นั่นก็คือ

“จงยอมรับและให้เกียรติกันเพราะพวกเราล้วนแตกต่างกัน!”

(Accept and respect. We are all different!)

แต่ อ.เปาโล ได้กำชับไว้เป็นพิเศษว่า ให้เราแน่ใจในความคิดของเรา แต่ก็ให้ยอมรับคนอื่นในพวกเราที่มีความเชื่อแตกต่างกัน โดยไม่โต้เถียงกันหรือดูหมิ่นกัน  หากเขาและเราต่างก็ล้วนเชื่อ คิด หรือกระทำเช่นนั้นก็เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า โดยมอบเรื่องนี้ให้พระเจ้าเป็นผู้ตัดสินเองในภายหลัง!

“พวก‍เราซึ่งมีความเชื่อเข้ม‍แข็ง ควรจะอดทนต่อข้อบก‍พร่องของคนที่อ่อน‌แอ ไม่‍ควรทำอะไรตามความพอ‍ใจของตัวเอง” (โรม15:1)

 “ขอพระ‍เจ้าผู้เป็นแหล่งความทรหดอดทนและการหนุน‍ใจ ทรงช่วยให้ท่าน‍ทั้ง‍หลายเป็น‍น้ำ‍หนึ่ง‍ใจ‍เดียว‍กันโดยพระ‍เยซู‍คริสต์ เพื่อท่านจะได้พร้อม‍ใจกันสรร‌เสริญพระ‍เจ้า ผู้ทรงเป็นพระ‍บิดาของพระ‍เยซู‍คริสต์องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้าของเรา”  (โรม.15:5-6)

เห็นด้วยกับ อ.เปาโล ไหมครับ?

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/ lifeanswer

(Cr. ภาพ how.tomake_in)

 

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ตัววัดความรัก

รักพระเจ้า รักคนของพระองค์ด้วย

ตัววัดความรัก!

“ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าถูกวัดโดยสามัคคีธรรมที่เรามีทุกวันกับผู้อื่นและความรักที่แสดงออกมาให้เห็นประจักษ์!”

(Our love to God is measured byOur everyday fellowship with others and The love it displays.)  -Andrew Murray-

ใคร ๆ ก็พูดได้ว่าเขารักพระเจ้า

แต่จะพิสูจน์กันอย่างไร?

ใคร ๆ ก็พูดได้ว่า เขารักพระเจ้ามาก

แต่เราจะวัดได้ด้วยวิธีใด?

พระเจ้าเป็นผู้ตรัสเองว่า … หากเรารักพระองค์ เราต้องรักคนของพระองค์ด้วย

“คนที่เชื่อว่าพระ‍เยซูเป็นพระ‍คริสต์ ก็เกิดจากพระ‍เจ้าและคนที่รักพระ‍องค์ผู้ทรงให้กำ‌เนิด ก็รักคนที่เกิดจากพระ‍องค์ด้วย”   (1ยอห์น 5:1)

ฉะนั้น วิธีที่เราสามารถใช้ตรวจดูได้ว่า ใครเป็นลูกของพระเจ้าจริงหรือไม่? ก็ทำได้ง่าย ๆ โดยดูว่า เขารักคนอื่น ๆ ที่เป็นลูกของพระเจ้าด้วยหรือไม่?

“โดยข้อนี้ เราจึงรู้ว่าเรารักคนทั้ง‍หลายที่เป็นลูกของพระ‍เจ้า คือเมื่อเรารักพระ‍เจ้าและประ‌พฤติตามพระ‍บัญญัติของพระ‍องค์ เพราะว่าความรักต่อพระ‍เจ้าเป็นอย่าง‍นี้ คือเมื่อเราประ‌พฤติตามพระ‍บัญญัติของพระ‍องค์ และพระ‍บัญญัติของพระ‍องค์นั้นไม่เป็นภาระหนักเกิน‍ไป”  (1ยอห์น 5:2-3)

 ใช่ครับ!

พระเจ้าทรงประสงค์ให้คนของพระเจ้ามีสามัคคีธรรมกับพระองค์ และกับกันและกัน

พระเจ้าทรงประสงค์ที่จะเตือนคนของพระเจ้าว่า … เรา

จะรักพระเจ้าไม่รักคนของพระเจ้าไม่ได้

จะรักพ่อ โดยไม่รักลูก ๆ ของพ่อไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน เราจะพูดว่า รักทั้งพ่อและรักพี่น้อง โดยไม่แสดงอะไรออกมาให้เห็นประจักษ์เป็นรูปธรรมก็ไม่ได้เช่นกัน!

ทุก ๆ คำพูดจะต้องมีหลักฐานเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เราหมายความว่าเช่นนั้นจริง ๆ !

หากปากของเราบอกว่า รัก ตา ปาก มือ แขน และขา ของเรา ก็ควรแสดงออกมาให้เห็นว่า มาจากใจจริง ๆ

หากปากของเราจะบอกว่า รักพี่น้อง แต่ตัวของเราไม่เคยมาปรากฏอยู่ร่วมกับพี่น้องเลย ก็คงจะขัดกัน

หากปากของเราบอกว่า รักพี่น้อง  แต่ตัวของเราไม่เคยร่วมสามัคคีธรรมหรือแบ่งปันสิ่งดีใด ๆ ในชีวิตกับพี่น้องเลย นั่นก็คงจะเชื่อถือไม่ได้ เช่นกัน!

หากปากของเราบอกว่า รักพี่น้อง แต่วัน ๆ เราเอาแต่สาละวนกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาเงิน ทอง ความสำเร็จ หรือความสุขภายในโลกนี้ตามลำพัง (อย่างเห็นแก่ตัว) โดยไม่แยแสพี่น้อง และยิ่งหนักเข้าไปใหญ่

หากปากของเราบอกว่า รักพี่น้อง แต่เรายังแสดงอาการไม่ชอบหรือเกลียดพี่น้องออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เพราะการเกลียดชังเช่นนั้นจะกลับกลายเป็นตัวพิสูจน์ว่า เราเองไม่ใช่ลูกของพระเจ้า แต่เป็นผู้ฆ่าคน!

“เรารู้ว่าเราได้พ้นจากความตายไปสู่ชีวิตแล้ว ก็เพราะเรารักพี่‍น้อง ผู้ที่ไม่รักก็ยังอยู่ในความตาย ผู้ที่เกลียดชังพี่น้องของตนก็เป็นผู้ฆ่าคน และพวก‍ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าผู้ฆ่าคนนั้นไม่‍มีชีวิตนิ‌รันดร์ดำรงอยู่ในตัวเขาเลย” (1ยอห์น 3:14-15)

ดังนั้น หากเราเป็นคริสเตียนที่แท้จริง (ซึ่งเป็นลูกของพระเจ้า) เราจะต้องแสดงความรักของเราต่อพี่น้องผ่านทั้งทางคำพูด และการกระทำของเรา!

“ลูกทั้ง‍หลายเอ๋ย อย่าให้เรารักกันด้วยคำ‍พูดและด้วยปากเท่านั้น แต่จงรักกันด้วยการกระทำและด้วยความจริ” (1ยอห์น3:18)

วันนี้ คุณได้แสดงหลักฐานเช่นว่านั้นออกมาอย่างชัดแจ้งแล้วหรือยังว่า คุณรักพระเจ้าของคุณจริง ๆ ?

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr ภาพ: animaljamcommunity.com)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

มีความจริงอะไรบ้าง ที่แม่ไม่เคยบอกเรา?

วันแม่แห่งชาติ

“10 สิ่ง ที่ผู้เป็นแม่ไม่เคยบอกคุณ”

“จงให้บิดามารดาของเจ้ายินดี จงให้ผู้ที่คลอดเจ้าเปรม‍ปรีดิ์”

(Let your father and mother be glad; let her who bore you rejoice.) (สุภาษิต 23:25)

แม่มักดูเข้มแข็ง กล้าหาญ และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อลูก!

แม่มักอิ่มอยู่เสมอ และมักยอมสละสิ่งดีเพื่อลูกตลอดเวลา

แม่มักจะยิ้มแย้มดูราวกับชีวิตไม่มีปัญหาหรือไม่มีภาระใดที่หนักเกินกว่าจะแบกได้

แม่มักจะอดทนได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะในสิ่งที่ลูกทำ

…แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มีหลายอย่างที่แม่ไม่ได้บอกต่อเรา

มีความจริงอะไรบ้างที่แม่ไม่เคยบอกเรา?

  1. เราทำให้แม่ร้องไห้อยู่บ่อย ๆ
  2. เราทำให้แม่เจ็บปวดอยู่หลายครั้ง แต่แม่ไม่ยอมแพ้
  3. เราทำให้แม่ใจแทบแตกสลายในยามที่เราร้องไห้ (ด้วยความทุกข์หรือเจ็บปวด)
  4. แม่ให้ความสำคัญต่อลูกอย่างพวกเราเป็นอันดับแรกอยู่เสมอ
  5. แม่มีความกังวล กลัว และห่วงใยในสวัสดิภาพของลูกอยู่ตลอดเวลา
  6. แม่ต้องการพักผ่อนเพราะเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน แต่ก็ไม่กล้าปล่อยลูกอยู่โดยลำพัง
  7. แม่แบกภาระหนักทั้งทางกายและทางใจในการอุ้มท้อง ทั้งขณะที่เราอยู่ในครรภ์และเมื่อเราคลอดออกมาแล้ว
  8. แม่รู้ตัวว่า แม่เองก็ไม่ได้เป็นคนที่ดีสมบูรณ์ไปทุกอย่าง (แม่ก็รู้สึกเสียใจ)
  9. แม่พร้อมที่จะจ่ายราคาและลงมือทำสิ่งที่แม่ได้ทำให้ลูกไปแล้วให้แก่ลูกอีกครั้งเสมอ
  10. แม่ขวนขวายแสวงหาหรือยอมสละสิ่งที่ลูกต้องการให้ ทั้ง ๆ ที่แม่เองก็ต้องการสิ่งนั้นเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ …

“แม่จึงเป็นบุคคลเดียวที่สามารถแทนที่ของคนมากมายได้  แต่ไม่มีผู้ใดสักคนหนึ่งที่สามารถมาแทนที่ของคุณแม่คนนี้ได้!” 

(A mother is she who can take the place of all others but whose place no one else can take.)    -Cardinal Mermillod

จึงไม่แปลกที่ อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ถึงกับกล่าวไว้ว่า …

“ทั้งหมดทั้งปวงที่ฉันเป็น หรือที่หวังจะเป็น ฉันเป็นหนี้ คุณแม่ของฉัน!”

(All that I am or hope to be, I owe to my Mother.)

ดังนั้น จะมากเกินไปไหมหากว่า จะขอให้พวกเราทุกคน (ที่ยังมีคุณแม่อยู่) กลับไปทำให้คุณแม่ของเรายิ้มหรือหัวเราะอย่างมีความสุขอย่างเต็มที่…

ในวันนี้?

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/ lifeanswer

(Cr.ภาพ dmc.tv)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

อยู่ในโบสถ์คิดถึงใคร?

คิดถึงพระเจ้า

อยู่ในโบสถ์คิดถึงใคร? 

“นั่งอยู่ในเรือ และคิดถึงพระเจ้า ดีกว่า นั่งอยู่ในโบสถ์ และคิดถึงเรื่องตกปลา!”

(It’s better to sit in a boat Thinking about God than to sit in a church thinking about fishing.)

เราไปโบสถ์ทำไม?

คำตอบคือ เราไปเพื่อนมัสการพระเจ้าร่วมกับผู้เชื่อและผู้แสวงหาพระเจ้าคนอื่นๆ !

ปกติ เรานมัสการพระเจ้า ที่ไหนก็ได้ เพราะพระเจ้าเป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงฤทธานุภาพ ไม่ถูกจำกัดเรื่องสถานที่ในการนมัสการพระองค์!

แต่สำหรับผู้เชื่อในพระองค์ เราได้รับพระบัญชาจากพระเจ้า และเรามีการนัดหมายที่จะไปนมัสการพระองค์ด้วยกันในทุกวันสะบาโต (วันหยุดพัก) สำหรับคริสเตียนโดยทั่วไปจะถือเอาวันอาทิตย์เป็นวันสะบาโต แต่ชาวยิวและพี่น้องกลุ่มเซเวนเดย์แอดเวนติส จะถือว่าวันเสาร์เป็นวันสะบาโต

ปกติผู้ที่เชื่อศรัทธาในองค์พระเยซูคริสต์ และไปนมัสการด้วยกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่งในฐานะสมาชิกเป็นประจำ เราเรียกพวกเขาว่า “คริสตจักร” (Church) และสถานที่ที่ไปประชุมนมัสการและสามัคคีธรรมกันเป็นประจำนั้น เราเรียกว่า “โบสถ์” (Church Building) นั่นหมายความว่า “คริสตจักร” สามารถจะเคลื่อนย้ายจากโบสถ์ที่อยู่ในปัจจุบันไปนมัสการพระเจ้ายัง ณ ที่ใด ๆ ก็ได้ทั้งนั้น เมื่อทุกคนได้ตกลงและตัดสินใจร่วมกัน ดังนั้น หาก ณ โบสถ์ใดมีโบสถ์สวยแต่ไม่มีคนมาหรือมีคนมาโบสถ์ แต่คนเหล่านั้นไม่ได้มีใจนมัสการพระเจ้าเลย ที่นั่นก็ไม่ใช่คริสตจักร แต่เป็นแค่โบสถ์ที่มีคนมาร่วมกิจกรรมเท่านั้น !

องค์ประกอบสำคัญอันดับแรกของคริสตจักรจึงเป็น “คน” ไม่ใช่ “อาคารสถานที่”  …  “คน” หรือ “สมาชิก” จึงมีความสำคัญที่สุดสำหรับ “โบสถ์”

อย่างไรก็ตาม สถานที่ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับคนในคริสตจักร! หากคริสตจักรใด สมาชิกไม่มาโบสถ์ คริสตจักรนั้นจะอ่อนแอ และไร้สมรรถภาพในการทำหน้าที่ของคริสตจักรตรงตามพระประสงค์ของพระคริสต์  เป็นดังที่ Dwight L. Moody ได้กล่าวไว้ว่า …

  “การมาร่วมนมัสการที่คริสตจักรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสาวก ดุจเดียวกับการให้เลือดที่มีคุณภาพดีแก่คนป่วย” 

   (Church attendance is as vital to a disciple as a transfusion of rich, healthy blood to a sick man.) 

การไปที่โบสถ์ จึงไม่เพียงแค่สำคัญต่อคริสตจักรโดยรวม แต่ยังสำคัญต่อผู้เชื่อหรือสมาชิกแต่ละคนเป็นส่วนตัวด้วย บางคนก็เปรียบเทียบการไปโบสถ์ทุกอาทิตย์เหมือนกับการไปเติมเชื้อเพลิงให้เต็มถังสำหรับตัวเองที่สถานีเติมเชื้อเพลิง หากไม่มีน้ำมัน  แก๊ส (หรือพลังงานไฟฟ้า) เต็มถัง รถหรือพาหนะของเราก็ขับเคลื่อนไปไหนไม่ได้ ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งในฐานะสมาชิกของคริสตจักรมากขึ้น และตระหนักถึงความจำเป็นของการมาโบสถ์ ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม ในการมานมัสการพระเจ้า ร่วมสามัคคี และ ร่วมรับใช้ (ทั้งต่อคนภายในและต่อคนภายนอกคริสตจักรในสังคม) มากยิ่งขึ้น

ขอให้ใจของเราจดจ่ออยู่ที่พระเจ้า และพระวจนะของพระองค์ที่จะเปิดเผยให้เรารู้จักทางที่เราควรจะเดินไป! แต่อย่าให้เราเอาร่างกายมาโบสถ์ แต่ใจของเรายังล่องลอยไปยังที่อื่นนอกโบสถ์อยู่

ด้วยเหตุนี้  หากคุณต้องอยู่ห่างไกลโบสถ์ และไม่สามารถมาโบสถ์ได้ ก็ขอให้คุณส่งใจของคุณมาร่วมนมัสการพระเจ้าด้วยกันกับพี่น้องในโบสถ์ของคุณ และขอให้คุณทำหน้าที่เป็นตัวแทนที่พระเจ้าและคริสตจักรภาคภูมิใจ ในทุกๆที่ๆ คุณไป และในทุกสิ่งที่คุณทำ … โอเคไหมครับ?

“และขอให้เราพิจาร‌ณา‍ดูเพื่อจะปลุก‍ใจกันและกันให้มีความรักและทำความดี 25อย่าขาดการประ‌ชุมเหมือนอย่างบาง‍คนทำเป็นนิสัย แต่จงหนุน‍ใจกันให้มากยิ่ง‍ขึ้น เพราะพวก‍ท่านก็รู้อยู่ว่าวัน‍นั้นใกล้เข้า‍มาแล้ว” 

(And let us consider how to stir up one another to love and good works, 25not neglecting to meet together, as is the habit of some, but encouraging one another, and all the more as you see the Day drawing near.)  (ฮีบรู 10:24-25)  

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/ lifeanswer

(Cr.ภาพ  pinterest.com)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

NEW เอี่ยมอ่องอรทัย

เอี่ยมอ่องอรทัย 1

NEW: เอี่ยมอ่องอรทัย

คำว่า “เอี่ยม” แปลว่า “ยังไม่ได้ใช้” เช่น ใหม่เอี่ยม

“เอี่ยมอ่อง” แปลว่า “ใหม่ผุดผ่อง” เช่น เสื้อผ้าเอี่ยมอ่อง  หรือหมายถึง “สะอาดสดใส ไม่หมองมัว” เช่น หน้าตาเอี่ยมอ่อง!

ส่วนคำว่า “เอี่ยมอ่องอรทัย” นั้น เป็นสำนวนที่เพิ่มสร้อยคำ มีเสียงคล้องจองหรือคำว่า “อรทัย” พ่วงเข้ากับคำว่า “เอี่ยมอ่อง”!

แล้วคำว่า  “อรทัย” แปลว่าอะไร?         ปกติ “อรทัย” แปลว่า “หญิงสาว, สาวรุ่น และสาวงาม” (หากใช้คำว่า “อรไท” ก็จะหมายถึง “นางผู้เป็นใหญ่” หรือ “นางผู้มีสกุล” ) ในบริบทนี้ “เอี่ยมอ่องอรทัย” จึงหมายถึง “สาวงามผู้สะอาดสดใส”

ในพระคัมภีร์ไบเบิล ได้เปรียบเทียบ “คริสตจักร” เป็น “หญิงสาวบริสุทธิ์” หรือ “เจ้าสาว” ของพระคริสต์ วันหนึ่งพระคริสต์จะเสด็จกลับมารับเจ้าสาว (คริสตจักร) ผู้ชอบธรรมของพระองค์เข้าสู่งานอภิเษกสมรสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล!

 “แล้ว​ข้าพ‌เจ้า​ได้‍ยิน​เสียง​เหมือน​อย่าง​เสียง​มหา‍ชน เหมือน​อย่าง​เสียง​น้ำ​มาก‍หลาย และ​เหมือน​อย่าง​เสียง​ฟ้า‍ร้อง​กึก‍ก้อง​ว่า “ฮา‌เล‌ลู‌ยา เพราะ​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​ทรง​ครอบ‍ครอง​อยู่ คือ​พระ‍เจ้า​ของ​เรา​ผู้​ทรง​ฤทธา‌นุ‌ภาพ​สูง‍สุด ขอ​ให้​เรา​ยินดี​และ​เปรม‍ปรีดิ์ และ​ถวาย​พระ‍เกียรติ​แด่​พระ‍องค์ เพราะ​งาน​อภิเษกสมรส​ของ​พระเมษโปดก​มา​ถึง​แล้ว และ​เจ้าสาว​ของ​พระองค์​ก็​เตรียมตัว​พร้อม​แล้ว และ​โปรด​ให้​เจ้าสาว​สวมใส่ ผ้าป่าน​เนื้อ​ละเอียด มันระยับ​และ​สะอาดเพราะว่า​ผ้าป่าน​เนื้อ​ละเอียด​นั้น​คือ​การ​ประพฤติ​อัน​ชอบธรรม​ของ​ธรรมิกชน” และ​ทูต‍สวรรค์​องค์​นั้น​บอก​ข้าพ‌เจ้า​ว่า “จง​เขียน​ลง‍ไป​ว่า ความ​สุข​มี​แก่​คน​ทั้งหลาย​ที่​ได้​รับเชิญ​มา​ใน​งาน​เลี้ยง​อภิเษกสมรส​ของ​พระเมษโปดก” และ​ท่าน​บอก​อีก​ว่า “ถ้อย‍คำ​เหล่า‍นี้​เป็น​คำ​ที่​สัตย์‍จริง​ของ​พระ‍เจ้า” (วว.19:6-9)

ดังนั้น ในเวลานี้ ขอให้ธรรมิกชนทุกคน (คริสตจักร) ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบในการเตรียมตัวเอง (ในฐานะเจ้าสาว) ให้พร้อมสำหรับพระคริสต์(ผู้เป็นเจ้าบ่าว) เพื่อพระองค์จะได้เจ้าสาวที่มีศักดิ์ศรีบริสุทธิ์ ไม่มีด่างพร้อย หรือมลทินใด ๆ

“เพื่อ​พระ‍องค์​จะ​ได้​คริสต‌จักร​ที่​มี​ศักดิ์‍ศรี ไม่‍มี​ด่าง‍พร้อย ริ้ว‍รอย หรือ​มลทิน​ใดๆ เลย แต่​บริ‌สุทธิ์​ปราศ‌จาก​ตำ‌หนิ”  

(so that he might present the church to himself in splendor, without spot or wrinkle or any such thing, that she might be holy and without blemish.)   (อฟ.5:27)

พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบเหมือนเจ้าบ่าวผู้ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อผูกพันกับคริสตจักร (ผู้เป็นภรรยา) ซึ่งอาจารย์เปาโลกล่าวว่า นี่คือความล้ำลึกที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้โลกทราบผ่านทางคริสตจักร

 “เพราะ‍เหตุ‍นี้​เอง ผู้‍ชาย​จะ​ละ​บิดา​มารดา​ไป​ผูก‍พัน​อยู่​กับ​ภรรยา และ​เขา​ทั้ง‍สอง​จะ​เป็น​เนื้อ​เดียว‍กัน”ความ​ล้ำลึก​ใน​เรื่องนี้​สำคัญ และ​ข้าพเจ้า​เข้าใจ​ว่า​หมายถึง​พระคริสต์​และ​คริสตจักร อย่าง‍ไร​ก็​ดี พวก‍ท่าน​แต่‍ละ‍คน​จง​รัก​ภรรยา​ของ​ตน​เหมือน​รัก​ตัว​เอง และ​ภรรยา​ก็​จง​ยำ‌เกรง​สามี”   (อฟ.5:31-32)

ดังนั้น นับจากวันนี้เป็นต้นไป ขอให้เราตั้งเป้าที่จะเป็นคนที่บริสุทธิ์ ตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

“พระ‍ประ‌สงค์​ของ​พระ‍เจ้า​เป็น​อย่าง‍นี้​คือ ให้​พวก‍ท่าน​เป็น​คน​บริสุทธิ์ คือ​ให้​เว้น​จาก​การ​ล่วง‍ประ‌เวณี” (1ธส.4:3)

เพราะนี่คือการทรงเรียกของพระเจ้าให้เราเป็นเช่นนั้น

“เพราะ​พระ‍เจ้า​ไม่‍ได้​ทรง​เรียก​เรา​ให้​เป็น​คน‍ลา‌มก แต่​ทรง​เรียก​ให้​เป็น​คน​บริสุทธิ์” (1ธส.4:7)

เราจึงสมควรต้องเป็นคนบริสุทธิ์ โดยขอพระเจ้าทรงช่วยเราให้สามารถดำเนินชีวิตเช่นนั้นได้

“ขอ​ให้​พระ‍เจ้า​แห่ง​สันติ‍สุข​ทรง​ชำระ​ท่านทั้งหลาย​ให้​เป็น​คน​บริสุทธิ์​หมดจด และ​ทรง​รักษา​ทั้ง​วิญ‌ญาณ จิต‍ใจ และ​ร่าง‍กาย​ของ​ท่าน​ไว้​ให้​ปราศ‌จาก​การ​ติ‍เตียน จน‍ถึง​วัน‍ที่​พระ‍เยซู‍คริสต์​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​ของ​เรา​จะ​เสด็จ​มา”  (1ธส.5:23)

และหากเรารับการชำระ และการช่วยเหลือจากพระเจ้า เราก็จะสามารถกลายเป็นคนใหม่ที่บริสุทธิ์ แบบเอี่ยมอ่องอรทัย ได้ และทุกสิ่งที่เราคิด เราพูด และเราทำ ก็จะล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ทั้งสิ้น

สำหรับ​บรรดา​คน​ที่​บริสุทธิ์​นั้น​ทุกสิ่ง​ก็​บริสุทธิ์ แต่​สำหรับ​คน​ที่​ชั่ว‍ช้า​และ​ไม่‍มี​ความ​เชื่อ​นั้น​ก็​ไม่‍มี​สิ่ง‍ใด​บริ‌สุทธิ์​เลย แต่​จิต‍ใจ​และ​มโน‌ธรรม​ของ​พวก‍เขา​เสื่อม‍ทราม” (ทต.1:15)

ฉะนั้นไม่ว่าคนรอบข้างเราหรือสังคมและโลกจะเป็นอย่างไร เราผู้เป็นธรรมิกชนของพระเจ้า จะต้องยังคงเป็นเจ้าสาวที่บริสุทธิ์ของพระคริสต์ต่อไป จนกว่าวันนั้นจะมาถึง คือวันที่พระองค์ผู้เป็นเจ้าบ่าวจะเสด็จกลับมารับเราผู้เป็นเจ้าสาวของพระองค์ไปอยู่กับพระองค์

“จง​ให้​คน​อธรรม​ประ‌พฤติ​การ​อธรรม​ต่อ‍ไป จง​ให้​คน​โส‌มม​ประ‌พฤติ​การ​โส‌มม​ต่อ‍ไป จง​ให้​คน​ชอบ‍ธรรม​ทำ​การ​ชอบ‍ธรรม​ต่อ‍ไป​และ​จง​ให้​คน​บริสุทธิ์​เป็น​คน​บริสุทธิ์​ต่อไป” (วว.22:11)

แต่หากว่า วันนี้ คือวันที่พระคริสต์เสด็จกลับมา คุณคิดว่า คุณพร้อมที่จะเป็นเจ้าสาวที่เอี่ยมอ่องอรทัยสำหรับพระองค์แล้วหรือยัง?

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/ lifeanswer

 

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

“ทำไมเราต้องสุภาพอ่อนโยน และเราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?”

อ่อนโยน

“ทำไมเราต้องสุภาพอ่อนโยน และเราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?

คำตอบ

เราต้องสุภาพอ่อนโยน ทั้ง ทางกิริยา และวาจาของเรา เพราะว่า เราต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา

หากเราไม่ระมัดระวังสิ่งที่เราพูด แสดงออก หรือทำ  อาจกระทบจิตใจของคนอื่นทำให้เขาเจ็บปวดได้โดยไม่รู้ตัว!

 “จิตใจ” ของคนเรานั้นเปราะบาง เราจึงต้องทะนุถนอมและระวังอย่าทำให้จิตใจนั้นฟกช้ำ หรือแตกหัก โดยให้เราเตือนตัวเองอยู่เสมอ

เหมือนดังอักษรข้างกล่องที่ใส่ของแตกง่าย ว่า… Fragile: Handle With Care!”

  1. เราต้องตระหนักถึงกำลัง(เข้มแข็ง)ของเรา และตระหนักในความเปราะบางของผู้อื่นดังเช่นเราปฏิบัติต่อ

1) ผู้เปราะบางทางกายภาพ เช่น เด็กทารก เด็กเล็ก คนป่วย หรือคนชรา -เราต้องทะนุถนอม ระมัดระวัง ในการจับหรือสัมผัสไม่ให้กระทบกระแทก จนเกิดอาการบอบช้ำหรือแตกร้าวได้

2)   ผู้เปราะบางทางอารมณ์ -เราต้องระวังในสิ่งที่เราพูด เพราะถ้อยคำที่เราใช้ หรืออากัปกิริยาที่เราแสดงออก อาจแข็งกร้าว หรือรุนแรง จนทำให้อีกฝ่ายหรือผู้ที่รับฟังต้องเจ็บปวดรวดร้าวใจ เราต้องสำนึกไว้เสมอว่า คนแต่ละคนมีระดับความสามารถในการรับการกระแทกกระทั้น(ทั้งใจและกาย) ต่างกัน และเราต้องไม่เอาตัวเราเองเป็นมาตรฐาน

  1. เราต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยการให้เกียรติ อย่าแตะต้องหรือสัมผัสผู้ที่ไม่ต้องการให้เราสัมผัส เพราะถือว่า เป็นการล่วงละเมิด ล่วงเกิน และไม่ให้เกียรติเขาอย่างไรก็ตาม เราต้องไม่สับสน ระหว่าง อ่อนโยน กับ อ่อนแอคนที่มีใจเข้มแข็งเท่านั้นจึงจะสามารถควบคุมตัวเองให้สุภาพอ่อนโยนได้ คนอ่อนแอ ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนให้อ่อนสุภาพไม่ได้
  1. เราต้องอดทนอดกลั้นต่อคนอื่นหรือพฤติกรรม (ที่ไม่ดีไม่เหมาะ)ของเขา -หากมีเรื่องไม่เข้าใจ ไม่ถูกใจ ไม่ถูกหู ก็ขอให้หลีกเลี่ยงการทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง  ให้สื่อสารด้วยความรักและอดทน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสันติ อย่าให้เราสับสนในการพูด และในการแสดงความโกรธ ขอให้เราไวในการฟัง เพื่อจะเข้าใจผู้อื่น เราต้องไม่บังคับฝืนใจผู้อื่นให้ทำในสิ่งที่เราต้องการโดยที่เขาไม่เต็มใจให้เราสูดหายใจลึก ๆ และขอความรักจากเบื้องบนในการรับมือหรือปฏิบัติต่อผู้ที่กระทำไม่ดีต่อเรา แต่หากเรายังไม่อาจอดกลั้นต่อไปได้ ก็ขอให้เราก้าวออกไปจากสถานการณ์นั้น โดยการขออภัย ขอเวลา และขอตัวอย่างสุภาพ

แต่หากเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็ให้เราฝึกฝนตัวเองให้สามารถเผชิญหน้ากันแบบสร้างสรรค์ เรียนรู้จักรับฟังผู้อื่น และพูดเปิดเผยความรู้สึก แต่เฉพาะ “ประเด็น” ปัญหา โดยไม่กระทบกระแทก “บุคคล” ใด

ขอให้เราตั้งเป้าจะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างสุภาพอ่อนโยนในทุกกรณี โดยตั้งใจจะไม่เจตนาทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องเจ็บปวดเพราะคำพูดหรือกิริยาท่าทางของเราเป็นอันขาด!

โดยจะยึดคติตามพระวจนะที่ว่า…

“อย่าว่าร้ายใคร อย่าทะเลาะวิวาท แต่ให้ผ่อนหนักผ่อนเบาและแสดงความสุภาพอ่อนโยนอย่างยิ่ง​ ต่อทุกคน” (ทต.3:2)

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ thegospelcoaliation.org)