Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

มนุษย์ถูกสร้างมาทำไม?

มนุษย์ถูกสร้างมาทำไม?

“มนุษย์ถูกสร้างมาให้ทำงาน เพราะว่าพระเจ้าผู้ทรงสร้างเขาเป็นพระเจ้าผู้ทรงกระทำงานอยู่เสมอ”

(Man was made to work, because the God who made him  was a working God.)    

                                                                                                                          -Sinclair Ferguson-

พระเจ้ามิได้สร้างมนุษย์มาแค่ให้เดินเล่นไปมาบนแผ่นดินโลกนี้ มนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล  แต่มนุษย์เป็นศูนย์กลางแห่งความรักของพระเจ้าในโลกนี้ แต่เพราะว่าพระเจ้ารักมนุษย์ พระองค์จึงไม่อาจปล่อยให้มนุษย์ดำรงและดำเนินชีวิตแต่ละวันในแต่ละช่วงชีวิต อย่างไร้ค่า ไร้ประโยชน์ หรือไร้ความหมาย คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่มนุษย์กระทำอะไรและกระทำอย่างไร?

พระเจ้าให้มนุษย์รู้จักคุณค่าของตัวเขาและของสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างไว้ โดยการมอบหมายให้เขา “ทำงาน” ในพระคัมภีร์ปฐมกาลบันทึกไว้ว่า…

“ พระยาห์เวห์ พระเจ้าจึงทรงให้มนุษย์นั้นอาศัยอยู่ในสวนเอเดน ให้ทำและดูแลสวน”  (ปฐก.2:15)

ใช่ครับ พระเจ้าทรงให้มนุษย์

  1. อาศัยอยู่ในสวน (เอเดน)
  2. ให้ทำ
  3. ให้ดูแลสวน

พระเจ้าไม่เคยออกแบบให้มนุษย์อยู่เฉยๆ เพราะหากเฉยเมื่อใด ชีวิตของมนุษย์ก็จะไร้ค่าในทันที แม้ว่าพระเจ้าทรงสร้างโลก เสร็จเรียบร้อยให้แล้ว แต่พระองค์กลับมิได้ทรงหยุดกระทำงานของพระองค์ในโลกนี้เลย หากเราไม่ปิดตา และปิดหู ของเราด้วยใจที่ปิด เราก็จะเห็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาในธรรมชาติ

อ.เปาโลเคยกล่าวไว้ว่า พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์ ผ่านธรรมชาติมาตลอดแล้ว จนมนุษย์ไม่อาจแก้ตัวว่าเขาไม่เคยเห็นพระเจ้า

“ตั้งแต่เริ่มสร้างโลกมานั้น  สภาพของพระเจ้าซึ่งตามนุษย์มองไม่เห็น คือฤทธานุภาพอันถาวรและเทวสภาพของพระองค์ก็ได้ปรากฏชัดในสรรพสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้าง ฉะนั้นพวกเขาจึงไม่มีข้อแก้ตัวเลย”  (โรม1:20)

แต่ที่น่าเศร้าใจก็คือ มนุษย์ ไม่ได้ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าผู้ทรงสร้างเขาเลย!

“เพราะถึงแม้ว่าเขาได้รู้จักพระเจ้าแล้ว เขาก็ไม่ได้ถวายพระเกียรติแด่พระองค์ ให้สมกับที่ทรงเป็นพระเจ้าหรือขอบพระคุณพระองค์ แต่พวกเขากลับคิดในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ และจิตใจโง่เขลาของเขาก็มืดมัวไป”  (โรม 1:21)

วันนี้ เราจึงควรหวนกลับคืนมาสู่จุดที่เราควรกระทำ นั่นคือการยอมรับรู้ว่า มีพระเจ้าสูงสุดผู้ทรงสร้างเรา และทรงบรรลุศักยภาพในการทำงานไว้ในตัวของเรา และเราจึงควรใช้ศักยภาพนั้นทำงานให้ก้าวหน้าจนสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ นั่นคือ เราต้องทำงานอาชีพและการปรนนิบัติรับใช้ของเรา อย่างมีคุณภาพเป็นเลิศ  เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์และก่อคุณประโยชน์อันมีค่าต่อคนอื่นๆ ในสังคมต่อไป

“ เพราะฉะนั้น เมื่อพวกท่านจะรับประทาน จะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า”  (1โครินธ์ 10:31)

ดังนั้น ขอให้วันนี้ “งาน” ที่คุณกระทำ จะเป็นตัวบ่งบอกถึง “คุณค่าแท้” ในชีวิตของคุณ!

…อาเมนไหมครับ?

 

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/

lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ Answers in Genesis)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

การนมัสการพระเจ้าช่วยอะไร?

การนมัสการพระเจ้าช่วยอะไร?

“การนมัสการพระเจ้าจะนำคุณให้ฟันฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของคุณไปได้เพราะว่าการนมัสการนั้นเปลี่ยนการจดจ่อของคุณจากปัญหาไปยังผู้แก้ปัญหา”

(Worship will get you through the roughest times in your life, Because it shifts your focus from the problem to the problem solver.)

หากเราเป็นแกะที่อ่อนแอเปราะบาง แต่คิดจะดำรงชีวิตอยู่โดยลำพัง เราคงจะฝันกลางวันไปเสียแล้ว

หากเราเป็นแกะ เราต้องมีฝูงที่เราจะเข้าเป็นสมาชิกได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องมีผู้เลี้ยงที่คอยดูแลป้องกัน และนำวิถีชีวิตอยู่ทุกวัน    

เราคือ แกะที่มีพระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ประเสริฐ

ดังนั้น หากแกะมองดูแต่ปัญหา แกะจะเกิดความกลัว ขวัญเสียจนไม่กล้าก้าวต่อไปข้างหน้า ตัวของเราก็เช่นกัน หากเราดำเนินชีวิตอยู่ตามลำพัง เราอาจจะตื่นตระหนกต่ออุปสรรคปัญหาที่เผชิญอยู่จนไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างปกติสุข

พระเจ้าคือ ผู้เลี้ยงผู้ดีเลิศ  เราคือแกะในฝูงของพระองค์ เราควรมีท่าทีและความกระตือรือร้นอย่างที่ผู้เขียนพระธรรมสดุดี พรรณนาไว้ว่า..

“1แผ่น‍ดิน​โลก​ทั้ง‍สิ้น​เอ๋ย จง​โห่‍ร้อง​ด้วย​ความ​ชื่น‍บาน​ถวาย​แด่​พระ‍ยาห์‌เวห์  2จง​ปรน‌นิ‌บัติ​พระ‍ยาห์‌เวห์​ด้วย​ความ​ยินดี จง​เข้า‍มา​อยู่​เฉพาะ‍พระ‍พักตร์​พระ‍องค์​ ด้วย​การ​ร้อง‍เพลง 3จง​รู้​เถิด​ว่า พระ‍ยาห์‌เวห์​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า คือ​พระ‍องค์​เอง​ที่​ทรง​สร้าง​เรา​ทั้ง‍หลาย และ​เรา​ก็​เป็น​ของ​พระ‍องค์ เราเป็นประชากรของพระองค์ เป็นแกะแห่งทุ่งหญ้าของพระองค์ 4จง​เข้า​ประตู​ของ​พระ‍องค์​ด้วย​การ​ขอบ‍พระ‍คุณ และ​เข้า​บริ‌เวณ​พระ‍นิ‌เวศ​ของ​พระ‍องค์​ด้วย​การ​สรร‌เสริญ จง​ขอบ‍พระ‍คุณ​พระ‍องค์ จง​ถวาย​สาธุการ​แด่​พระ‍นาม​ของ​พระ‍องค์ 5เพราะ​พระ‍ยาห์‌เวห์​ประ‌เสริฐ ความรัก‍มั่น‍คง​ของ​พระ‍องค์​ดำรง​เป็น​นิตย์และ​ความ​ซื่อ‍สัตย์​ของ​พระ‍องค์​ดำรง​อยู่​ทุก​ชั่ว‍ชาติ‍พันธุ์”   (สดุดี 100:1-5)

ใช่ครับ ขอให้เราเข้าหาพระเจ้าและนมัสการพระองค์ ด้วยความปีติยินดี ให้เราชื่นบานในการร้องเพลง ด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า …

พระองค์คือ พระเจ้าผู้ทรงสร้างเราและเราเป็นของพระองค์!

ให้เรามั่นใจว่า เราเป็นประชากรของพระองค์ ที่พระองค์จะทรงรักและทรงดูแลเสมอไป ไม่ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์ใด ๆ เราจึงไม่มีสิ่งใดที่ต้องกังวลหรือหวาดกลัวอีกต่อไป

ขอให้เราเข้ามาอยู่ภายใต้ในการคุ้มครองดูแลเลี้ยงดูของพระองค์อยู่ตลอดเวลา    และให้เรานมัสการและขอบพระคุณพระองค์เสมอได้ในทุกกรณี แม้แต่ในยามที่เราเผชิญกับอุปสรรคปัญหาใหญ่

ดังนั้น หากว่าวันนี้ คุณยอมรับว่า คุณคือแกะในคอกของพระเจ้าแห่งความรัก ผู้ทรงฤทธิ์สูงสุดจริง ๆ ก็ขอให้คุณหันจากการมอง “ปัญหา” แล้วจ้องมองตรงไปที่พระเจ้า ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงฤทธิ์ สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างของคุณได้ โดยการจัดเวลานมัสการพระองค์ ทั้งเป็นประจำทุกวันเป็นส่วนตัว  และจัดเวลานมัสการพระองค์ร่วมกับพี่น้องคนอื่น ๆ ในทุกวันอาทิตย์

เพราะหากคุณกระทำเช่นดังที่กล่าวมาด้วยความเชื่อในความดี และความรักมั่นคงของพระองค์  คุณจะไม่มีอะไรเหลือให้ต้องวิตกกังวลอีกต่อไปเลย!

คุณเชื่อเช่นนี้ไหม?

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ GicleeFineArtCanvas)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

สามัคคีธรรมที่ดีจะให้อะไร?

สามัคคีธรรมที่ดีจะให้อะไร?

 “สามัคคีธรรมที่ดี และมิตรภาพที่ดี คือ ความพึงพอใจที่เข้มแข็ง ชอบด้วยเหตุผล และยั่งยืน”

(Good fellowship and friendship are lasting, rational and manly pleasures.) William Wycherley-

คนบางคนชอบอยู่คนเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากอยากจะอยู่โดยลำพังตลอดไป โดยไม่สุงสิงยุ่งเกี่ยวกับผู้ใดเลย นี่เป็นเรื่องไม่ปกติ!

พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มา แล้วตรัสว่า ไม่ควรที่มนุษย์คนใดจะอยู่โดยลำพัง พระองค์จึงทรงบันดาลให้มี “ตัวช่วย” มากมายในชีวิต ที่จะมาเป็นเพื่อนหรือเป็นผู้คอยช่วยเหลือกันและกัน และลงตัวสุดท้ายของผู้ที่จะเป็นเพื่อนหรือคู่อุปถัมภ์ที่ดีที่สุดที่เรียกว่า คู่สมรส

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงปรากฏว่า ไม่ใช่ทุกคนจะแต่งงานหรือได้แต่งงาน การแต่งงานไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่การมีเพื่อนเคียงข้างกันนั่นเป็นเรื่องที่จำเป็น!

เราถูกสร้างและถูกออกแบบมาให้มีเพื่อน มีคนเคียงข้าง มีชุมชนที่เราจะมีส่วนร่วมกับชีวิตของผู้อื่น ๆ และผู้อื่นมีส่วนร่วมในชีวิตของเราได้ ทั่ว ๆ ไปก็อาจเรียกสัมพันธภาพเช่นนี้ว่า “มิตรภาพ” (Friendship) แต่ในชุมชนคริสเตียนเราเรียกสัมพันธภาพเช่นนี้ว่า “สามัคคีธรรม” (fellowship) เพราะว่ามี “พระเจ้า” หรือ “ธรรมะของพระเจ้า” เป็นศูนย์กลางของสัมพันธภาพระหว่างกัน พระวจนะของพระเจ้าจะเป็นธรรมนูญหรือคู่มือแนวทางในการที่คนของพระเจ้าจะประพฤติปฏิบัติต่อกันและต่อผู้อื่น

สังคมคริสเตียนเป็นสังคมที่แปลกกว่าสังคมทั่วไป ก็คือเป็น … สังคมที่ไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อประโยชน์ต่อคนในกลุ่มของตนเอง แต่เป็นสังคมมุ่งรวมพลังกันสร้างคุณประโยชน์แก่คนที่อยู่นอกคริสตจักรเป็นสำคัญ

วิลเลี่ยม เทมเพิล (William Temple) กล่าวว่า…

            “คริสตจักรเป็นสังคมเดียวที่ดำรงอยู่เพื่อก่อเกิด “ประโยชน์” แก่คนที่ไม่ใช่สมาชิก!

          (The church is the only society that exists for the Benefit of those who are not its members.)

สามัคคีธรรมของคริสเตียนจึงไม่ได้จบอยู่ภายในตัวเอง

            …ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานภายในกลุ่มผู้เชื่อเฉย ๆ

            …ไม่ใช่เพื่อการมาสังสรรค์ ผ่อนคลาย และรับประทานอาหารอร่อย ๆ แล้วกลับบ้าน

            …ไม่ใช่เพื่อมาเรียน/ศึกษาพระคัมภีร์ ถกกันอย่างมีรสชาติแล้วแยกย้ายกันกลับไปบ้าน โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นตามมา

            …ไม่ใช่แค่มาร้องเพลง แบ่งปันคำพยานชีวิตแก่กัน หรืออธิษฐานเผื่อกันแล้วต่างก็แยกย้ายจากกันไปแค่นั้น  ฯลฯ    

และปล่อยให้เป็นวัฏจักรเช่นนี้ อาทิตย์แล้วอาทิตย์เล่า

แต่สามัคคีธรรมของผู้เชื่อเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เชื่อทุกคนพร้อมที่จะทำดีมีคุณประโยชน์ต่อคนนอกสามัคคีธรรมของคริสตจักร ซึ่งรวมถึงคนในครอบครัว หรือในวงแห่งความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเราที่ยังไม่ได้รู้จักกับพระเจ้า อาทิ  คนในที่ทำงาน คนในสถานศึกษา คนรอบบ้าน หรือคนรอบตัวที่ยังไม่ได้ยินเรื่องราวแห่งข่าวประเสริฐแห่งความรอดของพระเจ้า ที่องค์พระเยซูคริสต์ทรงนำมาประกาศให้โลกได้รับรู้ และเชื้อเชิญให้คนที่ได้ยินได้ฟัง ให้ถ่อมใจกลับใจ และรับพระเมตตาจากพระเจ้า ในการช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากโทษของบาปที่บรรพบุรุษและตัวเขาแต่ละคนก่อขึ้นกันเอง

สามัคคีธรรมที่แท้จริง ตามพระประสงค์ของพระเจ้าเช่นนี้ จะนำความพึงพอใจที่ยั่งยืน สมเหตุสมผลและมั่นคงเข้มแข็ง มาสู่ทุกฝ่ายทั้งต่อพระเจ้า ต่อตัวเราเองและต่อคนรอบตัวของเรา

วันนี้ คุณพร้อมจะมีส่วนร่วมในสามัคคีธรรมเช่นนี้กับกันและกันแล้วหรือไม่?

หากพร้อมก็ขอให้คุณจงจัดการกับตัวเอง มีวินัยในการจัดเวลาที่จะเข้าร่วมสามัคคีธรรมกับพี่น้อง(ในคริสตจักร) อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเลย

…จะดีไหมครับ?

 

ศจ.ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

เวลาใดที่มีความหมายยิ่งสำหรับชีวิตของคุณ?

เวลาใดที่มีความหมายยิ่งสำหรับชีวิตของคุณ?

“เพื่อที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า เราต้องมีเวลาที่มีความหมายโดยลำพังกับพระองค์”

(To strengthen our relationship with God, we need some meaningful time alone with Him.)  -Dieter F Uchtdort-

เวลาที่ใช้โดยลำพังกับพระเจ้า เป็นเวลาที่มีความหมาย และสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของเรา

  • เราไม่อาจมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า โดยไม่มีเวลาให้กับพระองค์ และนี่เป็นสัจธรรมของชีวิตในทุกสัมพันธภาพ
  • เราไม่อาจมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสามีหรือภรรยาของเรา หากว่าเราไม่มีเวลาให้แก่กัน
  • เราไม่อาจมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ๆ ของเรา หากเราไม่มีเวลาให้กับพวกเขา
  • เราไม่อาจมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในองค์กร(ที่ทำงาน) ของเรา หากเราไม่มีเวลาที่จะใช้คลุกคลีด้วยกัน
  • เราไม่อาจมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในคริสตจักรของเรา หากว่าเราไม่มีเวลาที่จะร่วมสามัคคีธรรมกับพวกเขา  ฯลฯ

ความสัมพันธ์ของเราจะแข็งแกร่งไม่ได้ หากเราไม่มีเวลาให้แก่กัน

  • เราจะไม่มีทางรู้จักกันและกัน หากเราไม่มีเวลาเรียนรู้จักกันและกัน
  • เราจะไม่มีทางเข้าใจซึ่งกันและกัน หากเราไม่มีเวลาพูดคุยและฟังกัน
  • เรา ไม่มีทางเป็นหนึ่งเดียวกันได้ หากเราไม่มีเวลาร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน
  • เราไม่มีทางจะเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้าได้

หากเราไม่มีเวลาสำนึกตัว เข้าหาพระเจ้า สารภาพบาปผิดและให้พระเจ้าทรงชำระเราให้สะอาด และแยกเราออกมาให้บริสุทธิ์เพื่อพระองค์ ด้วยพระวจนะอันมีชีวิตและทรงพลานุภาพ

“เพราะ‍ว่า​พระ‍วจนะ​ของ​พระ‍เจ้า​นั้น​มี​ชีวิต​และ​ทรง​พลา‌นุ‌ภาพ​อยู่​เสมอ และ​คมยิ่ง‍กว่า​ดาบ​สอง​คม​ใดๆ แทง​ทะลุ​กระ‌ทั่ง​แยก​จิต​และ​วิญ‌ญาณ ทั้ง​ข้อ​กระ‌ดูก​และ​ไข​ใน​กระ‌ดูก และ​สามารถ​วินิจ‌ฉัย​ความ​คิด​และ​ความ​มุ่ง‍หมาย​ใน​ใจ​ด้วย ไม่‍มี​สิ่ง​ทรง​สร้าง​ใด​ใด​ถูก​ปิด‍ซ่อน​ไว้​จาก​พระ‍องค์ แต่​ตรง‍กัน​ข้าม ทุก‍สิ่ง​ก็​ปรา‌กฏ​แจ้ง​ต่อ​พระ‍เนตร​ของ​พระ‍องค์​ผู้​ซึ่ง​เรา​จะ​ต้อง​ถวาย​ราย‍งาน​ด้วย” (ฮีบรู 4:12-13)

ด้วยเหตุนี้ การเฝ้าเดี่ยวโดยลำพังกับพระเจ้าจึงเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า เราต้องมีวินัยในการตั้งใจที่จะจัดเวลาเข้าใกล้ชิดพระเจ้าเช่นนั้น

เราไม่จำเป็นเข้าเฝ้าพระเจ้าในตอนเช้าเหมือนที่บางคนทำก็ได้ (แม้ว่าจะดียอดเยี่ยมมากหากทำได้) ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เวลาเช้า แต่อยู่ที่เราต้องมีเวลาที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุดในการเข้าเฝ้าพระองค์! นั่นคือ ขอให้เป็นช่วงเวลาที่เราจะมีสมาธิ มีจิตใจที่พร้อมทูลกับพระเจ้า และฟังพระองค์ตรัสกับเราตามวิถีแห่งตารางชีวิตจริงของเรา

ดังนั้น แม้ว่าวันนี้ตารางเวลาในการใช้ชีวิตของคุณจะแตกต่างจากคนทั่วๆไป แต่คุณก็สามารถมีวินัยในการจัดเวลาซึ่งคุณสะดวกที่สุดในการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับพระเจ้าได้

สำหรับผม ผมคิดว่าเวลาที่เหมาะที่สุดในการเข้าเฝ้าพระเจ้า คือ เวลาที่คุณพร้อมที่ใกล้เคียงกับเวลาที่คุณตื่นนอนมากที่สุด

ถ้าคุณตื่นเช้าก็เข้าเฝ้าพระองค์ตอนเช้า หากคุณตื่นสายก็เข้าเฝ้าพระองค์ตอนสาย หากคุณตื่นบ่ายก็เข้าเฝ้าพระองค์ตอนบ่าย หากคุณตื่นเย็นก็เข้าเฝ้าพระองค์ตอนเย็น หากคุณตื่นค่ำก็เข้าเฝ้าพระองค์ตอนค่ำ!

ไม่ว่าจะเวลาใด พระเจ้าก็ทรงพร้อมเสมอที่จะสดับรับฟังและตรัสกับคุณ!

เวลาที่เราใช้กับพระองค์ดังกล่าวเช่นนี้ จึงนับว่าเป็นเวลาที่มีค่ายิ่งสำหรับชีวิตของคุณ! และเวลาที่ใช้กับพระเจ้าอย่างมีวินัยด้วยความรักยำเกรงพระองค์เช่นนี้ มักจะนำเอาปาฏิหารย์มาสู่ชีวิตของเราอยู่เสมอ เพราะเมื่อคุณทูลความปรารถนาหรือความทุกข์ใจของคุณแด่พระเจ้า พระองค์ทรงสดับฟัง และเมื่อคุณฟังพระองค์ตรัสผ่านพระวจนะ (พระคัมภีร์) ของพระองค์ และผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ จนเกิดความไว้วางใจในความรักของพระองค์อย่างแท้จริง สิ่งมหัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้น!

…ขอให้เวลาอันล้ำค่าเช่นนี้ เกิดขึ้นในชีวิตของคุณด้วยเถิด!

อาเมนไหมครับ?

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc /fanpage@thongchaibsc , BB 2381A496

(Cr.ภาพ lambsofthelord.com)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ฉันจะมีวินัยในการศึกษาพระคัมภีร์ได้อย่างไร?

ฉันจะมีวินัยในการศึกษาพระคัมภีร์ได้อย่างไร?

มีคำแนะนำว่า เราควรมีวินัยในการศึกษาพระคัมภีร์ ตามแนวทางต่อไปนี้

  1. อ่านพระคัมภีร์ (Read It) อ่านทั้งหมดทั้งเล่มหรือทั้งตอนภายในครั้งเดียว ถ้าหลายรอบได้ยิ่งดี
  1. จดหัวข้อสำคัญของพระคัมภีร์ตอนนั้น (Note It) มองหาข้อใหญ่ คำสำคัญ ๆ หรือข้อที่น่าสนใจ
  1. ศึกษาพระคัมภีร์ตอนนั้น (Study It) หาคำตอบว่า ใครทำอะไร กับใคร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และทำไม?
  1. ทำโครงร่างของพระคัมภีร์ตอนนั้น (Outline It) ตั้งหัวข้อ ทำโครงร่าง และแยกแยะเนื้อหาของพระคัมภีร์ใส่ตามหัวข้อในโครงสร้างนั้น และตั้งชื่อเรื่องในภายหลัง
  1. นำพระคัมภีร์ตอนนั้นมาประยุกต์ปฏิบัติ (Apply It) ให้ใคร่ครวญและเขียนออกมาว่า คุณจะนำบทเรียนที่ได้รับมาปฏิบัติใช้จริงได้อย่างไร? ในสถานการณ์เช่นไร?

หากจะถามว่า เราศึกษาพระคัมภีร์ถูกต้องหรือถูกทางไหม? ก็ต้องถามกลับไปว่า…คุณยิ่งศึกษาก็ยิ่งเกิดความเชื่อ(มั่น)ในพระเจ้า หรือว่ายิ่งศึกษาก็ยิ่งสงสัยในพระเจ้าที่คุณเชื่อ?

หากว่าคุณศึกษาพระวจนะของพระเจ้า โดยให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้นำในการสอนและให้ความเข้าใจแก่คุณ (ควบคู่ไปกับการที่คุณอ่านอย่างสังเกต ตีความอย่างสอดคล้องและประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม) และคุณรู้สึกตื่นเต้นกับการฟื้นฟูจิตวิญญาณของคุณอย่างท่วมท้น  จนคุณไม่อาจจะนั่งเฉยอีกต่อไป จึงต้องแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้แก่ผู้อื่นด้วยความยินดีต่อไป

ก็แสดงว่า การศึกษาพระคัมภีร์ของคุณมาถูกทางแล้ว!  ทำให้คุณสามารถกล่าวยืนยันได้อย่างเต็มปากว่า …

“ธรรม‍บัญญัติ​ของ​พระ‍ยาห์‌เวห์​ดี​พร้อม และ​ฟื้น‍ฟู​ชีวิต

พระ‍โอ‌วาท​ของ​พระ‍ยาห์‌เวห์​นั้น​แน่‍นอน ทำ​ให้​คน‍รู้‍น้อย​มี​ปัญญา

ข้อ‍บัง‌คับ​ของ​พระ‍ยาห์‌เวห์​นั้น​ถูก‍ต้อง ทำ​ให้​ใจ​ยินดี

พระ‍บัญญัติ​ของ​พระ‍ยาห์‌เวห์​นั้น​บริ‌สุทธิ์ ทำ​ให้​ดวง‍ตา​กระ‌จ่าง​แจ้ง

ความ​ยำ‌เกรง​พระ‍ยาห์‌เวห์​นั้น​สะอาด​หมด‍จด ถาวร​เป็น​นิตย์

กฎ‍หมาย​ของ​พระ‍ยาห์‌เวห์​ก็​สัตย์‍จริง และ​ชอบ‍ธรรม​ทั้ง‍สิ้น

น่า‍ปรารถ‌นา​มาก‍กว่า​ทอง‍คำ ยิ่ง‍กว่า​ทอง​บริ‌สุทธิ์​มาก​นัก

หวาน​ยิ่ง‍กว่า​น้ำ‍ผึ้ง ที่​หยด​ลง​จาก​รวง”  (สดุดี 19:7-10)

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibscfanpage@thongchaibsc , BB 2381A496

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

จะตอบโต้อย่างไรดี?

จะตอบโต้อย่างไรดี?

“อย่าปฏิบัติต่อคนอื่น ในวิถีที่พวกเขาปฏิบัติต่อคุณ จงปฏิบัติต่อเขา ในวิถีที่พระเจ้าปฏิบัติต่อคุณ

(Don’t treat people the way they treat you; Treat them the way God treats you.)  -Dave Willis-

ไม่ว่าใครผู้ใดจะทำอะไรเลวร้ายต่อคุณมากสักเพียงใด ก็อย่ายอมให้สิ่งนั้นดึงคุณลงมาตอบโต้ด้วยวิถีทางที่ต่ำเช่นเดียวกับที่เขาทำ เราห้ามผู้อื่นในการปฏิบัติต่อเราอย่างเลวทรามไม่ได้ แต่เราสามารถระงับยับยั้งตัวเองไม่ให้ปฏิบัติต่อเขาในระดับที่ต่ำทรามเช่นที่เขากระทำต่อเรา

ใช่ครับ เราได้รับการไถ่จากพระเยซูคริสต์ให้หลุดพ้นจากวิถีต่ำที่นำไปสู่ความตายแล้ว และพระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงเราใหม่ พร้อมบรรจุธรรมชาติใหม่ของคนในวิถีสูงให้แก่เรา พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อเราด้วยวิถีสูงตลอดมา ไม่ว่าเราจมหรือหมกมุ่นอยู่กับการดำเนินชีวิตหรือประกอบกิจการอาชีพใด ๆ ที่ไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณด้วยวิถีต่ำมาก่อน

ขอให้เราปฏิบัติต่อปฏิปักษ์หรือศัตรูของเราด้วยวิถีที่สูงกว่าที่เขาปฏิบัติต่อเรา เราต้องไม่ปล่อยให้ใครมาดึงให้เราต่ำลง จนสิ้นสภาพของบุตรของพระเจ้าผู้สูงสุดแห่งฟ้าสวรรค์

ขอให้เราปฏิบัติต่อปรปักษ์ ปฏิปักษ์หรือศัตรูของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิม  (แท้จริงแล้ว เราต้องปฏิบัติต่อเพื่อนของเราให้ดีขึ้นอีกสักนิดด้วยเช่นกัน)

เราต้องขอให้พระเจ้าประทานใจที่อ่อนโยน อดทน อดกลั้นที่ทำให้เราสามารถควบคุมเหนี่ยวรั้งตัวเอง ไม่ให้แสดงความหยาบคายหรือความรุนแรงออกมา ไม่ว่าจะด้วยคำพูด ท่าที ท่าทาง หรือการกระทำของเรา

ขอพระเจ้าทรงประทานความรักเข้าครอบครองใจของเรา เพื่อเราจะรักปรปักษ์และศัตรูของเราได้ ตามที่พระองค์ทรงบัญชา

  1. ให้เราทำดีต่อผู้ที่เป็นปรปักษ์หรือศัตรูของเรา

“แต่​เรา​บอก​พวก‍ท่าน​ที่​กำลัง​ฟัง​อยู่​ว่า จง​รัก​ศัตรู​ของ​ท่าน จง​ทำ‍ดี​กับ​คน​ที่เกลียด‍ชัง​ท่าน”  (ลก.6:27)

  1. ให้เราอวยพรแก่คนที่แช่งด่าหรือพูดไม่ดีต่อเรา

“จง​อวย‍พร​แก่​คน​ที่​แช่ง‍ด่า​ท่าน”  (ลก.6:28ก)

  1. ให้เราอธิษฐานเผื่อคนที่ปฏิบัติต่อเราไม่ดีหรือข่มเหงเรา

“แต่​เรา​บอก​พวก‍ท่าน​ว่า จง​รัก​ศัตรู​ของ​ท่าน และ​จง​อธิษ‌ฐาน​เพื่อ​บรร‌ดา​คน​ที่​ข่ม‍เหง​พวก‍ท่าน”     (มธ.5:44)

“จง​อธิษ‌ฐาน​เผื่อ​คน​ที่​ทำ‍ร้าย​ท่าน”        (ลก.6:28ข)

  1. ให้เราให้หรือให้เขายืมโดยไม่หวังจะได้กลับคืน หรือไม่คาดจะได้สิ่งใดเป็นการตอบแทน

“แต่​จง​รัก​ศัตรู​ของ​ท่าน​และ​ทำ‍ดี​ต่อ​เขา จง​ให้​เขา​ยืม​โดย​ไม่​หวัง​ที่​จะ​ได้​คืน แล้ว​บำ‌เหน็จ​ของ​ท่าน‍ทั้ง‍หลาย​จะ​มี​บริ‌บูรณ์ แล้ว​ท่าน​จะ​เป็น​บุตร​ของ​องค์‍ผู้‍สูง‍สุด เพราะ​ว่า​พระ‍องค์​ทรง​พระ‍กรุณา​ทั้ง​ต่อ​คน​อก‌ตัญ‌ญู​และ​คน‍ชั่ว” (ลก.6:35)

  1. ให้เรายกโทษต่อผู้ที่ปฏิบัติต่อเราอย่างไม่สมควร หรือทำให้เราเจ็บปวด

“แต่​จง​มี​ใจ​กรุณา ใจ​สงสาร และ​ใจ​ให้​อภัย​แก่​กัน​และ​กัน เหมือน​อย่าง​ที่​พระ‍เจ้า​ทรง​ให้​อภัย​พวก‍ท่าน​ใน​พระ‍คริสต์”    (อฟ.4:32)

หากเราตอบโต้ปรปักษ์ ปฏิปักษ์ หรือศัตรูของเราด้วยวิถีสูงแห่งความรักของพระเจ้า เราจะทำให้พระเจ้ามีความสุข และความสุขนั้นจะหลั่งไหลมาท่วมท้นชีวิตจิตใจ ทั้งของเราและของเขา!

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์- twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ plusgoogle.com)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

คิดจะฆาตกรรมความสัมพันธ์หรือ?

คิดจะฆาตกรรมความสัมพันธ์หรือ?

ความสัมพันธ์ทั้งหลาย ไม่เคยตายตามธรรมชาติ ความสัมพันธ์เหล่านั้น มักถูกฆาตกรรม โดยทัศนคติ พฤติกรรม อัตตาหรือการเพิกเฉย”

(Relationship never die a natural death. They are always murdered by attitude, behavior ego orIgnorance.)

 

ความสัมพันธ์เป็นดุจต้นไม้ หากคุณไม่ปลูก คุณก็ไม่มี  หากคุณไม่ดูแลรดน้ำ ความสัมพันธ์นั้นก็จะแห้งเหี่ยว หากคุณไม่ใส่ใจว่ามันจะเป็นหรือตาย เดี๋ยวความสัมพันธ์ก็จะกลายพันธุ์ หรือตายลงในที่สุด

ดังนั้น คุณสามารถจะสร้างหรือทำลายความสัมพันธ์เมื่อใดก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนในที่ทำงานของคุณ ขอให้คุณทำให้สัมพันธภาพระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานของคุณดีขึ้น ขอให้คุณเพิ่มเติมกำลังเรี่ยวแรงแก่สัมพันธภาพของคุณกับผู้อื่น โดยหมั่นพูดให้กำลังใจแก่คนอื่นอยู่เสมอ

คุณต้องยอมรับว่า อาจจะมีบางช่วงเวลาหรือช่วงอารมณ์ในสัมพันธภาพของคุณต่อผู้อื่น ที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์นัก แต่ขอให้คุณร่วมมือร่วมใจกับผู้อื่นเดินก้าวฝ่าอุปสรรคปัญหาเหล่านั้นด้วยกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรามีพระเจ้าทรงดำเนินร่วมทางไปกับเราด้วย)แล้วคุณจะพบว่า คุณและสัมพันธภาพของคุณล้วนสามารถฟันฝ่าออกมาได้ โดยไม่ยากอย่างที่เคยคิดเคยกังวล

ดังคำกล่าวที่ว่า …

“ไม่มีความสัมพันธ์ใดที่จะสดใสภายใต้แสงตะวันตลอดเวลา  แต่คนสองคนอาจแบ่งปันร่มคันเดียวกัน และรอดพ้นจากฝนฟ้าคะนองไปด้วยกัน”

(No relationship is all sunshine, but two people can share one umbrella and survive the storm together.)

คุณสามารถรดน้ำพรวนดินสัมพันธภาพของคุณกับเพื่อนร่วมงานได้หลายทาง อาทิ

  1. ทักทายปราศรัยกันด้วยรอยยิ้มทุกครั้งที่ได้เจอะเจอ
  2. พูดชมเชย หรือแสดงความชื่นชมต่อกันทุกครั้งที่มีโอกาส
  3. ให้เกียรติแก่กันและกันในทุกเรื่อง
  4. ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ ให้เบาลง
  5. ช่วยรับฟังปัญหาภาระหนักที่เพื่อนร่วมงานของเราแบกรับไว้จนไม่ไหวอยู่แล้ว
  6. แสดงความห่วงใยอย่างจริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน
  7. สื่อสารต่อกันอย่างเปิดเผยจริงใจและมีประสิทธิภาพฯลฯ

ขอให้คุณเตือนตัวเองเสมอว่า…คุณเองอาจฆาตกรรมหรือทำลายสัมพันธภาพที่คุณมีต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ด้วยการ

  • วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง
  • ปฏิบัติต่อกันอย่างไม่ให้เกียรติ
  • ซุบซิบนินทาลับหลัง
  • สร้างปัญหาหรือความหงุดหงิดให้เกิดขึ้นแก่เพื่อนร่วมงาน
  • สร้างภาระปัญหาให้กับเพื่อนร่วมงานต้องแบกรับจนทนไม่ไหว
  • บ่นว่างานของตัวเองและของผู้อื่นทำให้เสียบรรยากาศในการทำงาน
  • ทำตัวให้ไม่น่าไว้วางใจหรือทรยศต่อความไว้วางใจของทีมงานฯลฯ

ดังนั้น ขอให้คุณปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรม ลดอัตตา หรือแก้ไข ยุติการกระทำใด ๆ ที่เป็นการฆาตกรรมความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ขอให้คุณใส่ใจปรับปรุงการพูดและการประพฤติของคุณให้พัฒนาสัมพันธภาพของคุณกับเพื่อนร่วมงานให้ดีขึ้น จนเกิดความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรืองต่อองค์กรหรือหน่วยงานของคุณดังพระวจนะของพระเจ้าที่ว่า …

“เหตุ‍ฉะนั้น​ให้​เรา​มุ่ง​ประ‌พฤติ​ใน​สิ่ง​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​สงบ‍สุข​และ​ความ​เจริญ​แก่​กัน​และ​กัน”  (โรม 14:19)

                จะดีไหมครับ?

 

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc,twitter.com/

lifeanswer,facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ Breadwinning mama)