Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

คริสเตียนกับรัฐธรรมนูญ

 คริสเตียนกับรัฐธรรมนูญ         

ประเทศไทยมีวันรัฐธรรมนูญ ตรงกับ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศ

รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”  (27มิถุนายน-10 ธันวาคม 2475)

จากนั้น ราชอาณาจักรไทย ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามมาอีกหลายฉบับ จนถึงฉบับที่19 เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557”  เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชานุญาตและลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่  22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายทันที แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งสิ้น 48 มาตรา

จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20  คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560”  (6 เมษายน 2560-ปัจจุบัน)

ประวัติความเป็นมา

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  

  • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย
  • หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ
  • อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
  • รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหารและราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอก พระฤทธิอาคเนย์ เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ

           – พระมหากษัตริย์

            – สภาผู้แทนราษฎร

            – คณะกรรมการราษฎร

            – ศาล

ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 20 ฉบับ

รัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จากนั้น ราชอาณาจักรไทย ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามลำดับ ดังนี้

  1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (27 มิถุนายน – 10 ธันวาคม 2475)
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 (10 ธันวาคม 2475 – 9 พฤษภาคม 2489) ถูกยกเลิกเพราะล้าสมัย
  3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (9 พฤษภาคม 2489 – 8 พฤศจิกายน 2490) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร
  4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม (9 พฤศจิกายน 2490 – 23 มีนาคม 2492)
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (23 มีนาคม 2492 – 29 พฤศจิกายน 2494) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร
  6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 (8 มีนาคม 2495 – 20 ตุลาคม 2501) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ
  7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 (28 มกราคม 2502 – 20 มิถุนายน 2511)
  8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 (20 มิถุนายน 2511 – 17 พฤศจิกายน 2514) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ
  9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 (25 ธันวาคม 2515 – 7 ตุลาคม 2517)
  10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 (7 ตุลาคม 2517 – 6 ตุลาคม 2519) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
  11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 (22 ตุลาคม 2519 – 20 ตุลาคม 2520)
  12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 (9 พฤศจิกายน 2520 – 22 ธันวาคม 2521)
  13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (22 ธันวาคม 2521 – 23 กุมภาพันธ์ 2534) ถูกยกเลิกโดยคณะ รสช.
  14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 (1 มีนาคม – 9 ตุลาคม 2534)
  15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 (9 ธันวาคม 2534 – 11 ตุลาคม 2540) ถูกยกเลิกหลังตรารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
  16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับประชาชน (11 ตุลาคม 2540 – 19 กันยายน 2549) ถูกยกเลิกโดยคณะ คปค.
  17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 (1 ตุลาคม 2549 – 24 สิงหาคม 2550)
  18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (24 สิงหาคม 2550 – 22 กรกฎาคม 2557)
  19. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (22 กรกฎาคม 2557-6 เมษายน 2560)
  20. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (6 เมษายน 2560-ปัจจุบัน)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในระหว่าง พ.ศ. 2557–2560 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ  

ในฐานะพลเมืองไทย และในฐานะคริสเตียนชาวไทย เราควรมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง?

 คำว่า “หน้าที่” หมายถึง กิจที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบ ในที่นี้หมายถึง   “ภาระและความรับผิดชอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับให้บุคคลซึ่งเป็นชนชาวไทยต้องปฏิบัติ หรือกระทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ถ้าหากผู้ใดไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและจะถูกลงโทษ

หน้าที่ของชนชาวไทย มีสองสถานะ คือ

  1. ฐานะผู้ปกครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองของประเทศไทย
  2. ฐานะผู้อยู่ภายใต้การปกครอง รัฐธรรมนูญนอกจากจะมีบทบัญญัติในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไว้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่บางประการควบคู่ไปด้วย กล่าวคือ เมื่อรัฐได้ให้หลักประกันในสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนแล้ว ประชาชนก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อรัฐด้วย

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาได้กำหนดเรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจน 

 ทั้งนี้ คำว่า “สิทธิ” มีคำคู่กันอยู่คือ “หน้าที่” ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ก็ตาม เมื่อมี “สิทธิ” ก็ย่อมมี “หน้าที่” คู่กันเสมอ 

 เมื่อเราเกิดมาเป็นคนไทยมีสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญไทยกำหนด เราก็ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในฐานะเป็นคนไทยด้วยเช่นกัน และได้บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ต่าง ๆ คือ 

           – รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

          – หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร 

          – เสียภาษีอากร 

          – ช่วยเหลือราชการ 

          – รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ปกป้อง 

          – สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น 

          – อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

หน้าที่สำคัญของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน  ตามหลักธรรมาภิบาล ได้แก่ 

          1) เกิดผลประโยชน์สุขของประชาชน 

          2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ 

          3) มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ 

          4) ไม่มีขั้นตอนในการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น 

          5) ปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ 

          6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ 

          7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ 

จะเห็นได้ว่าชาวไทยที่เป็นข้าราชการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของชนชาวไทยมากกว่าบุคคลที่เป็นประชาชนทั่วไป

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของชนชาวไทยทุกคนนั้น ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทุกคนเลย และถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้ามาดำเนินการตามหน้าที่ของชนชาวไทย เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ด้วยสันติวิธี รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายและประพฤติตนเป็นพลเมืองดีตามรัฐธรรมนูญอย่างเข้มแข็ง (เรียบเรียงจากข้อมูล วิกิพีเดียและอินเทอร์เน็ต)

ใช่ครับ เราที่เป็นคริสเตียนก็มีสิทธิ์ และหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเหมือนกับคนไทยทุกคนเช่นกัน

 ตามที่พระวจนะของพระเจ้าสอนไว้ว่า  …

“ทุกคนจงยอมอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอำนาจปกครอง(ตามรัฐธรรมนูญ) เพราะว่าไม่มีอำนาจใดเลยที่ไม่ได้มาจากพระเจ้า และผู้ที่ถืออำนาจนั้น พระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น” โรม 13:1 THSV11

หากว่าคริสเตียนไทยกระทำตามคำแนะนำข้างต้นนี้ ก็ย่อมจะปลอดภัย และสงบสุข ….

จริงไหมครับ?

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

– twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ Flickr.com)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

เราควรขอบคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งใด?

เราควรขอบคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งใด?

ไม่ทราบว่าใครเป็นคนแรกที่เขียนเรื่องราวต่อไปนี้…

                หลานชายถามปู่ว่า
                “ในสมัยปู่นั้น คนใช้ชีวิตกันอย่างไร โดยที่
                – ไม่มีอินเตอร์เน็ต
                – ไม่มีคอมพิวเตอร์
                – ไม่มีกล้องดิจิตอล
                – ไม่มีภาพยนตร์3D หรือ4D
                – ไม่มีโทรทัศน์
                – ไม่มีเครื่องปรับอากาศ
                – ไม่มีรถหรู
                – ไม่มีรถไฟฟ้า
                – ไม่มีโทรศัพท์มือถือ
                – ไม่มีบัตรเครดิต
                – ไม่มีเครื่องบิน(โลว์คอสต์)    และ
                – ไม่มีเทคโนโลยี่ทันสมัยเหมือนในสมัยนี้?”

                ผู้เป็นปู่ตอบหลานว่า
                “ในสมัยของปู่ พวกเราไม่ใช้ชีวิตอย่างที่พวกคนรุ่นหลานกำลังทำกันอยู่ทุกวันนี้ นั่นคือ
                – ไม่รู้จักอดกลั้นอดทน
                – ไม่มีน้ำใจให้กัน
                – ไม่มีการให้เกียรติกัน
                – ไม่มีมารยาท
                – ไม่มีสัมมาคารวะ
                – ไม่รู้จักละอาย
                – ไม่นอบน้อมถ่อมตน
                – ไม่กตัญญูกตเวที
                – ไม่รู้จักอดออม

                – ไม่รู้จักแยกแยะชั่วดี
                – ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์    ฯลฯ

       พวกคนรุ่นปู่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เกิดระหว่างช่วงปี 2490 ถึง 2510 ) นั้นช่างโชคดี เพราะการใช้ชีวิตของพวกเราคือของจริงที่พิสูจน์ได้  เช่น
                – เราได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานตั้งแต่วัยหนุ่ม
                – เราผ่านประสบการณ์มากมายในประวัติศาสตร์หลายช่วงเวลา
                – เราขี่จักรยาน(ยนต์)กันโดยไม่ต้องสวมหมวกกันน็อก
                – เราเดินไปเรียนหนังสือและกลับบ้านโดยไม่ต้องนั่งรถ
                – เราไม่มีปัญหาให้เสียเวลาเสียอารมณ์ไปกับเรื่องรถติด
                – หลังเลิกเรียนเราเล่นกันจนค่ำมืดโดยไม่เคยดูโทรทัศน์
                – เราเล่นกับเพื่อนตัวเป็นๆ ไม่ใช่เพื่อนทางอินเตอร์เน็ต
                – เรากระหายน้ำเราก็ดื่มน้ำจากก๊อก(หรือน้ำต้ม)ไม่ใช่น้ำบรรจุขวด
                – เราไม่เคยป่วย แม้เราจะดื่มน้ำร่วมแก้วเดียวกับเพื่อนถึงสี่คน
                – เรากินข้าวเป็นจานๆ ทุกวันโดยไม่ต้องคอยนับปริมาณแคลอรี่และไม่มีปัญหาเรื่องอ้วน
                – เท้าเราไม่มีปัญหาอะไร แม้จะเดินด้วยเท้าเปล่า
                – เราไม่ต้องกินอาหารเสริมเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
                – เราประดิษฐ์ของเล่นเอามาเล่นเอง
                – พ่อแม่เราไม่ร่ำรวย ท่านจึงให้เราได้แต่ความรัก ไม่ใช่วัตถุ
                – เราไม่เคยมีมือถือเครื่องเล่น DVD วิดีโอเกมส์ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต  แต่เรามีเพื่อนที่มีตัวตนจริง ๆ
                – เราไปเยี่ยมเพื่อนที่บ้านโดยไม่ต้องนัดหมาย แล้วเราก็หาอะไรกินกันอย่างสนุกสนาน
                – ญาติพี่น้องอยู่ใกล้ชิดกัน เราจึงมีเวลาให้กันมาก
                – ภาพถ่ายเราอาจเป็นขาวดำ แต่ความทรงจำของมันช่างหลากสีสัน
                – คนรุ่นเรามีเอกลักษณ์ และเข้าใจกันเพราะเราเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่เชื่อฟังพ่อแม่ และเป็นคนรุ่นแรกที่รับฟังลูกหลาน
                …พวกเรา คือ คนรุ่นพิเศษที่มีจำนวนจำกัด Limited Edition

ดังนั้น จงสนุกไปกับเรื่องราวของเรา เรียนรู้จากเรา และ เก็บพวกเราไว้เป็นสมบัติแห่งความทรงจำอันทรงคุณค่าตลอดไปนะ!”
ข้อคิดข้างต้นทำให้เราต้องฉุกคิด!

คนรุ่นก่อนไม่เหมือนกับคนรุ่นนี้  และคนรุ่นนี้เองก็จะไม่เหมือนกับคนรุ่นหน้า

ดังนั้น เราควรขอบคุณพระเจ้าสำหรับชีวิตและประสบการณ์ของคนเหล่านั้น และของเราเอง
เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตเหมือนเขา หรือบังคับเรียกร้องให้พวกเขาต้องมีวิถีชีวิตเหมือนเรา แต่เราต้องให้เกียรติกันและกัน และแก่ทุกคน

ขอให้เราตั้งเป้าไว้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในยุคใดสมัยใด เราจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า และแด่องค์พระมหากษัตริย์ของแผ่นดินไทยของเราเสมอไป

…จะดีไหมครับ?

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ revivalcentres.org)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

คริสเตียนจะทำอย่างไรต่อบ้านเมืองได้บ้าง?

คริสเตียนจะทำอย่างไรต่อบ้านเมืองได้บ้าง?

 “ไม่สำคัญนักว่า คนอื่นๆ เขากำลังทำอะไร แต่สิ่งที่สำคัญก็คือตัวของคุณเองกำลังทำอะไรอยู่?”
  
(It doesn’t matter what others are doing.  It matters what YOU are doing!)

ไม่ว่าคนอื่นๆ เขาจะคิดกันอย่างไร ไม่ว่าคนอื่นๆ เขากำลังทำอะไรกันอยู่ แต่คริสเตียนที่อยู่ในเมือง ไม่ว่าจะอยู่ในใจกลางเมืองหรือชายขอบเมือง ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของคนในเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ อย่างน้อยก็อธิษฐานต่อพระเจ้าให้ประทานสวัสดิภาพแก่คนในเมืองนั้น!

ยรม.29:7 “แต่จงแสวงหาสวัสดิภาพของเมือง ซึ่งเราได้กวาดเจ้าให้ไปเป็นเชลยอยู่นั้น และจงอธิษฐานต่อพระยาห์เวห์เพื่อเมืองนั้น เพราะว่าเจ้าจะพบสวัสดิภาพของเจ้าในสวัสดิภาพของเมืองนั้น’

ในพระคัมภีร์บอกเราว่า พระเจ้าทรงสร้างพวกเรามาเพื่อให้กระทำดีในนามของพระองค์
อฟ.2:10 “เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ทำการดี ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ก่อนแล้วเพื่อให้เราดำเนินตาม”

และพระคัมภีร์ยังสอนเราให้เป็นเกลือและแสงสว่างแก่ชุมชนที่เราเป็นส่วนหนึ่งด้วย และเราต้องทำหน้าที่ของเราอย่างมีประสิทธิภาพ!

มธ.5:13 “ท่านทั้งหลายเป็นเกลือแห่งโลก ถ้าเกลือนั้นหมดรสเค็มไปแล้ว จะทำให้กลับเค็มอีกได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นไปก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร มีแต่จะถูกทิ้งเสียให้คนเหยียบย่ำ”

มธ. 5:14-16 “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก นครซึ่งอยู่บนภูเขาจะถูกปิดบังไว้ไม่ได้ เมื่อจุดตะเกียงแล้วไม่มีผู้ใดเอาถังครอบไว้ ย่อมตั้งไว้บนเชิงตะเกียง จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนที่อยู่ในบ้านนั้น ทำนองเดียวกันพวกท่านจงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาทั้งหลายได้เห็นความดีที่ท่านทำ พวกเขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์”

คริสเตียนยังต้องรักเพื่อนบ้านของตนอยู่เสมอ ไม่ว่าเพื่อนบ้านคนนั้นจะน่ารักหรือไม่ก็ตาม

มธ.22:37-39 “พระเยซูทรงตอบเขาว่า “ ‘จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน’ และด้วยสุดความคิดของท่าน นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก 39ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือ ‘จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง’

ดังนั้นหากมีโอกาสก็ขอให้เราทำดีต่อทุกคน

กท.6:10 “เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาส ให้เราทำดีต่อทุกคน และเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อคนที่เป็นสมาชิกของครอบครัวแห่งความเชื่อ”

นอกจากนี้ เรายังต้องอธิษฐานเผื่อผู้มีสิทธิอำนาจ และมีส่วนร่วมส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางของพระเจ้า)

1ทธ.2:1-2 “เพราะฉะนั้นก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด ข้าพเจ้าขอร้องพวกท่านให้วิงวอน อธิษฐาน ทูลขอ และขอบพระคุณ เพื่อทุกคน 2เพื่อกษัตริย์ทั้งหลายและทุกคนที่มีตำแหน่งสูง เพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตอย่างสงบและมีสันติในทางพระเจ้า และเป็นที่นับถือ”

จะเป็นเรื่องน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง  หากว่า คนที่ทำดีเพื่อประเทศชาติอย่างเห็นได้ชัด เป็นคนที่ไม่ได้เชื่อในพระเจ้าในขณะที่คนทำบาปทำชั่วกลับกลายเป็นผู้ที่ปากบอกว่าเขาชื่อว่า เขาเป็นผู้เชื่อถือในพระองค์!  ดังนั้นขอให้คนที่มีศรัทธาในพระเจ้าเป็นคนที่ทำดีอย่างเป็นธรรมชาติ คือ ทำดีเป็นนิสัย โดยไม่ต้องฝืนไม่ต้องมีใครมาสั่งมาสอน ไม่ต้องมีใครมาบังคับควบคุม หรือข่มขู่เคี่ยวเข็ญหรือเอารางวัลมาล่อให้เราทำดี

พี่น้องที่รัก

วันนี้ คุณได้แสดงความรัก ความเมตตา และความเอื้อเฟื้อต่อคนรอบข้างของคุณแล้วหรือยัง?
วันนี้ คุณได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมและบ้านเมืองของคุณให้เจริญรุ่งเรือง และมีความสุขสันติในเรื่องใดบ้างแล้วหรือยัง?

 บอกที!

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ The Telegraph) 

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ครอบครัวของเราควรจะเป็นแบบไหน?

ครอบครัวของเราควรจะเป็นแบบไหน?

“ในบ้านหลังนี้…เรามอบโอกาสที่ 2 ให้แก่กัน เราให้อภัย เราผิดพลาดได้ เราจริงใจต่อกัน เราเสียใจและขอโทษกัน เราสนุกสนานเสียงดัง เรากอดกันและเรารักกัน เราก้าวไปด้วยกันอย่างครอบครัว!”

(In this house: We do second chances. We do forgiveness. We do mistakes.We do real. We do I’m sorry. We do Loud really well. We do hugs. We go Family.)

พระเจ้าทรงประสงค์ให้เรามีครอบครัวที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

พระเจ้าทรงมีพระเกษมสำราญในพระราชหฤทัย เมื่อเห็นบรรดาคนในครอบครัวของพระองค์มีเอกภาพในสัมพันธภาพระหว่างกัน ดุจดังที่กษัตริย์ดาวิดได้ตรัสว่า…

       “ดูเถิด เป็นการดีและน่าชื่นใจมากสักเท่าใด ที่พี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว”           

        (Behold, how good and pleasant it is when brothers dwell in unity!)  (สดุดี 133:1)

ใช่ครับ ในครอบครัวของเราควรมีความน่าชื่นใจ และความดีแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันปรากฏอยู่เสมอตลอดเวลา! ในครอบครัวของเราควรมีความรู้รักสามัคคีและรู้จักยอมรับฟังกันและกันอยู่เสมอ เพราะเห็นแก่พระคริสต์เจ้า

            “จงยอมเชื่อฟังกันและกันเนื่องด้วยความยำเกรงพระคริสต์”  (เอเฟซัส 5:21)

เราจึงต้องเรียนรู้จักการอดหนักอดเบาต่อกัน ตลอดสัมพันธภาพอย่างยาวนานในครอบครัว ดังนั้น เพื่อให้มีความสุข ในสัมพันธภาพในครอบครัว เราจึงต้องหมั่นแสดงความรักต่อกันและกันอยู่เสมอ เรารู้จักวิธีการสื่อสารภาษารักให้แก่กันอย่างเหมาะสมผ่าน

  1. การพูดจา (ที่ให้กำลังใจ/ให้ความมั่นใจ)
  2. การให้ของขวัญ (ที่ถูกใจ)
  3. การให้เวลา (ที่มีคุณค่า มีคุณภาพ)
  4. การสัมผัส (โอบกอด)
  5. การให้ความช่วยเหลือ (ตามที่ต้องการ)

การต้องรู้จักขอโทษ และยกโทษให้แก่กัน ดุจเป็นยาสามัญประจำครอบครัว

“จงอดทนต่อกันและกัน และถ้าใครมีเรื่องราวต่อกัน ก็จงให้อภัยกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยพวกท่านอย่างไร ท่านก็จงทำอย่างนั้นด้วย”  (โคโลสี 3:13)

 การให้โอกาสที่ 2 แก่กันและกัน ในยามผิดพลาด ก็เป็นอีกหนึ่งของขวัญที่ล้ำค่ายิ่ง ขอให้เราสำนึกไว้เสมอว่า…

“ครอบครัวคือ ที่ ๆ เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต และความรักอันไม่มีจุดจบ!”

(Family: Where life begins. And Love never ends.)

  • ขอให้เรารักครอบครัวของเรา (และทุกคนในครอบครัว)
  • ขอให้เรามีเวลาที่ใช้ร่วมกันอย่างมีความสุข
  • ขอให้เรามีใจเมตตากรุณาต่อกัน
  • ขอให้เรารับใช้ซึ่งกันและกัน
  • ขอให้เราระมัดระวังและปิดกั้นไม่ให้เกิดสิ่งใดที่ทำให้พวกเราต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง!
  • ขอให้เรามาช่วยกันเสริมสร้างให้ครอบครัวของเราเป็นทุกๆสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุขและความรัก

“ครอบครัวไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ แต่ครอบครัวคือ ทุก ๆ สิ่ง”

(Family isn’t an important thing. It’s everything.) -Michael J. Fox-

คุณมีส่วนอะไรบ้างที่ช่วยรักษาและทำให้ครอบครัวของคุณเป็นครอบครัวอย่างที่พระเจ้าทรงปรารถนา และคุณพูดได้อย่างเต็มปากแล้วหรือไม่ว่า ครอบครัวคือทุกๆ สิ่งสำหรับคุณ!”

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ nuisri) 

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ต้องทำอย่างไรจึงจะทำงานร่วมกันได้?

ต้องทำอย่างไรจึงจะทำงานร่วมกันได้?

“เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกันทุกเรื่อง เพื่อจะเมตตากรุณาต่อกันและกันได้!”

(We don’t have to agree on everything to be kind to one another.)

คนเราไม่เหมือนกัน ดังนั้น คนเราแต่ละคนย่อมคิดไม่เหมือนกัน เมื่อเราอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะในบ้าน ในโบสถ์ ที่โรงเรียน หรือในที่ทำงาน  เราต้องเตรียมใจได้เลยว่า เราต้องเจอะเจอคนที่คิดหรือมีวิถีคิดไม่เหมือนเรา

หากเราตระหนักในเรื่องนี้จริงๆ เราจะไม่หัวเสีย หงุดหงิด หรือสิ้นหวังในบุคคลใดๆ เพราะว่าพระเจ้าเองทรงเป็นผู้เจตนาสร้างพวกเขาให้แตกต่างจากตัวเรา ไม่ใช่เพื่อให้เขามาเปลี่ยนตัวเราให้เป็นเหมือนเขา หรือให้เราไปเปลี่ยนตัวเขาให้เป็นเหมือนอย่างตัวเรา! แต่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราเรียนรู้จักที่จะเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างเหล่านั้น ไม่ใช่ให้ต่อสู้ ปฏิเสธ หรือยอมแพ้!

ฉะนั้น หากเรารักพระเจ้าจริงๆ และมีความสัมพันธ์ (Relationship) ที่ถูกต้องใกล้ชิดพระเจ้าจริงๆ เราจะมีความเป็นผู้ใหญ่ในการแยกแยะข้อเท็จจริงนี้ และเราพร้อมที่จะแสดงความรักต่อพระเจ้าด้วยการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ คือยอมรักกันและกัน รวมทั้งให้รักคนที่ไม่น่ารัก (อย่างเราด้วย)

“บัญญัติของเราคือให้พวกท่านรักกันและกันเหมือนอย่างที่เรารักท่าน”  (ยอห์น 15:2)

 “สิ่งที่เราสั่งพวกท่านไว้ก็คือ จงรักกันและกัน”  (ยอห์น 15:17)

ด้วยเหตุนี้ เราไม่มีข้อแก้ตัวอันใดที่ชอบธรรม เพื่อใช้เป็นข้ออ้างที่จะเกลียดชังและไม่รักพี่น้องของเรา ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน (ในบ้าน ในโบสถ์ ในโรงเรียน หรือในที่ทำงาน)

“ถ้าใครกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารักพระเจ้า” แต่ใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน เขาเป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่มองเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่มองไม่เห็นไม่ได้ พระบัญญัตินี้เราได้มาจากพระองค์ คือให้คนที่รักพระเจ้านั้นรักพี่น้องของตนด้วย”  (1ยอห์น 4:20-21)

ขอให้ตระหนักไว้เสมอว่า …ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนหรือทำงานกับผู้ใด เราอาจจะพบคนที่มีความคิดไม่เหมือนกันกับเราในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่เสมอ แต่มีเรื่องหนึ่งที่เราต้องคิดเหมือนกัน นั่นคือ เราต้องรักและเมตตาต่อคนที่พระเจ้าประทานมาให้แก่เรา  ( ไม่ว่าจะในบ้าน ในที่ทำงาน ที่สถานศึกษา หรือในโบสถ์) เพราะว่า คนเหล่านี้คือ คนที่พระเจ้าทรงรักเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา และทรงประสงค์ให้เรารักพวกเขาเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา!

คุณจึงไม่มีทางเลือกอื่น

  1. คุณต้อง พิสูจน์ให้เห็นว่า คุณอยู่ฝ่ายพระเจ้าด้วยการรักคนเหล่านั้น หรือ
  2. คุณเปิดเผยว่า คุณไม่ได้อยู่ฝ่ายพระเจ้า แต่คุณอยู่ฝ่ายมาร ด้วยการเกลียดชังหรือไร้ความเมตตาต่อเขา

วันนี้ คุณคงตัดสินใจได้แล้วนะครับว่า คุณจะอยู่ฝ่ายไหน?

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ Quora.com)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

อะไรคือสัมพันธภาพที่สำคัญที่สุด?

อะไรคือสัมพันธภาพที่สำคัญที่สุด?

“พวกเราส่วนใหญ่รู้เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า
  แต่นั่นแตกต่างจากการได้รู้จักกับพระเจ้ามากมายนัก!

(“Most of us know about God. But that is quite different from KNOWING God.”)

เราอาจรู้เรื่องใครบางคนดีมากโดยไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือรู้จักกับเขาเป็นส่วนตัวจริงๆ เลย!

คนจำนวนไม่น้อยแม้แต่ (ผู้นำ) คริสเตียนที่อยู่ในโบสถ์รู้เรื่องพระเจ้ามากมายจากการไปโบสถ์ฟังเทศน์ หรือเข้าชั้นเรียนพระคัมภีร์มานานปี แต่ก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์กับพระเจ้าเป็นส่วนตัว นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายแทนจริงๆ!

เป็นความจริงว่า ไม่มีความรู้ใดสำคัญมากเท่ากับความรู้ในเรื่องพระเจ้าว่า พระองค์คือผู้ใด สำคัญอย่างไร ทั้งต่อจักรวาล และโลกรวมทั้งชีวิตของมนุษย์ทุกคนอย่างพวกเรา เพราะการรู้เรื่องพระเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข่าวประเสริฐเกี่ยวกับสิ่งที่พระคริสต์กระทำเพื่อมนุษย์ทุกคนด้วยการยอมสละพระชนม์ คือตายไถ่บาปของเรา และทำให้เราเกิดความเชื่อมากพอที่จะประกาศตัวว่าเรามีความศรัทธาในพระคริสต์และการรับโทษบาปแทนเรา ซึ่งจะทำให้ เรารอดจากโทษบาปที่เรากระทำมาตลอดชีวิตโดยพระคุณของพระองค์ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งจริงๆ

แต่แค่นี้ คงจะไม่พอ เราไม่ควรหยุดอยู่ที่แค่เพียงรู้เรื่องของพระเจ้า พระคริสต์และข่าวประเสริฐของพระองค์  แต่เราควรมีประสบการณ์กับพระเจ้าและสิ่งที่เราศรัทธาด้วยตัวของเราเอง ประสบการณ์ที่กล่าวนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์หรือปาฏิหาริย์อะไรพิสดารพันลึก ที่ต้องมีรูปแบบเดียวกันหมดทุกคน แต่เป็นประสบการณ์กับการสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้าผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทำให้เราได้รับการเปลี่ยนแปลงความคิด จิตใจ นิสัย ที่ปรากฏออกมาผ่านคำพูดและการกระทำที่ดีใหม่ๆ จนเป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าและเป็นพรแก่ทุกๆคน!

และทำให้เราสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า…
            “ฉันเชื่อในองค์พระเจ้า ไม่ใช่เพราะพ่อแม่ หรือคริสตจักรบอกฉัน
             แต่เพราะว่าฉันรู้และมีประสบการณ์กับความดีงาม และพระเมตตาคุณของพระองค์ด้วยตัวเอง!”

ดุจเดียวกับพวกชาวสะมาเรียจำนวนมากที่เชื่อวางใจพระเยซูคริสต์จากคำพยานของหญิงชาวสะมาเรีย แต่ภายหลังพวกเขาเชิญพระเยซูประทับอยู่กับพวกเขาเป็นเวลา 2 วัน ทำให้มีคนวางใจในพระองค์เพิ่มขึ้นเพราะพระดำรัสของพระองค์ พวกเขาจึงพูดกับหญิงคนนั้นว่า…

     “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ที่เราเชื่อนั้นไม่ใช่เพราะคำพูดของเจ้า
      แต่เพราะเราได้ยินเอง และเรารู้ว่าท่านผู้นี้เป็นพระผู้ช่วยโลกให้รอดที่แท้จริง!” (ยอห์น 4:42 THSV11)

ใช่ครับ เรามิได้ต้องการเพียงรู้เรื่องและเชื่อในสิ่งที่พระเจ้ากระทำเพื่อเราแค่นั้น  แต่เรายังต้องการรู้จักและมีความสัมพันธ์กับพระองค์โดยตรงเป็นการส่วนตัวด้วย ขอย้ำว่า เราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนศาสนา แต่เราต้องการเปลี่ยนชีวิตผ่านการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์และทรงรักเรา และนั่นก็คือสิ่งที่พระเยซูคริสต์เจ้าทรงปรารถนาเช่นกัน

ดังคำกล่าวที่ว่า…
            “พระองค์ไม่ได้ลงมาตายบนไม้กางเขนเพื่อคุณจะมีศาสนา (ในโลกนี้)
             พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อคุณจะมีสัมพันธภาพกับพระบิดาในสวรรค์!”
           
(Jesus didn’t die so you can have a religion, He died so you can
              have a relationship with your Heavenly Father.)

 วันนี้ คุณรู้เรื่องของพระคริสต์ผู้เสด็จมาช่วยคุณให้รอดแล้วหรือยัง? และคุณรู้จักกับพระองค์เป็นส่วนตัวแล้วหรือยัง?

คุณควรรู้เรื่อง และรู้จักกับพระเจ้าเป็นส่วนตัว เพราะนั่นจะเป็นสัมพันธภาพที่สำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคุณ!

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

– twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

 (Cr.ภาพ Crosswalk.com)

 

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

สัมพันธภาพที่ดีเริ่มต้นมาจากอะไร?

สัมพันธภาพที่ดีเริ่มต้นมาจากอะไร?

“สัมพันธภาพที่ดีเริ่มต้นมาจากการสื่อสารที่ดี!”

(A good relationship starts with good Communication.)

บางคนถึงกับกล่าวว่า …

“การสื่อสารสำคัญต่อความสัมพันธ์ ดุจเดียวกับที่ออกซิเจนจำเป็นต่อชีวิต หากปราศจากมัน คุณจะตายอย่างแน่นอน!”

(Communication to a relationship is like Oxygen to life without it…it dies.)

การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในความสัมพันธ์ หากไม่สื่อสารกันหรือสื่อสารกันไม่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็จะไม่ดีและจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย

…แล้วเราจะสื่อสารกันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ?

1. เราต้องฟังก่อนที่จะพูด

 -อย่าเอาแต่จะเป็นฝ่ายพูดหรือรีบสรุปว่าตัวเองรู้ดีว่า อีกฝ่ายหนึ่งคิดหรือต้องการอะไร โดยไม่ยอมฟังหรือฟังไม่จบ

2. เราต้องบังคับตัวเองให้ตั้งใจฟัง

-อย่าเอาแต่ฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หรือฟังเป็นพิธีไปแค่นั้น แต่ให้ตั้งใจฟังจนกว่าเราจะได้ยินจริงๆ ว่า คนที่เราคุยด้วยนั้น เขาต้องการอะไรจริง ๆ

3. เราต้องเปิดเผยและจริงใจกับคู่สนทนาของเรา

-ต้องเปิดใจ เปิดเผยตัวเองอย่างจริงใจพอที่จะนำไปสู่สัมพันธภาพอย่างเต็มศักยภาพมากที่มี

4. เราต้องใส่ใจในอวัจนภาษาของคู่สนทนา

-อย่าฟังแต่วจนภาษา (คือถ้อยคำที่พูดออกมา) แต่ให้ฟังสิ่งที่เขาพูดออกมาผ่านทางอวัจนภาษา (คือถ้อยคำ การสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด) เช่น น้ำเสียง  ใบหน้า สายตา อากัปกิริยา ฯลฯ ด้วย 

5. เราต้องจดจ่อกับเรื่องหรือประเด็นที่กำลังพูดกันอยู่ในเวลานี้เท่านั้น

-อย่าให้เกิดการเบี่ยงเบนประเด็น หรือแตกประเด็นออกนอกลู่นอกทางไปมาก จนทำลายการสื่อสารลง

6. เราต้องให้การสื่อสารของเราเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง

– ต้องมีการฟัง มีการถาม และมีการสนองตอบระหว่างการสนทนาอยู่ตลอดเวลา

7. เราต้องมีการสรุปและทบทวนสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นระยะๆ

 – อย่าคาดหวังว่า ผู้ฟังจะรับสิ่งที่เราพูดและเข้าใจ (สิ่งที่ต้องการจะสื่อ) ได้หมด การทบทวนสรุปประเด็นเป็นระยะๆ จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจกันและกันได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

Jack Welch เคยพูดว่า กุญแจสู่การสื่อสารคือ

Simplicity Consistency and Repetition”   (เรียบง่าย ต่อเนื่อง และทบทวนซ้ำ)

8. เราต้องมีเรื่องราวที่ช่วยให้คนจำได้ง่ายขึ้น

 -ให้เล่าเรื่องราวหรืออุทาหรณ์ ที่ทำให้เข้าใจประเด็นที่ต้องการสื่อ ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

9. เราต้องสื่อสารต่อกันด้วยความรักและเมตตา

-ไม่มีสิ่งใดมาแทนที่ความรักเมตตาในความสัมพันธ์ได้

10. เราต้องรู้จักสื่อสารต่อกัน อย่างมีรสชาติ และตรงความต้องการ ของผู้รับฟัง

 -ไม่มีใครชอบฟังการพูดจากแบบเรื่อย  ๆ เฉื่อย ๆ (แม้ว่าจะจริงใจก็ตาม)

ดังนั้น หากเราตระหนักในความสำคัญของการสื่อสาร และรู้จักสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ สัมพันธภาพระหว่างเรากับคนที่เราสัมพันธ์ด้วยจะแข็งแกร่งขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และจะสร้างสรรค์สิ่งดีมีคุณค่าอีกมากมายตามมา

…ลองดูสิครับ

“จงให้ถ้อยคำของท่านทั้งหลายประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ ปรุงด้วยเกลือให้มีรส เพื่อท่านจะได้รู้ว่าควรจะตอบแต่ละคนอย่างไร” (คส.4:6)

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ PropertyMe)