จะฟังคำแนะนำของใคร ก็ให้ระวังด้วย!
“อย่าตัดสินใจทำตามคำปรึกษาของคนที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำตามคำแนะนำนั้น!”
“Don’t base your decisions on the advice of those who don’t have to deal with the results.”
คำปรึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เราทุกคนล้วนต้องการคำปรึกษา แต่หากเราคิดว่า ตัวเราเองรู้ทุกอย่างแล้ว และไม่ต้องการคำปรึกษาใดๆ อีก นั่นคือ เวลาที่เราต้องการคำปรึกษาอย่างเร่งด่วน!
แล้วใครล่ะคือบุคคลที่เราควรขอรับคำปรึกษา? เราต้องตระหนักไว้เสมอว่า
หากปรึกษาถูกคน ชีวิตของเราก็เป็นสุข หากปรึกษาผิดคน ชีวิตของเราก็ต้องทนทุกข์!
คนบางคนยึดติดกฎติดกรอบจนกระดิกไม่ไหว หากไปขอคำปรึกษาจากคนประเภทนี้ คำปรึกษาของเขาแม้บางครั้งฟังดูดี แต่บางครั้งก็อาจสร้างปัญหาให้แก่เราเป็นอันมากได้ เพราะเขาอาจไม่รู้หรือไม่เข้าใจสถานการณ์ตามความเป็นจริง ต้องการความยืดหยุ่น และศิลปะในการจัดการกับปัญหานั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าทำตามคำแนะนำโดยขาดข้อมูลสำคัญบางอย่าง นอกจากนี้ บางครั้งตัวเขาเองยังอาจไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎกติกาเหล่านั้นที่เขายึดถืออยู่ซะด้วยซ้ำ ทำให้เขาเถรตรงยึดเอาแต่ตัวอักษรของกฎบัญญัติเท่านั้น
ดังนั้นหากใครปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น อย่างขาดความเฉลียว ผู้ปฏิบัติตามก็อาจได้รับผลกระทบที่หนักหนาสาหัสโดยไม่จำเป็น
แต่ตรงกันข้าม หากไปปรึกษากับคนดีอีกประเภทหนึ่งที่ไม่เคารพในกฎกติกาใดๆ เขาเอาแต่อารมณ์ หรือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ คำปรึกษาของคนประเภทนี้ บางครั้งก็ดี แต่บางครั้งก็อาจสร้างความอึดอัดใจให้แก่คนรอบข้างเป็นอย่างมาก เพราะเขาไม่มีหลักอะไรที่เป็นแก่นสารให้ควรยึดไว้เลยนอกจากตามความพอใจของตัวเขาเอง
ด้วยเหตุนี้ เวลาที่เราขอคำปรึกษาหรือให้คำปรึกษาแก่ผู้ใด เราจึงจำเป็นต้องเตือนสติตัวเราเองก่อนว่า การขอ หรือให้คำแนะนำ และหรือ การรับคำปรึกษาแนะนำจากผู้หนึ่งผู้ใด โดยปราศจากการหาข้อมูลและการใคร่ครวญตรึกตรองให้ดี อย่างมีวิจารณญาณอาจนำความหายนะ หรือความทุกข์เจ็บปวดมาสู่ตัวของเราและของผู้อื่นก็เป็นได้
ดังเช่นที่เพื่อนๆ ของโยบผู้เจตนาดี แต่กลับกลายเป็นผู้กวนใจโดยกระทำเช่นนั้นต่อโยบโดยไม่รู้ตัว
“ข้าเคยได้ยินเรื่องอย่างนี้มามากแล้ว ท่านทุกคนเป็นผู้เล้าโลมที่กวนใจ (ผู้ปลอบโยนที่ทำให้ยิ่งทุกข์ใจ) คำลมๆ แล้งๆ จะจบสิ้นเมื่อไรหนอ ท่านเป็นอะไรไปท่านจึงตอบอย่างนี้” ~โยบ 16:2-3 TH1971/THSV11
คนที่ให้คำปรึกษาที่ดี จึงควรที่จะคำนึงถึงพระทัยของพระเจ้า และเจตนารมณ์แห่งพระบัญญัติของพระองค์ก่อนความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตน และต้องทำความเข้าใจกับภูมิหลังความคิดความเชื่อ และสภาวการณ์ของคนที่อยู่ตรงหน้าของเราด้วยเสมอ
และเรื่องสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ ผู้ให้คำปรึกษาที่ดีต้องตระหนักก่อนว่า ผลกระทบที่คนที่รับคำปรึกษา จะต้องรับหรือต้องเผชิญตามมานั้นคืออะไร?
และต้องถามตนเองซ้ำ ๆ อยู่บ่อย ๆ ว่า ยังมีคำแนะนำ ทางออกหรือทางเลือกใดที่ดีกว่าที่มีอยู่นั้นอีกหรือไม่?
และจงพยายามคิดถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
จึงสรุปได้ว่า…ก่อนที่เราจะขอคำปรึกษาจากหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ใด! ขอให้เราขอรับคำปรึกษาจากพระเจ้า ผู้ทรงเป็นที่ปรึกษามหัศจรรย์ ทั้งโดยการอธิษฐาน และการศึกษาพระวจนะของพระองค์ และขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่ฝ่ายจิตวิญญาณที่ผ่านประสบการณ์ในเรื่องนั้น และคิดถึงผลกระทบและผลข้างเคียงจากการกระทำตามคำแนะนำปรึกษาของเราต่อชีวิตของผู้รับคำปรึกษา โดยขอให้ตั้งใจที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่มีความรักและมีคุณค่าแก่ผู้อื่นอย่างรับผิดชอบเสมอไป!
…จะดีไหมครับ?
-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-
twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer
(Cr.ภาพ Christian Standard Bible)