Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

วันศุกร์ประเสริฐ & วันอีสเตอร์ (คอลัมน์คำตอบชีวิต)

 คำถาม              

“พระคัมภีร์สอนอะไรเกี่ยวกับวันศุกร์ประเสริฐ (Good Friday ) และวันอีสเตอร์ (Easter Sunday) บ้างครับ?  มีบางคนแย้งว่า ไม่มีสองคำนี้ ในพระคัมภีร์ จริงไหม?

ตอบ                   

“จริงครับ ไม่มี 2 คำนี้ในพระคัมภีร์ แต่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ 2 เรื่องดังกล่าวมากมายชัดเจน คล้ายๆ กับไม่มีคำว่า “คริสต์มาส” อยู่ในพระคัมภีร์ แต่เรื่องราวการบังเกิดของพระเยซูคริสต์ อันเป็นสาระหลัก ปรากฎอยู่อย่างชัดเจนจนไม่ต้องบรรยาย

คำอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคย อย่างเช่น  พิธีมหาสนิท พิธีแต่งงาน พิธีสถาปนาศาสนาจารย์ หรือแม้แต่พิธีสถาปนาโบสถ์ ต่าง ๆ ก็ไม่มีในพระคัมภีร์ นี่ยังไม่นับเรื่องชื่อคณะ องค์กรของเรา ชื่อโบสถ์ของเรา ชื่อเพลงและรายละเอียดอื่นๆ ในการนมัสการ รวมทั้งการคำว่า การนมัสการออนไลน์ ฯลฯ และอีกมากมาย ที่ไม่ปรากฏแต่เราก็เข้าใจถึงเนื้อหาสาระ ความหมายความสำคัญของแต่ละคำและแต่ละอย่างที่เรากล่าวถึงนั้น

ดังนั้นอย่าไปติดที่ ชื่อ หรือคำ แต่จงเข้าใจความหมายและที่มาที่ไป หากสิ่งใดไม่ขัดแย้งกับพระทัยพระเจ้าตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ ก็ทำได้เลย จะทำตามบางส่วนหรือทำทั้งหมดก็ให้ดูความเหมาะสม

จริงๆ แล้ว เรื่องราว เกี่ยวกับวันศุกร์ประเสริฐและอีสเตอร์เป็นเรื่องราวเดียวกันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันเช้าศุกร์จนถึงวันอาทิตย์ คือก่อนถูกตรึงสิ้นพระขนม์ในวันศุกร์และเป็นขึ้นมาจากความตายในวันอาทิตย์

เหตุการณ์หลักวันศุกร์ประเสริฐครอบคลุมเวลาดังนี้

  • 8.00 น.ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูคริสต์ (มัทธิว 27:1-2)
  • 9.00 น. พวกเขาจับพระเยซูคริสต์ไปตรึงบนไม้กางเขน หลังจากทรมานพระองค์มาตั้งแต่คืนวันพฤหัสหรือเช้าวันศุกร์ (มาระโก15:25)
  • 12.00 น. ความมืดมิดปกคลุมทั่วทั้งแผ่นดิน (มัทธิว 27:45)
  • 15.00น. พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์ และจากนั้นเอาพระศพพระองค์ไปฝังในอุโมงค ์(มัทธิว 27:57-60) จนจบวัน (18.00น.) ยาวไปจนถึงวันเสาร์และเช้าตรู่วันอาทิตย์

ที่เรียกวันนี้ว่า Good Friday หรือ วันศุกร์ที่ดี หรือ ศุกร์ประเสริฐ เพราะสิ่งที่พระเยซูคริสต์ถูกกระทำและสิ่งที่พระองค์กระทำ สั่งสอน หรือตรัส ออกมา ล้วนก่อเกิดคุณค่ามหาศาลต่อมวลมนุษยชาติ ให้เราได้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อให้เราไปกระทำตามต่อคนในครอบครัว คือรับผิดชอบดูแล

  • บุพการี (ทั้งในยามมีชีวิตและยามที่ต้องจากไป)
  • ต่อลูกศิษย์หรือผู้ติดตามคือการมอบหมายงานที่ชัดเจน ให้ไปกระทำต่อศัตรู คือการให้อภัยในสิ่งที่พวกเขากระทำต่อเรา
  • ต่อคนที่สำนึกตัวสำนึกผิด ก็ให้โอกาส และช่วยให้รอด
  • ต่อพระเจ้าคือการไว้วางใจพระองค์จนถึงนาทีสุดท้าย
  • ต่องานที่ได้รับมอบหมาย คือการอดทนทนทุกข์ ยืนหยัดจนสำเร็จ และ
  • ต่อคนทั่วไป ก็คือ การประกาศและยืนยันข่าวดีที่ช่วยให้ผู้ฟังได้รับความรอดด้วยชีวิตและคำสอนของพระคริสต์ (ตามด้วยการเป็นขึ้นจากตายในวันอาทิตย์ของพระองค์ที่เรียกว่าวันอีสเตอร์)

บางคนเลยเชื่อว่า วันนี้น่าจะมาจากคำว่า God’s Friday (วันศุกร์ของพระเจ้า) มากกว่า!

ส่วนเหตุการณ์หลักวันอาทิตย์อีสเตอร์ (Easter Sunday)ครอบคลุม เวลา ตั้งแต่เช้าตรู่วันอาทิตย์ เมื่อพระเยซูคริสต์เป็นขึ้นจากความตาย จนสิ้นวันอาทิตย์ จากนั้นเข้าสู่ภาคต่อไปอีก 40 วัน ของพระเยซูคริสต์ที่ใช้เวลากับสาวกในโลกก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์

ชื่อ “อีสเตอร์” เป็นชื่อที่พวกคริสเตียนไปเอามาจากเทศกาลเดิมซึ่งคนในสมัยนั้นเขามีอยู่ก่อนแล้วมาปรับและต่อยอด

ความหมายอีสเตอร์ โดยทั่วไปจึงหมายถึง “วันสำคัญทางคริสตศาสนา ที่เน้นฉลองการเป็นขึ้นมาจากตายของพระเยซูคริสต์มาแทนที่เทศกาลฉลองฤดูใบไม้ผลิ (และสตรีเทพนามว่า “Eastre” ในยุโรป)

อีสเตอร์

“วันหยุดทางคริสตศาสนา เพื่อเฉลิมฉลองการสิ้นพระชนม์และการคืนกลับสู่พระชนม์ของพระเยซูคริสต์”

                                                   -Cambridge International Dictionary of English-

วันอาทิตย์อีสเตอร์

“วันเทศกาลอีสเตอร์ (วันอาทิตย์แรกหลังวันเพ็ญ ภายหลังวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี)”

                                                  -A new English Thai Dictionary ,ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม-

อีสเตอร์

“เทศกาลประจำปีของคริสตชนที่สำคัญที่สุด ตรงกับวันอาทิตย์ใน เดือนมีนาคม หรือเมษายน และเป็นการเฉลิมฉลองการคืนพระชนม์ ของพระคริสต์ภายหลังจากถูกตรึงตายบนไม้กางเขน

                                                 -Oxford, Advanced Learner’s Encyclopedic Dictionary-

อีสเตอร์      

มาจากภาษาอังกฤษโบราณ ว่า “eastre”, “eastron” ตรงกับฝรั่งเศสโบราณว่า “asteron”หรือเยอรมันโบราณว่า “ostarun,ostern”  เป็นคำที่มาจากนามของเทพเจ้าสตรี นามว่า “Eostre” (Eastre) ซึ่งมีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองสำหรับเธอ

ในวัน  “วสันตวิษุสวัต” (The Vernal  equinox- “การเฉลิมฉลองของคริสตศาสนจักร เพื่อระลึกถึง การคืนพระชนม์ของพระคริสต์ ซึ่งตรงกับเทศกาลปัสกาของพวกยิวมักถือปฏิบัติกันในวันอาทิตย์แรกหลังจากวันเพ็ญตามปฏิทินคือวันที่ 14 ของปฏิทินจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันที่  21  มีนาคมหรือหลังจากนั้น”)

      -The Shorter Oxford English Dictionary on Historical Principles, Volume I (A – Mark worthy)

โดยปกติคริสตชนแท้จะดำเนินชีวิตให้เหมือนกับว่า …….

  •  “พระคริสต์ทรงประสูติในวันคริสตมาส  -ทำให้ชีวิตของเรายินดี และมีความสุข!
  • ทรงสิ้นพระชนม์ในวันศุกร์ประเสริฐเพื่อเราเมื่อวานนี้ (อดีต) –ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งในพระคุณและถ่อมใจ!
  • ทรงเป็นขึ้นมาจากตายในวันอาทิตย์อีสเตอร์– ทำให้เรามีกำลังใจสู้ปัญหาชีวิตอย่างมีชัยชนะ!
  • ทรงสถิตกับเราในวันนี้ (ปัจจุบัน)  -ทำให้เรามีใจรักที่จะทำดีและแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น!
  • และมั่นใจว่า พระองค์จะทรงเสด็จกลับมารับเรา(ผู้เชื่อ) ในวันพรุ่งนี้ (อนาคต)”–ทำให้เรามีความหวังใจในอนาคตนิรันดร์ที่ดีกว่า!

         หากเราดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อเช่นนี้ เราจะมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อตัวเองอีกต่อไป!  

         แต่เราจะมีชีวิตที่ปีติยินดีด้วยความหวังใจในชีวิต!  และเราไม่ยอมแพ้หรือท้อถอยง่าย ๆ !

         นี่แหละ คือ ชีวิตของคนที่มีประสบการณ์กับพระคริสต์แห่งวันอีสเตอร์!

 

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์- twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

การดำเนินชีวิตโดยพระวิญญาณ (คอลัมน์คำตอบชีวิต)

คำถาม      “พระคัมภีร์สอนเรื่องราวการดำเนินชีวิตโดยพระวิญญาณหรือ ด้วยผลของพระวิญญาณไว้อย่างไรบ้าง?”

คำตอบ:      “พระคัมภีร์สอนให้เราดำเนินชีวิตดังต่อไปนี้

1.เราต้องดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ … โดย

            1).ไม่สนองความต้องการของเนื้อหนัง ที่ขัดแย้งกับพระวิญญาณ

            2).ไม่ทำสิ่งที่เราปรารถนา ที่ต่อสู้กับพระวิญญาณ

            3).ไม่อยู่แบบถูกผูกมัดใต้ธรรมบัญญัติ

“แต่ข้าพเจ้าขอบอกว่าจงดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ แล้วท่านจะไม่สนองความต้องการของเนื้อหนัง เพราะว่าความต้องการของเนื้อหนังขัดแย้งพระวิญญาณ และพระวิญญาณก็ขัดแย้งเนื้อหนัง เพราะทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน ดังนั้นท่านทั้งหลายจึงไม่สามารถทำสิ่งที่ท่านปรารถนาจะทำ แต่ถ้าท่านทั้งหลายได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณ ท่านก็ไม่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ”   กาลาเทีย 5:16-18 THSV11

2.เราต้องดำเนินชีวิตด้วยการแสดงผลของพระวิญญาณ… โดย

            1).ไม่แสดงการงานของเนื้อหนัง:

“การงานของเนื้อหนัง นั้นเห็นได้ชัด คือการล่วงประเวณี การโสโครก การเสเพล การนับถือรูปเคารพ  การถือวิทยาคม การเป็นศัตรูกัน การวิวาทกัน การริษยากัน การฉุนเฉียวกัน การใฝ่สูง การทุ่มเถียงกัน การแตกก๊กกัน การอิจฉากัน การเมาเหล้า การเล่นเป็นพาลเกเร และการอื่นๆ ในทำนองนี้ซึ่งข้าพเจ้าเคยเตือนพวกท่านมาก่อนว่า คนที่ประพฤติเช่นนั้นจะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า “ กาลาเทีย 5:19-21

            2).ให้สำแดงผลของพระวิญญาณ:

“ส่วนผลของพระวิญญาณนั้น คือความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดทน ความกรุณา ความดี ความ ซื่อสัตย์ ความสุภาพอ่อนโยน การรู้จักบังคับตน เรื่องอย่างนี้ไม่มีธรรมบัญญัติห้ามไว้เลย “กาลาเทีย 5:22-23 THSV11

3.เราต้องมีชีวิตอยู่โดยพระวิญญาณ… โดย

            1).ตรึงเนื้อหนัง ราคะ และตัณหาไว้ที่กางเขน

            2).ไม่อวดตัว ยั่วโทสะ หรืออิจฉากัน

“ผู้ที่อยู่ฝ่ายพระเยซูคริสต์ได้ตรึงเนื้อหนังไว้ที่กางเขน พร้อมกับราคะและตัณหาแล้ว ถ้าเรามีชีวิตอยู่โดยพระวิญญาณ ก็จงดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณด้วย เราอย่าอวดตัว อย่ายั่วโทสะกัน และอย่าอิจฉากันเลย”   กาลาเทีย 5:24-26 THSV11

            3).เลิกกิจการของความมืด

            4).สวมเครื่องอาวุธของความสว่าง

            5).ประพฤติตัวเรียบร้อยสมกับกลางวัน

            6).ไม่จัดเตรียมอะไรไว้เพื่อสนองตัณหาของเนื้อหนัง

“นอกจากนั้นท่านควรจะรู้ว่านี่เป็นเวลาที่ควรตื่นจากหลับแล้ว เพราะว่าความรอดได้เข้ามาใกล้กว่าสมัยที่เรา เริ่มเชื่อนั้น กลางคืนล่วงไปมากแล้ว และรุ่งเช้าก็ใกล้เข้ามา ให้เราเลิกบรรดากิจการแห่งความมืด และสวมเครื่องอาวุธแห่งความสว่าง ให้เราประพฤติตัวเรียบร้อยสมกับเวลากลางวัน ไม่ใช่เลี้ยงเสพสุราเมามาย ไม่ใช่หยาบโลนลามก ไม่ใช่วิวาทริษยากัน แต่ท่านทั้งหลายจงประดับกายด้วยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า และอย่าจัดเตรียมอะไรไว้เพื่อสนองตัณหาของเนื้อหนัง”  โรม 13:11-14 THSV11

              7).ไม่ดำเนินชีวิตแบบอยู่ใต้เนื้อหนัง แต่สนใจ และใส่ใจสิ่งที่เป็นของพระวิญญาณ

“เพราะฉะนั้นไม่มีการลงโทษคนที่อยู่ในพระเยซูคริสต์ เพราะว่ากฎของพระวิญญาณแห่งชีวิตในพระเยซูคริสต์ได้ทำให้ท่าน พ้นจากกฎแห่ง บาปและความตาย เพราะว่าสิ่งซึ่งธรรมบัญญัติทำไม่ได้ เพราะเนื้อหนังทำให้มันอ่อนกำลังไปนั้น พระเจ้าได้ทรงทำแล้ว โดยพระองค์ทรงใช้พระบุตรของพระองค์เองมา ในสภาพเสมือนเนื้อหนังที่บาป และเพื่อไถ่ บาป พระบุตรในเนื้อหนังจึงได้ทรงลงโทษบาป เพื่อความชอบธรรม   ของธรรมบัญญัติจะได้สำเร็จในตัวเราผู้ไม่ดำเนินตามเนื้อหนัง แต่ตามพระวิญญาณ เพราะว่าคนทั้งหลายที่อยู่ฝ่ายเนื้อหนัง ก็สนใจในสิ่งซึ่งเป็นของเนื้อหนัง แต่คนทั้งหลายที่อยู่ฝ่ายพระวิญญาณ ก็สนใจในสิ่งซึ่งเป็นของพระวิญญาณ การเอาใจใส่เนื้อหนังก็คือความตาย และการเอาใจใส่พระวิญญาณ ก็คือชีวิตและสันติสุข เพราะว่าการเอาใจใส่เนื้อหนังนั้นคือการเป็นศัตรูต่อพระเจ้า ไม่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า และที่จริงไม่สามารถปฏิบัติตามได้ และคนที่อยู่ในเนื้อหนัง จะเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าก็ไม่ได้ ถ้าพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในพวกท่านแล้ว ท่านก็ไม่อยู่ในเนื้อหนัง แต่อยู่ในพระวิญญาณ ใครไม่มีพระวิญญาณของพระคริสต์ คนนั้นก็ไม่เป็นของพระองค์”   โรม 8:1-9 THSV11

 4.เราต้องใคร่ครวญแต่สิ่งที่อยู่ฝ่ายพระวิญญาณ … โดย ปฏิบัติตามสิ่งดีที่

            1).เรียนรู้

            2).รับไว้

            3).ได้ยิน

            4).ได้เห็น

            5).ได้ใคร่ครวญ

“สุดท้ายนี้พี่น้องทั้งหลาย ขอจงใคร่ครวญดูสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่น่านับถือ สิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่บริสุทธิ์ สิ่งที่น่ารัก สิ่งที่ควรแก่การสรรเสริญ รวมทั้งถ้ามีสิ่งใดที่ยอดเยี่ยม สิ่งใดที่น่ายกย่อง และพวกท่านจงปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านเรียนรู้ รับไว้ ได้ยิน และได้เห็นในข้าพเจ้า แล้วพระเจ้าผู้ประทานสันติสุขจะสถิตกับพวกท่าน”  ฟีลิปปี 4:8-9 THSV11

5.เราต้องไม่ขัดขวางหรือดับพระวิญญาณ… โดย

            1).ไม่ดูหมิ่นคำสอน/คำเตือนจากพระวจนะของพระเจ้า

            2).พิสูจน์ทุกสิ่ง และสิ่งใดที่ดี จงยึดถือไว้ให้มั่น

            3).เว้นเสียจากสิ่งที่ชั่วทุกอย่าง

            4).ขอให้พระเจ้า

                 ก.ทรงชำระเราให้เป็นคนบริสุทธิ์หมดจด และ

                  ข.ทรงรักษาทั้งวิญญาณ จิตใจ และร่างกายของเราไว้ให้ปราศจากการติเตียน

“อย่าขัดขวาง พระวิญญาณ อย่าดูหมิ่นถ้อยคำของผู้เผยพระวจนะ จงพิสูจน์ทุกสิ่ง สิ่งที่ดีนั้นจงยึดถือ ไว้ให้มั่น จงเว้นเสียจากสิ่งที่ชั่วทุกอย่างขอให้พระเจ้าแห่งสันติสุขทรงชำระท่านทั้งหลายให้เป็นคนบริสุทธิ์หมดจด และทรงรักษาทั้งวิญญาณ จิตใจ และร่างกายของท่านไว้ให้ปราศจากการติเตียน จนถึงวันที่พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราจะเสด็จมา”  1 เธสะโลนิกา 5:19-23 THSV11

สรุป

เมื่อเรากลับใจเชื่อพระเจ้า พระเจ้าประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สถิตอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่มีหายไปในบางช่วง หรือ หลับไปในบางเวลา ดังนั้น ถ้าเราให้พระวิญญาณทรงชำระชีวิต ความคิด จิตใจ คำพูดและการกระทำของเรา ด้วยพระวจนะของพระเจ้า เราจะเป็นคนฝ่ายวิญญาณที่ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณโดยพระวิญญาณ ที่สำแดงผลของพระวิญญาณให้เห็นประจักษ์ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่วันหยุดราชการ แม้แต่วันเดียว

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์- twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า (คอลัมน์คำตอบชีวิต)

คำถาม:     “พระคัมภีร์สอนอะไรเราบ้างในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า?”
คำตอบ:    
“ เราเรียนรู้ว่า พระเจ้าทรงประสงค์ให้เรามีความสัมพันธ์กับพระองค์อย่างไร ตามที่เปิดเผยไว้ในพระคัมภีร์ไว้ดังนี้

1.พระเจ้าสร้างเราให้ประกอบการดี –เราควรทำดี
“เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ทำการดี ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ก่อนแล้วเพื่อให้เราดำเนินตาม”   -เอเฟซัส 2:10 THSV11

2.พระเจ้าทรงซื้อเราด้วยราคาสูง -เราควรถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของเรา
“เพราะว่าพระเจ้าทรงซื้อท่านไว้แล้วด้วยราคาสูง ฉะนั้น จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของพวกท่านเถิด”  -1 โครินธ์ 6:20 THSV11

3.พระเจ้าทรงนำให้เราเป็นคนชอบธรรมโดยพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสต์ – เราควรเป็นคนชอบธรรม
“พระเจ้าทรงทำพระองค์ผู้ทรงไม่มีบาปให้บาป เพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมของพระเจ้าทางพระองค์”-2 โครินธ์ 5:21 THSV11
“แต่พระเจ้าทรงมีพระคุณให้เขาเป็นผู้ชอบธรรมโดยไม่คิดมูลค่า โดยที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เขาให้พ้นบาปแล้ว”  -โรม 3:24 THSV11
“ใครจะฟ้องคนที่พระเจ้าได้ทรงเลือกไว้? พระเจ้าทรงทำให้พวกเขาเป็นคนชอบธรรมแล้ว”-โรม 8:33 THSV11

4.พระเจ้าทรงประสงค์ให้เรารู้จักกตัญญู -เราควรขอบคุณพระเจ้าในทุกกรณี
“จงขอบพระคุณในทุกกรณี เพราะนี่แหละเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า สำหรับพวกท่านในพระเยซูคริสต์”  -1 เธสะโลนิกา 5:18 THSV11

5.พระเจ้าพร้อช่วยเหลือเรา – เราควรเข้าใกล้พระเจ้าด้วยใจนอบน้อม

“เพราะฉะนั้น พวกท่านจงนอบน้อมต่อพระเจ้า จงต่อสู้กับมาร แล้วมันจะหนีท่านไป”  -ยากอบ 4:7 THSV11

“พวกท่านจงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะเสด็จเข้ามาใกล้ท่าน พวกคนบาปเอ๋ย จงชำระมือให้สะอาด คนสองใจ จงชำระใจให้บริสุทธิ์”-ยากอบ 4:8 THSV11

6.พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัย และป้อมปราการของเรา – เราควรวางใจในพระเจ้า

“ข้าพเจ้า จะทูลพระยาห์เวห์ว่า “ที่ลี้ภัยของข้าพระองค์ และป้อมปราการของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ผู้ที่ข้าพระองค์ไว้วางใจ””  -สดุดี 91:2 THSV11

7.พระเจ้าทรงกระทำกิจอยู่ภายในเรา -เราควรทำตามชอบพระทัยของพระเจ้า
“เพราะว่าพระเจ้าเป็นผู้ทรงทำการอยู่ภายในพวกท่าน ให้ท่านมีความประสงค์และมีความสามารถทำตามชอบพระทัยของพระองค์”
 -ฟีลิปปี 2:13 THSV11

8.พระเจ้าทรงขัดเกลาเรา -เราควรเป็นคนทรหดอดทนที่พระเจ้าใช้ได้
“และความทรหดอดทนทำให้เห็นว่าเราเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้ และการที่เป็นเช่นนั้นทำให้มีความหวัง”  -โรม 5:4 THSV11

9.พระเจ้าทรงเป็นความรอดของเรา -เราควรเฝ้าดูและรอคอยพระเจ้า
“แต่สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะมองดูพระยาห์เวห์ ข้าพเจ้าจะเฝ้าคอยพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า ระ เจ้าของข้าพเจ้าจะทรงฟังข้าพเจ้า”  -มีคาห์ 7:7 THSV11

10.พระเจ้าแสดงความรักต่อเราในขณะที่เป็นคนบาป  – เราควรซาบซึ้งในความรักของพระองค์
“แต่พระเจ้าทรงสำแดงความรักของพระองค์แก่เรา คือขณะที่เรายังเป็นคนบาปอยู่นั้น พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อเรา”  -โรม 5:8 THSV11

11.พระเจ้าประทานใจที่ประกอบด้วยฤทธิ์ ความรัก และการบังคับตน–เราควรกล้าหาญมีวินัยและมีความรัก
“เพราะว่าพระเจ้าไม่ได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา แต่ประทานใจที่ประกอบด้วยฤทธานุภาพ ความรัก และการบังคับตนเองแก่เรา”-2 ทิโมธี 1:7 THSV11

12.พระเจ้าทรงทราบทุกสิ่ง -เราไม่ควรล้อเล่นกับพระเจ้า
“อย่าหลงเลย ท่านจะล้อเล่นกับพระเจ้าไม่ได้ เพราะว่าใครหว่านอะไรลง ก็จะเก็บเกี่ยวสิ่งนั้น”   -กาลาเทีย 6:7 THSV11

13.พระเจ้าทรงปรารถนาความซื่อสัตย์ของเรา – เราไม่ควรเป็นศัตรูกับพระเจ้าโดยการเป็นมิตรกับโลก
“คนไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ท่านทั้งหลายรู้ว่าการเป็นมิตรกับโลกนั้นคือการเป็นศัตรูกับพระเจ้าไม่ใช่หรือ? เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ต้องการเป็นมิตรกับโลก ก็ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระเจ้า” -ยากอบ 4:4 THSV11

14.พระเจ้าจะเสริมกำลัง และจะช่วยเรา -เราไม่ควรกลัวหรือขยาด
“อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า อย่าขยาด เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะเสริมกำลังเจ้า เราจะช่วยเจ้า เราจะชูเจ้าด้วยมือขวาอันชอบธรรมของเรา”  -อิสยาห์ 41:10 THSV11

15.พระเจ้าจะจัดเตียมสิ่งดีที่เราคิดไม่ถึงให้แก่เรา –เราควรชื่นชมในพระคุณของพระองค์
“ดังที่มีเขียนไว้ว่า “สิ่งที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน และสิ่งที่ใจมนุษย์คิดไม่ถึง คือสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์”” -1 โครินธ์ 2:9 THSV11

16.พระเจ้าทรงพร้อมประทานสิ่งที่จำเป็นให้แก่เรา -เราไม่ควรกระวนกระวายในเรื่องใด แต่มอบทุกสิ่งไว้กับ พระเจ้า
“อย่ากระวนกระวายในสิ่งใดๆ เลย แต่จงทูลพระเจ้าให้ทรงทราบทุกสิ่งที่พวกท่านขอ โดยการอธิษฐานและการวิงวอน พร้อมกับการขอบพระคุณ”   -ฟีลิปปี 4:6 THSV11

17.พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแห่งปัญญา -เราควรทูลขอสติปัญญาและสิ่งที่ดีจากพระเจ้า
“แต่ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้คนนั้นทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับทุกคนด้วยพระทัยกว้างขวาง และไม่ทรงตำหนิ แล้วเขาก็จะได้รับตามที่ทูลขอ”  –ยากอบ 1:5 THSV11

18.พระเจ้าเรียกเราให้มาเป็นกายเดียวกัน –เราควรเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยสันติสุขของพระคริสต์
“และจงให้สันติสุขของพระคริสต์นำพาจิตใจ ของท่านทั้งหลาย พระเจ้าทรงเรียกท่านให้มาเป็นกายเดียวกันก็เพื่อสันติสุขนี้ และจงมีใจขอบพระคุณ”  -โคโลสี 3:15 THSV11

19.พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่ดี – เราควรรับการเปลี่ยนแปลงจากพระเจ้า เพื่อจะเข้าใจและทำตามพระประสงค์นั้น
“อย่าลอกเลียนแบบอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบพระประสงค์ของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัย และอะไรดียอดเยี่ยม” -โรม 12:2 THSV11

20.พระเจ้าไม่ดูถูกเรา -เราควรตระหนักว่าใจสำนึกผิดคือ เครื่องบูชาที่พระเจ้าปรารถนา
“เครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงปรารถนาคือจิตใจที่แตกสลาย ใจที่แตกสลายและสำนึกผิดนั้น ข้าแต่พระเจ้า พระองค์จะไม่ทรงดูถูก”  -สดุดี 51:17 THSV11

21.พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ -เราควรวางใจในความสัตย์ซื่อของพระเจ้า
“ไม่มีการทดลองใดๆ เกิดขึ้นกับท่านทั้งหลาย นอกเหนือการทดลองซึ่งเคยเกิดกับมนุษย์ พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ทรงให้พวกท่านต้องถูกทดลองเกินกว่าที่ท่านจะทนได้ และเมื่อถูกทดลอง พระองค์จะทรงให้มีทางออกด้วย เพื่อพวกท่านจะมีกำลังทนได้”-1 โครินธ์ 10:13 THSV11

22.พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแห่งความรอด -เราต้องตระหนักว่า ชีวิตเราจะรอดหรือตาย ล้วนขึ้นอยู่กับพระเจ้า
“พระเจ้าของเราทรงเป็นพระเจ้าแห่งความรอด การหลุดพ้นจากความตายนั้นก็อยู่ที่พระยาห์เวห์องค์เจ้านาย”   -สดุดี 68:20 THSV11

23.พระเจ้าทรงไม่ทำบาปและคุ้มครองคนของพระองค์ -เราควรเกิดจากพระเจ้าและไม่ทำบาป
“เรารู้ว่าทุกคนที่เกิดจากพระเจ้าไม่ทำบาป แต่พระองค์ผู้ทรงบังเกิดจากพระเจ้าทรงคุ้มครองรักษาเขา และมารร้ายไม่แตะต้องเขา”  -1 ยอห์น 5:18 THSV11

24.พระเจ้าทรงเป็นผู้เรียกเราออกมาจากความมืด -เราควรตระหนักว่าเราเป็นปุโรหิตหลวงของพระเจ้า และถวายเกียรติแด่พระองค์
“แต่พวกท่านเป็น พงศ์พันธุ์ที่ทรงเลือกสรร เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นประชากรอันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า เพื่อให้พวกท่านประกาศพระเกียรติคุณ ของพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียกพวกท่านให้ออกมาจากความมืด เข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์”  -1 เปโตร 2:9 THSV11

25.พระเจ้าทรงกระทำราชกิจมากมายเพื่อเรา -เราควรรักษาพระบัญญัติของพระเจ้าและตั้งความหวังไว้ในพระองค์
“เพื่อพวกเขาจะตั้งความหวังไว้ในพระเจ้า และไม่ลืมพระราชกิจของพระเจ้า แต่รักษาพระบัญญัติของพระองค์”  -สดุดี 78:7 THSV11

26.พระเจ้าทรงเป็นกำลังของเรา -นพรเราควรร้องเพลงด้วยความยินดีถวายพระองค์
“จงร้องเพลงด้วยความยินดีถวายแด่พระเจ้า พระกำลังของพวกเรา จงโห่ร้องด้วยความชื่นบานถวายแด่พระเจ้าของยาโคบ” -สดุดี 81:1 THSV11

27.พระเจ้าทรงประทานสิทธิพิเศษให้แก่เรา -เราควรทำงานร่วมกับพระเจ้า
“ในเมื่อเราทำงานร่วมกับพระเจ้า เราจึงขอร้องท่านทั้งหลายว่า อย่ารับพระคุณของพระเจ้าโดยไม่เกิดประโยชน์”  -2 โครินธ์ 6:1 THSV11

 

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์- twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ Rad Pozniakov)

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ชีวิตที่สมดุลเป็นอย่างไร? (คอลัมน์คำตอบชีวิต)

คำถาม:      “ ชีวิตสมดุลเป็นอย่างไร

                    และเราจะต้องทำอะไร และอย่างไร  เราจึงจะสมดุลอย่างนั้นได้?”

คำตอบ:       สมดุล (Balance) [สะมะดุน สมดุน] มีความหมายว่า (ว. ) เสมอกัน เท่ากัน. (อ. equilibrium) 

คำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันคือ [syn.] เท่าเทียม,เสมอภาค,พอเหมาะ เสมอกัน ดุลยภาพ 

ความสมดุล (Balance) โดยทั่วไป หมายถึง การนำส่วนประกอบต่างๆ ของศิลปะ เช่น รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก มาจัดเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะพอดีให้เกิดน้ำหนักทั้งสองข้าง ซ้ายขวาเท่ากัน โดยมีแกนสมมติ (หรือจุดศูนย์ถ่วง) ทำหน้าที่แบ่งภาพเป็นซ้าย-ขวา หรือ บน-ล่าง การเท่ากันนี้อาจจะไม่เท่ากันจริงก็ได้แต่เท่ากันในความรู้สึก ความสมดุลแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ความสมดุลสองข้างเท่ากัน และความสมดุลสองข้างไม่เท่ากัน หรือที่เรียกกันว่า       

  1. ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน คือ การวางรูปทั้งสองข้างของแกนสมดุล เป็นการสมดุลแบบธรรมชาติลักษณะแบบนี้ใน ทางศิลปะมีใช้น้อย ส่วนมากจะใช้ในลวดลายตกแต่ง ในงานสถาปัตยกรรมบางแบบ หรือ ในงานที่ต้องการดุลยภาพที่นิ่งและมั่นคงจริง ๆ
  1. ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาไม่เหมือนกัน มักเป็นการสมดุลที่เกิดจาการจัดใหม่ของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะที่ทางซ้ายและขวาจะไม่เหมือนกัน ใช้องค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน แต่มีความสมดุลกัน อาจเป็นความสมดุลด้วยน้ำหนักขององค์ประกอบ หรือสมดุลด้วยความรู้สึกก็ได้ การจัดองค์ประกอบให้เกิดความ สมดุลแบบอสมมาตร อาจทำได้โดยเลื่อนแกนสมดุลไปทางด้านที่มีน้ำหนักมากว่า หรือ เลื่อนรูปที่มีน้ำหนักมากว่าเข้าหาแกน จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น หรือใช้หน่วยที่มีขนาดเล็กแต่มีรูปลักษณะที่น่าสนใจถ่วงดุลกับรูปลักษณะที่มีขนาดใหญ่แต่มีรูปแบบธรรมดา

ในชีวิตจริง เราต้องตระหนักว่า เราอาจไม่สามารถแบ่งชีวิตเราออกเป็น 2 ส่วนเหมือนกัน เท่ากันเป๊ะ แบบเป็นดุลยภาพแบบสมมาตรได้ แต่เรา สามารถมีสมดุล ในความรู้สึก ในความเชื่อ(ศรัทธา)อย่างดุลยภาพแบบอสมมาตรได้  เช่น ด้านหนึ่งของชีวิตเราประสบปัญหา อาทิ ธุรกิจมีปัญหา หรือ ครอบครัวมีปัญหา หรือสุขภาพมีปัญหา ฯลฯ แต่จิตใจเรากลับมีดุลยภาพ เพราะเรามีประสบการณ์กับการหนุนชูจิตจากพระวิญญาณบริสุทธิ์และพระวจนะของพระเจ้า และได้รับการชูใจจากพี่น้องผู้มีความเชื่อคนอื่นๆ ทำให้เราไม่เอียง ไม่แกว่ง แต่…เรายังไปต่อได้! 

บางคนให้คำแนะนำไว้ว่า ในชีวิตของเรา เราควรมีสมดุล 6 ประการต่อไปนี้ นั่นคือดุลยภาพในเรื่อง           

  1. อาชีพ การงาน:  อย่าทำงานหาเงินอย่างเดียว จนชีวิตเสียดุล ให้เอาเงินที่เรามีไปพัฒนาต่อยอดอาชีพการงาน เช่น ไปเรียนต่อ หลักสูตรวิชาที่จะไปเพิ่มความสามารถอันจะเอื้อประโยชน์ต่อการทำงานเรา
  1. ร่างกาย สุขภาพ: อย่าเอาแต่เอาเวลาไปทำงานอย่างเดียวจนละเลยดูแลตัวเองมานาน ลองแบ่งเงินและเวลาไปทำให้เรามีร่างกายที่ดีขึ้นบ้าง เช่น ไปสมัครฟิตเนสแล้วไปเล่น ไปเสริมสวยสร้างความมั่นใจ และสร้างความแข็งแรงจากภายใน ในฝ่ายจิตวิญญาณให้สมดุลเพราะมันเป็นเรื่องที่สำคัญ
  1. อารมณ์: อย่าเอาแต่ทำงาน หรือยุ่งวุ่นวาย ตามอารมณ์จนเครียดซึมเศร้าจากการทำงาน เกิดเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) จงสร้างสมดุลให้ชีวิตโดย จัดการบริหารส่วนนี้ให้อารมณ์ดีขึ้นโดยอาจการแบ่งเงินเพื่อให้รางวัลชีวิตกับตัวเองบ้าง แต่อย่ามากเกินไปจนเสียดุล
  1. การเงิน: อย่าเอาแต่หา(หรือไม่ยอมหา) และใช้เงินอย่างฟุมเฟือย จนเงินไม่เหลือ เราควรจะแบ่งเงินออกมาออมเพื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ  เพื่อมีดุลในด้านการเงินไว้เสมอ
  1. ครอบครัว:  อย่ายุ่งกับงานการ จิตอาสา หรือ กิจกรรมอะไร กับใคร จนละเลยขาดการแสดงความรักต่อคนในครอบครัวรวมทั้งการ ละเลยการแสดงความกตัญญู กตเวที ต่อบุพการี เราจึงควรจัดสรรเงินไว้เผื่อแผ่คนในบ้าน(สามี/ภรรยา/ลูก) อย่างสมดุล
  1. จิตวิญญาณ: อย่าปล่อยเวลา ฆ่าเวลา หรือ หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่เราทำ จนละเลยฝ่ายจิตวิญญาณของเราและคนในครอบครัวของเรา จงจัดเวลาที่จะช่วยและพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเราและคนในครัวเรือนของเรา อย่างมี ดุลยภาพ

ดังนั้นในก่ารมีสมดุลในการดำเนินชีวิต เราต้องไม่ปล่อยให้มีอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นกับเราอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาทิ

  1. 1.รับงานหรือทำงานหนักเกินตัว เช่นเกินกำลังกาย เกินสติปัญญา เกินความสามารถ หรือเกินกำลังทรัพย์ที่มี
  2. 2.เพิ่มเวลาในการทำงานยาวนานเกินกำลังจะรับไหว
  3. 3.เพิ่มภาระรับผิดชอบที่บ้านมากจนหนักมาก
  4. 4.เพิ่มปริมาณงานต่างๆ ที่ประดังเข้าแบบไม่ปฏิเสธ หรือแยกแยะ   ฯลฯ

เพราะถ้าเราปล่อยให้ตารางชีวิตของเราขาดดุลยภาพอย่างนี้ต่อไป จนเกิด “ภาวะหมดไฟ” ชีวิตเราและครอบครัวก็อาจพังทลายลงได้ อย่างไม่คาดฝัน!

แต่ถ้าเราปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต และการทำงานของเราเสียใหม่ให้เกิดความสมดุล ฝ่าย กาย จิต และวิญญาณ แม้จะเป็นดุลยภาพแบบอสมมาตร แต่เราและทุกคนในครอบครัว รอบตัว หรือในองค์กรของเราก็จะมีความสุขมากกว่าที่ผ่านมา อย่างแน่นอน

สรุป

            ชีวิตของเราไม่มีดุลยภาพที่สมบูรณ์

            จึงไม่มี work-life ที่สมบูรณ์แบบ

แต่แม้ไม่มีสมดุลในแต่ละวัน แต่ภาพรวม (ทั้งเดือน/ปี) ของเราอาจที่ออกผลมาเมื่อรวมกันเข้าด้วยกันแล้ว ก็น่าจะก่อเกิดผลดีและความสมดุลที่น่าพอใจ ในบั้นปลาย

“เรารู้ว่าเหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า คือแก่คนทั้งหลายที่พระองค์ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์”  โรม 8:28 THSV11

            งานหนัก แต่สนุกและชอบ อาจสมดุลดีกว่า งานเบา แต่ไม่ชอบ

            งานได้เงินน้อย แต่สุขใจ อาจสมดุลกว่า งานได้เงินเยอะ แต่ทุกข์มาก

            งานสนุกเพลิดเพลินมาก แต่ ทำให้คนในครอบครัวขมขื่น ก็อาจไม่สมดุล

            งานได้รับความสำเร็จมาก แต่ ไม่มีเวลาพัฒนาฝ่ายจิตวิญญาณของตน(หรือคนในครอบครัวเลย) ก็ไม่ถือว่าเป็นชีวิตที่สมดุล

ข้อแนะนำสุดท้าย

  1. 1.จงยอมรับว่า ไม่มีความสมดุลที่สมบูรณ์แบบทุกในโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสมบูรณ์แบบ เรื่อง “งานและชีวิต” แต่เราสามารถทำให้จบอย่างสมบูรณ์ได้!
  2. 2.เราควรหางานที่ทำแล้ว เราและพระเจ้ามีความสุข
  3. 3.เราควรให้เความใส่ใจในสุขภาพของเราให้ดีก่อนที่เราจะไม่มีสุขภาพเหลือให้ใส่ใจ
  4. 4.เราควรเรียนรู้และรู้จักยอมละวาง (งาน/ภาระ)และ(ลา)หยุดพักตามควร
  5. 5.เราควรจัดให้มีเวลาเพลิดเพลิน และพักผ่อนกับครอบครัว และคนที่เรารัก
  6. 6.เราควรรู้จักแบ่งเส้นแยกระหว่างเวลาทำงาน และเวลาส่วนตัวของเรา
  7. 7.เราควรตั้งเป้าที่จะให้พระเจ้าเป็นหนึ่งในชีวิต การงาน และเชื่อฟังทำตามคำสอนในพระวจนะของพระองค์ด้วยความยินดีและไว้วางใจในพระองค์!

 

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์- twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

พระคัมภีร์สอนอะไรเกี่ยวกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (คอลัมน์คำตอบชีวิต)

คำถาม:               พระคัมภีร์สอนอะไรบ้างเรื่องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน?

คำตอบ:              ในพระคัมภีร์สอนเรื่องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไว้ดังนี้

1.การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนับเป็นการดี และน่าชื่นใจมาก

ดูเถิด เป็นการดีและน่าชื่นใจมากสักเท่าใด ที่พี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เหมือนน้ำมันประเสริฐอยู่บนศีรษะ ไหลลงมาบนหนวดเครา บนหนวดเคราของอาโรน ไหลลงมาบนคอเสื้อของท่าน เหมือนน้ำค้างของภูเขาเฮอร์โมน ซึ่งตกลงบนเทือกเขาศิโยน เพราะว่าพระยาห์เวห์ทรงบัญชาพระพรที่นั่น คือชีวิตยืนยาวเป็นนิตย์”                                                                                                                                                                 สดุดี 133:1-3 THSV11

2.พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทท่ามกลางพวกเราเพื่อทำตามพระบัญชา

“พระหัตถ์ของพระเจ้าก็ทรงอยู่เหนือยูดาห์ด้วย เพื่อทำให้พวกเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะทำตามสิ่งที่ พระราชาและพวกเจ้านายได้บัญชาไว้ตามพระวจนะของพระยาห์เวห์”

                                                                                     2พงศาวดาร 30:12 THSV11

3.พระเจ้าทรงช่วยเป็นผู้ช่วยให้เราทั้งหลายเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

“ขอพระเจ้าผู้เป็นแหล่งความทรหดอดทนและการหนุนใจ ทรงช่วยให้ท่านทั้งหลายเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดย พระเยซูคริสต์”

                                                                                      โรม 15:5 THSV11

4.พระเจ้าทรงบัญชาให้พวกเราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไม่ใฝ่สูง

 “จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่าใฝ่สูง แต่ยอมสมาคมกับคนต่ำต้อย อย่าถือว่าตัวฉลาด”

                                                                                        โรม 12:16 THSV11

5.พระเจ้าทรงบัญชาให้เราพยายามคงรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไว้

 “จงพยายามรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่มาจากพระวิญญาณนั้น โดยมีสันติภาพเป็นเครื่องผูกพัน”

                                                                                          เอเฟซัส 4:3 THSV11

6.พระเจ้าทรงประทานคนเพื่อเตรียมเราให้รับใช้จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

“และพระองค์เองประทานให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์ เพื่อเตรียมธรรมิกชนสำหรับการปรนนิบัติและการเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อและในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า บรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่ คือโตเต็มถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์” 

                                                                                           เอเฟซัส 4:11-13 THSV11

7.เราทั้งหลายควรเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แสดงความรัก และความถ่อมใจต่อกัน

“ในที่สุดนี้ ท่านทั้งหลายจงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เห็นอกเห็นใจกัน รักกันฉันพี่น้อง มีจิตใจอ่อนโยนและถ่อมตัว”

                                                                                            1 เปโตร 3:8 THSV11

8.เราควรเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

“สุดท้ายนี้ พี่น้องทั้งหลาย ขอลาก่อน จงกลับสู่สภาพดีดังเดิม จงฟังคำขอร้องของข้าพเจ้า จงเป็นน้ำหนึ่งใจ เดียวกัน จงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และพระเจ้าแห่งความรักและสันติสุขจะสถิตกับท่านทั้งหลาย”

                                                                                             2 โครินธ์ 13:11 THSV11

9.เราควรทำให้พระเจ้าและผู้รับใช้พระเจ้ายินดีด้วยการมีความคิดเป็นหนึ่งเดียวกัน

“เพราะฉะนั้น ในเมื่อมีความชูใจในความสัมพันธ์กับพระคริสต์ มีการปลอบโยนจากความรัก มีการสามัคคีธรรม กันจากพระวิญญาณ และมีความเห็นใจกันและความเมตตากรุณา ก็ขอให้ท่านทั้งหลายทำให้ความยินดีของข้าพเจ้าเต็มเปี่ยม ด้วยการมีความคิดอย่างเดียวกัน มีความรักอย่างเดียวกัน มีจิตใจและความคิดเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่าทำสิ่งใดด้วยการชิงดีหรือถือดี แต่จงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัวด้วยใจถ่อม อย่าให้ต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นๆ ด้วย จงมีจิตใจเช่นนี้ในพวกท่านเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์”                                                         

                                                                                              ฟีลิปปี 2:1-5 THSV11

10.เราควรแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันออกมาเป็นการกระทำและการให้(การถวาย)

“คนทั้งหลายที่เชื่อนั้นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และไม่มีใครอ้างว่าสิ่งของที่ตนมีอยู่นั้นเป็นของตนเอง แต่ทั้งหมด เป็นของส่วนกลาง และด้วยฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่บรรดาอัครทูตก็เป็นพยานถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระคุณอันยิ่งใหญ่อยู่กับพวกเขาทุกคน เพราะว่าในพวกเขาไม่มีใครขัดสน ใครมีไร่นาบ้านเรือนก็ขายเสีย และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของบรรดาอัครทูต พวกอัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามความจำเป็น โยเซฟผู้ที่บรรดาอัครทูตเรียกว่า บารนาบัส ซึ่งแปลว่าลูกแห่งการหนุนน้ำใจ เป็นเลวีชาวเกาะไซปรัส มีที่ดินก็ขายเสีย และนำเงินค่าที่ดินนั้นมาวางไว้ที่เท้าของพวกอัครทูต”

                                                                                                 กิจการ 4:32-37 THSV11

สรุป

วันนี้ คุณได้ส่งเสริมให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันขึ้นในคริสตจักร หรือว่าคุณกำลังทำลายความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันในท่ามกลางพี่น้องในคริสตจักรของคุณลงไป

คุณได้เพียรพยายามให้คงความเป็นน้ำหนึ่งในคริสตจักรของคุณ อย่างสุดกำลังแล้วหรือไม่?

อย่างไร?

 

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์- twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

 

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

คอลัมน์คำตอบชีวิต

คำถาม :       ”ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคริสตจักร และคนในคริสตจักรควรเป็นอย่างไร?”

คำตอบ:       #เราควรมีความสัมพันธ์กับคริสตจักรแบบนี้ คือมี

1.ความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามที่คริสตจักรได้มีข้อตกลงกันไว้ เพราะจะทำให้คริสตจักร

            1).เข้มแข็งในความเชื่อ

            2).มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ (กิจการ 16:4-5)

2.ความสัมพันธ์ที่ปฏิบัติตามขั้นตอนในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ตามที่พระคริสต์มอบไว้ (ตามพระคัมภีร์) โดยไม่ไปเป็นความต่อหน้าคนไม่เชื่อ เพราะจะทำให้คริสตจักร

            1).บริสุทธิ์ และ

            2).มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา เกิดการคืนดีกัน (มัทธิว 18:15-20)

            3).ไม่ทำให้คริสตจักรและพระคริสต์อับอาย

            4).ไม่ตกจากระดับที่ควร

            5).ไม่ทำร้าย และไม่โกงกัน (1โครินธ์ 6:1-8)

3.ความสัมพันธ์ที่ห่วงใยซึ่งกันและอธิษฐานเผื่อกัน เพราะจะทำให้ เราได้เห็นการอัศจรรย์เกิดขึ้น

                                                            กิจการ 12:1-19 THSV11

4.ความสัมพันธ์ที่มีการเตือนสติ และหนุนใจกัน ด้วยพระวจนะของพระเจ้า เพราะจะทำให้

            1).เกิดความชื่นชมยินดี

            2).เกิดมีกำลังใจ

            3).เกิดการอวยพร ให้มีสันติสุข

            4).เกิดการสั่งสอน และการประกาศพระวจนะ (กิจการ 11:21-24 /  กิจการ 15:30-33, 35)

5. ความสัมพันธ์ที่ทุกคนทำแต่สิ่งที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า เพราะจะทำให้

            1).คนไม่หลงผิดไป

            2).คนได้รับความรอด (1 โครินธ์ 10:31-33)

 6.ความสัมพันธ์ที่ไม่ก่อเกิดความสับสนวุ่นวายภายในคริสตจักร เพราะจะทำให้ทุกคน

            1). ได้เรียนรู้ และ

            2).ได้รับการหนุนใจ (1 โครินธ์ 14:26-36)

7. ความสัมพันธ์ที่ก่อเกิดน้ำใจช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย เพราะจะทำให้

            1)เกิดความพร้อมที่จะช่วยเหลือพี่น้องผู้ตกยาก

            2).เกิดระบบในการแยกและสะสมเงินไว้ พร้อมช่วยเหลือกัน (1โครินธ์ 16:1-4)

8.ความสัมพันธ์ที่รักและมีน้ำใจต่อกัน เพราะจะทำให้

            1).ไม่ขัดแย้งกัน

            2).ไม่แตกแยกกัน

            3).ไม่สร้างความอับอาย หรือดูหมิ่นคริสตจักร   (1 โครินธ์ 11:17-22, 33-34)

9.ความสัมพันธ์ที่ขวนขวายในการทำให้คริสตจักรเจริญขึ้น เพราะจะทำให้

            1).แต่ละคนคิดถึงส่วนรวมก่อนส่วนตัว

            2).แต่ละคนจะจำเริญขึ้นพร้อมๆกัน  (1 โครินธ์ 14:1-19)

10.ความสัมพันธ์ที่เปิดโอกาสให้พี่น้องมีส่วนร่วมในพันธกิจ เพราะจะทำให้

            1).บางคนมีส่วนร่วมในการถวายทรัพย์

            2).บางคนมี่โอกาสได้เป็นพรและรับพระพร (ฟีลิปปี 4:14-20)

สรุป

ความสัมพันธ์ในคริสตจักรควรเป็นสัมพันธ์แบบคนในครอบครัวของพระคริสต์ ที่มีการประพฤติปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก และความเข้าใจต่อกัน ตามหลักการที่ปรากฎชัดเจนอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์  (1ทิโมธี 3:14-15)

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

 

Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

พระคัมภีร์สอนให้ดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับเงินทองอย่างไร? (คอลัมน์คำตอบชีวิต)

คำถาม :     “พระคัมภีร์สอนให้เราดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเงินทองอย่างไรบ้าง?”

คำตอบ:              พระคัมภีร์สอนเราดังนี้

1.เราต้องไม่โลภเงินทองหรือสิ่งของ(ของผู้อื่น)            

“ข้าพเจ้าไม่ได้โลภเงินหรือทองหรือเสื้อผ้าของใครเลย” กิจการ 20:33 THSV11

เพราะว่า

  • 1).การรักเงินทองเป็นรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งมวล
  • 2).การโลภเงินทองทำให้เราหลงไปจากความเชื่อ
  • 3).การโลภเงินทอง ทำให้เราตรอมตรมด้วยความทุกข์

“เพราะว่าการรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด ความโลภเงินทองนี้ที่ทำให้บางคนหลงไปจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์มากมาย”   1ทิโมธี 6:10 THSV11

2.เราควรซื่อสัตย์ในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง

“ดังนั้นถ้าพวกท่านยังไม่ซื่อสัตย์ในเงินทองอธรรมแล้ว ใครจะมอบของเที่ยงแท้ให้แก่ท่าน?”  ลูกา 16:11 THSV11

3 .เราต้องเลือกชื่อเสียงดีก่อนเลือกเงินทอง

“ชื่อเสียงดีนั้นควรเลือกยิ่งกว่าความมั่งคั่งมากมาย และมีคนนับถือก็ดีกว่ามีเงินมีทอง” สุภาษิต 22:1 THSV11

4.เราต้องไม่รักเงินทองมากกว่ารักคน

“แต่จงเข้าใจข้อนี้คือ วาระสุดท้ายนั้นจะเป็นเวลาที่น่ากลัว เพราะผู้คนจะเห็นแก่ตัว รักเงินทอง โอ้อวด หยิ่งยโส ชอบดู หมิ่น ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ อกตัญญู ชั่วร้าย ไร้มนุษยธรรม ไม่ให้อภัยกัน ใส่ร้ายกัน ไม่ยับยั้งชั่งใจ ดุร้าย เกลียดชังความดี ทรยศ มุทะลุ โอหัง รักความสนุกมากกว่ารักพระเจ้า ยึดถือทางพระเจ้าแต่เพียงเปลือกนอก แต่ปฏิเสธฤทธิ์เดชของทางนั้น จงอย่าเกี่ยวข้องกับคนพวกนั้น”   2 ทิโมธี 3:1-5 THSV11

5.เราต้องไม่ให้เงินทองเป็นพระเจ้าของเรา

“เพราะฉะนั้นเมื่อเราเป็นเชื้อสายของพระเจ้าแล้ว เราก็ไม่ควรถือว่าพระเจ้าทรงเป็นทอง เงิน หรือหิน ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากศิลปะและความคิดของมนุษย์”  กิจการ 17:29 THSV11

6.เราควรใช้เงินทองเพื่อแสดงความเมตตาต่อผู้ที่ลำบากขัดสน

“เราจะใช้เงินทองของเราตามใจตัวเองไม่ได้หรือ? ทำไมท่านอิจฉาเมื่อเห็นเราใจดี?’”  มัทธิว 20:15 THSV11

7.เราควรรู้จักใช้เงินทองในการสร้างมิตรสหายทั้งในโลกและในสวรรค์

“เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงทำตัวให้มีมิตรสหายด้วยเงินทองอธรรม เพื่อที่ว่าเมื่อสูญเสียมันไปแล้ว เขาจะได้ต้อนรับท่านไว้ในที่อาศัยตลอดไป”  ลูกา 16:9 THSV11

8.เราสามารถช่วยคนและถวายเกียรติแด่พระเจ้าได้แม้เราไม่มีเงิน

“แต่เปโตรกล่าวว่า “เงินและทองเราไม่มี แต่สิ่งที่เรามีนั้นเราจะให้ท่าน คือในพระนามของพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ จงเดินเถิด””  กิจการ 3:6 THSV11

9.เราต้องไม่รับใช้พระเจ้าและรับใช้เงินทองไปพร้อมกัน

“ไม่มีผู้ใดเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เพราะจะเกลียดชังนายคนหนึ่งและจะรักนายอีกคนหนึ่ง หรือจะนับถือนายคนหนึ่งและจะดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านจะรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้””  ลูกา 16:13 THSV11

สรุป

ขอให้เราดำเนินชีวิตโดยใช้เงินทองให้เป็น คือให้เงินทองเป็นทาสรับใช้ที่ดี และอย่าให้มันเป็นนายที่เลวของเรา จงใช้เงินเพื่อช่วยคนและถวายเกียรติแด่พระเจ้า อย่าให้เงินทำให้เราเห็นแก่ตัว ทำให้พระเจ้าเสียพระทัยและเสียพระเกียรติ

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์- twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ shutterstock)