“การห่วงใยในคนอื่นควรนำหน้าการเผชิญหน้ากับบุคคลคนนั้น!”
(Caring For People Should Precede Confronting People.)
จอห์น แม็กซ์เวลล์ กล่าวไว้ว่า …
“ความขัดแย้งเป็นดุจมะเร็ง การตรวจพบแต่เนิ่น ๆ จะเพิ่มความเป็นไปได้ในการรักษาและก่อเกิดสุขภาพที่ดี!” (Conflict is like cancer; early defection increases the possibility of a healthy outcome.)
ความจริงที่เราควรรู้เกี่ยวกับ “ความขัดแย้ง” ก็คือ
- ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (Conflict is Unavoidable.)
- การเผชิญหน้ากับความขัดแย้งเป็นเรื่องยาก (Confrontation is Difficult)
- วิธีที่เราใช้จัดการกับความขัดแย้งเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของเราในสถานการณ์ยากลำบาก(How We Handle Conflict Determines Our Success in Tough Situations.)
วิธีที่คนเรามักใช้จัดการกับความขัดแย้งมีหลากหลาย อาทิ
1) วิธีชนะเท่านั้น เท่าไรไม่ว่า =แพงเท่าไรไม่ว่า ต้องเป็นฝ่ายชนะเท่านั้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะโหดร้ายและต้องทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง
2) วิธีเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ = เพิกเฉยกับปัญหาและความขัดแย้งราวกับว่า มันไม่เคยเกิด ไม่เคยมีหรือซุกไว้ใต้พรมเพื่อหลอกตัวเอง
3) วิธีบ่นว่า = วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้ตัวเองชนะ แต่ทำให้คนอื่น ๆ รำคาญ และไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งใด ๆ
4) วิธีแก้แค้น หรือจดจำความผิด = วิธีนี้ไม่ทำให้ชีวิตสามารถเริ่มต้นความสดใหม่หรือความสดใสได้อีกครั้ง
5) วิธีใช้อำนาจจัดการ = วิธีนี้ ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งจริง ๆ เพียงแค่กดไว้ หรือเลื่อนเวลาในการจัดการกับมันออกไปหรือรอเวลาปะทุขึ้นมาใหม่
6) วิธียกธงขาว = ยอมแพ้ เลิก ลาออกและจากไป เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบถาวรกับปัญหาที่ชั่วคราว
จะสังเกตได้ว่า ไม่มีวิธีใดข้างต้นที่จะช่วยให้ “บุคคลนั้น” สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิถีที่สร้างสรรค์ที่จะก่อเกิดผลดีโดยรวมเลย
วิถีในการเผชิญหน้ากันอย่างสร้างสรรค์
1. จงเผชิญหน้ากับบุคคลนั้น ก็ต่อเมื่อคุณห่วงใยบุคคลนั้นจริง ๆ เท่านั้น
-การเผชิญหน้ากันเพื่อเอาชนะกันหรือเรียกร้องให้อีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิด คงไม่ใช่บรรยากาศที่เหมาะกับการปรับความเข้าใจหรือแก้ไขความขัดแย้ง
-เราต้องส่งเสริมบรรยากาศที่แต่ละฝ่ายคิดเหมือนกันนั่นคือ ให้ชนะกันทั้ง 2 ฝ่าย (หรืออย่างน้อยก็ขอให้อีกฝ่ายหนึ่งชนะไปก่อน)
2. จงพบปะกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้(เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น) -ปกติเมื่อเกิดความขัดแย้ง คนเรามักเลือกวิธีหลีกเลี่ยง เลื่อนการจัดการกับมันออกไป หรือขอให้ คนอื่นแก้ไขปัญหาแทนเรา แต่วิธีเหล่านั้นมีแต่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง! อย่าให้เราหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบหรือเรียกหาแค่บรรยากาศที่สะดวกสบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่เราควรรีบพบปะกันในทันทีแบบหน้าต่อหน้า (อย่าผ่านทางอื่น)
3. จงแสวงหาความเข้าใจกัน โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกัน มีคำเตือนสติว่า …“คนที่แสดงความคิดเห็นก่อนที่เขาเข้าใจ เป็นคนปกติ แต่คนที่ประกาศคำตัดสินก่อนที่เขาเข้าใจ เป็นคนเขลา!” (The Person who gives an opinion before he understands is human, but the person who gives a judgment before he understands is a fool.)
ชาร์ล เอฟ เคทเธอริง เคยกล่าวว่า… “มีความแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวง ระหว่าง การรู้และการเข้าใจคุณอาจรู้มากมายเกี่ยวกับบางสิ่งแต่คุณไม่เข้าใจในสิ่งนั้นจริง ๆ เลย!” (There is a great difference between knowing and understanding; you can know a lot about something and not really understand.)
4. จงคิดถึงโครงเรื่องของสิ่งที่จะคุยกัน
1) จงบอกถึงการรับรู้ของคุณ (โดยไม่ด่วนสรุปหรือตัดสินแรงจูงใจของอีกฝ่ายหนึ่ง –เพียงแต่บอกว่า คุณเห็นอะไร และพรรณนาถึงปัญหาที่คุณคิดว่า มันจะก่อขึ้น)
2) จงบอกว่า สิ่งนี้ทำให้คุณรู้สึกอย่างไร? -พูดความรู้สึกออกมาให้ชัดเจน (ไม่ว่าจะโกรธหรือเศร้า) โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวหาหรือตัดสินกันก่อน
3) จงอธิบายว่า ทำไมสิ่งนี้จึงสำคัญต่อคุณ ขอให้ทุกขั้นตอนนี้กระทำโดยปราศจากการใช้อารมณ์รุนแรงหรือความขมขื่นผ่านคำพูดใด ๆ
5. จงหนุนใจให้เกิดการสนองตอบ -อย่าเผชิญหน้ากันโดยไม่ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ตอบสนอง ถ้าคุณใส่ใจหรือห่วงใยในคนนั้นจริง ๆ
คุณจะต้องการฟังเขาพูดให้จบอย่างตั้งใจ แต่จงระวัง เพราะว่า -บ่อยครั้งในขณะที่เราคิดว่าคนอื่นคือตัวปัญหา แต่แท้จริงแล้วตัวเราเองนั่นต่างหากที่เป็นตัวปัญหา!
-การหนุนใจอีกฝ่ายหนึ่งให้สนองตอบอย่างจริงใจ จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น
6. จงตกลงในแผนการปฏิบัติร่วมกัน -คนส่วนใหญ่เกลียดการเผชิญหน้า แต่รักการแก้ปัญหาด้วยความรัก วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือ เลือกหาการปฏิบัติเชิงบวก โดยร่วมกันพัฒนา และตกลงร่วมกันในแผนนั้นต้องเน้นไปที่อนาคต ไม่ใช่จดจ่ออยู่กับอดีต
แผนการปฏิบัติการที่ดีควรครอบคลุมหัวข้อเหล่านี้
1) นิยามประเด็นปัญหาให้ชัดเจน
2) ตกลงว่าจะแก้ประเด็นปัญหานั้น
3) ชัดเจนในขั้นตอนที่แสดงออกถึงปัญหาที่ได้รับการแก้ไข
4) กำหนดสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ เช่น กรอบเวลาและบุคคลที่รับผิดชอบ
5) เส้นตายสำหรับการทำให้เสร็จเรียบร้อย
6) การอุทิศตนของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะร่วมกันแก้ประเด็นปัญหาในอดีตนั้นให้หมดสิ้นไป
ขอย้ำอีกครั้งว่า หากเราทุกคนที่เกี่ยวข้องรีบช่วยกันแก้ไขปัญหาขัดแย้งที่มีด้วยความรักความห่วงใยในคู่กรณีพร้อมให้อภัย ควบคู่ไปกับความจริงและความจริงใจ โดยเห็นแก่พระเจ้า ผลที่จะตามมาก็คือ ความสุขความยินดี และพระพรจากพระเจ้าที่พร้อมจะเทลงมาสำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรงพระองค์!
“เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ จงรักกันและกันให้มาก เพราะความรักให้อภัยบาปมากมายได้” (1เปโตร 4:8)
ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-
twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer