Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

หลักการของลิฟท์ (The Elevator Principle)

ลิฟท์

“ในความสัมพันธ์… เราอาจยกคนอื่นขึ้นสูง หรือพาเขาลงต่ำก็ได้!”

(We can lift people up or take people down in our relationships.)

ในการคบหาหรือคบค้าสมาคมระหว่างกัน เราแต่ละคนต่างมีส่วนในชีวิตของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราอาจหนุนเสริมกันหรือถ่วงดึงกันก็เป็นได้!

ดังคำกล่าวที่ว่า…

            “คนอื่นอาจเป็นดุจลมใต้ปีกของเราหรือเป็นดุจดังสมอที่ถ่วงเรือของเรา!”

แล้วคุณล่ะเป็นคนชนิดไหน ในความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ?

มีคำกล่าวว่า แท้จริงแล้วมีคนอยู่เพียงแค่ 2 ประเภทเท่านั้นบนโลกในทุกวันนี้ … แต่

…ไม่ใช่คนบาปและนักบุญ เพราะแม้แต่คนดีก็มีส่วนที่ไม่ดี และคนไม่ดีก็ยังมีส่วนดี

…ไม่ใช่คนรวยและคนจน เพราะว่าดูแค่เงินทองไม่ได้  ต้องดูที่สภาวะแห่งจิตสำนึกและสุขภาพของเขาด้วย

…ไม่ใช่คนมีความสุขและคนมีความทุกข์ เพราะว่าในชีวิตที่ไวเหมือนติดปีกนั้น คนแต่ละคนล้วนประสบกับทั้งเสียงหัวเราะและเสียงร้องไห้

…ไม่ใช่คนที่ถ่อมใจและคนเย่อหยิ่ง เพราะว่า คนที่ถ่อมก็ยังมีความหยิ่ง และคนที่หยิ่งก็มีความถ่อม

นักวิชาการบางคนบอกว่า มีคนอยู่เพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือคนที่ยกคนอื่นขึ้นและคนที่ถ่วงคนอื่นลง!

ไม่ทราบว่าคุณเห็นด้วยหรือไม่?    แล้วคุณละเป็นคนประเภทใด? คุณทำให้ภาระของคนอื่นเบาลงหรือว่าหนักขึ้น?

ดร.จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ แบ่งคนออกเป็น 4 ประเภท (จากมุมมองของความสัมพันธ์) ดังนี้

  1. คนที่ “เพิ่ม” (ADD) บางสิ่งเข้าไปในชีวิตของคนอื่น – เราชื่นชอบคนประเภทนี้

เราเรียกคนที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นว่า “ผู้เพิ่ม” (adders) หรือ “ผู้ที่ยก” (lifters) พวกเขาทำให้ชีวิตคนอื่นน่าอยู่และน่าเพลิดเพลินขึ้น ดี แอล มูดี้ แนะนำให้ทำดังนี้

“จงทำดีทั้งหมดเท่าที่คุณทำได้แก่คนทั้งปวงเท่าที่คุณทำได้ ในวิถีทางทั้งหลายที่คุณทำได้ และให้นานตราบเท่าที่คุณสามารถทำได้!”

1) คนที่เป็นผู้เพิ่มคือ คนที่ยอมมอบตัวของเขาเองออกมาด้วยความตั้งใจ (ไม่ใช่บังเอิญ)   ตัวอย่างที่ “ผู้เพิ่ม” ทำในที่ทำงานคือ

…ไปที่ทำงานเร็วขึ้นสักนิด และอยู่ให้สายกว่าปกติสักหน่อย

…ทำให้มากกว่าที่คาดหวัง

…ทำบางสิ่งทุกวันที่จะช่วยคนรอบตัว

…เสนอตัวช่วยหัวหน้า/เจ้านาย เพิ่มมากขึ้นกว่าที่สั่ง

2) คนที่“ดึงออก”(subtract) บางสิ่งไปจากชีวิต -เราต้องฝึกทนกับคนประเภทนี้

ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน การรับนั้นเป็นเรื่องง่าย  การให้นับเป็นสิ่งที่ยากมากกว่า การสร้างบางสิ่งกับการทำลายทิ้งเป็นคนละเรื่องกัน  ต้องมีช่างผู้เชี่ยวชาญใช้เวลา ฝีมือและพลังงานจึงจะสร้างผลงานที่งดงามออกมาได้ อาทิ เก้าอี้สวยงาม แต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ช่างฝีมือใด ๆ ในการทุบทำลายเก้าอี้สวยงามตัวนั้นให้พังพินาศลง

คนที่ไม่เพิ่มอะไรให้กับชีวิตของคนอื่น คือคนที่ดึงบางสิ่งออกจากชีวิตของพวกเขา คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ไม่ได้ช่วยแบกภาระแต่พวกเขากลับทำให้ภาระที่เราแบกนั้นหนักมากยิ่งขึ้น เพราะว่าพวกเขาดึงพลังจากตัวเราออกไป!

3) คนที่ “ทวีคูณ” (Multiply) บางสิ่งในชีวิต –เราให้คุณค่ากับคนประเภทนี้

-ใคร ๆ ก็สามารถเป็น “ผู้เพิ่ม” (adder) ได้หากต้องการ แต่หากจะเป็น “ผู้ทวีคูณ” (Multiplier) เขาต้องมีความตั้งใจ มีแผนการและมีทักษะ

-ยิ่งเขามีของประทาน และทรัพยากรมากเท่าไร เขาก็ยิ่งมีศักยภาพในการเป็นผู้ทวีคูณมากกว่านั้น

ถ้าคุณมีความสัมพันธ์กับคนประเภทนี้ เขาจะเป็นคนที่อยู่เพื่อช่วยเหลือคุณให้บรรลุความสำเร็จบนเส้นทางชีวิตของคุณ

…คุณมีคนอย่างนี้อยู่ในชีวิตของคุณแล้วหรือไม่?

4) คนที่ “แบ่งแยก” (Divide) บางสิ่งในชีวิต – เราต้องหลีกเลี่ยงคนประเภทนี้

คนประเภทนี้คือ คนที่ดึงคุณให้ต่ำลงสุดหรือดึงคุณให้ลงต่ำอย่างช้า ๆ เท่าที่เขาทำได้ พวกเขาเป็นคนที่สร้างความเสียหาย เพราะว่าพวกเขามักทำอะไรในเชิงลบแบบมีเจตนา พวกเขาทำให้คนอื่นเจ็บปวด โดยทำให้คนอื่นทำได้แย่กว่าที่เขาทำเพื่อทำให้ตัวของเขาเองดูดีขึ้น

-เพราะเขาเป็นพวกที่ทำลายความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่!

วันนี้ ขอให้คุณมาเป็นผู้ที่ยกผู้อื่นขึ้นสูงเหมือน “ลิฟท์”  กันจะดีกว่า!

คนที่เป็น “ผู้ยก” (Lifters) นี้ทำอย่างไรกันบ้าง?

  1. เขาอุทิศตัวในการหนุนใจผู้อื่นเป็นประจำทุกวัน
  2. เขารู้จักความแตกต่างระหว่างการทำให้คนอื่นเจ็บปวดกับการช่วยเหลือผู้อื่น
  3. เขาริเริ่มสิ่งสร้างสรรค์เชิงบวกในสภาพแวดล้อมในเชิงลบ
  4. เขาเข้าใจว่า ชีวิตไม่ใช่สิ่งที่จะย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก –นั่นคือ ชีวิตไม่ใช่การซ้อม แต่เป็นเหตุการณ์จริง  ที่ล้ำค่าที่ไม่อาจประเมินค่าได้

ดังนั้น ขอให้คุณจงทำให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างกันเป็นความสัมพันธ์ที่ก่อเกิดประโยชน์อันล้ำค่าขึ้นในในชีวิตของคุณและของคนอื่น ๆ !

จะดีไหมครับ?

 “เหตุ​ฉะนั้น​ให้​เรา​มุ่ง​ประพฤติ​ใน​สิ่ง​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​สงบสุข​และ​ความ​เจริญ​แก่​กัน​และ​กัน”  (โรม 14:19)  

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

                                                                                  

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.