Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

บริโภคมากขึ้นแต่สุขลดน้อยลง!

Greedy

ผมแนะนำให้อ่านบทความ “หมายเหตุประเทศไทย” ของคุณ ลม เปลี่ยนทิศ (20 ส.ค. 2556, ไทยรัฐ) และหนังสือ “โลกเปลี่ยนไทยปรับ” ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เพราะให้มุมมองข้อคิดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริโภค!

การบริโภคมี 3 ขั้น

  1. บริโภคขั้นที่จำเป็น
  2. บริโภคขั้นสะดวกสบาย
  3. บริโภคขั้นฟุ่มเฟือย

การบริโภคขั้นที่จำเป็นคือ การบริโภคสินค้าหรือใช้บริการที่จำเป็นหรือมีประโยชน์ เพื่อบรรเทาความขาดแคลนหรือช่วยเพิ่มความพึงพอใจของเราให้มากขึ้น เมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายออกไป

การบริโภคขั้นสะดวกสบาย คือ การบริโภคด้วยความพึงพอใจมากขึ้น โดยจ่ายเงินมากขึ้น

การบริโภคขั้นฟุ่มเฟือย คือ การเรียกหาความพึงพอใจ(ในการบริโภค)มากกว่าเดิม โดยใช้เงินเพิ่มขึ้น แต่ความพึงพอใจอาจเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

ข้อเตือนสติก็คือ…

อย่าให้เรามีวัฒนธรรมในการบริโภคที่สูงกว่าฐานะจริงของตัวเรา!

คืออย่าเป็นคนประเภท “รายได้ต่ำ รสนิยมสูง!”  หรือ “รายได้ปานกลาง รสนิยมสูง!” หรือแม้แต่ “รายได้สูง แต่รสนิยมสูงเกินไป!”

ที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทยกำลังติดกับดักของลัทธิวัตถุนิยม  บริโภคนิยม และสุขนิยม

คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการคอรัปชั่น จนถือว่าเป็นเรื่องปกติ และยอมรับได้ หากว่ามันช่วยทำให้เราได้ปัจจัยมาสนองลัทธิ “สุขนิยม” ของตน!

พระวจนะของพระเจ้าได้เตือนเราให้ได้สติและรู้จักประมาณตนในการดำเนินชีวิต

ผู้หญิง(ที่กระตือรือร้นในการรับใช้และมีความเป็นผู้นำ)ต้องรู้จักประมาณตน

                “ส่วน​พวก​ผู้หญิง​ก็​เหมือน​กัน ต้อง​เป็น​คน​น่า​นับถือ ไม่​ใส่ร้าย​คน​อื่น รู้จัก​ประมาณ​ตน ซื่อสัตย์​ใน​ทุกๆ เรื่อง”      (1ทธ.3:11)

 ผู้ชายสูงอายุต้องรู้จักประมาณตน

             “สอน​บรรดา​ผู้ชาย​สูง​อายุ​ให้​รู้จัก​ประมาณ​ตน มี​ความ​น่า​นับถือ มี​สติสัมปชัญญะ มี​ความ​เชื่อ​ที่​ถูกต้อง มี​ความ​รัก   และ​ความ​ทรหด​อดทน”  (ทต.2:2)

 -ผู้นำ(ผู้ปกครองดูแลคริสตจักร) ก็ต้องรู้จักประมาณตน

             “ผู้​ปกครอง​ดูแล​นั้น​จะ​ต้อง​เป็น​คน​ที่​ไม่​มี​ที่​ติ เป็น​สามี​ของ​หญิง​คน​เดียว รู้จัก​ประมาณ​ตน มี​สติ‌ สัมปชัญญะ เป็น​คน​น่า​นับถือ มี​อัธยาศัย​ต้อนรับ​แขกเหมาะ​ที่​จะ​เป็น​อาจารย์”   (1ทธ.3:2)

 เมื่อใดก็ตามที่คุณต้องการความพึงพอใจมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก โดยต้องใช้เงินจำนวนมากอยู่เรื่อย ๆ ตามเงื่อนไขหรือข้อจำกัดทางการเงิน รวมทั้งต้นทุนด้านเวลาเพื่อซื้อสินค้านั้น เมื่อนั้นความพึงพอใจของคุณแทนที่จะเพิ่มขึ้น อาจกลับลดลง!

เราเรียกการบริโภคขั้นนี้ว่า “การบริโภคแบบบั่นทอนตนเอง!”

นี่คือปรากฏการณ์ของ “ความยากจนบนความมั่งคั่ง” (The Poverty of Affluence)  คือ “คนมีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น มีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น แต่กลับมีความสุขลดลง!”

ดังนั้น ขอให้เราเตือนสติซึ่งกันและกันว่า  “การบริโภคที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่มีข้อจำกัดเช่นนี้มิได้ช่วยให้มนุษย์อย่างเรามีความสุขเพิ่มขึ้นเลย!”

เพราะปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คุณมีความสุขอย่างแท้จริงคือ ความรู้จักพอ (ประมาณ) และการได้เข้าสนิทอยู่ในพระเจ้า!

คุณต้องหันหลังให้กับ “ลัทธิสุขนิยม” ที่มุ่งแสวง “หา” เพื่อจะ “ได้” ทรัพย์สินอย่างบ้าคลั่งและต้องพึ่งพาวัตถุนิยม  และเข้าใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าแห่งความสุข ผ่านวิถีชีวิตแบบประมาณตนและมีประสบการณ์กับความสุขแท้ผ่านการ “ให้” ด้วยใจเอื้อเฟื้อ

 “ส่วน​พวก​ที่​มั่งคั่ง​ใน​ชี​วิต​นี้ จง​กำชับ​พวก​เขา​ไม่​ให้​เย่อหยิ่ง หรือ​มุ่ง​หวัง​ใน​ทรัพย์​ที่​ไม่​ยั่งยืน แต่​ให้​มุ่ง​หวัง​ใน​พระเจ้า​ผู้​ประทาน​ทุก​สิ่ง​แก่​เรา​อย่าง​ บริบูรณ์ เพื่อ​ให้​เรา​ได้​ชื่นชม จง​กำชับ​พวก​เขา​ให้​ทำ​การ​ดี ให้​ทำ​การ​ดี​มากๆ ให้​เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่​และ​แบ่งปัน”   (1ทธ.6:17-18)

  เพราะหากคุณกระทำเช่นนี้อย่างศรัทธาวางใจในพระเจ้า คุณจะบริโภคน้อยลง  และมีความสุขเพิ่มขึ้น!

ไม่เชื่อลองดูสิครับ!

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.