“อย่าพูดถึงสิ่งไม่ดีเกี่ยวกับผู้หนึ่งผู้ใด…
แต่จงพูดสิ่งดี ๆ ทั้งปวงที่คุณรู้เกี่ยวกับทุก ๆ คนออกไป”
(Speak ill of no man, but speak all the good you know of every body.)
ผู้ที่กล่าวข้อความข้างต้นคือ เบนจามิน แฟรงคลิน! ซึ่งผมเห็นด้วยกับท่าน 100 % ครับ!
…หากเราไม่มีเรื่องดี ๆ เกี่ยวกับผู้หนึ่งผู้ใดก็อย่าไปพูดถึงเขาเลย นอกจากว่าจำเป็นที่ต้องพูดถึง เพราะสถานการณ์บังคับให้ต้องพูด!
แต่กระนั้นก็ตามเราควรจะเลือกพูดถึงเฉพาะเท่าที่จำเป็น และให้น้อยที่สุด!
คนทุกคนแม้แต่คนที่ทำผิดพลาด ล้วนต้องการโอกาสที่จะแก้ตัวใหม่ทั้งสิ้น ดังนั้นเราควรจะให้โอกาสแก่เขา! การที่เราพูดเรื่องไม่ดีของเขาให้น้อยที่สุด (เท่าที่จำเป็น) หรือไม่พูดถึงเลย (หากว่าไม่จำเป็น) จะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่งได้ง่ายขึ้น!
เป็นการดีกว่า หากว่าคุณจะพูดถึงแต่สิ่งดี ๆ เกี่ยวกับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่คุณบอกว่ารักเขา! อย่าให้ความหงุดหงิดของคุณหรือความน่าหงุดหงิดของเขาทำให้คุณพูดเลวร้ายเกี่ยวกับตัวของเขาออกมาอยู่เรื่อยไป เพราะเมื่อคุณหายหงุดหงิด คุณจะเสียใจมากกับการที่คุณทำร้ายคนที่คุณบอกว่ารัก!
และสิ่งที่คุณพูดไม่ค่อยน่าฟังเกี่ยวกับตัวของเขาอาจจะเข้าถึงหูของเขา แล้วสิ่งนั้นจะทำให้เขารู้สึกหงุด หงิด ผลที่ตามมาก็คือ เขาอาจจะพูดบางอย่างที่ทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดเมื่อได้ยินเช่นกัน!
สุดท้ายคุณก็ทนไม่ได้คุณก็เลยพูดบางอย่างที่ชวนให้ผู้ฟังรู้สึกหงุดหงิดเพิ่มขึ้นมาอีก และแล้ววัฎฎจักรอุบาทว์นี้ก็จะหมุนวนเป็นรอบที่ 2 อีกรอบ…
หากว่าคุณไม่รีบตัดวงจรอุบาทว์นี้ทิ้งให้เร็วที่สุด คุณจะต้องหงุดหงิด และขมขื่นไปกับมันอย่างยาวนาน ผลก็คือ มันจะกัดกร่อนและบั่นทอนความสุขที่คุณพึงมี และมิตรภาพที่คุณเคยมีให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย!
แต่ในทางตรงกันข้าม หากคุณเริ่มพูดดี ๆ เกี่ยวกบคนอื่น ๆ รวมทั้งคนที่คุณรู้สึกหงุดหงิดกับเขาในบางเรื่อง คุณจะกลายเป็นผู้ชนะที่ใสสะอาด!
เพราะว่าคุณจะไม่ต้องเผชิญกับวงจรอันเลวร้ายของคำพูดแย่ๆ ใด ๆ อีกต่อไป!
แต่คุณจะเริ่มได้ยินเสียงสะท้อนดี ๆ กลับคืนมาจากคนที่ได้ยินถ้อยคำดี ๆ ของคุณ รวมทั้งจากคนที่คุณไม่ชอบเมื่อคำดี ๆ ของคุณเข้าไปถึงหูของเขา!
ด้วยเหตุนี้เอง แทนที่คุณจะต้องหงุดหงิดหรือขมขื่นกับวงจรชั่วร้ายของคำซุบซิบนินทาคำเสียดสี หรือคำวิพากวิจารณ์ ที่เกิดจากผู้อื่นหรือเกิดจากปากของคุณเอง
…คุณจะชื่นชมยินดีกับถ้อยคำชูใจที่หมุนวนกลับมาแทน!
“ถ้อยคำแช่มชื่นเหมือนรวงผึ้ง เป็นความหวานแก่วิญญาณจิตและเป็นอนามัยแก่ร่างกาย”
(Pleasant words are a honeycomb,sweet to the soul and healing to the bones.)
(สุภาษิต 16:24)
และคนที่พูดถ้อยคำที่ดีน่าฟังก็(เกี่ยวกับผู้อื่น) จะได้รับผลลัพธ์ที่ดีกลับคืนสู่ตัวของเขาเอง
“จากผลแห่งถ้อยคำของตนคนก็อิ่มใจในความดี และผลงานแห่งมือของเขาก็กลับมาหาเขา”
(From the fruit of his lips a man is filled with good things
as surely as the work of his hands rewards him.) (สุภาษิต 12:14)
แต่การพูดถ้อยคำไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดไม่ดีเกี่ยวกับผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสมไม่ว่าจะจริงใจขนาดไหนก็ตาม ล้วนแล้วแต่ไม่เกิดผลดี!
การรู้จักยับยั้งปากไม่ให้พูดถ้อยคำเหล่านั้น จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อตัวผู้พูดเอง!
“บุคคลที่ยับยั้งถ้อยคำของเขาเป็นคนมีความรู้
และบุคคลผู้มีจิตใจเยือกเย็นเป็นคนมีความเข้าใจ”
(A man of knowledge uses words with restraint,
and a man of understanding is even-tempered.) (สุภาษิต 17:27)
พระคัมภีร์เรียกคนที่รู้จักยับยั้งปากของตนว่า เป็นคนที่มีความรู้และมีความเข้าใจ!
วันนี้ ขอให้เราพูดกันดี ๆ หรือพูดถึงกันอย่างดี ๆ ดังที่คนซึ่งมีความรู้ความเข้าใจกระทำต่อกัน!
จะดีไหมครับ?
– ธงชัย ประดับชนานุรัตน์ –