Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย วันนี้ที่ CJ

คุณจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือ?

“ถ้าคุณไม่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา คุณก็คือส่วนหนึ่งของปัญหา”

(You’re either part of the solution or part of the problem.)

ผมชอบคำกล่าวข้างต้นของ เอ็ดดริดจ์ คลีเวอร์ (Eldridge Cleaver) นักเขียนและนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน     ผิวดำ!

คำว่า “ปัญหา” หมายความว่า “ข้อสงสัย, คำถาม, ข้อที่ต้องพิจารณาแก้ไข” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “problem” ที่หมายความว่า …

1) สิ่งที่ยากในการจัดการหรือเข้าใจ

2) คำถามที่ต้องตอบหรือแก้ไข

ในพจนานุกรม The American Heritage Dictionary of the English Language ให้ความหมายไว้ว่า…

1) คำถามหรือสถานการณ์ที่ก่อเกิดความไม่แน่นอน, สับสนหรือยากลำบาก (A question or situation that presents uncertairty, perplexity, or difficulty.)

2) บุคคลที่ยากในการจัดการด้วย (A person who is difficult to deal whit)

3) คำถามที่นำออกมาให้พิจารณา, อภิปราย หรือหาทางออก (A question put forward for consideration, discussion or solution.)

จากคำนิยามและความหมาย เราจะเห็นว่า เมื่อใดที่เกิดหรือมีปัญหา เมื่อนั้นเราคงจะไม่สะดวกสบายทั้งกายและใจแน่ ๆ ปัญหาเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คิดถึง ไม่ได้เรียกหา แต่มันมักปรากฎตัวออกมาทางเส้นทางเดินของเราในยามที่เราไม่คาดฝัน! ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบมัน ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะรับมือหรือจัดการกับมัน เราต้องยอมรับความจริงว่า มันกำลังรอให้เราจัดการกับมันอยู่!

แท้จริงคำวา “ปัญหา” (problem) มาจากคำภาษาลาตินว่า “problema” ซึ่งมาจากภาษาหลักที่มีความหมายว่า “สิ่งที่ถูกโยนออกมาข้างหน้า” (thing thrown forward) ซึ่งก็แน่ๆ  ว่า สิ่งที่ถูกโยนออกมานั้นมักจะขวางทางเดินหรือการเดินทางของเรา เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “อุปสรรค” ทำให้เราไปข้างหน้าไม่สะดวก ติดขัด เสียเวลา เสียสมอง หรืออาจต้องเสียหยาดเหงื่อ เสียเงินทอง รวมทั้งเสียความรู้สึกในการจัดการเคลื่อนย้ายมันออกไปให้พ้นทาง แต่หากจัดการไม่ดี เราอาจสูญเสียมากกว่าเดิมอีก บางทีอาจเสียเพื่อน  เสียญาติมิตร เสียหายด้านเศรษฐกิจ  ด้านสังคม หรือแม้แต่ด้านจิตวิญญาณ!

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไรหรือแม้แต่คิดว่าตัวเราองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นเลย แต่หากว่าเราไม่ได้มีส่วนในการแก้ไขหรือช่วยกันขยับเขยื้อน “สิ่งที่ขวางทาง” ของทุกคน (รวมทั้งตัวของเรา) ให้ออกไปพ้น ๆ ทาง  เราเองก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหานั้นยังคงอยู่ และเป็นอุปสรรคต่อไป!

ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าในบ้าน ในที่ทำงาน ในโบสถ์ ในชุมชน หรือในสังคม ฯลฯ คุณมีทางเลือกเพียงแค่ 2 ทาง

1) ร่วมช่วยในการแก้ปัญหานั้น

2) ไม่ทำอะไรเลย

และการไม่ทำอะไรเลยก็คือ การกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่หมักหมมใหญ่ขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง!

หากเป็นเช่นนั้นจริงคุณจะบ่น  จะว่า จะโวยวายใด ๆ ไม่ได้เลย! เพราะว่าไม่เพียงแต่คุณไม่ช่วยอะไรเท่านั้น  คุณยังทำให้ “ความยุ่งยาก” หรือ “อุปสรรค” ที่ขวางหน้านั้นเพิ่มความซับซ้อนทำให้ยากเย็นเข็ญใจขึ้นไปอีก และทำให้คนที่กำลังปล้ำสู้กับปัญหาเหล่านั้นรู้สึกถอดใจ อยากยอมแพ้ อันเป็นเหตุให้ทั้งหมดทุกคน (รวมทั้งตัวของคุณ) ที่กำลังคิดจะก้าวต่อไปข้างหน้าพลอยหยุดหรือติดชะงักไปด้วย!

ดังนั้น หากมีปัญหาใดเกิดขึ้นขวางหน้าของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เรื่องง่ายหรือเรื่องยาก คุณต้องไม่เลือกการลอยตัว แต่ต้องรีบอาสาตัวร่วมขบวนการในการเคลื่อนย้ายหรือกำจัดปัญหานั้น หรือหากเราเห็นหรือรู้อยู่แล้วมีปัญหาขวางทางอยู่ตรงหน้า ก็จงหลีกเลี่ยงอย่าให้เราเดินเข้าตรงดิ่งทื่อ ๆ ไปสู่ปัญหาความยุ่งยากนั้นโดยไม่ระวังตัวหรือเตรียมวิธีรับมือหรือวิธีป้องกันแก้ไขไว้ล่วงหน้า

ดังคำเตือนที่ว่า…

“อย่าข้องแวะกับปัญหาอันโง่เขลาและไม่เป็นสาระ ด้วยรู้แล้วว่าปัญหาเหล่านั้นก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน” (2ทธ.2:23) และ

“แต่จงหลีกเสียจากปัญหาโฉดเขลาที่เถียงกัน จากการลำดับวงศ์ตระกูลและการเถียง และการทะเลาะกันเรื่องธรรมบัญญัติ เพราะว่าการอย่างนั้นไร้ประโยชน์และไม่เป็นเรื่องเป็นราว” (ทต.3:9)

ท้ายนี้ ขอให้คุณสำรวจดูตัวของคุณเองอีกสักครั้งว่า …

อะไรเป็นสาเหตุของปัญหาเบื้องหน้าโดยตรงหรือไม่?

คุณเป็นสมาชิกของกลุ่มหรือชุมชนที่เพิกเฉยต่อปัญหานั้นและปล่อยให้คนอื่น ๆ ต้องเผชิญและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นโดยลำพัง  อยู่โดยปราศจากความเห็นอกเห็นใจบ้างหรือไม่?

คงไม่สายเกินไปในนาทีนี้ที่คุณจะทูลขอสติปัญญา  และกำลังเรี่ยวแรงในการร่วมจัดการกับ “ปัญหา” ที่ขวางหน้า แม้ว่าคุณเองจะคิดว่า คุณไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้นมาเลยก็ตาม

และหวังว่า คุณจะไม่เป็น “ส่วนหนึ่งของปัญหา” ใด ๆ ที่ทำให้คนอื่นเจ็บปวดใจนะครับ!

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-  Twitter.com/thongchaibsc

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.