“ถ้าคุณไม่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา คุณก็คือส่วนหนึ่งของปัญหา!”
(You’re either part of the solution or part of the problem.)
ผู้ที่กล่าวประโยคข้างต้นคือ เอ็ลดริดจ์ คลีเวอร์ (Eldridge Cleaver) นักเขียนและนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนผิวดำ ซึ่งได้กล่าวไว้ในปี ค.ศ. 1968 ในช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาใหญ่ คนผิวดำถูกกีดกันและริดรอนสิทธิ์หลายประการ ดุจไม่ใช่คน! ทั้งๆ ที่พระเจ้าตรัสสอนไว้ชัดเจนมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วว่า…
“มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นพระฉายของพระเจ้า!” ทุก ๆ คนจึงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน แม้ว่าจะ..
มีฐานะความเป็นอยู่ไม่เท่ากัน
มีความรู้ความสามารถไม่เท่ากัน
มีตำแหน่งยศศักดิ์ไม่เท่ากัน
มีระดับสติปัญญาไม่เท่ากัน หรือ
มีผิวสีหรือเชื้อชาติที่แตกต่างกัน ฯลฯ
ดังนั้น “การมี” (to have) แม้ไม่เท่าเทียมกัน แต่ “การเป็น” (to be) นั้นทุกคนเป็นเหมือนกัน นั่นคือเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าและเป็น “มนุษย์” ที่ถูกเนรมิตสร้างตามแบบอย่าง “พระฉายา” ของพระองค์ (His image) เราจึงเป็นผู้ที่มีความคิดสติปัญญา มีคุณธรรมโดยมีคุณสมบัติที่ถอดแบบออกมาจากพระเจ้านานาประการ อาทิ ความรัก ความดี ความยุติธรรม ความรู้ และสติปัญญา ฯลฯ และหนึ่งในนั้นที่พิเศษก็คือ “ความสามารถในการแก้ปัญหา” ได้! ด้วยเหตุนี้เอง
…เมื่อเกิดปัญหาเรื่องการเดินทางที่ต้องใช้เวลานาน มนุษย์จึงสร้าง รถ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน ฯลฯ
…เมื่อเกิดปัญหาเรื่อง อาหารการกิน ที่ไม่พอเพียง มนุษย์จึงสร้างระบบเกษตรกรรม หลากหลายที่สนองความต้องการ
…เมื่อเกิดปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมหรือความอยุติธรรมมนุษย์จึงสร้างระบอบการปกครองและระบบกฎหมายขึ้นมาเพื่อลดหรือแก้ปัญหาเหล่านั้น ฯลฯ
ดังนั้น ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหานานาชนิด พวกเขาจึงนำศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ มนุษย์จึงสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ มาได้โดยตลอด! แต่เพราะด้วยธรรมชาติบาปที่เกิดขึ้นจากการกบฎต่อพระเจ้า ทำให้มนุษย์เราใช้ศักยภาพนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่ให้เกียรติแก่พระเจ้าผู้ทรงสร้างเขาและต่อทรัพยากรธรรมชาติในโลก ทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้ก่อปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิมขึ้นมาและเขาเองได้กลายเป็นส่วนของปัญหาเหล่านั้น! และสาเหตุที่ทำให้ปัญหาเหล่านั้นกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขยากขึ้นก็คือ การที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายต่างมองดูฝ่ายตรงข้ามเป็น “ตัวปัญหา” หรือ “สาเหตุของปัญหา” โดยยืนกรานว่าตัวของเขาเองไม่ได้มีส่วนในการก่อปัญหาขึ้น หรือหากว่าเขามีส่วนร่วมในปัญหานั้นเขาก็จะมองเห็นว่า ที่เขาต้องเข้าร่วมในปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นเพราะอีกฝ่ายเป็นตัวสาเหตุในการก่อปัญหาขึ้นโดยแท้! และที่ทำให้ปัญหาบานปลายยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ การที่เรามักมีวิธีที่เอาตัวเองเข้าไปสู่ปัญหามากกว่าหาวิธีที่จะเอาตัวเองออกจากปัญหาเหล่านั้น ดังคำกล่าวที่ว่า…
“เหตุผลหนึ่งสำหรับบรรดาปัญหาของโลกนี้ก็คือ เรารู้จักวิธีเข้าสู่ปัญหามากกว่าวิธีเอาตัวเองออกจากปัญหานั้น”
(One reason for the world’s problems is that we know more ways to get into trouble than to get out of it.)
ในพระคริสตธรรมคัมภีร์มีคำเตือนมากมายให้เราเอาตัวออกห่าง และอย่านำตัวเข้าไปสู่ปัญหายุ่งยากโดยไม่จำเป็น “อย่าข้องแวะกับปัญหาอันโง่เขลาและไม่เป็นสาระ ด้วยรู้แล้วว่าปัญหาเหล่านั้นก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน” (2ทธ.2:23) ดังนั้น หากเป็นไปได้ อย่าให้ความโกรธ ความเกลียดชังหรือความขมขื่นที่อยู่ในใจของเรา กระพือปัญหาความยุ่งยากให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น! ขอให้วันนี้เราระลึกถึงพระวจนะและกระทำตามดังนี้
“จงระวังให้ดีอย่าให้ใครเพิกเฉยต่อพระคุณของพระเจ้า และอย่าให้มีรากขมขื่น*งอกขึ้นมา ทำความยุ่งยากให้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้คนเป็นอันมากเสียไป” (ฮบ.12:15)
จงรีบถอนรากถอนโคนต้นขมขื่นนี้ทิ้งไป ณ บัดนี้…แล้วปัญหาทุกปัญหาจะแก้ไขได้ง่ายขึ้น และทุกอย่างจะจบลงโดยเร็ว!
ธงชัย ประดับชนานุรัตน์