Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

บทความประจำสัปดาห์จาก ศจ ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

ถาม:   “เราจะเลิกเสพติดสื่อออนไลน์ได้อย่างไร?”

ตอบ:    มีผู้รู้บอกว่า …

“คนไทยใช้เวลาไปกับสื่อสังคมออนไลน์เฉลี่ย 172 นาทีต่อวัน เช่น อ่านฟีดส์บนเฟซบุ๊ก อัปเดตสถานะ เล่นไลน์ ฯลฯ ซึ่งใช้เวลามากกว่าเวลาที่อ่านหนังสือเฉลี่ย 2.6 เท่า ซึ่งหากเรานำเวลาที่หมดไปกับโซเชียลมีเดียมาอ่านหนังสือ เราจะสามารถอ่านหนังสือได้ตกปีละ 11,868,000 คำ หรือเท่ากับว่าสามารถอ่านสามก๊กได้ถึง 14 จบ หรืออ่านหนังสือทั่วไปได้มากถึง 170 เล่ม

แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทุกคนเลิกเล่นโซเชียลไปเลย เนื่องจากโซเชียลยังเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันอยู่ พียงแต่ต้องการให้ได้สติ และให้รู้จักใช้เวลากับสื่อออนไลน์ไปทางที่ถูก และทำสิ่งดีควบคู่กันไป

พี่น้องที่รัก ขอให้ถามตัวเองว่า

  • คุณกำลังใช้สื่อออนไลน์ในการเสพข่าวสารต่างๆ มากเกินไปหรือไม่?
  • คุณกำลังใช้วิจารณญาณในการที่จะเสพสื่อต่างๆ อย่างรอบคอบหรือไม่?
  • คุณกำลังเชื่อทุกสิ่งที่คุณเห็นหรืออ่านจากโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมด โดยไม่แยกแยะว่าเรื่องใดจริงหรือไม่จริงอยู่หรือไม่?
  • คุณเคยโพสต์หรือส่งต่อในเรื่องราวที่คุณเองไม่มั่นใจว่าเป็นเรื่องจริง บ้างหรือไม่? แล้วผลเป็นอย่างไร?

พี่น้องที่รัก เราทุกคนควรเสพข่าวสาร อย่างมีสติ และใช้วิจารณญาณคิดวิเคราะห์ว่าข่าวสารเหล่านั้นมีความเป็นจริงและน่าเชื่อถือมากน้อยสักเพียงใด 

เราตระหนักหรือไม่ว่าอินเตอร์เน็ตเป็นดาบสองคม การพิมพ์หรือโพสต์อะไรลงไปโดยไม่ตรวจ หรือคิดให้ดีก่อน อาจทำให้เราต้องมานั่งเสียใจ หรือเสียหายและเกิดอันตรายขึ้นตามมาในภายหลังได้ ดังนั้น เวลาที่เราจะพิมพ์ข้อความอะไรลงไปขอให้ควรคิดไตร่ตรองดี ๆ ก่อน เพราะ อินเทอร์เน็ต คือพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้ามาดูได้

ถ้าหาก เรารู้ตัวว่า เวลานี้เรากำลังเสพการใช้สื่อออนไลน์มากเกินไป ถี่เกินไป และนานเกินไป จนเรากำลังติดหรือเป็นทาสของมัน  เราจะต้องหาทางหลุดพ้นการเสพติดนั้นออกมาให้ได้!

แต่ก่อนที่เราจะพูดกันถึงทางออก เรามาทำความเข้าใจกันก่อน ว่า เราเข้าไปติดมันได้อย่างไร?

มีผู้รู้ตอบว่า…  ในเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์เรารู้ว่ามีสาเหตุอย่างน้อยมาจาก 5 ปัจจัยดังต่อไปนี้ ที่ทำให้คนเราเสพติดโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้ตัว

  1. เราได้รับการกด Like กดหัวใจ หรือ Retweet ซึ่งเป็นเหมือนการได้รับการยอมรับ ทำให้เรารู้สึกดี
  2. เราอยากรู้ทันข่าว ไม่ตกเทรนด์ จึงอยากเช็ก อยากอัปเดตตลอดเวลา
  3. เราอยากทำให้คนอื่นรู้ว่าเราเป็นใคร มีรสนิยมอย่างไร เพื่อเป็นการอวดความเป็นตัวเองของเรา
  4. เรารู้สึกภูมิใจที่เราเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วเราดีกว่าจึงจะยิ่งอยากโชว์ให้คนอื่นอยากเปรียบเทียบด้วย
  5. เราถูกกระตุ้น เหมือนคนเสพโคเคน (จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า การเสพติดสื่อออนไลน์ทำให้สมองถูกกระตุ้น แบบเดียวกับการเสพติดโคเคน )ทำให้เราติดและเลิกยาก

ต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำถึงวิธีลด ละ และเลิก ติดโซเชียลมีเดีย

  1. ปิดการแจ้งเตือนทุกอย่าง หรือปิดเครื่อง ในเวลาไม่จำเป็นต้องใช้
  2. ลบตัวการเจ้าปัญหาทิ้งไป คือ ลบแอปพลิเคชันที่ทำให้เราเสียเวลาเหล่านั้นทิ้งไปเลย
  3. ไม่ปิดเครื่อง แต่ปิดสัญญาณเน็ต
  4. จำกัดเวลาในการเล่นโซเชียลของตัวเอง ถ้ามีวินัย
  5. หากิจกรรมดีที่คู่ควรทำร่วมกับคนอื่นๆ จนไม่มีเวลาเล่นโซเชี่ยล
  6. เข้ารับการบำบัดอย่างเป็นทางการจริงจัง
  7. อธิษฐานขอพระเจ้าทรงช่วยให้เลิกติด และใช้เวลาไปร่วมรับใช้พระเจ้า หรือร่วมสามัคคีธรรมกับพี่น้องจนทำให้เราเข้มแข็งพอจะปฏิเสธความอยากหรือลดการเล่นโซเชียลลงได้

เราต้องตระหนักไว้เสมอว่าเรามีเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้ แต่เราต้องรับผิดชอบต่อการใช้เสรีภาพนั้น  เพราะถ้าเราใช้เสรีภาพของเราแบบผิด ๆ มันก็จะกลับมาทำให้เราสูญเสียเสรีภาพ และอิสรภาพของเราไป

ใช่…เรามีเสรีภาพที่จะเสพติดอะไร หรือไม่เสพ ไม่ติดอะไรก็ได้ แต่ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา และเราต้องจ่ายราคา จากการใช้เสรีภาพนั้นของเรา

ดังนั้นเพื่อจะให้เกิดผลดี ก็อย่าให้เราทำสิ่งใดที่ไม่สมควร(รวมทั้งการเสพสื่อโซเชียล) จนทำให้เราติดกับ และทำให้เราต้องตกอยู่ใต้อำนาจของมันเลย และหากเราติดกลับแล้ว ก็จงรีบออกจากมัน มาให้เร็วที่สุด โดยพร้อมจ่ายราคาทุกอย่าง และพึ่งกำลังที่มาพระเจ้าผู้ทรงฤทธา

            …จะดีไหม?

“ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้” แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ 

“ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้”  …แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใดเลย”   (1โครินธ์ 6:12 THSV11)

 

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ William Iven.Unsplash.com)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.