Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

วันศุกร์ประเสริฐ & วันอีสเตอร์ (คอลัมน์คำตอบชีวิต)

 คำถาม              

“พระคัมภีร์สอนอะไรเกี่ยวกับวันศุกร์ประเสริฐ (Good Friday ) และวันอีสเตอร์ (Easter Sunday) บ้างครับ?  มีบางคนแย้งว่า ไม่มีสองคำนี้ ในพระคัมภีร์ จริงไหม?

ตอบ                   

“จริงครับ ไม่มี 2 คำนี้ในพระคัมภีร์ แต่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ 2 เรื่องดังกล่าวมากมายชัดเจน คล้ายๆ กับไม่มีคำว่า “คริสต์มาส” อยู่ในพระคัมภีร์ แต่เรื่องราวการบังเกิดของพระเยซูคริสต์ อันเป็นสาระหลัก ปรากฎอยู่อย่างชัดเจนจนไม่ต้องบรรยาย

คำอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคย อย่างเช่น  พิธีมหาสนิท พิธีแต่งงาน พิธีสถาปนาศาสนาจารย์ หรือแม้แต่พิธีสถาปนาโบสถ์ ต่าง ๆ ก็ไม่มีในพระคัมภีร์ นี่ยังไม่นับเรื่องชื่อคณะ องค์กรของเรา ชื่อโบสถ์ของเรา ชื่อเพลงและรายละเอียดอื่นๆ ในการนมัสการ รวมทั้งการคำว่า การนมัสการออนไลน์ ฯลฯ และอีกมากมาย ที่ไม่ปรากฏแต่เราก็เข้าใจถึงเนื้อหาสาระ ความหมายความสำคัญของแต่ละคำและแต่ละอย่างที่เรากล่าวถึงนั้น

ดังนั้นอย่าไปติดที่ ชื่อ หรือคำ แต่จงเข้าใจความหมายและที่มาที่ไป หากสิ่งใดไม่ขัดแย้งกับพระทัยพระเจ้าตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ ก็ทำได้เลย จะทำตามบางส่วนหรือทำทั้งหมดก็ให้ดูความเหมาะสม

จริงๆ แล้ว เรื่องราว เกี่ยวกับวันศุกร์ประเสริฐและอีสเตอร์เป็นเรื่องราวเดียวกันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันเช้าศุกร์จนถึงวันอาทิตย์ คือก่อนถูกตรึงสิ้นพระขนม์ในวันศุกร์และเป็นขึ้นมาจากความตายในวันอาทิตย์

เหตุการณ์หลักวันศุกร์ประเสริฐครอบคลุมเวลาดังนี้

  • 8.00 น.ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูคริสต์ (มัทธิว 27:1-2)
  • 9.00 น. พวกเขาจับพระเยซูคริสต์ไปตรึงบนไม้กางเขน หลังจากทรมานพระองค์มาตั้งแต่คืนวันพฤหัสหรือเช้าวันศุกร์ (มาระโก15:25)
  • 12.00 น. ความมืดมิดปกคลุมทั่วทั้งแผ่นดิน (มัทธิว 27:45)
  • 15.00น. พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์ และจากนั้นเอาพระศพพระองค์ไปฝังในอุโมงค ์(มัทธิว 27:57-60) จนจบวัน (18.00น.) ยาวไปจนถึงวันเสาร์และเช้าตรู่วันอาทิตย์

ที่เรียกวันนี้ว่า Good Friday หรือ วันศุกร์ที่ดี หรือ ศุกร์ประเสริฐ เพราะสิ่งที่พระเยซูคริสต์ถูกกระทำและสิ่งที่พระองค์กระทำ สั่งสอน หรือตรัส ออกมา ล้วนก่อเกิดคุณค่ามหาศาลต่อมวลมนุษยชาติ ให้เราได้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อให้เราไปกระทำตามต่อคนในครอบครัว คือรับผิดชอบดูแล

  • บุพการี (ทั้งในยามมีชีวิตและยามที่ต้องจากไป)
  • ต่อลูกศิษย์หรือผู้ติดตามคือการมอบหมายงานที่ชัดเจน ให้ไปกระทำต่อศัตรู คือการให้อภัยในสิ่งที่พวกเขากระทำต่อเรา
  • ต่อคนที่สำนึกตัวสำนึกผิด ก็ให้โอกาส และช่วยให้รอด
  • ต่อพระเจ้าคือการไว้วางใจพระองค์จนถึงนาทีสุดท้าย
  • ต่องานที่ได้รับมอบหมาย คือการอดทนทนทุกข์ ยืนหยัดจนสำเร็จ และ
  • ต่อคนทั่วไป ก็คือ การประกาศและยืนยันข่าวดีที่ช่วยให้ผู้ฟังได้รับความรอดด้วยชีวิตและคำสอนของพระคริสต์ (ตามด้วยการเป็นขึ้นจากตายในวันอาทิตย์ของพระองค์ที่เรียกว่าวันอีสเตอร์)

บางคนเลยเชื่อว่า วันนี้น่าจะมาจากคำว่า God’s Friday (วันศุกร์ของพระเจ้า) มากกว่า!

ส่วนเหตุการณ์หลักวันอาทิตย์อีสเตอร์ (Easter Sunday)ครอบคลุม เวลา ตั้งแต่เช้าตรู่วันอาทิตย์ เมื่อพระเยซูคริสต์เป็นขึ้นจากความตาย จนสิ้นวันอาทิตย์ จากนั้นเข้าสู่ภาคต่อไปอีก 40 วัน ของพระเยซูคริสต์ที่ใช้เวลากับสาวกในโลกก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์

ชื่อ “อีสเตอร์” เป็นชื่อที่พวกคริสเตียนไปเอามาจากเทศกาลเดิมซึ่งคนในสมัยนั้นเขามีอยู่ก่อนแล้วมาปรับและต่อยอด

ความหมายอีสเตอร์ โดยทั่วไปจึงหมายถึง “วันสำคัญทางคริสตศาสนา ที่เน้นฉลองการเป็นขึ้นมาจากตายของพระเยซูคริสต์มาแทนที่เทศกาลฉลองฤดูใบไม้ผลิ (และสตรีเทพนามว่า “Eastre” ในยุโรป)

อีสเตอร์

“วันหยุดทางคริสตศาสนา เพื่อเฉลิมฉลองการสิ้นพระชนม์และการคืนกลับสู่พระชนม์ของพระเยซูคริสต์”

                                                   -Cambridge International Dictionary of English-

วันอาทิตย์อีสเตอร์

“วันเทศกาลอีสเตอร์ (วันอาทิตย์แรกหลังวันเพ็ญ ภายหลังวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี)”

                                                  -A new English Thai Dictionary ,ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม-

อีสเตอร์

“เทศกาลประจำปีของคริสตชนที่สำคัญที่สุด ตรงกับวันอาทิตย์ใน เดือนมีนาคม หรือเมษายน และเป็นการเฉลิมฉลองการคืนพระชนม์ ของพระคริสต์ภายหลังจากถูกตรึงตายบนไม้กางเขน

                                                 -Oxford, Advanced Learner’s Encyclopedic Dictionary-

อีสเตอร์      

มาจากภาษาอังกฤษโบราณ ว่า “eastre”, “eastron” ตรงกับฝรั่งเศสโบราณว่า “asteron”หรือเยอรมันโบราณว่า “ostarun,ostern”  เป็นคำที่มาจากนามของเทพเจ้าสตรี นามว่า “Eostre” (Eastre) ซึ่งมีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองสำหรับเธอ

ในวัน  “วสันตวิษุสวัต” (The Vernal  equinox- “การเฉลิมฉลองของคริสตศาสนจักร เพื่อระลึกถึง การคืนพระชนม์ของพระคริสต์ ซึ่งตรงกับเทศกาลปัสกาของพวกยิวมักถือปฏิบัติกันในวันอาทิตย์แรกหลังจากวันเพ็ญตามปฏิทินคือวันที่ 14 ของปฏิทินจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันที่  21  มีนาคมหรือหลังจากนั้น”)

      -The Shorter Oxford English Dictionary on Historical Principles, Volume I (A – Mark worthy)

โดยปกติคริสตชนแท้จะดำเนินชีวิตให้เหมือนกับว่า …….

  •  “พระคริสต์ทรงประสูติในวันคริสตมาส  -ทำให้ชีวิตของเรายินดี และมีความสุข!
  • ทรงสิ้นพระชนม์ในวันศุกร์ประเสริฐเพื่อเราเมื่อวานนี้ (อดีต) –ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งในพระคุณและถ่อมใจ!
  • ทรงเป็นขึ้นมาจากตายในวันอาทิตย์อีสเตอร์– ทำให้เรามีกำลังใจสู้ปัญหาชีวิตอย่างมีชัยชนะ!
  • ทรงสถิตกับเราในวันนี้ (ปัจจุบัน)  -ทำให้เรามีใจรักที่จะทำดีและแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น!
  • และมั่นใจว่า พระองค์จะทรงเสด็จกลับมารับเรา(ผู้เชื่อ) ในวันพรุ่งนี้ (อนาคต)”–ทำให้เรามีความหวังใจในอนาคตนิรันดร์ที่ดีกว่า!

         หากเราดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อเช่นนี้ เราจะมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อตัวเองอีกต่อไป!  

         แต่เราจะมีชีวิตที่ปีติยินดีด้วยความหวังใจในชีวิต!  และเราไม่ยอมแพ้หรือท้อถอยง่าย ๆ !

         นี่แหละ คือ ชีวิตของคนที่มีประสบการณ์กับพระคริสต์แห่งวันอีสเตอร์!

 

-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์- twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.