คำถาม: “ ชีวิตสมดุลเป็นอย่างไร?
และเราจะต้องทำอะไร และอย่างไร เราจึงจะสมดุลอย่างนั้นได้?”
คำตอบ: สมดุล (Balance) [สะมะดุน สมดุน] มีความหมายว่า (ว. ) เสมอกัน เท่ากัน. (อ. equilibrium)
คำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันคือ [syn.] เท่าเทียม,เสมอภาค,พอเหมาะ เสมอกัน ดุลยภาพ
ความสมดุล (Balance) โดยทั่วไป หมายถึง การนำส่วนประกอบต่างๆ ของศิลปะ เช่น รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก มาจัดเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะพอดีให้เกิดน้ำหนักทั้งสองข้าง ซ้ายขวาเท่ากัน โดยมีแกนสมมติ (หรือจุดศูนย์ถ่วง) ทำหน้าที่แบ่งภาพเป็นซ้าย-ขวา หรือ บน-ล่าง การเท่ากันนี้อาจจะไม่เท่ากันจริงก็ได้แต่เท่ากันในความรู้สึก ความสมดุลแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ความสมดุลสองข้างเท่ากัน และความสมดุลสองข้างไม่เท่ากัน หรือที่เรียกกันว่า
- ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน คือ การวางรูปทั้งสองข้างของแกนสมดุล เป็นการสมดุลแบบธรรมชาติลักษณะแบบนี้ใน ทางศิลปะมีใช้น้อย ส่วนมากจะใช้ในลวดลายตกแต่ง ในงานสถาปัตยกรรมบางแบบ หรือ ในงานที่ต้องการดุลยภาพที่นิ่งและมั่นคงจริง ๆ
- ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาไม่เหมือนกัน มักเป็นการสมดุลที่เกิดจาการจัดใหม่ของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะที่ทางซ้ายและขวาจะไม่เหมือนกัน ใช้องค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน แต่มีความสมดุลกัน อาจเป็นความสมดุลด้วยน้ำหนักขององค์ประกอบ หรือสมดุลด้วยความรู้สึกก็ได้ การจัดองค์ประกอบให้เกิดความ สมดุลแบบอสมมาตร อาจทำได้โดยเลื่อนแกนสมดุลไปทางด้านที่มีน้ำหนักมากว่า หรือ เลื่อนรูปที่มีน้ำหนักมากว่าเข้าหาแกน จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น หรือใช้หน่วยที่มีขนาดเล็กแต่มีรูปลักษณะที่น่าสนใจถ่วงดุลกับรูปลักษณะที่มีขนาดใหญ่แต่มีรูปแบบธรรมดา
ในชีวิตจริง เราต้องตระหนักว่า เราอาจไม่สามารถแบ่งชีวิตเราออกเป็น 2 ส่วนเหมือนกัน เท่ากันเป๊ะ แบบเป็นดุลยภาพแบบสมมาตรได้ แต่เรา สามารถมีสมดุล ในความรู้สึก ในความเชื่อ(ศรัทธา)อย่างดุลยภาพแบบอสมมาตรได้ เช่น ด้านหนึ่งของชีวิตเราประสบปัญหา อาทิ ธุรกิจมีปัญหา หรือ ครอบครัวมีปัญหา หรือสุขภาพมีปัญหา ฯลฯ แต่จิตใจเรากลับมีดุลยภาพ เพราะเรามีประสบการณ์กับการหนุนชูจิตจากพระวิญญาณบริสุทธิ์และพระวจนะของพระเจ้า และได้รับการชูใจจากพี่น้องผู้มีความเชื่อคนอื่นๆ ทำให้เราไม่เอียง ไม่แกว่ง แต่…เรายังไปต่อได้!
บางคนให้คำแนะนำไว้ว่า ในชีวิตของเรา เราควรมีสมดุล 6 ประการต่อไปนี้ นั่นคือดุลยภาพในเรื่อง
- อาชีพ การงาน: อย่าทำงานหาเงินอย่างเดียว จนชีวิตเสียดุล ให้เอาเงินที่เรามีไปพัฒนาต่อยอดอาชีพการงาน เช่น ไปเรียนต่อ หลักสูตรวิชาที่จะไปเพิ่มความสามารถอันจะเอื้อประโยชน์ต่อการทำงานเรา
- ร่างกาย สุขภาพ: อย่าเอาแต่เอาเวลาไปทำงานอย่างเดียวจนละเลยดูแลตัวเองมานาน ลองแบ่งเงินและเวลาไปทำให้เรามีร่างกายที่ดีขึ้นบ้าง เช่น ไปสมัครฟิตเนสแล้วไปเล่น ไปเสริมสวยสร้างความมั่นใจ และสร้างความแข็งแรงจากภายใน ในฝ่ายจิตวิญญาณให้สมดุลเพราะมันเป็นเรื่องที่สำคัญ
- อารมณ์: อย่าเอาแต่ทำงาน หรือยุ่งวุ่นวาย ตามอารมณ์จนเครียดซึมเศร้าจากการทำงาน เกิดเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) จงสร้างสมดุลให้ชีวิตโดย จัดการบริหารส่วนนี้ให้อารมณ์ดีขึ้นโดยอาจการแบ่งเงินเพื่อให้รางวัลชีวิตกับตัวเองบ้าง แต่อย่ามากเกินไปจนเสียดุล
- การเงิน: อย่าเอาแต่หา(หรือไม่ยอมหา) และใช้เงินอย่างฟุมเฟือย จนเงินไม่เหลือ เราควรจะแบ่งเงินออกมาออมเพื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อมีดุลในด้านการเงินไว้เสมอ
- ครอบครัว: อย่ายุ่งกับงานการ จิตอาสา หรือ กิจกรรมอะไร กับใคร จนละเลยขาดการแสดงความรักต่อคนในครอบครัวรวมทั้งการ ละเลยการแสดงความกตัญญู กตเวที ต่อบุพการี เราจึงควรจัดสรรเงินไว้เผื่อแผ่คนในบ้าน(สามี/ภรรยา/ลูก) อย่างสมดุล
- จิตวิญญาณ: อย่าปล่อยเวลา ฆ่าเวลา หรือ หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่เราทำ จนละเลยฝ่ายจิตวิญญาณของเราและคนในครอบครัวของเรา จงจัดเวลาที่จะช่วยและพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเราและคนในครัวเรือนของเรา อย่างมี ดุลยภาพ
ดังนั้นในก่ารมีสมดุลในการดำเนินชีวิต เราต้องไม่ปล่อยให้มีอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นกับเราอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาทิ
- 1.รับงานหรือทำงานหนักเกินตัว เช่นเกินกำลังกาย เกินสติปัญญา เกินความสามารถ หรือเกินกำลังทรัพย์ที่มี
- 2.เพิ่มเวลาในการทำงานยาวนานเกินกำลังจะรับไหว
- 3.เพิ่มภาระรับผิดชอบที่บ้านมากจนหนักมาก
- 4.เพิ่มปริมาณงานต่างๆ ที่ประดังเข้าแบบไม่ปฏิเสธ หรือแยกแยะ ฯลฯ
เพราะถ้าเราปล่อยให้ตารางชีวิตของเราขาดดุลยภาพอย่างนี้ต่อไป จนเกิด “ภาวะหมดไฟ” ชีวิตเราและครอบครัวก็อาจพังทลายลงได้ อย่างไม่คาดฝัน!
แต่ถ้าเราปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต และการทำงานของเราเสียใหม่ให้เกิดความสมดุล ฝ่าย กาย จิต และวิญญาณ แม้จะเป็นดุลยภาพแบบอสมมาตร แต่เราและทุกคนในครอบครัว รอบตัว หรือในองค์กรของเราก็จะมีความสุขมากกว่าที่ผ่านมา อย่างแน่นอน
สรุป
ชีวิตของเราไม่มีดุลยภาพที่สมบูรณ์
จึงไม่มี work-life ที่สมบูรณ์แบบ
แต่แม้ไม่มีสมดุลในแต่ละวัน แต่ภาพรวม (ทั้งเดือน/ปี) ของเราอาจที่ออกผลมาเมื่อรวมกันเข้าด้วยกันแล้ว ก็น่าจะก่อเกิดผลดีและความสมดุลที่น่าพอใจ ในบั้นปลาย
“เรารู้ว่าเหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า คือแก่คนทั้งหลายที่พระองค์ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์” โรม 8:28 THSV11
งานหนัก แต่สนุกและชอบ อาจสมดุลดีกว่า งานเบา แต่ไม่ชอบ
งานได้เงินน้อย แต่สุขใจ อาจสมดุลกว่า งานได้เงินเยอะ แต่ทุกข์มาก
งานสนุกเพลิดเพลินมาก แต่ ทำให้คนในครอบครัวขมขื่น ก็อาจไม่สมดุล
งานได้รับความสำเร็จมาก แต่ ไม่มีเวลาพัฒนาฝ่ายจิตวิญญาณของตน(หรือคนในครอบครัวเลย) ก็ไม่ถือว่าเป็นชีวิตที่สมดุล
ข้อแนะนำสุดท้าย
- 1.จงยอมรับว่า ไม่มีความสมดุลที่สมบูรณ์แบบทุกในโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสมบูรณ์แบบ เรื่อง “งานและชีวิต” แต่เราสามารถทำให้จบอย่างสมบูรณ์ได้!
- 2.เราควรหางานที่ทำแล้ว เราและพระเจ้ามีความสุข
- 3.เราควรให้เความใส่ใจในสุขภาพของเราให้ดีก่อนที่เราจะไม่มีสุขภาพเหลือให้ใส่ใจ
- 4.เราควรเรียนรู้และรู้จักยอมละวาง (งาน/ภาระ)และ(ลา)หยุดพักตามควร
- 5.เราควรจัดให้มีเวลาเพลิดเพลิน และพักผ่อนกับครอบครัว และคนที่เรารัก
- 6.เราควรรู้จักแบ่งเส้นแยกระหว่างเวลาทำงาน และเวลาส่วนตัวของเรา
- 7.เราควรตั้งเป้าที่จะให้พระเจ้าเป็นหนึ่งในชีวิต การงาน และเชื่อฟังทำตามคำสอนในพระวจนะของพระองค์ด้วยความยินดีและไว้วางใจในพระองค์!
-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์- twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer