Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

ศิษยาภิบาลคือใคร? มีหน้าที่อะไร? (คอลัมน์คำตอบชีวิต)

คำถาม     “ศิษยาภิบาลคือใคร มีหน้าที่อะไร?

                  คนจะเป็นศิษยาภิบาลต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?”

คำตอบ       

คำว่า “ศิษยาภิบาล”  เป็นคำที่มาจากคำ 2 คำ คือ  “ศิษย์”  + “อภิบาล” (อภิปาล)

แท้จริง “ศิษยาภิบาล” เป็นคำสันสกฤต แปลว่า “ผู้ดูแลศิษย์” 

ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Pastor” ซึ่งมาจากคำภาษาลาตินว่า pascere” ที่แปลว่า “คนเลี้ยงแกะ” (shepherd) หรือบางทีก็เรียกว่า “ผู้อภิบาล” ในบางคณะถือว่าศิษยาภิบาลเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า (minister) ที่เป็น “ศาสนาจารย์” (Reverend) ไปด้วยในตัวเลย (แต่หลายคณะแยก 2 บทบาทนี้ออกจากกัน) และสื่อมวลชนแปลคำReverend” นี้ว่า “สาธุคุณ”

คริสตจักรโรมันคาทอลิกเรียก Pastor” ว่า “ผู้อภิบาล” หรือ “นายชุมพาบาล” หมายถึง อธิการโบสถ์ (Parish priest) ซึ่งเป็นบาทหลวงที่ได้รับแต่งตั้งและมอบหมายจากมุขนายกประจำสังฆมลฑล ทำหน้าที่ปกครองเขตที่ดูแลอยู่

คำว่า “ศิษยาภิบาล” นี้ทั่ว ๆ ไปชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ใช้เรียกบุคคลที่มีตำแหน่งในการปกครองดูแลคริสตจักร และสมาชิกดุจดังผู้เลี้ยงแกะดูแลฝูงแกะในคอก ทั้งๆ ที่ในพระคัมภีร์มีคำว่า “ศิษยาภิบาล” ปรากฎอยู่เพียงครั้งเดียวในพระธรรมเอเฟซัส

“และพระองค์เองประทานให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์” (เอเฟซัส 4:11)

ปกติคริสเตียนโปรเตสแตนท์ใช้คำนี้เรียกผู้ดูแลคริสตจักรท้องถิ่น ที่ไม่ถือว่าเป็นนักบวช แต่เป็นฆราวาสที่ได้รับการสถาปนาแต่งตั้งจากคริสตจักรให้เป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูสมาชิกในฐานะที่เป็นผู้รับใช้ตามการทรงเรียกของพระเจ้าให้อุทิศปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในคริสตจักร และชุมชนที่เขาอยู่ โดยทั่วไปศิษยาภิบาลมีหน้าที่ดังนี้

  1. ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำ ผู้สอน หรือผู้เลี้ยงดูสมาชิกในคริสตจักรโดยทั่วไป ในฐานะครูสอนคริสตศาสนาหรือศาสนาจารย์ (หลายคณะก็มีการแยกศิษยาภิบาลและศาสนาจารย์ออกจากกัน โดยถือว่า ศาสนาจารย์เป็นสมณศักดิ์ที่แตกต่างจากศิษยาภิบาล)
  2. ทำหน้าที่เทศนา อรรถาธิบายและสั่งสอนพระวจนะของพระเจ้าแก่มวลสมาชิกให้มีความรู้ ความเข้าใจในพระคริสตธรรมคัมภีร์ อย่างถูกต้อง
  3. ทำหน้าที่เยี่ยมเยียน ดูแลทุกข์สุขของสมาชิกและออกติดตามสมาชิกที่ขาดการติดต่อให้กลับคืนสู่คริสตจักร หรือจนกว่าจะแน่ใจว่า สมาชิกนั้นได้เข้าอยู่ในคริสตจักรใดคริสตจักรหนึ่งอย่างปลอดภัวยแล้ว
  4. ทำหน้าที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะธรรมกิจ(ผู้ปกครอง ดูแล) ของคริสตจักร
  5. ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการดำเนินชีวิต (โดยเฉพาะในฝ่ายจิตวิญญาณ) แก่สมาชิกของคริสตจักร
  6. ทำหน้าที่นำผู้แสวงหาพระเจ้าให้เข้ามาเชื่อศรัทธาในพระเจ้าและวางรากฐานชีวิตด้านจิตวิญญาณแก่ผู้เชื่อใหม่ และเลี้ยงดูฟูมฟักให้เติบโตขึ้นในด้านความรู้ และความเข้าใจ และการดำเนินชีวิตตามหลักพระคัมภีร์
  7. ทำหน้าที่นำ ส่งเสริม และเสริมสร้างให้สมาชิกคริสตจักรได้มีส่วนในการทำพันธกิจรับใช้ในคริสตจักร และในสังคม
  8. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพระเจ้าในคริสตจักร ชุมชน สังคม และโลกนี้

และเนื่องด้วยคริสเตียนโปรเตสแตนท์ มีหลักความเชื่อในเรื่อง “ความเป็นปุโรหิต” ของ “ผู้เชื่อทุกคน” จึงถือว่า คริสตชนทุกคนเป็นดุจปุโรหิตของพระเจ้าที่ได้รับสิทธิอำนาจในการประกาศข่าวประเสริฐ เป็นพยาน และนำคนให้รู้จักกับพระคริสต์ ให้มีศรัทธา และรับความรอดโดยพระคุณ เพราะความเชื่อ ด้วยเหตุนี้ผู้เชื่อทุกคนจึงควรทำหน้าที่ผู้เลี้ยงดูจิตวิญญาณของผู้เชื่อ(ใหม่) คนอื่นๆ (ดุจศิษยาภิบาลตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ คริสตจักรที่เจริญเติบโตจึงมักจะเปิดโอกาสให้สมาชิกในคริสตจักรได้มีส่วนรับใช้ร่วมกับศิษยาภิบาล(เต็มเวลา) ในการอภิบาลเลี้ยงดูผู้เชื่อคนอื่นๆ ในคริสตจักร

อย่างไรก็ตาม คริสตจักรโดยทั่วไปจะเรียกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็น “ศิษยาภิบาล” ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้รับการยอมรับและแต่งตั้งจากผู้นำและสมาชิกในคริสตจักรว่าเป็น “ผู้เลี้ยง” อันชอบธรรม โดยการเต็มใจยินยอมของพวกเขาก่อน

สำหรับคุณสมบัติของศิษยาภิบาลนั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้เป็นรูปแบบทางการแต่อย่างใด แต่มักถือคำตรัสของพระเยซูมาเป็นบรรทัดฐานว่า “ศิษยาภิบาล” (หรือผู้เลี้ยง) ควรมีหน้าที่ดังนี้

  1. เป็นคนที่เฝ้าดูแลแกะในฝูง(คริสตจักร)ของตนให้ปลอดภัย
  2. เป็นผู้ที่ลงเวลาลงชีวิตกับแกะ(สมาชิก)อย่างใกล้ชิด จนแกะ(สมาชิก) ยอมรับและฟังเสียงของเขา
  3. เป็นผู้ที่นำหน้าสมาชิกในการดำเนินชีวิตในฐานะผู้เลี้ยงที่พวกเขาตาม (และไม่หลงตามผู้เลี้ยงคนอื่นๆ)
  4. เป็นผู้เลี้ยงดูสมาชิกที่เต็มใจพร้อมยอมสละชีวิตของตนเพื่อปกป้องสมาชิก (แกะในคอก)
  5. เป็นผู้เลี้ยงที่ดี ห่วงใยไม่ละทิ้งฝูงแกะ ไม่ใช่คนรับจ้างที่เมื่อเจอปัญหาหรืออันตรายก็พร้อมละทิ้งแกะเพื่อตัวเอง โดยไม่ได้ห่วงใยแกะที่ดูแลอยู่
  6. เป็นผู้เลี้ยงที่รู้จักสมาชิกแต่ละคน (แกะแต่ละตัว) และสมาชิกก็รู้จักตัวของเขาในฐานะผู้เลี้ยงที่ดีเช่นกัน
  7. เป็นผู้เลี้ยงที่พร้อมแบกภาระในการดูแลสมาชิก(แกะ)ในหลาย ๆ กลุ่ม (ฝูง)

“เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า คนที่ไม่ได้เข้าไปในคอกแกะทางประตู แต่ปีนเข้าไปทางอื่นนั้นเป็นขโมยและโจร แต่คนที่เข้าทางประตูก็เป็นผู้เลี้ยงแกะ คนเฝ้าประตูจึงเปิดประตูให้คนนั้น แกะย่อมฟังเสียงของท่าน ท่านเรียกชื่อแกะของท่าน และนำออกไป เมื่อท่านต้อนแกะของท่านออกไปหมดแล้วก็เดินนำหน้า และแกะก็ตามไปเพราะรู้จักเสียงของท่าน ส่วนคนอื่นแกะจะไม่ตามเลย แต่จะหนีจากเขา เพราะไม่รู้จักเสียงของคนอื่น” เรื่องเปรียบนี้พระเยซูตรัสกับพวกเขา แต่เขาเหล่านั้นไม่เข้าใจความหมายของพระดำรัสที่พระองค์ตรัสกับเขาเลย พระเยซูจึงตรัสกับพวกเขาอีกว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า เราเป็นประตูของแกะทั้งหลาย ทุกคนที่มาก่อนเรานั้นเป็นขโมยและโจร แต่ฝูงแกะไม่ได้ฟังพวกเขา เราเป็นประตู ถ้าใครเข้าไปทางเรา คนนั้นจะรอด เขาจะเข้าออกแล้วก็จะพบอาหาร ขโมยนั้นย่อมมาเพื่อจะลัก ฆ่า และทำลาย เรามาเพื่อพวกเขาจะได้ชีวิตและจะได้อย่างครบบริบูรณ์ เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี ผู้เลี้ยงที่ดีย่อมสละชีวิตของตนเพื่อฝูงแกะ คนที่รับจ้างไม่ได้เป็นผู้เลี้ยงแกะ ฝูงแกะไม่ได้เป็นของเขา เมื่อเห็นสุนัขป่ามาเขาจึงละทิ้งฝูงแกะหนีไป สุนัขป่าก็ไล่กัดกินพวกแกะจนกระจัดกระจาย เขาหนีเพราะเขาเป็นเพียงลูกจ้างและไม่ได้เป็นห่วงแกะเลย 14เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี เรารู้จักแกะของเราและแกะของเราก็รู้จักเรา เหมือนอย่างที่พระบิดาทรงรู้จักเราและเรารู้จักพระบิดา และเราสละชีวิตเพื่อฝูงแกะ แกะอื่นที่ไม่ได้เป็นของคอกนี้เราก็มีอยู่ แกะพวกนั้นเราก็ต้องพามาด้วย และแกะพวกนั้นจะฟังเสียงของเราแล้วจะรวมเป็นฝูงเดียวและมีผู้เลี้ยงเพียงผู้เดียว เพราะเหตุนี้พระบิดาจึงทรงรักเรา เพราะเราสละชีวิตของเราเพื่อจะรับชีวิตนั้นคืนมาอีก ไม่มีใครชิงชีวิตไปจากเราได้ แต่เราสละชีวิตตามที่เราตั้งใจเอง เรามีสิทธิอำนาจที่จะสละชีวิตนั้นและมีสิทธิอำนาจที่จะรับคืนมาอีก คำกำชับนี้เราได้รับมาจากพระบิดาของเรา”  (ยอห์น 10:1-18)

นอกจากนี้ อาจารย์เปาโลก็ได้ให้คุณสมบัติของผู้ปกครองดูแลคริสตจักรที่เราสามารถนำมากำหนดเป็นคุณสมบัติของศิษยาภิบาล(ที่ถือว่าเป็นผู้ปกครองคริสตจักรคนหนึ่ง) ดังนี้

  1. ศิษยาภิบาลต้องเป็นผู้ที่ปรารถนาหน้าที่ปกครองดูแลสมาชิก(ฝูงแกะของพระเจ้า)
  2. ศิษยาภิบาลต้องเป็นคนที่ไม่มี(เหตุให้เป็น)ที่ติ
  3. ศิษยาภิบาลต้องเป็นสามีของหญิงคนเดียว
  4. ศิษยาภิบาลต้องเป็นผู้รู้จักประมาณตน
  5. ศิษยาภิบาลต้องเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ
  6. ศิษยาภิบาลต้องเป็นที่น่านับถือ
  7. ศิษยาภิบาลต้องมีอัธยาศัยต้อนรับแขก
  8. ศิษยาภิบาลต้องเป็นคนที่เหมาะจะเป็นอาจารย์
  9. ศิษยาภิบาลต้องไม่ดื่มสุรามึนเมา
  10. ศิษยาภิบาลต้องไม่ชอบความรุนแรง
  11. ศิษยาภิบาลต้องผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่ชอบการวิวาท
  12. ศิษยาภิบาลต้องไม่เป็นคนเห็นแก่เงิน
  13. ศิษยาภิบาลต้องปกครองครอบครัวของตนได้ดี อบรมบุตรธิดาให้มีความนอบน้อมด้วยความเคารพนับถือ
  14. ศิษยาภิบาลต้องไม่เป็นคนที่เพิ่งกลับใจใหม่ เกรงว่าจะยโส
  15. ศิษยาภิบาลต้องมีชื่อเสียงดี ในหมู่คนภายนอก (1ทิโมธี 3:1-7)

แท้จริงแล้วในพระคัมภีร์ “ศิษยาภิบาล” ไม่ใช่ตำแหน่ง แต่เป็นบุคคลที่เป็น “ของประทาน” (ที่มีชีวิต) ที่พระเจ้ามอบให้แก่คริสตจักรเป็นของขวัญ เป็นผู้ที่มีสิทธิอำนาจในฐานะผู้เลี้ยงรู้และสามารถที่ใช้พระวจนะของพระเจ้าในการสั่งสอนประชากรของพระองค์ได้อย่างถูกต้อง ให้ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์และพระทัยของพระองค์ เพื่อให้แผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่ในแผ่นดินโลก และนำคนมากมายให้กลับกลายเป็นพลเมืองของแผ่นดินสวรรค์

ศิษยาภิบาล (ไม่ว่าจะเต็มเวลาหรืออาสาสมัคร) จึงมีบทบาทหน้าที่ในการเตรียมธรรมิกชนให้เป็นคนรับใช้อย่างผู้มีวุฒิภาวะในฝ่ายจิตวิญญาณ ที่นำพระเกียรติสิริมาสู่พระเจ้าองค์สูงสุดผ่านคริสตจักรของพระองค์ และพันธกิจในการดูแลอภิบาลศิษย์หรือผู้เชื่อในคริสตจักรนั้นเป็นภารกิจที่ยากเกินกว่าศิษยาภิบาลคนเดียวจะสามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาจึงจำเป็นจะต้องมีผู้ร่วมทีมในการเลี้ยงดู

วันนี้ คุณพร้อมจะเป็นหนึ่งในทีมศิษยาภิบาลที่พระคริสต์ทรงพอพระทัยและคริสตจักรพอใจหรือไม่? 

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ Artist – Yongsung Kim)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.