คริสเตียนกับรัฐธรรมนูญ
ประเทศไทยมีวันรัฐธรรมนูญ ตรงกับ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศ
รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศ
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” (27มิถุนายน-10 ธันวาคม 2475)
จากนั้น ราชอาณาจักรไทย ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามมาอีกหลายฉบับ จนถึงฉบับที่19 เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557” เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชานุญาตและลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายทันที แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งสิ้น 48 มาตรา
จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” (6 เมษายน 2560-ปัจจุบัน)
ประวัติความเป็นมา
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย
- หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ
- อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
- รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร
จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหารและราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอก พระฤทธิอาคเนย์ เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
– พระมหากษัตริย์
– สภาผู้แทนราษฎร
– คณะกรรมการราษฎร
– ศาล
ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 20 ฉบับ
รัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จากนั้น ราชอาณาจักรไทย ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามลำดับ ดังนี้
- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (27 มิถุนายน – 10 ธันวาคม 2475)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 (10 ธันวาคม 2475 – 9 พฤษภาคม 2489) ถูกยกเลิกเพราะล้าสมัย
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (9 พฤษภาคม 2489 – 8 พฤศจิกายน 2490) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม (9 พฤศจิกายน 2490 – 23 มีนาคม 2492)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (23 มีนาคม 2492 – 29 พฤศจิกายน 2494) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 (8 มีนาคม 2495 – 20 ตุลาคม 2501) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 (28 มกราคม 2502 – 20 มิถุนายน 2511)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 (20 มิถุนายน 2511 – 17 พฤศจิกายน 2514) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 (25 ธันวาคม 2515 – 7 ตุลาคม 2517)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 (7 ตุลาคม 2517 – 6 ตุลาคม 2519) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 (22 ตุลาคม 2519 – 20 ตุลาคม 2520)
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 (9 พฤศจิกายน 2520 – 22 ธันวาคม 2521)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (22 ธันวาคม 2521 – 23 กุมภาพันธ์ 2534) ถูกยกเลิกโดยคณะ รสช.
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 (1 มีนาคม – 9 ตุลาคม 2534)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 (9 ธันวาคม 2534 – 11 ตุลาคม 2540) ถูกยกเลิกหลังตรารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับประชาชน (11 ตุลาคม 2540 – 19 กันยายน 2549) ถูกยกเลิกโดยคณะ คปค.
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 (1 ตุลาคม 2549 – 24 สิงหาคม 2550)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (24 สิงหาคม 2550 – 22 กรกฎาคม 2557)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (22 กรกฎาคม 2557-6 เมษายน 2560)
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (6 เมษายน 2560-ปัจจุบัน)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในระหว่าง พ.ศ. 2557–2560 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ
ในฐานะพลเมืองไทย และในฐานะคริสเตียนชาวไทย เราควรมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง?
คำว่า “หน้าที่” หมายถึง กิจที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบ ในที่นี้หมายถึง “ภาระและความรับผิดชอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับให้บุคคลซึ่งเป็นชนชาวไทยต้องปฏิบัติ หรือกระทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ถ้าหากผู้ใดไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและจะถูกลงโทษ
หน้าที่ของชนชาวไทย มีสองสถานะ คือ
- ฐานะผู้ปกครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองของประเทศไทย
- ฐานะผู้อยู่ภายใต้การปกครอง รัฐธรรมนูญนอกจากจะมีบทบัญญัติในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไว้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่บางประการควบคู่ไปด้วย กล่าวคือ เมื่อรัฐได้ให้หลักประกันในสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนแล้ว ประชาชนก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อรัฐด้วย
จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาได้กำหนดเรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ คำว่า “สิทธิ” มีคำคู่กันอยู่คือ “หน้าที่” ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ก็ตาม เมื่อมี “สิทธิ” ก็ย่อมมี “หน้าที่” คู่กันเสมอ
เมื่อเราเกิดมาเป็นคนไทยมีสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญไทยกำหนด เราก็ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในฐานะเป็นคนไทยด้วยเช่นกัน และได้บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ต่าง ๆ คือ
– รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
– หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร
– เสียภาษีอากร
– ช่วยเหลือราชการ
– รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ปกป้อง
– สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น
– อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หน้าที่สำคัญของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน ตามหลักธรรมาภิบาล ได้แก่
1) เกิดผลประโยชน์สุขของประชาชน
2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
3) มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
4) ไม่มีขั้นตอนในการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
5) ปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
จะเห็นได้ว่าชาวไทยที่เป็นข้าราชการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของชนชาวไทยมากกว่าบุคคลที่เป็นประชาชนทั่วไป
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของชนชาวไทยทุกคนนั้น ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทุกคนเลย และถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้ามาดำเนินการตามหน้าที่ของชนชาวไทย เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ด้วยสันติวิธี รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายและประพฤติตนเป็นพลเมืองดีตามรัฐธรรมนูญอย่างเข้มแข็ง (เรียบเรียงจากข้อมูล วิกิพีเดียและอินเทอร์เน็ต)
ใช่ครับ เราที่เป็นคริสเตียนก็มีสิทธิ์ และหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเหมือนกับคนไทยทุกคนเช่นกัน
ตามที่พระวจนะของพระเจ้าสอนไว้ว่า …
“ทุกคนจงยอมอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอำนาจปกครอง(ตามรัฐธรรมนูญ) เพราะว่าไม่มีอำนาจใดเลยที่ไม่ได้มาจากพระเจ้า และผู้ที่ถืออำนาจนั้น พระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น” –โรม 13:1 THSV11
หากว่าคริสเตียนไทยกระทำตามคำแนะนำข้างต้นนี้ ก็ย่อมจะปลอดภัย และสงบสุข ….
จริงไหมครับ?
ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
– twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer
(Cr.ภาพ Flickr.com)