Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

โอกาสจะเปิดให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้อย่างไร?

โอกาสจะเปิดให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้อย่างไร?

 “ภาวะผู้นำที่ดี ไม่ใช่การทำให้ตัวเองก้าวหน้า แต่เป็นการทำให้ทีมของคุณก้าวไกล”

(Good Leadership isn’t about advancing yourself. It’s about advancing your team.) -John C. Maxwell-

บางคริสตจักรมีปัญหาคือไม่มีผู้นำคริสตจักร หรือมีผู้นำแต่เป็นผู้นำที่อ่อนแอ ขาดวิสัยทัศน์และความรับผิดชอบ บางคริสตจักร มีผู้นำที่เข้มแข็งมาก ควบคุมทุกอย่างจนไม่มีที่ว่างสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะแทรกขึ้นมาเป็นผู้นำ บางคริสตจักร มีผู้นำที่มีความสามารถ แต่ไม่มีเวลาหรือไม่สามารถอุทิศตัวทุ่มเทในการสร้างผู้นำหรือพัฒนาคริสตจักรให้ก้าวไกลกว่าที่เป็นอยู่ได้ด้วยนานาสาเหตุ บางคริสตจักรนั้นสุดยอดเพราะมีผู้นำที่มีคุณภาพ มีนิมิต และทุ่มเทเวลารับใช้สุดชีวิต และสุดจิตสุดใจ สุดกำลัง และสุดกำลังทรัพย์

คริสตจักรของเราเป็นแบบไหน? เราต้องมองหาคนรุ่นใหม่ที่พระเจ้าทรงเรียกเขา และตัวเขาเองก็ตอบสนองการทรงเรียกนั้น เพราะคนเช่นนี้คือคนที่สมควรได้รับการเสริมสร้าง ส่งเสริมให้กลายเป็นผู้นำ และผู้รับใช้ต่อจากผู้นำในปัจจุบัน  เมื่อใดก็ตามที่เราได้พบคนเช่นนี้ในท่ามกลางเรา ต่อไปนี้คือแนวทางที่คริสตจักรของเราสมควรกระทำ

1) ให้เปิดโอกาสแก่คน (ที่มีศักยภาพ) เหล่านั้น

แน่นอนไม่มีใครพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อนที่จะนำหรือรับใช้  บางคนมีความสามารถแต่ขาดความรู้แลtประสบการณ์บางคนมีประสบการณ์ แต่ขาดความรู้บางอย่าง บางคนขาดวุฒิภาวะ และอายุยังน้อย บางคนขาดคนสนับสนุน หรือขาดเวที

ผู้นำคริสตจักรในปัจจุบันจึงควรเปิดโอกาสให้พวกเขาที่มีศักยภาพได้มีส่วนในการเปิดตัวรับใช้ โดยอาจจะเริ่มจากการมอบหมายความรับผิดชอบเล็กๆในกรอบที่จำกัดแล้วค่อยๆ ขยายวงในการรับใช้ออกไป

2) ให้พวกเขาร่วมแบ่งปันประสบการณ์

ไม่มีใครมีประสบการณ์ในทุกเรื่องภายในตัวเอง ดังนั้น ว่าที่ผู้นำรุ่นใหม่จึงต้องการการเรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่มีความรู้หรือประสบการณ์มากกว่า ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็ต้องการให้ผู้นำในปัจจุบัน (ที่อาวุโสกว่า) ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่พวกเขากำลังมีประสบการณ์อยู่เช่นกัน  และการเรียนรู้จากกันและกัน จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่ผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทำให้คริสตจักรมุ่งสู่ทิศทางใหม่ที่ดีกว่าและครอบคลุมพันธกิจต่างๆ มากกว่าเดิม

3) ให้เปิดรับและลองสิ่งใหม่ๆ ด้วยใจกว้าง อย่างมีน้ำใจทีม

คนเก่าๆ มักรู้สึกปลอดภัยกับรูปแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคย ที่เรียกว่า Comfort Zone” และไม่อยากจะเพิ่มอัตราความเสี่ยงใดๆ ในชีวิตอีก แต่คนใหม่ๆ นั้นต้องการลองสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม

หากคนเก่าตั้งแง่ คนใหม่ก็ไม่มีโอกาส หากคนใหม่ละทิ้งภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า เอาแต่สิ่งใหม่ทั้งหมดเลยก็อาจเสี่ยงต่อการเสียหาย (เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภูมิหลัง ดังนั้น หากผู้นำในปัจจุบันต้องการให้ว่าที่ผู้นำรุ่นใหม่เข้ามาร่วมรับใช้ ก็จำเป็นต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา และคนรุ่นใหม่เองก็ต้องมีใจพร้อมปรับเปลี่ยนความคิดของตนให้สามารถสอดคล้องกับทักษะ และประสบการณ์ที่มีคุณประโยชน์ของคนรุ่นเก่าด้วย อันจะก่อให้เกิดวิถีการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 4) ให้ตั้งความคาดหวังไว้ให้สูง

อย่าให้ผู้นำรุ่นปัจจุบัน ตั้งเป้าหมายหรือความคาดหวังต่ำเกินไปสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเพียงแค่คาดหวังให้พวกเขามาเติมลงในบทบาทหน้าที่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือศักยภาพของพวกเขา ผู้นำปัจจุบันควรแจ้งความคาดหวังและเป้าหมายที่สูงแก่พวกคนรุ่นใหม่ และให้เสรีภาพแก่พวกเขาในการบรรลุถึงความคาดหวังนั้น พร้อมท้าทายและให้รางวัลแก่พวกเขา เมื่อพวกเขาจะเกิดแรง ผลักดันในการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง

เพราะนั่นคือ ส่วนหนึ่งในกระบวนการสู่ความเจริญเติบโตของพวกเขา และของคริสตจักร

5) ให้การยอมรับว่าความผิดพลาดล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างผู้นำใหม่

คนทุกคนไม่ว่าผู้นำเก่าหรือใหม่ ล้วนมีโอกาสตัดสินใจหรือทำผิดพลาดกันทุกคน โดยเฉพาะ ผู้นำใหม่ๆที่ขาดประสบการณ์ และต้องลงมือทำหรือทำบางอย่างที่เป็นสิ่งใหม่ ที่เขาไม่เคยคิด ตัดสินใจ หรือกระทำมาก่อน หากไม่ให้พวกเขาเสี่ยงลงมือทำ เขาอาจจะไม่มีวันเข้าใจและคงจะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่  และจะไม่มีประสบการณ์ในการพัฒนาตัวเขาหรือคริสตจักรเกิดขึ้น

บางครั้งคนเราเรียนรู้ได้ดีจากความผิดพลาดของตัวเอง และหากว่าคนๆ นั้นได้รับโอกาสในการแก้ไข และหา หนทางใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม เขาก็อาจจะเติบโตขึ้น ตามกระบวนการของการสร้างผู้นำได้มากที่สุด

6) ให้การสนับสนุนและการหนุนใจแก่ว่าที่ผู้นำใหม่อย่างต่อเนื่อง

คนทุกคนล้วนต้องการการตอบสนองในเชิงบวก หากผู้นำรุ่นใหม่ได้ลงมือกระทำกิจหรือพันธกิจบางอย่าง เขาย่อมต้องการรับรู้ว่า คนอื่นๆ ทั้งผู้นำรุ่นปัจจุบันและคนที่รับการปรนนิบัติจากพวกเขานั้นคิดหรือรู้สึกกันอย่างไรเขาต้องการการตอบรับหรือการสนับสนุน รวมทั้งการหนุนใจจากผู้ใหญ่ และผู้นำของพวกเขาอีกที

ดังนั้น หากคริสตจักรต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่ คริสตจักรต้องหมั่นให้กำลังใจพวกเขาอยู่อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้เขาตั้งเป้าหมายที่สูงกว่าเดิม และเคียงข้างพวกเขาให้ลงมือทำจนสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

7) ให้การประเมินที่สร้างสรรค์แก่ผู้นำรุ่นใหม่

แม้ว่าพวกผู้นำรุ่นใหม่ต้องการการหนุนใจ แต่พวกเขาก็ต้องการมากกว่าแค่การบอกว่า สิ่งที่เขาทำดี หรือแย่แค่นั้น ในกระบวนการสร้างผู้นำให้เติบโตนั้น จำเป็นที่คริสตจักรต้องให้การประเมิน และการทบทวนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเขาอย่างเป็นรูปธรรมที่มีคุณประโยชน์

ผู้นำในปัจจุบันต้องช่วยพวกเขาให้เข้าใจมากกว่าแค่รู้ว่า เขาทำถูกหรือทำผิดแค่นั้น แต่พวกเขาต้องการแนวทางที่จะปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาในฐานะผู้นำที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจนด้วย ดังนั้น คริสตจักรต้องตระหนักว่าการพัฒนาผู้นำที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง และการเตรียมตัวสร้างผู้นำ (รุ่นใหม่) เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการเสริมสร้างให้ก่อเกิดความเจริญเติบโตคริสตจักรของเรา

คริสตจักรจึงต้องกระตือรือร้นจริงจังในการลงทุนในตัวของผู้นำในรุ่นต่อไปด้วยความเข้าใจในธรรมชาติ ทั้งคนเก่าและคนใหม่ รวมทั้งความแตกต่างในด้านวัฒนธรรมทางองค์กรของทั้ง 2 ฝ่าย และต้องรู้จักวิธีผสมผสานผู้นำทั้ง 2 รุ่น ให้สามารถทำงานเป็นทีมเดียวกันที่ทำให้คริสตจักรก้าวหน้าและเกิดประสิทธิผลก้าวไปได้อย่างยอดเยี่ยม

คริสตจักรที่มีคุณลักษณะเช่นนี้จะมีอนาคตยาวไกล เป็นพระพรของพระเจ้าต่อชุมชนไทยและแผ่นดินโลกนี้ต่อไปได้อีกนานแสนนาน!

พี่น้องที่รัก!  คุณพร้อมจะร่วมลงทุนในคนรุ่นใหม่แล้วหรือยัง?

และหากคุณเป็นคนรุ่นใหม่ คุณที่พร้อมรับการลงทุนและการลงชีวิตเพื่อเป็นผู้นำที่เปี่ยมคุณภาพรุ่นต่อไปแล้วหรือยัง?        

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/ lifeanswer, facebook.com/lifeanswer

(Cr.ภาพ Tipsonraisingducks)                                                                                                           

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.