Categories
บทเรียนพระคัมภีร์

บทเรียนพระธรรมทิตัส

มารู้จักกับ ทิตัส (Titus)

  1. ทิตัส (Titus, ภาษากรีก Titos)เป็นคริสเตียนเชื้อสายกรีก ที่คลุกคลีอยู่กับอัครทูต เปาโล เกือบ 20 ปี
  1. ทิตัส ประสบความสำเร็จมาจนกลายเป็นผู้นำคริสตจักรในเมืองโครินธ์ ในดาลมาเทีย แถบทะเลอเดรียติก และในตอนสุดท้ายไปอยู่ที่เกาะครีต
  2. ทิตัสกลายมาเป็นหนึ่งในผู้รับจดหมายจากอัครทูตเปาโล ที่กลายมาเป็นพระธรรมทิตัสในพระคัมภีร์
  3. อัครทูตเปาโลเอ่ยชื่อของทิตัสบ่อยครั้งในจดหมายที่โต้ตอบกับชาวโครินธ์ (แม้ว่าลูกาไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของเขาในพระธรรมกิจการเลย)
  4. ทิตัสได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในจดหมายถึงชาวกาลาเทีย ในฐานะเป็นตัวแทนจากอันทิโอกที่เดินทางร่วมกับ เปาโล และบารนาบัส ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ราวๆ  ช่วงปี ค.ศ. 49  (แต่เข้าใจแตกต่างกันว่าการไปเยี่ยมครั้งนี้ เป็นการเยี่ยมในเหตุการณ์ กิจการ 11  หรือกิจการ 15 (ในการประชุม สภาใหญ่)
  • การประชุมสภาครั้งนี้ ถกกันว่า ผู้เชื่อชาวต่างชาติจำเป็นต้องเข้าพิธีสุหนัต รวมทั้งถือบัญญัติอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ จึงจะรอดจะได้?
  • มีคริสเตียนในเยรูซาเล็มจำนวนไม่น้อย ขมขื่นใจที่จะยอมรับคริสเตียนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในสำนักงานใหญ่ของคริสตจักร ที่อันทิโอกในซีเรีย
  • เปโตรเป็นพยานจากประสบการณ์ส่วนตัว (ที่มีกับโครเนลิอัส) ให้การสนับสนุนตัวแทนคริสตจักรจากอันทิโอก และได้รับการเห็นชอบจากยากอบ ผู้นำและผู้ปกครอง(ผู้อาวุโส) ในคริสตจักร
  1. อ.เปาโล เอาทิตัสมาเป็นกรณีศึกษา และกรณีทดสอบ โดยการนำทิตัสไปกรุงเยรูซาเล็มไปกับท่าน และบารนาบัส ในเวลา 14 ปีต่อมา
  • ทิตัสเป็นผู้เชื่อเชื้อสายกรีก
  • แต่เขาไม่ได้ถูกบังคับให้เข้าสุหนัต (กท.2:1-3)
  1. ต่อมาอีกหลายปี ในระหว่างที่ อ.เปาโล เดินทางรอบที่ 3 และขณะที่อยู่ที่เอเฟซัส อ. เปาโลได้ยินข่าวเรื่องการผิดศีลธรรมทางเพศปรากฏขึ้นในคริสตจักร อ. เปาโลจึงให้คำแนะนำในการจัดการกับกรณีดังกล่าว ผ่านจดหมาย 1 โครินธ์ ที่ส่งไปทางเรือ ในขณะที่ทิโมธีเดินทางบกไปจัดการด้วยตัวเอง
  2. แต่ทั้งจดหมาย 1โครินธ์ และทิโมธี ต่างก็ไม่ได้ทำให้ความปรารถนา อ.เปาโลบรรลุความสำเร็จ อ.เปาโลจึงลงเรือเดินทางไปเมืองโครินธ์ด้วยตัวเอง แม้แต่ตัวท่านเองไม่อาจแก้ไขปฏิรูปชุมชนคริสเตียนในโครินธ์ ให้ดีขึ้นอย่างที่หวังและยังถูกดูหมิ่นดูแคลนเข้าไปอีก
  3. เปาโลจึงเดินทางกลับไปเอเฟซัส และจากที่นั่น ท่านเขียนจดหมายที่รุนแรงฉบับหนึ่ง เป็นจดหมาย (ที่อาจพบใน 2 โครินธ์ 10-13) ซึ่งทิตัส ซึ่งอาวุโสกว่า และมีประสบการณ์มากกว่า ทิโมธี เป็นผู้นำจดหมายฉบับนั้นไปส่งโดยในจดหมายฉบับนี้ อ.เปาโล เรียกร้องให้พวกคริสเตียนชาวโครินธ์คำนึงถึงศีลธรรมอย่างคริสเตียน และให้เกียรติในอัครฑูตเปาโลมากกว่าที่ผ่านมา ในฐานะผู้ก่อตั้งคริสตจักรที่เมืองโครินธ์

“ถ้าใครจะอวด ก็จงอวดองค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้าเถิด” 18เพราะว่าคนที่ยก‍ย่องตัวเองจะไม่‍ได้รับการรับ‍รอง แต่คนที่พระ‍เจ้าทรงยก‍ย่องต่าง‍หากจะได้รับ”   (2โครินธ์ 10: 17-18)

  1. อ.เปาโล รุ่มร้อนใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ของสิ่งที่ท่านวิงวอนขอให้พวกในคริสตจักรโครินธ์ปรับปรุงแก้ไขวิถีชีวิตของพวกเขา อ.เปาโลจึงยกเลิกพันธกิจเอเฟซัส ออกเดินทางผ่านโตรอัสไปจนพบกับทิตัสบนเส้นทางขากลับจากโครินธ์ผ่านทางมาซิโดเนียและทิตัส ผู้นำข่าวดีมาแจ้งให้ อ.เปาโล ทราบว่า คริสตจักรที่โครินธ์ได้ทำตามที่ อ.เปาโลขอ และพวกเขาโดยเสียงข้างมากได้จัดการกับคนที่ดูหมิ่นลบหลู่ อ.เปาโล แล้ว
  2. อ.เปาโล เขียนจดหมายอีกฉบับทันที (พบได้ใน 2 โครินธ์ 1-9, โดยข้ามเนื้อหาก่อนหน้า (ของจดหมายนี้) ในจดหมายฉบับนี้ที่ท่านให้อภัยแก่คนที่ต่อต้านท่าน) ปิดการโต้เถียงและจัดการรวบรวมเงินส่งไปช่วยคริสเตียนยากจนในกรุงเยรูซาเล็ม
  3. ในจดหมายฉบับนี้ อ.เปาโลแสดงความรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่น และขอบคุณสำหรับการรายงานของทิตัส

“เมื่อข้าพ‌เจ้าไปถึงเมืองโตร‌อัสเพื่อประ‌กาศข่าว‍ประ‌เสริฐของพระ‍คริสต์นั้น มีช่อง‍ทางเปิดให้กับข้าพ‌เจ้าโดยองค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า 13แต่ข้าพ‌เจ้ายังไม่‍มีความสบาย‍ใจเลย เพราะไม่พบทิ‌ตัสน้องของข้าพ‌เจ้าที่นั่น ข้าพ‌เจ้าจึงอำลาพวกนั้นและเดิน‍ทางไปยังแคว้นมา‌ซิ‌โด‌เนีย” (2โครินธ์ 2:12-13)

“6แต่พระ‍เจ้าผู้ทรงหนุนใจคนที่ท้อ‍ใจ ได้ทรงหนุนใจเราด้วยการมาของทิ‌ตัส 7และไม่เฉพาะเพียงการมาของเขาเท่านั้น แต่ยังด้วยการหนุนน้ำ‍ใจที่เขาได้รับจากพวก‍ท่าน เขาบอกเราถึงความอาลัยและความโศก‍เศร้าของท่าน ทั้งความกระ‌ตือ‍รือ‌ร้นของท่าน‍ทั้ง‍หลายที่มีต่อข้าพ‌เจ้า ทำให้ข้าพ‌เจ้ายิ่งมีความยินดีมากขึ้น 8เพราะถึง‍แม้‍ว่าข้าพ‌เจ้าทำให้ท่านเสีย‍ใจเพราะจด‍หมายฉบับนั้น ข้าพ‌เจ้าก็ไม่เสีย‍ใจ (แม้ก่อนหน้านี้ข้าพ‌เจ้าจะเสีย‍ใจ เพราะข้าพ‌เจ้าเห็นว่าจด‍หมายฉบับนั้นทำให้พวก‍ท่านเสีย‍ใจแม้เพียงชั่ว‍ขณะ) 9แต่บัด‍นี้ข้าพ‌เจ้ามีความยินดี ไม่ใช่เพราะพวก‍ท่านเสีย‍ใจ แต่เพราะความเสีย‍ใจนั้นทำให้ท่านกลับ‍ใจ เพราะว่าท่าน‍ทั้ง‍หลายได้รับความเสีย‍ใจตามพระ‍ประ‌สงค์ของพระ‍เจ้า ท่านจึงไม่‍ได้รับผล‍ร้ายจากเราเลย”  (2โครินธ์ 7:6-9)

“3ข้าพ‌เจ้าไม่‍ได้หมาย‍ความจะให้งานของคนอื่นเบา‍ลง และของพวก‍ท่านหนักขึ้น แต่เป็นเรื่องของความเสมอภาค 14คือที่พวก‍ท่านมีอยู่อย่างเหลือ‍ล้นในเวลา‍นี้ ก็เพื่อช่วยเขา‍ทั้ง‍หลายที่ขัด‍สน และในยามที่เขา‍ทั้ง‍หลายมีอย่างเหลือ‍ล้น เขาก็จะได้ช่วยพวก‍ท่านเมื่อขัด‍สน ซึ่งจะทำให้มีความเสมอภาคกัน 15ตามที่เขียนไว้ว่า “คนที่เก็บได้มากนั้น ไม่‍มีเหลือ และคนที่เก็บได้น้อยก็ไม่ขาด”  (2โครินธ์ 8:13-15)

  1. อ.เปาโลชมเชย และเห็นคุณค่าทักษะด้านอภิบาลและความแยบคายของทิตัสในการจัดการแก้ปัญหา มิฉะนั้น ผลลัพธ์ในคริสตจักรที่โครินธ์คงจะออกมาแตกต่างจากนี้มาก

-ดังนั้น อ.เปาโลจึงได้มอบหมายทิตัสให้ดูแลคริสตจักรโครินธ์ และภารกิจในการรวบรวมเงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์คนยากจน และมอบจดหมายฉบับสุดท้ายให้เขานำไปส่งให้ชาวโครินธ์

 “8เพราะเหตุ‍นี้ เราจึงขอ‍ร้องทิ‌ตัสให้ไปช่วยพวก‍ท่านในการทำคุณ‍ความ‍ดีนี้จนสำเร็จเช่นเดียวกับที่เขาเริ่ม‍ต้นไว้”

“16แต่ขอขอบ‍พระ‍คุณพระ‍เจ้าผู้ทรงให้ทิ‌ตัสมีใจกระ‌ตือ‍รือ‌ร้นเพื่อพวก‍ท่านอยู่ในใจของเขา ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่เรามีอยู่ 17เพราะเขาไม่เพียงรับคำ‍ขอ‍ร้องของเราเท่านั้น แต่ยังไปหาท่าน‍ทั้ง‍หลายด้วยความกระ‌ตือ‍รือ‌ร้นอย่าง‍ยิ่ง และเขาเองก็มีความตั้ง‍ใจอยู่แล้ว”

“23ส่วนทิ‌ตัส เขาเป็นหุ้น‍ส่วนและผู้‍ร่วม‍งานของข้าพ‌เจ้าในการรับ‍ใช้ท่าน‍ทั้ง‍หลาย ส่วนพี่‍น้องสองคนนั้นของเรา เขาเป็นตัว‍แทนของคริสต‌จักรทั้ง‍หลายซึ่งเป็นการถวายพระ‍เกียรติแด่พระ‍คริสต์” (2โครินธ์ 8:6,16,17,23)

  1. ในพระคัมภีร์พูดถึงทิตัสเป็นครั้งสุดท้าย ในจดหมายฉบับสุดท้าย ของเปาโลที่มีไปถึงทิโมธี (2ทธ.4:10)
  • อ.เปาโลถูกจับอีกครั้ง
  • ถูกตัดสินและรอการประหาร
  • พวกสาวกคนอื่น ๆ ต้องกระจัดกระจาย
  • แม้ว่าส่วนใหญ่จะยังคงใส่ใจกับคริสตจักรทั่วเมดิเตอเรเนียน แต่ทิตัสก็ไปยังดาลมาเทีย ที่อยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของทะเลอเดรียติก (อาจไป Nicopolis) ตามที่ อ.เปาโลขอให้ไป
  1. จดหมายถึงทิตัสที่กลายมาเป็นพระคัมภีร์ใหม่ เล่มที่ 17 ซึ่งหาก อ.เปาโลเป็นผู้เขียนจริง ๆ ก็ต้องอยู่ในช่วงระหว่างการถูกจองจำ 2 ครั้งในโรม
  • เรื่องราวในจดหมายทิตัสนี้ เปิดเผยว่า ได้จากไปดูแลคริสตจักรบนเกาะครีต
  • ตามประวัติศาสตร์เขาได้กลายเป็นบิชอบคนแรกและถูกฝังที่ Gortyna เมืองหลวงโบราณของเกาะครีต (ดูเพิ่มใน 2คร.2:13,7:6,3,14;8:6-23;12:18;กท .2:1,3; 2ทธ.4:10;ทต.2:4)

บทเรียนที่ได้จากชีวิตของทิตัส

  1. มีอะไรบ้างในชีวิตของทิตัส ที่ประทับใจของคุณ? อย่างไร หรือทำไม?

สิ่งที่ประทับใจ                                 ทำไม?                              อย่างไร?

1)…………………………………………………………………………………………..

2)…………………………………………………………………………………………..

3)……………………………………………………………………………………………

  1. คุณได้รับบทเรียนอะไรเป็นพิเศษจากสิ่งที่ทิตัสเป็นและทำ คุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในเรื่องใด และลงมือกระทำอะไรบ้าง?

1)…………………………………………………………………………………………………………..

2)………………………………………………………………………………………………………….

3)………………………………………………………………………………………………………….

 

ศจ.ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.