Categories
บทความ โดย ศจ. ธงชัย

รับมืออย่างไรกับความแตกต่าง?

ความแตกต่าง

รับมืออย่างไรกับความแตกต่าง?

“สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำก็คือเรียนรู้จักเคารพให้เกียรติ และเปิดใจยอมรับความแตกต่างในท่ามกลางพวกเรา จนกว่าความแตกต่างของพวกเรา ไม่สร้างความแตกต่างอะไรนักในวิถีที่พวกเราได้รับการปฏิบัติ!”

(What we need to do is learn to respect and embrace our differences until our difference don’t make a difference in how we are treated.)     -Yolanda King-

ปัญหาที่เกิดขึ้นในท่ามกลางพวกเราก็คือ เราไม่อาจทนรับกับความแตกต่างในท่ามกลางพวกเราได้ อาทิ

  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีภูมิหลังต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีชาติตระกูลที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีวัฒนธรรมประเพณีที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีรสนิยมที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีความคิดเห็นที่ต่างกัน(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง)
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามาจากสถาบันที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามาจากคณะ/กลุ่มที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามาจากฐานะที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีความรู้หรือฝีมือที่ต่างกัน
  • เรารับไม่ได้ ถ้าเรามีหลักความเชื่อหรือศาสนศาสตร์ ที่ต่างกัน  ฯลฯ

อะไรจะเกิดขึ้น หากว่า…. เราปฏิเสธไม่ยอมรับความแตกต่างเหล่านั้นในท่ามกลางพวกเราเอง

ถ้าเราดูหมิ่นคนอื่น ๆ เนื่องจากความแตกต่างในเรื่อง ความคิด  ความคิดเห็น ความศรัทธา  ความรู้สึก รสนิยม  รูปแบบ วัฒนธรรม  ฝีมือ หรือวิถีการปฏิบัติตน    ฯลฯ

แน่นอนว่า… เราจะล้มหัวคะมำลง อย่างไม่เป็นท่า เพราะว่า เราจะต้องเจอะเจอกับความแตกต่างเช่นนี้ตลอดเวลา บนเส้นทางชีวิต ดังนั้น ถ้าเราต้องการมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้อย่างมีความสุข แทนที่จะต้องมีความทุกข์ หงุดหงิด อย่างไม่จำเป็น เราต้องเรียนรู้ที่จะชื่นชมในความเหมือนที่เรามีร่วมกัน เราต้องมองให้เห็น เราต้องหาให้เจอ! และเรียนรู้ที่จะยอมรับและแสดงการให้เกียรติต่อความแตกต่างที่เขากับเราต่างก็ล้วนมีเช่นกัน

เราต้องเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า สิ่งที่แบ่งหรือแยกพวกเราออกจากกันนั้น ไม่ใช่ความแตกต่างที่เรามี แต่เป็นการไร้ความสำนึกและความสามารถในการตระหนัก ยอมรับและมองให้เห็นในส่วนดีของความแตกต่างเหล่านั้น

ขอให้เราสำนึกไว้เสมอว่า

  • เราไม่มีทางเห็นด้วยกันในทุก ๆ ประเด็น
  • เราไม่มีทางชื่นชอบในทุก ๆ อย่างที่อีกฝ่ายเลือก
  • เราไม่มีทางพอใจในทุกกรณีที่คนอื่นตัดสิน  ฯลฯ

แต่ขอให้เราให้เกียรติแก่กัน และให้ความเคารพในความแตกต่างที่พวกเราต่างก็มี

ให้เราให้ความสำคัญต่อ “คน” มากว่า “ความเชื่อ” หรือ “ความคิดเห็น”

ขอให้ ให้เกียรติความรู้สึกของคนอื่น แม้ว่า สิ่งนั้นจะไม่ได้มีความหมายอะไรเลยต่อเรา แต่มันอาจหมายถึงทุก ๆ สิ่งของเขา!

ดังนั้น ขอให้เราเรียนรู้ที่จะเปิดความคิด เปิดใจของเราในการให้เกียรติแก่ความคิด ความคิดเห็น อารมณ์ และความเชื่อศรัทธาของผู้อื่น แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะไม่ได้เห็นด้วยก็ตาม

ขอให้เราตระหนักว่า เราไม่จำเป็นต้องคิดต้องเห็นในวิถีหรือทัศนคติเดียวกันเสมอ ขอเพียงให้เราให้เกียรติในความแตกต่างนั้น โดยถือว่า ความแตกต่างไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่มันเป็นเพียงแค่ความแตกต่างเท่านั้น!

คำขวัญที่เราควรจดจำไว้เสมอก็คือ ในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น (รวมทั้งต่อคนไม่เชื่อในพระเจ้าด้วย) นั่นก็คือ

“จงยอมรับและให้เกียรติกันเพราะพวกเราล้วนแตกต่างกัน!”

(Accept and respect. We are all different!)

แต่ อ.เปาโล ได้กำชับไว้เป็นพิเศษว่า ให้เราแน่ใจในความคิดของเรา แต่ก็ให้ยอมรับคนอื่นในพวกเราที่มีความเชื่อแตกต่างกัน โดยไม่โต้เถียงกันหรือดูหมิ่นกัน  หากเขาและเราต่างก็ล้วนเชื่อ คิด หรือกระทำเช่นนั้นก็เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า โดยมอบเรื่องนี้ให้พระเจ้าเป็นผู้ตัดสินเองในภายหลัง!

“พวก‍เราซึ่งมีความเชื่อเข้ม‍แข็ง ควรจะอดทนต่อข้อบก‍พร่องของคนที่อ่อน‌แอ ไม่‍ควรทำอะไรตามความพอ‍ใจของตัวเอง” (โรม15:1)

 “ขอพระ‍เจ้าผู้เป็นแหล่งความทรหดอดทนและการหนุน‍ใจ ทรงช่วยให้ท่าน‍ทั้ง‍หลายเป็น‍น้ำ‍หนึ่ง‍ใจ‍เดียว‍กันโดยพระ‍เยซู‍คริสต์ เพื่อท่านจะได้พร้อม‍ใจกันสรร‌เสริญพระ‍เจ้า ผู้ทรงเป็นพระ‍บิดาของพระ‍เยซู‍คริสต์องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้าของเรา”  (โรม.15:5-6)

เห็นด้วยกับ อ.เปาโล ไหมครับ?

 

ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/ lifeanswer

(Cr. ภาพ how.tomake_in)

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.