“วัตถุประสงค์ของชีวิตมนุษย์คือการรับใช้ การแสดง รักเมตตา และความตั้งใจในการช่วยเหลือผู้อื่น!”
(The Purpose of human life isto serve, and to show compassion and the will to help others.)
-Albert Schweitzer-
ดร. อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ (Albert Schweitzer, 1875-1965) ผู้โด่งดัง เจ้าของรางวัล Nobel Peace Prize (1952)
เป็นทั้ง แพทย์ นักดนตรี นักปรัชญา และนักศาสนา มี 2 สัญชาติ คือ เยอรมัน (1875-1919) และ ฝรั่งเศส (1919 – 1966)
ในขณะที่ท่านเป็นศาสตราจารย์ สอนวิชาปรัชญาอยู่ ในมหาวิทยาลัย ดร. อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ได้รับแรงบันดาลใจให้ออกไปแสดงความรักเมตตาที่เป็นรูปธรรมแก่บรรดาคนที่ด้อยโอกาสกว่า (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนผิวดำในอัฟริกา)
ก้าวแรกที่ ดร. อัลเบิร์ต กระทำในวันที่ 13 ตุลาคม 1905 ก็คือ ท่านเขียนจดหมายถึงพ่อแม่ และเพื่อนสนิท บอกพวกเขาถึงการตัดสินใจของท่านที่จะไปลงทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ เพื่อไปอัฟริกาในฐานะแพทย์ ไม่ใช่นักดนตรี นักปรัชญา หรือนักศาสนศาสตร์ อีกต่อไป
เหตุผลที่ท่านให้แก่คนเหล่านั้นก็คือ ท่านปรารถนาที่จะ “ลงมือทำงานด้วยมือของฉันเอง นับเป็นเวลาหลายปีที่ฉันมอบตัวเองให้แก่เรื่อง “ถ้อยคำ” (words) แต่สำหรับรูปแบบใหม่ที่ฉันจะทำนี้ จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “การพูด” เกี่ยวกับ “ศาสนาแห่งความรัก” อีกต่อไป แต่จะเป็นการลงมือปฏิบัติออกมาให้เห็นจริง ๆ”
ผลคือ คนส่วนใหญ่รอบตัว ใช่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อนสนิทมิตรสหาย รวมทั้งคณะในมหาวิทยาลัย St. Thomas ที่ท่านสอน ล้วนช็อค สับสน ตกใจ และคิดว่า ท่านได้ตัดสินใจผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง! บางคนถึงกับตำหนิท่านว่า โง่ และบ้าไปแล้ว เพราะจะเป็นการเอา “ตะลันต์” (talent) ล้ำเลิศของท่านไปฝังให้เสียของในป่าอัฟริกา
แต่ ดร.อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ไม่หวั่นไหวท่านมั่นใจในการทรงเรียกจากพระเจ้า แม้คนอื่นจะไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วย (แถมยังคัดค้านด้วยซ้ำ) คงมีแต่เพื่อนสนิทสาวที่ชื่อว่า Helene Bresslau เท่านั้นที่เข้าใจและสนับสนุนท่าน ซึ่งต่อมาเธอก็ได้สมัครใจไปเรียนเป็นพยาบาลเพื่อไปร่วมรับใช้ด้วยใจกับท่าน และได้กลายมาเป็นภรรยาที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่านตลอดชีวิตที่เหลือในป่าที่อัฟริกา
แม้ว่า ดร.อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ จะศึกษาจนจบการศึกษาในคณะแพททย์ศาสตร์ (ด้านอายุรศาสตร์เขตร้อน และศัลยกรรม) (หลังจากเข้าศึกษาใน เดือนมกราคม ค.ศ. 1905 เมื่อตอนที่ท่านอายุ 30 ปี และรับปริญญาบัตรเป็นแพทย์เมื่ออายุได้ 38 ปี) แต่ท่านก็ถูกองค์กรส่งมิชชันรีอย่าง “The Paris Missionary Society” ปฏิเสธไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการกระทำพันธกิจที่อัฟริกาตามนิมิตของท่าน
จึงเป็นเหตุให้ท่านต้องใช้ตะลันต์ความสามารถด้านการเล่นดนตรีของท่าน ควบคู่ไปกับเพื่อนสนิทส่วนหนึ่งช่วยกัน รณรงค์หาทุนเพื่อให้ท่านสามารถดำเนินต่อไปตามแผนการที่ตั้งไว้ ด้วยเหตุนี้เอง ในเดือนมีนาคม 1913 ดร.อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ และภรรยา จึงสามารถเดินทางไปอัฟริกาเพื่อสร้างโรงพยาบาลที่ Lamberene ใน คองโก (Gobon ในเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส)
ชีวิตและการรับใช้ของ ดร.อัลเบิร์ต ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย รวมถึงการถูกจับไปเข้าค่ายกักกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (เพราะท่านมีสัญชาติเป็นชาวเยอรมัน) และท่านได้กลับไปที่อัฟริกาอีกครั้ง ในปี 1924 โดยที่ภรรยา ( Helene) และบุตรสาว (Rhena) ยังคงพักอยู่ในยุโรป
แม้ว่าในวัยเด็ก จะไม่ได้อยู่กับผู้เป็นบิดา แต่ Rhena ผู้เป็นบุตรสาว ก็เข้าศึกษาเทคนิคการแพทย์ เมื่อโตเป็นสาว จนกระทั่งจบการศึกษา เธอก็ออกเดินทางไปร่วมรับใช้กับ ดร.อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ จนกระทั่งท่านเสียชีวิตในตอนอายุ 90 ปี และ Rhena ได้สืบทอดดูแลกิจการของบิดาต่อไป
ปัจจุบัน ผลงานที่ ดร.อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ได้เริ่มต้นไว้ ได้เจริญก้าวหน้า ส่งผลกระทบต่อโลกนี้อย่างมหาศาล
ในท้ายนี้ เราพอสรุปชีวิตของ ดร.อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ได้ดังนี้
- ท่านเป็นแพทย์ที่รักสัตว์
- เป็นนักดนตรีที่รักเสียงเพลง
- เป็นนักปรัชญาที่รักสันติ (และต่อต้านการใช้ระเบิดนิวเคลียร์)
- เป็นสามีที่รักภรรยา
- เป็นบิดาที่รักลูก
- เป็นเพื่อนที่รักมิตรสหาย
และที่สำคัญที่สุด คือ ท่านเป็นนักศาสนศาสตร์และผู้รับใช้ของพระเจ้าที่รักมวลมนุษยชาติและได้ทุ่มเททั้งชีวิตสำแดงความรักนั้นออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แทนที่จะเพียงพูดหรือสอนเรื่องความรักด้วยลมปากเท่านั้น!
ดังนั้นขอให้วันนี้ เราจงมีน้ำใจต่อคนอื่น ๆ ในโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่รอบตัวของเรา และช่วยเหลือพวกเขาให้ได้รับความรอดพ้นจากโทษความตายนิรันดร์ด้วยการประกาศข่าวประเสริฐแห่งความรอดขององค์พระเยซูคริสต์ให้พวกเขาได้รับทราบ และมีน้ำใจช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยาก ลำบากในด้านสุขภาพอนามัย ทั้งทางกายและทางจิตของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายด้วยใจเมตตาสงสาร
เพราะนี่คือ จุดประสงค์ที่พระเจ้าทรงให้เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้มาจนวันนี้!
-ธงชัย ประดับชนานุรัตน์-
twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/lifeanswer, facebook.com/lifeanswer
(Cr. ภาพ Phillosophicallibrary.com)