3. การสังหารทารก และผู้บริสุทธิ์ต้องรับทุกข์
(มัทธิว 2:13-18)
คำนำ
มัทธิวทำให้นักศึกษาพระคัมภีร์ต้องเจอปัญหาหลายประการในการตีความพระกิตติคุณของท่านในบทที่สอง อย่างที่ชี้ให้เห็นในบทเรียนที่แล้ว ท่านอ้างพระวจนะจากพระคัมภีร์เดิมถึงสี่ครั้งในบทที่สอง มีพระวจนะแค่ข้อเดียวที่คำพยากรณ์ตรงกับเหตุการณ์การประสูติของพระเยซู นั่นคือมีคาห์ 5:2 ในมัทธิว 2:6 มีคาห์พยากรณ์ว่าเบธเลเฮมจะเป็นที่ประสูติของพระเมสซิยาห์ ชัดเจนและตรงที่สุด แม้พวกนักศาสนาในเยรูซาเล็มที่ไม่เชื่อก็ยังเข้าใจ
อีก 3 ข้อจากพระคัมภีร์เดิมที่นำมาใช้ในมัทธิว 2 ไม่ได้เป็นคำพยากรณ์ตรงเป๊ะอย่างที่เราอยากเห็น เช่นจากโฮเชยา 11:1 ในมัทธิว 2:5 ไม่อาจพูดว่าเป็นคำพยากรณ์ที่ใช่ มัทธิวมองว่าที่พระเยซูเสด็จกลับจาก “ลี้ภัย” ที่อียิปต์ ทำให้คำของโฮเชยา “เราได้เรียกบุตรชายของเราออกมาจากอียิปต์” เกิดขึ้นเป็นจริง มัทธิว 2:23 เหมือนนำพระวจนะจากพระคัมภีร์เดิมมาใช้แต่ออกจะซับซ้อน เพราะไม่มีพระวจนะข้อใดในพระคัมภีร์เดิมพูดว่าพระเยซู “จะถูกเรียกว่าเป็นชาวนาซาเร็ธ” แต่ข้อที่จะเราเลือกเรียนกันคือ เยเรมีย์ 31:15 ที่พูดได้ว่าได้เกิดขึ้นจริงตามเหตุการณ์ในมัทธิว 2:16-18
ครั้นเขาไปแล้วก็มีทูตองค์หนึ่งของพระเป็นเจ้า ได้มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันแล้วบอกว่า “จงลุกขึ้นพากุมารกับมารดาหนีไปประเทศอียิปต์ และคอยอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกเจ้า เพราะว่าเฮโรดจะแสวงหากุมาร เพื่อจะประหารชีวิตเสีย” ในเวลากลางคืนโยเซฟจึงลุกขึ้น พากุมารกับมารดาไปยังประเทศอียิปต์ และได้อยู่ที่นั่นจนเฮโรดสิ้นพระชนม์ ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า ซึ่งได้ตรัสไว้โดยผู้เผยพระวจนะว่า เราได้เรียกบุตรของเราให้ออกมาจากอียิปต์ ครั้นเฮโรดเห็นว่าพวกโหราจารย์หลอกท่าน ก็กริ้วโกรธยิ่งนัก จึงใช้คนไปฆ่าเด็กผู้ชายทั้งหลาย ในบ้านเบธเลเฮมและที่ใกล้เคียงทั้งสิ้น ตั้งแต่อายุสองขวบลงมา ซึ่งพอดีกับเวลาที่ท่านได้ทราบจากพวกโหราจารย์นั้น ครั้งนั้นก็สำเร็จตามพระวจนะที่ตรัสโดยเยเรมีย์ผู้เผยพระวจนะว่า ได้ยินเสียงในหมู่บ้านรามาห์ เป็นเสียงโอดครวญและร่ำไห้ คือนางราเชลร้องไห้คร่ำครวญ เพราะบุตรทั้งหลายของตน นางไม่รับฟังคำปลอบเล้าโลม เพราะบุตรทั้งหลายนั้นไม่มีแล้ว (มัทธิว 2:13-18)
มีคำถามเกิดขึ้นหลายข้อเมื่อมัทธิวนำเยเรมีย์ 31:15 มาโยงเข้ากับเฮโรดสังหารทารกในเบธเลเฮม บางคนสนใจวิธีที่มัทธิวใช้พระคำจากพระคัมภีร์เดิม อื่นๆเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของพระเจ้า และการที่มนุษย์ต้องรับทุกข์ เราจะอธิบายความทุกข์ที่เกิดขึ้นในการประสูติของพระเยซู และการลี้ภัยไปที่อียิปต์ว่าทำไม? จำเป็นด้วยหรือ? ทำไมพระเจ้าถึงอนุญาต? พระองค์น่าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
มัทธิวทำอย่างไรให้ผู้อ่านเข้าใจการเชื่อมโยงระหว่างเฮโรดสังหารทารกใน 2:16-18 และเยเรมีย์ 31:15? อย่างที่รู้กัน ทารกเหล่านี้ยังเป็นมนุษย์ที่เรียกว่า “ไร้เดียงสา” ทำไมมัทธิวอธิบายเหตุการณ์ที่โหดเหี้ยมนี้ว่าถูกกำหนดไว้แล้ว หรือพระเจ้ามีพระประสงค์ให้เกิดขึ้น?
บทเรียนนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมัทธิว 2:16-18 เราจะมาหาคำตอบในมุมมองที่กว้างกว่าของพระคัมภีร์ และตามมุมมองของศาสนศาสตร์ จุดมุ่งหมายของบทเรียนนี้เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเรื่องการทนทุกข์ โดยเฉพาะ “ทุกข์ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ” เราจะมาเรียนว่าทำไม และอย่างไร “ผู้บริสุทธิ์ต้องมารับทุกข์” ตามที่พระเจ้ากำหนด จะเริ่มจากดูที่พระวจนะตอนอื่นก่อน แล้วกลับมาที่มัทธิวนำเยเรมีย์ 31:15 มาใช้ในมัทธิว 2:18
ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตคนเรา
(โรม 8:18-27)
เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าความทุกข์ลำบากแห่งสมัยปัจจุบัน ไม่สมควรที่จะเอาไปเปรียบกับศักดิ์ศรี ซึ่งจะเผยให้แก่เราทั้งหลาย ด้วยว่าสรรพสิ่งที่ทรงสร้างแล้ว มีความเพียรคอยท่าปรารถนาให้บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ เพราะว่าสรรพสิ่งเหล่านั้นต้องเข้าอยู่ในอำนาจของอนิจจัง ไม่ใช่ตามใจชอบของตนเอง แต่เป็นไปตามที่พระเจ้าได้ทรงให้เข้าอยู่นั้น ด้วยมีความหวังใจว่า สรรพสิ่งเหล่านั้นจะได้รอดจากอำนาจแห่งความเสื่อมสลาย และจะเข้าในเสรีภาพและศักดิ์ศรีแห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า เรารู้อยู่ว่าบรรดาสรรพสิ่งที่ทรงสร้างนั้นกำลังคร่ำครวญ และผจญความทุกข์ยากด้วยกันมาจนทุกวันนี้ และไม่ใช่เท่านั้น แต่เราทั้งหลายเองด้วย ผู้ได้รับพระวิญญาณเป็นผลแรก ตัวเราเองก็ยังคร่ำครวญคอยการที่พระเจ้าทรงให้เป็นบุตร คือที่จะทรงให้กายของเราทั้งหลายรอดตาย เหตุว่าเราทั้งหลายรอดแม้เป็นเพียงความหวังใจ แต่ความหวังใจในสิ่งที่เราเห็นได้ หาเป็นความหวังใจไม่ ด้วยว่าใครเล่าจะยังหวังในสิ่งที่เขาเห็นแต่ถ้าเราทั้งหลายคอยหวังใจในสิ่งที่เรายังไม่ได้เห็น เราจึงมีความเพียรคอยสิ่งนั้น (18-25)
ในทำนองเดียวกัน พระวิญญาณก็ทรงช่วยเราเมื่อเราอ่อนกำลังด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าเราควรจะอธิษฐานขอสิ่งใดอย่างไร แต่พระวิญญาณทรงช่วยขอแทนเรา ในเมื่อเราคร่ำครวญอธิษฐานไม่เป็นคำและพระองค์ผู้ทรงชันสูตรใจมนุษย์ ก็ทรงทราบความหมายของพระวิญญาณ เพราะว่า พระวิญญาณทรงอธิษฐานขอเพื่อธรรมิกชนตามที่ชอบพระทัยพระเจ้า (26-27)
อ. เปาโลชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เต็มไปด้วยความบาปและสมควรแก่พระอาชญานิรันดร์ ไม่ว่ามาตรฐานของมนุษย์จะล้มเหลวจนมองไม่เห็นพระเจ้าในธรรมชาติ (โรม 1) หรือการสำแดงของพระเจ้าในธรรมบัญญัติโมเสส (โรม 2) ธรรมบัญญัติไม่อาจช่วยมนุษย์ให้รอด มีแต่ชี้ให้เห็นความผิดพลาด เพราะไม่มีใครทำตามที่บัญญัติไว้ได้ครบถ้วน (โรม 3:1-20) เมื่อมนุษย์ไม่อาจรอดได้จากการกระทำของตนเอง พระเจ้าทรงเตรียมหนทางให้โดยไม่เกี่ยวกับการกระทำ โดยทางความเชื่อในพระเยซูคริสต์ การสิ้นพระชนม์อย่างทุกข์ทรมานของพระองค์ เพื่อคนที่วางใจในพระองค์จะรอดได้ (โรม 3:21-31) ความรอดโดยทางความเชื่อไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เป็นทางเดียวกับที่อับราฮัมและธรรมิกชนในพระคัมภีร์เดิมได้รับมาแล้ว (โรม 4)
ในโรม 5 อ.เปาโลพูดถึงสิทธิพิเศษในความรอดที่พระเจ้ามอบให้โดยการสิ้นพระชนม์อย่างทุกข์ทรมาน และการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ที่น่าสนใจคือสิทธิพิเศษแรกที่ อ.เปาโลพูดถึงเกี่ยวข้องกับการทนทุกข์ :
เหตุฉะนั้น เมื่อเราได้เป็นคนชอบธรรมเพราะความเชื่อแล้ว เราจึงมีสันติสุขในพระเจ้า ทางพระเยซูคริสตเจ้าของเรา โดยทางพระองค์เราจึงได้เข้าในร่มพระคุณที่เรายืนอยู่ และเราชื่นชมยินดีในความไว้วางใจ ว่าจะได้มีส่วนในพระสิริของพระเจ้า ยิ่งกว่านั้น เราชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากของเราด้วย เพราะเรารู้ว่าความทุกข์ยากนั้น ทำให้เกิดความอดทน และความอดทนทำให้เห็นว่าเราเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้ และการที่เราเห็นเช่นนั้นทำให้เกิดมีความหวังใจ และความหวังใจมิได้ทำให้เกิดความเสียใจเพราะผิดหวัง เพราะเหตุว่าความรักของพระเจ้าได้หลั่งเข้าสู่จิตใจของเรา โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งพระองค์ได้ประทานให้แก่เราแล้ว ขณะเมื่อเรายังขาดกำลัง พระคริสต์ก็ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยคนบาปในเวลาที่เหมาะสม ไม่ใคร่จะมีใครตายเพื่อคนตรง แต่บางทีจะมีคนอาจตายเพื่อคนดีก็ได้ แต่พระเจ้าทรงสำแดงความรักของพระองค์แก่เราทั้งหลาย คือขณะที่เรายังเป็นคนบาปอยู่นั้น พระคริสต์ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา เพราะเหตุนั้นเมื่อเราเป็นคนชอบธรรมแล้วโดยพระโลหิตของพระองค์ ยิ่งกว่านั้นเราจะพ้นจากพระอาชญาของพระเจ้าโดยพระองค์ เพราะว่าถ้าขณะที่เรายังเป็นศัตรูต่อพระเจ้าเราได้กลับคืนดีกับพระองค์ โดยที่พระบุตรของพระองค์สิ้นพระชนม์ ยิ่งกว่านั้นอีกเมื่อเรากลับคืนดีแล้ว เราก็จะรอดโดยพระชนม์ชีพของพระองค์แน่ มิใช่เพียงเท่านั้น เราทั้งหลายยังชื่นชมยินดีในพระเจ้า โดยทางพระเยซูคริสตเจ้าของเรา ผู้ทรงเป็นเหตุให้เราได้กลับคืนดีกับพระเจ้า (โรม 5:1-11)
ความรอดของพระเจ้าในพระเยซูคริสต์หยัดยืนได้ในความทุกข์ ที่จริงแล้วเรามีความชื่นชมยินดีในความทุกข์ ด้วยรู้ว่าจะทำให้ความเชื่อของเราหนักแน่นมั่นคง และมั่นใจในชีวิตนิรันดร์ ความรอดในองค์พระเยซูคริสต์นี้ ปลดปล่อยผู้เชื่อทุกคนจากการล้มลงของอาดัมและผลสาปแช่งของบาป สิ่งที่อาดัมทำ พระเจ้าทรงลบล้างแล้วในองค์พระเยซูคริสต์ และมากกว่านั้น (5:12-21)
ความรอดของพระเจ้าในพระเยซูคริสต์ไม่ใช่เป็นใบเบิกทางให้ทำบาป แต่เป็นแรงกระตุ้นให้ดำเนินชีวิตตามแบบของพระองค์ เพราะเราผู้ซึ่งนับว่าตายแล้วในพระคริสต์โดยทางความเชื่อ ก็ได้ตายจากบาป และไม่อาจดำเนินชีวิตอยู่ในความบาปต่อไป (โรม 6:1-14) ต้องเข้าใจว่าเราหลุดพ้นจากพันธนาการของบาปแล้ว และตระหนักว่าค่าจ้างของความบาปคือความตาย ซึ่งแน่นอนเราไม่อาจดำเนินในทางนั้นได้อีกต่อไป (6:15-23) ในพระคริสต์ เราไม่เพียงแต่ตายจากบาป เราตายจากธรรมบัญญัติด้วย ซึ่งปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ (7:1-7) ธรรมบัญญัติไม่ได้เป็นรากเหง้าของปัญหา ความบาปต่างหาก เนื้อหนังของเรา (เรี่ยวแรงตามธรรมชาติของมนุษย์) ไม่เพียงพอเอาชนะความบาปได้ ความบาปจึงเอาชนะได้เมื่อเราพยายามด้วยกำลังของเราเอง (7:8-25)
ทางออกจากอำนาจบาปคืออำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ คนที่วางใจในพระเยซูคริสต์ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้คำแช่งสาปอีกต่อไป พวกเขาไม่ตกอยู่ในอาณาจักรของบาปแล้ว และมีอำนาจที่จะเอาชนะอย่างที่กำลังของเนื้อหนังทำไม่ได้ (ความชอบธรรมตามธรรมบัญญิติครบถ้วนแล้วในเรา) แต่ทำได้โดยทางพระวิญญาณ พระวิญญาณเดียวกับที่ชุบพระเยซูคริสต์ขึ้นมาจากความตาย เดี๋ยวนี้สถิตอยู่ในเรา ประทานชีวิตให้กับกายที่เสื่อมสลายนี้ ทุกคนที่เป็นผู้เชื่อแท้ในพระเยซูคริสต์มีพระวิญญาณสถิตอยู่ และที่เหนือกว่าทรงให้เรามั่นใจได้ว่าเราเป็น “บุตรของพระเจ้า” (8:1-17)
เราอาจคิดว่าเมื่ออ่านโรม 8:18 อ.เปาโลกำลังบอกว่าต่อไปนี้ชีวิตเราจะ “โรยด้วยกลีบกุหลาบ” มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ในเรารับประกันว่าความเจ็บปวด และความทุกข์จะหมดสิ้นไป แต่ในข้อ 18-30 อ.เปาโลกลับพูดตรงกันข้าม ท่านยืนยันว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนต้องเผชิญกับประสบการณ์ “ความทุกข์ยาก และการคร่ำครวญ” เพราะการล้มลงของมนุษย์และผลที่ตามมา ตามที่ท่านเขียน “เรารู้อยู่ว่าบรรดาสรรพสิ่งที่ทรงสร้างนั้นกำลังคร่ำครวญ และผจญความทุกข์ยากด้วยกันมาจนทุกวันนี้” (8:22) ความวุ่นวายและคำแช่งสาปผลจากความบาปของอาดัมจะยังไม่หมดไปจนกว่าการเสด็จกลับมาอีกครั้งของพระเยซูคริสต์ และ “ให้บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ” (8:19) และในเวลานั้นพระเจ้าจะ “ทรงให้เป็นบุตร คือที่จะทรงให้กายของเราทั้งหลายรอดตาย” (8:23) และเมื่อเวลานั้นมาถึง เราและสรรพสิ่งทรงสร้างจะได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการของความเสื่อมสลาย (8:21)
ถ้าทั้งสิ้นในโลกนี้ยังทนทุกข์และคร่ำครวญ สำหรับคริสเตียนแล้วต้องเผชิญมากกว่า คริสเตียนเป็นพวกที่ได้ลิ้มรสชีวิตนิรันดร์ และได้รับ “พระวิญญาณเป็นผลแรกแล้ว” (8:22) เราไม่เพียงแต่รอคอยเวลาที่พระเจ้าจะทำให้ทุกสิ่งเป็นสิ่งใหม่ แต่เรายังคร่ำครวญต่อโลกนี้ที่ล่มสลายเพราะความบาป ถึงกระนั้นเราก็ยังรอคอยวันนั้นด้วยความเพียรและความหวังใจ (8:25)
ความรอดในพระคริสต์และของประทานจากพระวิญญาณไม่ได้กันเราออกจากความทุกข์ แต่ทำให้เราฝ่าความทุกข์นั้นไปได้ พระวิญญาณจะเสริมกำลังและพยุงเราไว้ ให้ความมั่นใจในความเป็นบุตร อธิษฐานแทนเมื่อเราคร่ำครวญเพราะความทุกข์ (8:26-27) พระเจ้าองค์เดียวกันนี้ที่นำเราให้รอดพ้นจากพระอาชญาและอำนาจของบาป จะปลดปล่อยเราออกจากความบาปของปัจจุบัน จนกว่าจะถึงวันนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยเราในท่ามกลางความทุกข์ที่ต้องเผชิญ
สรุปคือ ความทุกข์ยากเป็นประสบการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญ เพราะเราอยู่ในโลกที่ถูกคำแช่งสาปของบาป พระเจ้าประทานสิ่งที่จำเป็นในการเผชิญความทุกข์ในชีวิต และนำไปจนถึงเป้าหมายที่ทรงเตรียมไว้ให้ในชีวิตเรา เราทนต่อความทุกข์ได้เพราะพระเจ้าประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ เพื่อปลอบประโลมและให้ความมั่นใจในฐานะบุตรของพระองค์ ทำหน้าที่แทนเมื่อเราอ่อนกำลัง คริสเตียนไม่ได้รับการยกเว้นในเรื่องความทุกข์ แต่เพราะชีวิตใหม่และความหวังใจนิรันดร์ ทำให้สามารถ “ทนทุกข์คร่ำครวญ” ได้พร้อมกับทุกสรรพสิ่งทรงสร้าง รอคอยการกลับมาของพระเยซูคริสต์ และถ้าการทนทุกข์เหล่านี้ทำสิ่งใดให้ได้บ้าง ทำให้เรากระหายหาแผ่นดินสวรรค์ของพระองค์ :
พระวิญญาณนั้นเป็นพยานร่วมกับวิญญาณจิตของเราทั้งหลายว่า เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า และถ้าเราทั้งหลายเป็นบุตรแล้ว เราก็เป็นทายาท คือเป็นทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ เมื่อเราทั้งหลายทนทุกข์ทรมานด้วยกันกับพระองค์นั้น ก็เพื่อเราทั้งหลายจะได้ศักดิ์ศรีด้วยกันกับพระองค์ด้วย เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าความทุกข์ลำบากแห่งสมัยปัจจุบัน ไม่สมควรที่จะเอาไปเปรียบกับศักดิ์ศรี ซึ่งจะเผยให้แก่เราทั้งหลาย (16-18)
ไม่ใช่ทุกการทนทุกข์เป็นผลโดยตรงจากความบาปของเรา
ยอห์น 9:1-7
เมื่อพระองค์เสด็จดำเนินไปนั้น ทรงเห็นชายคนหนึ่งตาบอดแต่กำเนิด และพวกสาวกของพระองค์ทูลถามพระองค์ว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ใครได้ทำผิดบาป ชายคนนี้หรือบิดามารดาของเขา เขาจึงเกิดมาตาบอด” พระเยซูตรัสตอบว่า “มิใช่ว่าชายคนนี้หรือบิดามารดาของเขาได้ทำบาป แต่เขาเกิดมาตาบอด เพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา เราต้องกระทำพระราชกิจของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่ เมื่อถึงกลางคืนไม่มีผู้ใดทำงานได้ ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลก เราเป็นความสว่างของโลก” เมื่อตรัสดังนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงบ้วนน้ำลายลงที่ดิน แล้วทรงเอาน้ำลายนั้นทำเป็นโคลนทาที่ตาของคนตาบอด แล้วตรัสสั่งเขาว่า “จงไปล้างโคลนออกเสียในสระสิโลอัมเถิด” (สิโลอัมแปลว่า ใช้ไป) เขาจึงไปล้างแล้วกลับมาก็เห็นได้
เราคงจำเรื่องโยบและเพื่อนๆที่มา “ทอนกำลังใจ” กันได้ พวกเขาให้คำปรึกษาโดยตั้งอยู่บนการคาดเดาที่ผิดพลาด – ความทุกข์มาจากผลโดยตรงของบาปที่ตัวเองก่อเสมอ – แม้แต่สาวกของพระเยซูยังคิดเช่นนั้น ขณะเดินทาง พระเยซูทอดพระเนตรเห็นชายตาบอดแต่กำเนิด ผมสงสัยว่าพวกสาวกจะเห็นมั้ยถ้าพระเยซูไม่เอ่ยถึง50 พวกสาวกทูลถามว่าใครเป็นคนทำบาป ชายตาบอดหรือพ่อแม่ของเขา51 พวกเขาไม่เคยคิดได้เลยว่าชายคนนี้อาจไม่ได้ทนทุกข์เพราะความบาปของตัวเองหรือของพ่อแม่
นี่เป็นคำอธิบายถึงความทุกข์ของมนุษย์ที่ล่อแหลม อาจทำให้บางคนยอมรับได้ ในอีกด้านทำให้มีคำตอบสำหรับความทุกข์ หรือทำให้ทนต่อไปได้ มันง่ายมากที่จะรับเอาคำอธิบายว่าคนที่เจอความทุกข์นั้นสมควรแล้วเพราะก่อเรื่องเอง แต่คนที่ต้องรับทุกข์ในเรื่องที่ตนเองไม่ได้ก่อก็ยากเกินอธิบาย ในอีกด้าน เป็นคำอธิบายที่ง่ายและยอมรับได้เพราะทำให้ไม่ต้องรับผิดชอบช่วยเหลือคนที่ทนทุกข์นั้น ถ้าคนที่เจอความทุกข์เพราะตัวเองก่อ ความทุกข์นั้นก็เป็นการพิพากษาของพระเจ้าต่อบาป ถ้าพระเจ้าจะลงโทษคนที่ทำผิด เราเป็นใครที่จะไปช่วยเหลือ? เพราะเราจะกลายเป็นตัวการขัดขวางพระประสงค์ของพระเจ้า
มันยากที่จะนึกว่าชายตาบอดคนนี้รู้สึกอย่างไรเมื่อตกเป็นหัวข้อสนทนา เขาจะไม่รู้เลยหรือว่าถูกผู้คนตราหน้าทำนองนี้มานักต่อนัก พระเยซูทรงตอบคำถามสาวกในแบบที่ทำให้พวกเขาตะลึง ตรัสว่าที่ชายคนนี้ตาบอดแต่กำเนิดไม่ใช่เพราะความบาป ไม่ใช่บาปของเขาเอง หรือบาปของพ่อแม่ พระองค์กลับประกาศว่าที่ชายคนนี้ตาบอดเพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา52 ถ้าผมเป็นชายตาบอดคนนั้น ผมคงหูผึ่งอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรต่อไป หลังจากประกาศไปว่า “เราเป็นความสว่างของโลก” พระเยซูทรงบ้วนพระเขฬะ (น้ำลาย) ลงที่ดิน ทำเป็น “โคลน” ทาที่ตาของชายตาบอด สั่งให้ไปล้างออกที่ในสระสิโลอัม เมื่อเขาทำตาม ก็มองเห็น
ขอให้การอัศจรรย์นี้เป็นคำสั่งและเป็นคำเตือนถึงเราทุกคน ความทุกข์ไม่จำเป็นต้องเป็นผลโดยตรงจากความบาปของคนๆนั้น แน่นอนเราเคยเห็นหลายเหตุการณ์ที่ความบาปและความทุกข์จูงมือไปด้วยกัน นี่เป็นกรณีของชายอัมพาตที่ริมสระเบธซาธาในยอห์นบทที่ 5 พระเยซูทรงเข้าไปรักษาชายคนนี้ แล้วหลบไป ชายอัมพาตนี้ก็แบกแคร่เดินกลับบ้าน ทำให้ละเมิดกฎของวันสะบาโต เขาจึงถูก “ตำรวจศาสนา” จัดการเพราะทำผิดกฎวันสะบาโต เมื่อเขาเล่าให้ฟังเรื่องการรักษา พวกนั้นก็ตื๊ออยากรู้ให้ได้ว่าใครเป็นคนรักษา – ในความคิดพวกเขาคนที่รักษานี้ก็น่าจะ “ละเมิดกฎวันสะบาโต” ด้วย ชายอัมพาตไม่รู้ว่าคนนั้นเป็นใคร เลยบอกไม่ได้ พระเยซูไปพบชายคนนั้นอีกทีที่หลังพระวิหาร แล้วตรัสกับเขาว่า:
“นี่แน่ะ เจ้าหายโรคแล้ว อย่าทำบาปอีก มิฉะนั้นเหตุร้ายกว่านั้นจะเกิดกับเจ้า” ชายคนนั้นก็ได้ออกไปบอกพวกยิวว่า ท่านที่ได้รักษาเขาให้หายโรคนั้น คือพระเยซู (ยอห์น 5:14ข-15)
ชายที่หายจากอัมพาตนี้รีบไปรายงานพวก “เจ้าหน้าที่ยิว” ว่าพระเยซูเป็นผู้รักษาให้หาย ที่แน่ๆคือชายคนนี้ต้องทนทุกข์เพราะบาปของตน พระเจ้าจึงเตือนไม่ให้ทำบาปอีก แทนที่จะเชื่อฟังและละจากบาป เขากลับไปรายงานเรื่องพระเยซูให้เจ้าหน้าที่ฟัง
ความบาปที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยมีบันทึกอยู่ในยากอบบทที่ 5 ยากอบสั่งให้ผู้ป่วยเชิญบรรดาผู้ปกครองของคริสตจักรมา และถ้าทำบาปก็ให้สารภาพเสีย (ยากอบ 5:14-16) บางครั้งบาปก็เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ 53 แต่ไม่เสมอไป ในกรณีของชายตาบอดแต่กำเนิด การทนทุกข์ของเขาทำให้พระราชกิจของพระเจ้าได้ปรากฎ
พระเจ้าทรงใช้การทนทุกข์ของเราเพื่อให้เกิดผลดีกับเรา
2โครินธ์ 12:1-10 / ฟีลิปปี 3:7-11 / สดุดี 119:65-72, 92
ข้าพเจ้าจำจะต้องอวด ถึงแม้จะไม่มีประโยชน์อะไร แต่ข้าพเจ้าจะเล่าต่อไป ถึงนิมิตและการสำแดงซึ่งมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้รู้จักชายคนหนึ่งผู้เลื่อมใสในพระคริสต์สิบสี่ปีมาแล้ว เขาถูกรับขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นที่สาม (แต่จะไปทั้งกายหรือไปโดยไม่มีกายข้าพเจ้าไม่รู้ พระเจ้าทรงทราบ) ข้าพเจ้าทราบ (แต่จะไปทั้งกายหรือไม่มีกายข้าพเจ้าไม่รู้ พระเจ้าทรงทราบ) ว่าคนนั้นถูกรับขึ้นไปยังเมืองบรมสุขเกษม และได้ยินวาจาซึ่งจะพูดเป็นคำไม่ได้ และมนุษย์จะออกเสียงก็ต้องห้าม สำหรับชายคนนั้นข้าพเจ้าอวดได้ แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าจะไม่อวดเลย นอกจากจะอวดถึงเรื่องการอ่อนแอของข้าพเจ้า เพราะถึงแม้ว่าข้าพเจ้าอยากจะอวดข้าพเจ้าก็ไม่ใช่คนเขลา เพราะข้าพเจ้าพูดตามความจริง แต่ข้าพเจ้าระงับไว้ ก็เพราะเกรงว่า บางคนจะยกข้าพเจ้าเกินกว่าที่เขาได้รู้จากการเห็นและฟังข้าพเจ้า และเพื่อไม่ให้ข้าพเจ้ายกตัวจนเกินไป เนื่องจากที่ได้เห็นการสำแดงมากมายนั้น ก็ทรงให้มีหนามใหญ่ในเนื้อของข้าพเจ้า หนามนั้นเป็นทูตของซาตานคอยทุบตีข้าพเจ้าเพื่อไม่ให้ข้าพเจ้ายกตัวเกินไป เรื่องหนามใหญ่นั้น ข้าพเจ้าวิงวอนองค์พระผู้เป็นเจ้าถึงสามครั้ง เพื่อขอให้มันหลุดไปจากข้าพเจ้า แต่พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า “การที่มีคุณของเราก็พอแก่เจ้าแล้ว เพราะความอ่อนแอมีที่ไหน เดชของเราก็มีฤทธิ์ขึ้นเต็มขนาดที่นั่น” เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงภูมิใจในบรรดาความอ่อนแอของข้าพเจ้า เพื่อฤทธิ์เดชของพระคริสต์จะได้อยู่ในข้าพเจ้า เหตุฉะนั้นเพราะเห็นแก่พระคริสต์ ข้าพเจ้าจึงชื่นใจในบรรดาความอ่อนแอของข้าพเจ้า ในการประทุษร้ายต่างๆในความยากลำบาก ในการถูกข่มเหง ในความอับจน เพราะว่าข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็จะแข็งแรงมากเมื่อนั้น (2โครินธ์ 12:1-10)
พระคัมภีร์บันทึกถึงตัวอย่างที่พระเจ้าทรงใช้ความทุกข์ในชีวิตมนุษย์ให้เกิดผลดีกับตัวเขาเอง เราเห็นว่าพระเจ้าทรงใช้ความทุกข์ของคนตาบอดแต่กำเนิดเพื่อนำเขามาถึงความเชื่อ (ดูยอห์น 9:35-38) หลายคนที่มารับการรักษาจากพระเยซูแล้วกลับไปในความเชื่อ พระเจ้าใช้ความทุกข์ในชีวิตผู้นั้นเพื่อให้เกิดผลดีกับตัวเขาเอง
ใน 2โครินธ์ อ.เปาโลยังเดินหน้าต่อสู้กับพวก “อัครทูตเทียม” (2โครินธ์ 11:13) โดยไม่ต้องการเอาตัวเข้าไปเปรียบเทียบ (ดู 2โครินธ์ 11:21-29) ในบทที่ 12 อ.เปาโลพูดถึง “การถูกรับขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นที่สาม” (12:2) ไปยังเมืองบรมสุขเกษมที่ท่านได้ยิน “วาจาซึ่งจะพูดเป็นคำไม่ได้” (12:4) นี่เป็นสิ่งที่นำมาใช้อวดอ้างได้ พระเจ้าจึงอนุญาตให้มี “หนามใหญ่ในเนื้อของท่าน” ความทุกข์นี้เป็นมาจากพระเจ้าที่กระทำผ่าน “ทูตของซาตาน” (12:7) อ.เปาโลวิงวอนพระเจ้าถึงสามครั้งเพื่อให้มันหลุดออกไป แต่ละครั้ง พระเจ้าปฏิเสธคำขอของท่าน เตือนว่า “การที่มีคุณของเราก็พอแก่เจ้าแล้ว” เพราะ “ฤทธิเดชของพระองค์จะเต็มขนาดในความอ่อนแอของท่าน” (12:9)
หนามในเนื้อของ อ.เปาโลทำให้ท่านถ่อมลง ทำให้อ่อนแอในแบบของมนุษย์ เพื่อฤทธิอำนาจของพระเจ้าจะปรากฏชัดในชีวิตท่าน ความทุกข์กันให้ อ.เปาโลไม่ตกอยู่ในบาปความผยองฝ่ายวิญญาณ ไม่พึ่งฤทธิอำนาจของพระเจ้าโดยทางพระวิญญาณ สิ่งนี้ทำให้ท่านมีมุมมองเรื่องความทุกข์แตกต่างไป:
เหตุฉะนั้นเพราะเห็นแก่พระคริสต์ ข้าพเจ้าจึงชื่นใจในบรรดาความอ่อนแอของข้าพเจ้า ในการประทุษร้ายต่างๆในความยากลำบาก ในการถูกข่มเหง ในความอับจน เพราะว่าข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็จะแข็งแรงมากเมื่อนั้น (2โครินธ์ 12:10)
ในฟีลิปปี 3 อ.เปาโลพูดถึงพระพรอีกแบบที่พระเจ้ามอบให้ท่านผ่านการทนทุกข์ :
แต่ว่าสิ่งใดที่เคยเป็นคุณประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์แล้ว เพื่อเห็นแก่พระคริสต์ ที่จริงข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัดไร้ประโยชน์ เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า เพราะเหตุพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้ยอมสละสิ่งสารพัด และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์ และจะได้ปรากฏอยู่ในพระองค์ ไม่มีความชอบธรรมของข้าพเจ้าเอง ซึ่งได้มาโดยธรรมบัญญัติ แต่มีมาโดยความเชื่อในพระคริสต์ เป็นความชอบธรรมซึ่งมาจากพระเจ้าซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อ ข้าพเจ้าต้องการจะรู้จักพระองค์ และได้รับประสบการณ์ในฤทธิ์เดช เนื่องในการที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์นั้น และร่วมทุกข์กับพระองค์ คือยอมตั้งอารมณ์ตายเหมือนพระองค์ ถ้าเป็นไปได้ข้าพเจ้าก็จะได้เป็นขึ้นมาจากความตายด้วย (ฟีลิปปี 3:7-11)
ครั้งหนึ่ง อ.เปาโลเคยเป็นพวกเคร่งในบทบัญญัติ เป็นฮีบรูแท้ของฮีบรู” และเป็นฟาริสีที่เคร่งครัด (3:5) ประสบการณ์บนถนนสู่ดามัสกัส และการกลับใจที่ตามมาสำแดงให้เห็นถึงความบาป ความชอบธรรมของท่านเอง และความจำเป็นที่ต้องได้รับความรอดโดยทางความเชื่อนอกเหนือจากการงานทางศาสนา ในฐานะบุตรของพระเจ้า ท่านมีมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ท่านได้พบว่าทุกสิ่งที่ท่านภาคภูมิใจนั้นไร้ประโยชน์ – หรือตามคำพูดของท่านเป็น “หยากเยื่อ” (ข้อ 8) ครั้งที่ท่านมองความทุกข์ว่าเป็นการแช่งสาปจากพระเจ้าต่อคนบาป (เหมือนกับที่พวกสาวกคิดในยอห์น 9) เดี๋ยวนี้ท่านมองความทุกข์ว่าเป็นพระพร ได้มีประสบการณ์ในความทุกข์ยากเพื่อพระคริสต์ และได้มีส่วนในสามัคคีธรรมร่วมกับพระองค์ ทำให้ท่านรู้จักพระเยซูลึกซึ้งกว่าเดิม มีคริสเตียนกี่คนที่มองความทุกข์ของตนเองในแบบเดียวกัน? ในความทุกข์นั้นพวกเขาจะใกล้ชิดพระคริสต์มากขึ้น ความเชื่อเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในความสะดวกสบายฝ่ายกาย ความทุกข์ในชีวิตธรรมิกชนถูกออกแบบมาเพื่อดึงให้เราเข้าใกล้พระเจ้า มีสามัคคีธรรมที่ลึกซึ้งกับพระเยซู เพราะการทนทุกข์ของพระองค์เป็นเหตุให้เราได้เข้าไปใกล้พระเจ้า
ธรรมิกชนในพระคัมภีร์เดิมก็เช่นกัน ได้รับการปลอบประโลมและเติบโตขึ้นในความทุกข์ยาก เห็นได้ในหนังสือสดุดี 119 :
65 พระองค์ได้ทรงกระทำดีต่อผู้รับใช้ของพระองค์
ข้าแต่พระเจ้า ตามพระวจนะของพระองค์
66 ขอทรงสอนปฏิภาณและความรู้แก่ข้าพระองค์
เพราะข้าพระองค์เชื่อถือพระบัญญัติของพระองค์
67 ก่อนที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก ข้าพระองค์หลงเจิ่น
แต่บัดนี้ข้าพระองค์ปฏิบัติตามพระวจนะของพระองค์
68 พระองค์ประเสริฐ และทรงกระทำการดี
ขอทรงสอนกฎเกณฑ์ของพระองค์แก่ข้าพระองค์
69 คนโอหังป้ายความเท็จใส่ข้าพระองค์
แต่ข้าพระองค์ปฏิบัติตามข้อบังคับของพระองค์ด้วยสุดใจ
70 จิตใจของเขาทั้งหลายต่ำช้าเหมือนไขมัน
แต่ข้าพระองค์ปีติยินดีในพระธรรมของพระองค์
71 ดีแล้วที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก
เพื่อข้าพระองค์จะเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์ของพระองค์
72 สำหรับข้าพระองค์ พระธรรมแห่งพระโอษฐ์ของพระองค์
ก็ดีกว่าทองคำและเงินพันๆแท่ง
92 ถ้าพระธรรมของพระองค์ไม่เป็นที่ปีติยินดีของข้าพระองค์
ข้าพระองค์คงพินาศแล้วในความทุกข์ยากของข้าพระองค์ (สดุดี 119:65-72, 92)
ผู้เขียนสดุดีพบว่าการทนทุกข์เป็นรูปแบบการฝึกวินัยชีวิตจากพระเจ้า ทำให้ต้องใส่ใจและเข้าใกล้พระวจนะมากขึ้น ผู้เขียนสดุดีเองก็ไม่มีข้อยกเว้น อาสาฟกล่าวว่าความทุกข์ดึงท่านให้เข้าใกล้พระเจ้า ขณะที่ความมั่งคั่งทำให้หยิ่งผยองและชั่วร้าย (สดุดี 73) โยบเรียนรู้เรื่องพระเจ้าอย่างมากเมื่อต้องเผชิญความทุกข์ และเหนืออื่นใดท่านเรียนรู้ที่จะวางใจในพระปัญญาและการครอบครองอยู่ของพระองค์ ผู้เขียนหนังสือฮีบรูบอกเราว่า ความทุกข์เพราะถูกลงวินัยเป็นสิ่งยืนยันว่าเรายังเป็นบุตรของพระเจ้า (ฮีบรู 12:1-13)
พระเจ้าทรงใช้ความทุกข์ของเราเพื่อเกิดผลดีต่อผู้อื่น
ปฐมกาล 41:46-52; 45:7-11; 50:18-21
เราคงจำเรื่องที่พี่ๆของโยเซฟอิจฉาและชิงชังน้องชายเพราะเป็นลูกคนโปรดของยาโคบได้ จึงขายน้องคนนี้ไปเป็นทาสในอียิปต์ ที่อียิปต์โยเซฟยังต้องเจอกับความทุกข์จากฝีมือคนอื่น ไม่ใช่เพราะท่านทำบาป แต่เป็นเพราะสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า เมื่อโยเซฟได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นปกครองอียิปต์ ท่านตั้งชื่อบุตรชายที่บ่งถึงพระหัตถ์อันแสนดีของพระเจ้าเหนือชีวิตท่าน (ปฐมกาล 41:46-52) และเมื่อพี่ชายของท่านมาหาซื้อข้าวที่อียิปต์ โยเซฟมีอิสระพอที่จะช่วยพี่ชายอย่างมีเมตตา แม้ตอนแรกดูเหมือนไม่เป็นเช่นนั้น54 เมื่อพี่ๆของโยเซฟสำนึกในบาป ท่านจึงเปิดเผยตัวตน แน่นอนพวกเขาหวาดกลัวมาก คิดว่าโยเซฟจะใช้อำนาจที่มีแก้แค้นในสิ่งที่ทำกับท่านไว้ พวกพี่ๆยังไม่เข้าใจพระประสงค์ดีของพระเจ้าในความทุกข์ยาก แม้เป็น “ความทุกข์ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ”ก็ตาม แต่โยเซฟเข้าใจดี :
พระเจ้าทรงใช้เรามาก่อนพี่ เพื่อสงวนคนที่เหลือส่วนหนึ่งบนแผ่นดินไว้ให้พี่ และช่วยชีวิตของพี่ไว้ด้วยการช่วยกู้อันใหญ่หลวง ฉะนั้นมิใช่พี่เป็นผู้ให้เรามาที่นี่ แต่พระเจ้าทรงให้มา พระองค์ทรงโปรดให้เราเป็นเหมือนตัวบิดาฟาโรห์ เป็นเจ้าในราชวังทั้งสิ้น และเป็นผู้ครอบครองประเทศอียิปต์ทั้งหมด รีบไปหาบิดาเราบอกท่านว่า ‘โยเซฟบุตรของท่านพูดดังนี้ว่า พระเจ้าทรงโปรดให้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าเหนืออียิปต์ทั้งสิ้น ขอไปหาลูก อย่าได้ช้า พ่อจะได้อาศัยอยู่ในเมืองโกเชน และพ่อจะได้อยู่ใกล้ลูก ทั้งตัวพ่อกับลูกหลาน และฝูงแพะแกะฝูงโค และทรัพย์ทั้งหมดของพ่อ ลูกจะบำรุงรักษาพ่อที่นั่น ด้วยยังจะกันดารอาหารอีกห้าปี มิฉะนั้นพ่อและครอบครัวของพ่อและผู้คนที่พ่อมีอยู่จะยากจนไป’ (ปฐมกาล 45:7-11)
พี่ชายก็พากันมากราบลงต่อหน้าโยเซฟแล้วว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นผู้รับใช้ของท่าน” โยเซฟจึงบอกเขาว่า “อย่ากลัวเลย เราเป็นดังพระเจ้าหรือ พวกท่านคิดร้ายต่อเราก็จริง แต่ฝ่ายพระเจ้าทรงดำริให้เกิดผลดีอย่างที่บังเกิดขึ้นนี้แล้ว คือช่วยชีวิตคนเป็นอันมาก ดังนั้นพี่อย่ากลัวเลย เราจะบำรุงเลี้ยงพี่ทั้งบุตรด้วย” โยเซฟพูดปลอบโยนพวกพี่น้องดังนี้ทำให้เขาอุ่นใจ (ปฐมกาล 50:18-21)
ดังนั้นการทนทุกข์เพราะเหตุที่ตนเองไม่ได้ก่อ ไม่เพียงแต่เกิดผลดีกับตนเอง แต่ยังเกิดผลดีกับคนอื่นๆด้วย55
ความทุกข์บางอย่างเกิดจากความบาปของผู้อื่น
1ซามูเอล 21:1—22:11-23; 2ซามูเอลl 12:1-23
ใน 1ซามูเอล 21 ดาวิดต้องหนีไปจากกษัตริย์ซาอูลที่จ้องจะตามฆ่า ดาวิดและคนของท่านขาดแคลนอาหารจึงไปที่เมืองโนบ ที่อาหิเมเลคปุโรหิตอาศัยอยู่ อาหิเมเลคสัมผัสได้ว่ามีบางสิ่งผิดปกติเมื่อดาวิดมาหาท่านตามลำพัง ดาวิดหลอกท่านว่ามาราชการลับให้กษัตริย์ซาอูล และต้องไม่ให้ผู้ใดรู้ (21:1-2) ดาวิดขอแบ่งขนมปังจากท่าน และได้รับบางส่วนจากขนมปังบริสุทธิ์ และอาหิเมเลคได้มอบดาบของโกลิอัทให้กับดาวิด ดาบที่ดาวิดยึดมาได้ตอนฆ่าโกลิอัท แต่ที่เกิดขึ้น โดเอกชาวเอโดม คนของกษัตริย์ซาอูลอยู่ที่นั่นพอดี และเห็นเหตุการณ์ ต่อมาโดเอกไปรายงานให้ซาอูลทราบ ผลก็คือซาอูลสั่งฆ่าปุโรหิตหลายคนรวมทั้งครอบครัวพวกเขาด้วย
พระราชาตรัสว่า “อาหิเมเลค เจ้าจะต้องตายแน่ ทั้งเจ้าและพงศ์พันธุ์บิดาของเจ้าด้วย” และพระราชาก็รับสั่งแก่ราชองครักษ์ผู้ยืนเฝ้าอยู่ว่า “จงหันมาประหารปุโรหิตเหล่านี้ของพระเจ้าเสีย เพราะว่ามือของเขาอยู่กับดาวิดด้วย เขารู้แล้วว่ามันหนีไป แต่ไม่แจ้งให้เรารู้” แต่ข้าราชการผู้รับใช้ของพระราชาไม่ยอมลงมือ ทำกับปุโรหิตของพระเจ้า แล้วพระราชาจึงตรัสกับโดเอกว่า “เจ้าจงไปฟันปุโรหิตเหล่านั้น” โดเอกคนเอโดมก็หันไปฟันบรรดาปุโรหิต ในวันนั้น เขาฆ่าบุคคลที่สวมเอโฟดผ้าป่านเสีย แปดสิบห้าคน และเขาประหารชาวเมืองโนบ ซึ่งเป็นเมืองของปุโรหิตเสียด้วยคมดาบ ฆ่าเสียด้วยคมดาบ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และเด็กกินนม โค ลาและแกะ (1ซามูเอล 22:16-19)
เรารู้จากท่าทีที่ดาวิดตอบสนองต่อโศกนาฏกรรมนี้ ท่านรู้สึกรับผิดชอบต่อการตายของพวกปุโรหิตและครอบครัว (1ซามูเอล 22:21-23) ความรู้สึกผิดไม่ได้เกิดจากที่ท่านไปขอปันขนมปังจากอาหิเมเลค เพราะพระเยซูเองยังตรัสว่าทำได้ (ดูมัทธิว 12:3-4) ไม่ชัดเจนว่าที่ดาวิดโกหกเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ แต่ที่แน่ๆคนเหล่านี้ต้องตายลงเพราะความอิจฉาของซาอูล บาปของชายคนหนึ่ง (ซาอูล) และที่ดาวิดพยายามหาอาหารให้คนของท่านนำความตายไปถึงคนอีกมากมาย56
ดาวิดอาจไม่ผิดที่ทำให้พวกปุโรหิตที่เมืองโนบต้องตาย แต่บาปของท่านเป็นเหตุให้บุตรชายของท่านเองต้องตาย (2ซามูเอล 11 และ 12) ขณะที่กองทัพอิสราเอลออกทำสงคราม ดาวิดพักอยู่ที่วังในเยรูซาเล็ม (2ซามูเอล 11:1) ผลก็คือท่านบังเอิญมองลงไปจากดาดฟ้าพระราชวังเห็นสตรีนางหนึ่งกำลังอาบน้ำ จึงให้คนไปสอบถามว่าเป็นใคร ถึงจะรู้ว่าเธอเป็นภรรยาของทหารที่ซื่อสัตย์ในกองทัพของท่าน ดาวิดเรียกเธอมาหาที่วังและหลับนอนกับเธอ แล้วพยายามปกปิดบาปนั้นโดยสั่งให้โยอาบแม่ทัพ ส่งอุรียาห์ไปในพื้นที่ๆการสู้รบดุเดือดที่สุด แล้วละไว้ที่นั่นให้ตาย นาธันมาเผชิญหน้ากับดาวิดเรื่องความบาปของท่าน แจ้งท่านว่าเด็กที่หญิงนั้นตั้งครรภ์เพราะบาปของท่านจะต้องตาย แม้ดาวิดจะสำนึกผิดและวิงวอนขอต่อพระเจ้า พระเจ้าก็นำชีวิตเด็กนั้นไป เด็ก “ไร้เดียงสา” คนนี้ตายเพราะความบาปของดาวิด คนที่ไม่รู้เรื่องด้วยบางครั้งต้องมารับเคราะห์เพราะความบาปของผู้อื่น
บ่อยครั้งความทุกข์ก็เกิดจากหลายสาเหตุมารวมกัน
2 ซามูเอล 24:1-25; 1 พงศาวดาร 21:1-30
ผมขอชี้ให้เห็นสั้นๆว่าไม่เสมอไปที่ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ชีวิตมันไม่ง่ายอย่างนั้น แม้แต่ความบาปด้วย ใน 2ซามูเอล 24 และ 1พงศาวดาร 21 เราอ่านเรื่องภัยพิบัติที่ถูกส่งลงมายังอิสราเอลเพราะดาวิดโง่เขลาไปนับจำนวนคน ไม่ฟังคำคัดค้านของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์อย่างโยอาบและผู้บังคับบัญชาในกองทัพของท่าน (2ซามูเอล 24:3-4) ในอีกด้าน เราเห็นว่าคนของดาวิดต้องตายลงถึง 70,000 คนเพราะความเขลาของท่าน (2ซามูเอล 24:15) และเห็นจากเรื่องราวใน 1พงศาวดาร 21 (ข้อ 1) ซาตานได้ยืนขึ้นต่อสู้อิสราเอล ดลใจให้ดาวิดนับจำนวนอิสราเอล ดังนั้นซาตานก็มีบทบาทในพิบัติครั้งนี้ด้วย แต่จาก 2ซามูเอล 24:1 เราเรียนรู้ว่าเรื่องราวมันซับซ้อนกว่านั้น :
พระพิโรธของพระเจ้าได้เกิดขึ้นต่ออิสราเอลอีก เพื่อทรงต่อสู้เขาทั้งหลายจึงทรงดลใจดาวิดตรัสว่า” จงไปนับคนอิสราเอลและคนยูดาห์” (2ซามูเอล 24:1)
พระวจนะข้อนี้ เราเห็นว่าพระเจ้าทรงอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด ซึ่งไม่น่าประหลาดใจสำหรับคริสเตียน แต่ที่เราเรียนรู้คือพระเจ้าทรง “ดลใจ” ดาวิด เพราะพระพิโรธต่ออิสราเอล ดังนั้นคนอิสราเอลไม่ใช่ว่าไม่รู้เรื่อง พวกเขามีความผิด และพระเจ้าลงโทษชนชาตินี้เพราะบาปของพวกเขา ความทุกข์บางทีก็มาจากสาเหตุที่ซับซ้อน ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากรากเหง้าความบาปของมนุษย์
มีเพียงบุคคลเดียวที่บริสุทธิ์
เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจำไว้ว่าไม่มีใครเลย ไม่มีสักคน แม้แต่ทารกที่ “บริสุทธิ์” แท้จริง ในแง่ว่าพวกเขาปราศจากบาป ดาวิดกล่าวไว้นานมาแล้ว :
ดูเถิด ข้าพระองค์ถือกำเนิดมาในความผิดบาป
และมารดาตั้งครรภ์ข้าพระองค์ในบาป (สดุดี 51:5)
อ.เปาโลยืนยันในเรื่องนี้โดยอ้างจากพระวจนะในพระคัมภีร์เดิมในโรม 3:10-12 ที่กล่าวว่า:
10“ตามที่พระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า ไม่มีผู้ใดเป็นคนชอบธรรมสักคนเดียว ไม่มีเลย
11 ไม่มีคนที่เข้าใจ ไม่มีคนที่แสวงหาพระเจ้า
12 เขาทุกคนหลงผิดไปหมด เขาทั้งปวงเลวทรามเหมือนกันสิ้น ไม่มีสักคนเดียวที่กระทำดี ไม่มีเลย
บุคคลเดียวที่เกิดมาโดยปราศจากบาป และดำเนินชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ ปราศจากตำหนิ คือองค์พระเยซูคริสต์ของเรา พระองค์เพียงผู้เดียวที่สามารถพูดได้ว่า
มีผู้ใดในพวกท่านหรือ ที่ชี้ให้เห็นว่าเราได้ทำผิด ถ้าเราพูดความจริง ทำไมท่านจึงไม่เชื่อเรา? (ยอห์น 8:46)
พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ไร้ความผิด ลูกแกะปราศจากตำหนิของพระเจ้า ที่ได้หลั่งพระโลหิตเพื่อชำระมนุษย์ให้พ้นจากบาปของพวกเขา :
และถ้าท่านอธิษฐานขอต่อพระองค์ เรียกพระองค์ว่า พระบิดาผู้ทรงพิพากษาทุกคนตามการกระทำของเขา โดยไม่มีอคติ จงประพฤติตนด้วยความยำเกรงตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในโลกนี้ ท่านรู้ว่าพระองค์ได้ทรงไถ่ท่านทั้งหลายออกจากการประพฤติอันหาสาระมิได้ ซึ่งท่านได้รับต่อจากบรรพบุรุษของท่าน มิใช่ไถ่ไว้ด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายได้ เช่นเงินและทอง แต่ทรงไถ่ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสต์ ดังเลือดลูกแกะที่ปราศจากตำหนิหรือจุดด่าง แท้จริงพระเจ้าได้ทรงกำหนดพระคริสต์นั้นไว้ก่อนทรงสร้างโลก แต่ทรงให้พระคริสต์ปรากฏพระองค์ในวาระสุดท้ายนี้ เพื่อท่านทั้งหลาย เพราะพระคริสต์ท่านจึงวางใจในพระเจ้า ผู้ทรงชุบพระคริสต์ให้ฟื้นจากความตาย และทรงประทานพระเกียรติแก่พระองค์ เพื่อให้ความเชื่อและความหวังใจของท่านดำรงอยู่ในพระเจ้า (1เปโตร 1:17-21)
เมื่อพูดถึงผู้บริสุทธิ์ที่ต้องทนทุกข์ เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง มีเพียงพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่ต้องทนทุกข์ทั้งที่บริสุทธิ์ คนอื่นๆที่ทนทุกข์ก็เป็นเพราะพวกเขาเป็นคนบาป เมื่อเราพูดถึง “ผู้บริสุทธิ์ต้องมารับทุกข์” เรากำลังพูดถึงความทุกข์ที่ไม่ได้เกิดจากบาปโดยตรงของพวกเขา แต่เป็นเหตุเพราะบาปที่คนอื่นกระทำ
คำเล้าโลมใจของเรา :
การลงโทษของพระเจ้านั้นยุติธรรม และพระองค์จะไม่ลงโทษผู้บริสุทธิ์
ปฐมกาล 18:16-33; โยนาห์ 4:1-11
เมื่อพูดถึงคนที่ต้องทนทุกข์โดยไม่รู้เรื่อง เราได้รับคำปลอบประโลมที่ยิ่งใหญ่จากพระวจนะของพระเจ้า ลองมาดูบทสนทนาระหว่างอับราฮัมและพระเจ้า ในเรื่องการลงโทษเหนือโสดมและโกโมราห์ :
แล้วบุรุษเหล่านั้นก็ออกจากที่นั่น เดินไปจนเห็นเมืองโสโดม และอับราฮัมก็ตามไปส่งด้วย พระเจ้าตรัสว่า “ควรหรือที่เราจะซ่อนสิ่งซึ่งเราจะกระทำนั้นมิให้อับราฮัมรู้ เพราะอับราฮัมจะเป็นประชาชาติใหญ่โตและมีกำลังมาก และประชาชาติทั้งหลายในโลกจะได้รับพรก็เพราะท่าน เพราะเราเลือกเขาแล้ว เพื่อเขาจะได้กำชับลูกหลาน และครอบครัวที่สืบมา ให้รักษาพระมรรคาของพระเจ้า โดยทำความชอบธรรมและความยุติธรรม เพื่อว่าพระเจ้าจะได้ประทานสิ่ง ซึ่งพระองค์ทรงสัญญาไว้แล้วให้แก่อับราฮัม” พระเจ้าได้ตรัสว่า “เสียงร้องกล่าวโทษเมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์ นั้นดังเหลือเกิน และบาปของเขาก็หนักมาก เราจะลงไปดูว่า พวกเขากระทำผิดจริงตามคำร้องทุกข์ที่มาถึงเรานั้นหรือไม่ ถ้าไม่เราก็จะรู้” บุรุษเหล่านั้นจึงออกจากที่นั่นเดินตรงไปยังเมืองโสโดม แต่อับราฮัมยังยืนเฝ้าพระเจ้าอยู่ อับราฮัมได้เข้ามาใกล้ กราบทูลว่า “พระองค์จะทรงทำลายผู้ชอบธรรมพร้อมกับคนอธรรมหรือ สมมุติว่ามีคนชอบธรรมห้าสิบคนอยู่ในเมืองนั้น พระองค์จะยังทรงทำลายเมืองนั้นไม่ยับยั้งอาชญา เพราะเห็นแก่คนชอบธรรมห้าสิบคนที่อยู่ในเมืองนั้นหรือ ขอพระองค์อย่าคิดที่จะกระทำเช่นนั้นเลย อย่าคิดที่จะฆ่าคนชอบธรรมพร้อมกับคนอธรรม ทำกับคนชอบธรรมอย่างเดียวกับคนอธรรม ขอพระองค์อย่าทรงทำเช่นนั้นเลย พระองค์ผู้พิพากษาสากลโลกจะไม่กระทำสิ่งที่ยุติธรรมหรือ” พระเจ้าตรัสว่า “ที่โสโดมถ้าเราพบคนชอบธรรมในเมืองห้าสิบคนเราจะ ไม่ลงอาชญาในเมืองนั้นทั้งเมืองเพราะเห็นแก่เขา” อับราฮัมทูลตอบว่า “ขอประทานโทษ ที่ข้าพระองค์บังอาจกราบทูลต่อพระเจ้า ข้าพระองค์ผู้เป็นเพียงผงคลีและขี้เถ้า สมมุติว่าในห้าสิบคนนั้นขาดไปห้าคน พระองค์จะยังทรงทำลายเมืองนั้นทั้ง เมืองเพราะขาดห้าคนหรือ” และพระองค์ตรัสว่า “เราจะไม่ทำลาย ถ้าเราพบคนชอบธรรมสี่สิบห้าคนที่นั่น” ท่านก็ทูลพระองค์อีกว่า “สมมุติว่าพระองค์ทรงพบสี่สิบคนที่นั่น” พระองค์ตรัสตอบว่า “เพราะเห็นแก่สี่สิบคนเราจะไม่กระทำ” ท่านจึงทูลว่า “ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่าทรงพระพิโรธเลย ข้าพระองค์จะขอกราบทูล สมมุติพระองค์ทรงพบเพียงสามสิบคนที่นั่น” พระองค์ตรัสตอบว่า “เราจะไม่ลงอาชญา ถ้าเราพบสามสิบที่นั่น” ท่านทูลว่า “ขอประทานโทษที่ข้าพระองค์บังอาจกราบทูล ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า สมมุติว่าทรงพบเพียงยี่สิบคนที่นั่น” พระองค์ตรัสตอบว่า “เพราะเห็นแก่ยี่สิบคน เราจะไม่ทำลายเมืองนั้น” ท่านทูลว่า “ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่าทรงพระพิโรธเลย ข้าพระองค์ขอกราบทูลอีกครั้งนี้ครั้งเดียว สมมุติว่า ทรงพบเพียงสิบคนที่นั่น” พระองค์ตรัสตอบว่า “เพราะเห็นแก่สิบคนเราจะไม่ทำลายเมืองนั้น” เมื่อพระองค์ตรัสกับอับราฮัมจบลงแล้ว พระเจ้าก็เสด็จไป ส่วนอับราฮัมก็กลับไปบ้าน (ปฐมกาล18:16-33)
พระเจ้ากำลังจะลงโทษเมืองโสดมและโกโมราห์ แต่พระองค์ต้องการแบ่งปันเรื่องนี้กับอับราฮัม เมื่อได้ยินว่าเมืองนี้กำลังจะถูกทำลาย อับราฮัมเป็นห่วงว่าคนบริสุทธิ์จะถูกทำลายไปพร้อมกับคนชั่ว จึงโต้แย้งว่าพระเจ้าของท่านจะทำในสิ่งที่ยุติธรรม คือไม่ปฏิบัติในแบบเดียวกันกับทั้งคนชั่วและคนดี (18:23-25) ในตอนจบ ท่านต่อรองว่าถ้ามีคนชอบธรรมสักสิบคนที่ในเมืองนั้น พระเจ้าจะไม่ลงโทษ ที่เรารู้ แน่นอน สิบคนก็ยังไม่มี กระนั้นพระเจ้าก็ยังทรงไว้ซึ่งพระลักษณะของพระองค์ ก่อนส่งไฟลงไปเผาเมืองชั่วร้ายนั้น พระองค์ทรงให้โลทและครอบครัวอพยพออกมา (ปฐมกาล 19:12-26) พระเจ้าของเรายุติธรรม และพระองค์ไม่ได้ลงโทษคนชอบธรรมไปพร้อมๆกับคนอธรรม
ความจริงเดียวกันนี้57 เป็นบทเรียนอยู่ในหนังสือโยนาห์บทที่สี่ด้วย :
เมื่อพระเจ้าทอดพระเนตรการกระทำของเขาแล้วว่า เขากลับไม่ประพฤติชั่วต่อไป พระเจ้าก็ทรงกลับพระทัย ไม่ลงโทษ ตามที่พระองค์ตรัสไว้ และพระองค์ก็มิได้ทรงลงโทษเขา เหตุการณ์นี้ไม่เป็นที่พอใจโยนาห์อย่างยิ่ง และท่านโกรธ ท่านจึงอธิษฐานต่อพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระเจ้า เมื่อข้าพระองค์ยังอยู่ในประเทศของข้าพระองค์ ข้าพระองค์พูดแล้วว่าจะเป็นไปเช่นนี้มิใช่หรือ นี่แหละเป็นเหตุให้ข้าพระองค์ได้รีบหนีไปยังเมืองทารชิช เพราะข้าพระองค์ทราบว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงกอปรด้วยพระคุณ และทรงพระกรุณา ทรงกริ้วช้า และบริบูรณ์ด้วยความรัก มั่นคง และทรงกลับพระทัยไม่ลงโทษ ข้าแต่พระเจ้า เพราะฉะนั้น บัดนี้ ขอพระองค์ทรงเอาชีวิตของข้าพระองค์ไปเสีย เพราะว่าข้าพระองค์ตายเสียก็ดีกว่าอยู่” ละพระเจ้าตรัสว่า “การที่เจ้าโกรธเช่นนี้ดีอยู่หรือ” แล้วโยนาห์ก็ออกไปนอกนคร นั่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองนั้น และท่านทำเพิงไว้เป็นที่ท่านอาศัย ท่านนั่งอยู่ใต้ร่มเพิงคอยดูเหตุการณ์อันจะเกิดขึ้นกับนครนั้น และพระเจ้าทรงกำหนดให้ต้นละหุ่งต้นหนึ่ง งอกขึ้นมาเหนือโยนาห์ ให้เป็นที่กำบังศีรษะของท่าน เพื่อให้บรรเทาความร้อนรุ่มกลุ้มใจในเรื่องนี้ เพราะเหตุต้นละหุ่งต้นนี้โยนาห์จึงมีความยินดียิ่งนัก แต่ในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น พระเจ้าทรงกำหนดให้หนอนตัวหนึ่งมากัดกินต้นละหุ่งต้นนั้น จนมันเหี่ยวไป เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว พระเจ้าทรงกำหนดให้ลมตะวันออกที่ร้อนผากพัดมา และแสงแดดก็แผดลงบนศีรษะของโยนาห์จนท่าน อ่อนเพลียไปและท่านก็ทูลขอว่า ให้ท่านตายเสียเถิด ท่านว่า “ข้าตายเสียก็ดีกว่าอยู่” แต่พระเจ้าตรัสกับโยนาห์ว่า “ที่เจ้าโกรธเพราะต้นละหุ่งนั้นดีอยู่แล้วหรือ” ท่านทูลว่า “ที่ข้าพระองค์โกรธถึงอยากตายนี้ดีแล้ว พระเจ้าข้า” และพระเจ้าตรัสว่า “เจ้าหวงต้นไม้ซึ่งเจ้ามิได้ลงแรงปลูก หรือมิได้กระทำให้มันเจริญ มันงอกเจริญขึ้นในคืนเดียว แล้วก็ตายไปในคืนเดียวดุจกัน ไม่สมควรหรือที่เราจะหวงเมืองนีนะเวห์นครใหญ่นั้น ซึ่งมีพลเมืองมากกว่าหนึ่งแสนสองหมื่นคน ผู้ไม่ทราบว่าข้างไหนมือขวาข้างไหนมือซ้าย และมีสัตว์เลี้ยงเป็นอันมากด้วย” (โยนาห์ 3:10 – 4:11)
เมื่อประชากรนีนะเวห์กลับใจ พระเจ้าก็ยับยั้ง และโยนาห์ไม่พอใจ ท่านแทบคลั่ง สิ่งที่คนอื่นสรรเสริญพระเจ้า (ข้าพระองค์ทราบว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงกอปรด้วยพระคุณ และทรงพระกรุณา ทรงกริ้วช้า และบริบูรณ์ด้วยความรักมั่นคง และทรงกลับพระทัยไม่ลงโทษ – ข้อ 2 ด้านบน)58 โยนาห์กลับประท้วง ท่านเกลียดชังพระคุณ59ไม่สังเกตเลยว่านี่คือสิ่งเดียวที่ทำให้ท่านยังมีชีวิตอยู่ โยนาห์ต้องการเห็นคนบาปพวกนี้ชดใช้ ต้องการนั่งดูพระอาชญาที่จะเทลงเหนือพวกเขา แม้จะสำนึกผิดแล้วก็ตาม โยนาห์มองไม่เห็นเงาของร่มไม้ที่พระเจ้าประทานให้เป็นของขวัญแห่งพระคุณ มัวแต่โกรธเคืองเพราะถูกเอาคืนไป ราวกับว่าเป็นสิ่งที่ท่านสมควรได้รับ
ความบาปของโยนาห์ยิ่งแย่หนักเมื่อโยงเข้ากับเด็กๆในนีนะเวห์ ท่านต้องการเห็น (จากคำพูดของอับราฮัม) พระเจ้ากวาดคนชอบธรรมไปพร้อมกับคนอธรรม” 60
ความยุติธรรมของพระเจ้าปรากฎชัดเมื่อเทียบกับความโกรธที่โยนาห์คิดว่าตนเองชอบธรรม ไม่สนใจแม้พวกเขาจะกลับใจ แค่อยากเห็นพวกเขาพินาศ พระเจ้าไม่เพียงแต่ปิติที่ได้ช่วยคนบาปให้กลับใจ พระองค์ทรงห่วงใยเด็กที่ไร้เดียงสา และจะไม่ลงโทษพวกเขาแม้พ่อแม่พวกเขาจะชั่วร้ายก็ตาม
ความรอดของพระเจ้า และทารกที่ถูกสังหาร
มัทธิว 2:13-18; เยเรมีย์ 31:15
สิ่งที่พระเจ้าตรัสกับโยนาห์ทำให้เราเกิดปัญหากับพระกิตติคุณมัทธิว 2 ข้อ 13-18 ที่กำลังเรียนกัน:
ครั้นเขาไปแล้วก็มีทูตองค์หนึ่งของพระเป็นเจ้า ได้มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันแล้วบอกว่า “จงลุกขึ้นพากุมารกับมารดาหนีไปประเทศอียิปต์ และคอยอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกเจ้า เพราะว่าเฮโรดจะแสวงหากุมาร เพื่อจะประหารชีวิตเสีย” ในเวลากลางคืนโยเซฟจึงลุกขึ้น พากุมารกับมารดาไปยังประเทศอียิปต์ และได้อยู่ที่นั่นจนเฮโรดสิ้นพระชนม์ ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า ซึ่งได้ตรัสไว้โดยผู้เผยพระวจนะว่า เราได้เรียกบุตรของเราให้ออกมาจากอียิปต์ ครั้นเฮโรดเห็นว่าพวกโหราจารย์หลอกท่าน ก็กริ้วโกรธยิ่งนัก จึงใช้คนไปฆ่าเด็กผู้ชายทั้งหลาย ในบ้านเบธเลเฮมและที่ใกล้เคียงทั้งสิ้น ตั้งแต่อายุสองขวบลงมา ซึ่งพอดีกับเวลาที่ท่านได้ทราบจากพวกโหราจารย์นั้น ครั้งนั้นก็สำเร็จตามพระวจนะที่ตรัสโดยเยเรมีย์ผู้เผยพระวจนะว่า ได้ยินเสียงในหมู่บ้านรามาห์ เป็นเสียงโอดครวญและร่ำไห้ คือนางราเชลร้องไห้คร่ำครวญ เพราะบุตรทั้งหลายของตน นางไม่รับฟังคำปลอบเล้าโลม เพราะบุตรทั้งหลายนั้นไม่มีแล้ว (มัทธิว 2:13-18)
พวกโหราจารย์ได้รับคำสั่งจากพระเจ้าให้เดินทางกลับเส้นทางอื่น พวกเขาเชื่อฟัง (2:12) แล้วพระองค์สั่งโยเซฟให้พาพระกุมารและนางมารีย์ไปลี้ภัยที่ในอียิปต์ เพราะเฮโรดกำลังหาทางฆ่าพระกุมาร โยเซฟเชื่อฟัง เมื่อเฮโรดรู้ว่าแผนสังหารทารกที่จะเป็นกษัตริย์ล้มเหลว ก็โกรธเคืองมาก จากข้อมูลที่ดาวมาปรากฎแก่โหราจารย์ และสถานที่กำเนิดตามคำพยากรณ์ที่นักศาสนาบอก เฮโรดพอรู้อายุและที่อยู่ของพระกุมาร แม้จะไม่ได้เห็นตัวจริง แต่พอรู้ว่าไม่น่าถึงสองขวบ เฮโรดคิดว่าเอาตัวเลขกลมๆนี้มาเป็นตัวตั้ง สังหารทารกทั้งหมดในเขตเบธเลเฮม ทารกชายอายุต่ำกว่าสองขวบทั้งหมดในเบธเลเฮมจึงถูกฆ่าตาย
จำนวนทารกที่ตายตามที่คาดเดาอาจดูเยอะเกินจริง โดยทั่วไปคิดว่าไม่น่าเกิน 20 หรือ 30 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความผิดของเฮโรด หรือความทุกข์ระทมของพ่อแม่ลดลง อาจมีคำถามว่าทำไมมัทธิวเลือกที่จะบันทึกรายละเอียดการฆ่าทารก แต่ไม่บันทึกรายละเอียดการตายของเฮโรด คนอ่านอาจรู้สึกไม่พอใจที่ทารกโดนสังหารอย่างไม่เป็นธรรม อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเฮโรดหลังสิ่งโหดเหี้ยมที่เขาทำ ให้มาดูว่าพระกิตติคุณมัทธิวตอนนี้ให้บทเรียนอะไรกับเรา?
ประการแรก – เรื่องการสังหารทารกที่บริสุทธิ์ดูเหมือนเมฆทะมึนที่จู่ๆก็มาปกคลุมความชื่นชมยินดีในการประสูติของพระเยซูคริสต์ อย่าลืมว่าพระเยซูเสด็จมาเพื่อตายบนไม้กางเขนในเงื้อมมือของชาวยิวที่ไม่เชื่อและคนต่างชาติ และเราได้พบพระนามพระเยซูในมัทธิว 1:
เธอจะประสูติบุตรชาย แล้วเจ้าจงเรียกนามท่านว่า เยซู เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่จะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา” (มัทธิว 1:21)
วิธีที่พระเยซูจะมา “โปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาป” คือยอมสละพระชนม์อย่างผู้บริสุทธิ์บนกางเขนที่เนินหัวกระโหลก การประสูติของพระเยซูเป็นเหตุการณ์ที่ชื่นชมยินดี เหมือนข้อความในบัตรอวยพรวันคริสตมาส แต่เป็นการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดที่ต้องไปสิ้นพระชนม์ในเยรูซาเล็ม มัทธิวจึงเตรียมปูพื้นให้ผู้อ่านแต่เนิ่นๆ ประชาชนและผู้ปกครองในเยรูซาเล็มต่างวุ่นวายใจเมื่อได้ยินคำว่า “กษัตริย์ของชาวยิว” มาบังเกิดในเบธเลเฮม
เราอาจจะเปรียบเทียบเรื่องต้นกำเนิดของพระเยซูในมัทธิวและในลูกาได้ ผู้เขียนแต่ละท่านเลือกสถานการณ์ เหตุการณ์ และผู้คนที่แตกต่างกัน แต่ทั้งคู่เตรียมผู้อ่านให้ตระหนักถึงความจริงว่าผู้ที่มาประสูติในเบธเลเฮม มาสละพระชนม์เพื่อความบาปของประชากรของพระองค์ มัทธิวเตรียมเราไว้ก่อนโดยบันทึกเรื่องเด็กบริสุทธิ์ถูกสังหาร ลูกาทำผ่านถ้อยคำที่สิเมโอนพูดกับนางมารีย์ :
แล้วสิเมโอนก็อวยพรแก่เขา แล้วกล่าวแก่นางมารีย์มารดาพระกุมารนั้นว่า “ดูก่อน ท่านทรงตั้งพระกุมารนี้ไว้ เป็นเหตุให้หลายคนในพวกอิสราเอลล้มลงหรือยกตั้งขึ้น และจะเป็นหมายสำคัญซึ่งคนปฏิเสธ เพื่อความคิดในใจของคนเป็นอันมากจะได้ปรากฏแจ้ง ถึงหัวใจของท่านเองก็ยังจะถูกดาบแทงทะลุด้วย” (ลูกา 2:34-35)
ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนพระเยซูบังเกิดเล็งถึงเหตุการณ์อื่นๆในชีวิตที่จะเกิดขึ้นจนถึงวันสิ้นพระชนม์ เหตุการณ์ช่วงการบังเกิดควรมีการเตือนล่วงหน้าว่าพระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์
ยังมีอีกมิติหนึ่งเรื่องทารกถูกสังหาร ผมเชื่อว่าน่าจะนำมาพิจารณา บางคนคิดว่ามันไกลเกินเอื้อม แต่ผมไม่ใช่คนเดียวที่ยื่นไปแตะมิตินี้ ผมถามตัวเองด้วยคำถามง่ายๆ : อะไรคือเหตุผลที่เฮโรดต้องฆ่าทารกเพศชาย? คำตอบที่ผมคิดว่าง่ายและชัดเจนคือ เฮโรดสังหารทารกพวกนี้เพราะอยู่ในข่ายว่าน่าจะเป็นพระเยซู เฮโรดไม่ได้สั่งฆ่าเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่าสิบสองในเยรูซาเล็ม ฆ่าเฉพาะทารกชายอายุต่ำกว่าสองในเขตเบธเลเฮม ทำไมครับ? เพราะเฮโรดต้องการฆ่าพระเยซูผู้จะมาเป็น “กษัตริย์ของชาวยิว” เฮโรดสั่งฆ่าเฉพาะทารกที่เกิดตามคำพยากรณ์ที่เล็งถึงพระเมสซิยาห์ และคะเนอายุตามที่พวกโหราจารย์บอกเมื่อเห็นดวงดาว ในอีกแง่ ทารกพวกนี้คือคนกลุ่มแรกที่พลีชีพเพื่อพระคริสต์
เราต้องตั้งคำถาม : อะไรทำให้มัทธิวพยายามเชื่อมโยงการสังหารทารกเข้ากับเยเรมีย์ 31:15? ผมขอเริ่มจากตั้งข้อสังเกตพระวจนะตอนที่มัทธิวอ้างในเยเรมีย์ 31
(1) บริบทของเยเรมีย์ 31 คือการตกไปเป็นเชลยของอิสราเอล การกลับสู่มาตุภูมิ และกลับสู่สภาพดี โดยเฉพาะพระเจ้าให้ความมั่นใจกับอาณาจักรเหนือของอิสราเอลว่าจะทำให้คืนสู่สภาพดีเมื่อเป็นไทจากอัสซีเรีย ลองมาดูข้อคิดเห็นจากหนังสือ Bible Knowledge Commentary ข้อ 2-6:
พระเจ้าให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูอาณาจักรเหนือ คนที่รอดตายจากดาบ(ที่อาจถูกอัสซีเรียทำลาย) จะได้ลิ้มรสความโปรดปรานของพระเจ้า เมื่อพระองค์นำเขาเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร เหมือนเป็นการอพยพครั้งใหม่ 16:14-15; 23:7-8; โฮเชยา 2:14-15 ความวุ่นวายในหลายปีที่ตกเป็นเชลยจะหมดไปเมื่อพระเจ้าเข้ามาแทรกแซง และทำให้ชนชาติอิสราเอลได้หยุดพัก 61
ต่อไปมาดูข้อคิดเห็นจาก Bible Knowledge Commentary ข้อ 7-9:
เมื่อพระเจ้านำประชากรที่อพยพครั้งใหม่กลับสู่อิสราเอล พระองค์จัดเตรียมทุกสิ่งที่จำเป็นให้พวกเขา จะนำพวกเขาเดินข้างลำธารน้ำ (เทียบกับ อพยพ 15:22-25; กันดารวิถี 20:2-13; สดุดี 23:2) จะได้เดินในทางราบซึ่งไม่สะดุด พระองค์ทำทั้งหมดนี้เพราะความสัมพันธ์พิเศษที่มีต่ออิสราเอล ทรงเป็นพระบิดาของชนชาตินี้ (ดูเฉลยธรรมบัญญัติ 32:6) เอฟราอิม (เน้นถึงชนเผ่าเหนือของอิสราเอล) เป็นเหมือนบุตรหัวปี (ดูอพยพ 4:22) เยเรมีย์ใช้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างบิดาและบุตรเพื่อให้เห็นถึงความรักลึกซึ้งที่พระเจ้ามีต่อประชากรของพระองค์ (ดูโฮเชยา 11:1, 8)62
การ “ตกไปเป็นเชลย” คงจะรวมถึงตกเป็นเชลยของบาบิโลนในเวลาต่อมาด้วย รามาห์ ตามที่บันทึกไว้เป็นจุดรวมพลประชากรยูดาห์ก่อนถูกส่งไปเป็นเชลยที่บาบิโลน :
เยเรมีย์จึงให้ภาพการร้องไห้คร่ำครวญของพวกผู้หญิงในอาณาจักรเหนือขณะเห็นลูกๆถูกอุ้มไปเป็นเชลยในปี 722 ก.ค.ศ. อย่างไรก็ตาม เยเรมีย์อาจหมายถึงการส่งคนยูดาห์ไปเป็นเชลยในปี 586 ก.ค.ศ. ในแง่ที่รามาห์เป็นจุดรวมพลเพื่อให้เนบูคัดเนสซาร์จับส่งไปเป็นเชลย (ดู 40:1)63
(2) อารมณ์ของบทนี้มีแต่การเฉลิมฉลองด้วยความยินดี เพราะพระเจ้าจะนำประชากรของพระองค์กลับสู่มาตุภูมิ และฟื้นฟูสู่สภาพดี เทพระพรลงมาเหนือพวกเขา ในแง่นี้ คนที่ร้องไห้คร่ำครวญจะไม่ร้องอีกต่อไป
10 “บรรดาประชาชาติเอ๋ย จงฟังพระวจนะของพระเจ้า
และจงประกาศพระวจนะนั้น ในแผ่นดินชายทะเลที่ห่างออกไป
จงกล่าวว่า ‘ท่านที่กระจายอิสราเอลนั้นจะรวบรวมเขา และจะดูแลเขาอย่างกับผู้เลี้ยงแกะดูแลฝูงแกะของเขา’
11 เพราะพระเจ้าทรงไถ่ยาโคบไว้แล้ว
และได้ไถ่มาจากมือที่แข็งแรงเกินกว่าเขา
12 เขาทั้งหลายจะมาร้องเพลงอยู่บนที่สูงแห่งศิโยน
และเขาจะปลาบปลื้มเพราะของดีของพระเจ้า
เพราะเมล็ดข้าว เหล้าองุ่นและน้ำมันและเพราะลูกของแกะและโค
ชีวิตของเขาทั้งหลายจะเหมือนกับสวนที่มีน้ำรด และเขาจะไม่อ่อนระทวยอีกต่อไป
13 แล้วพวกพรหมจารีจะเปรมปรีดิ์ในการเต้นรำ
และคนหนุ่มกับคนแก่จะรื่นเริง เราจะกลับความโศกเศร้าของเขาให้เป็นความชื่นบาน
เราจะปลอบโยนเขาและให้ความยินดีแก่เขาแทนการไว้ทุกข์ (เยเรมีย์ 31:10-13)
(3) สถานที่ๆพูดถึงในเยเรมีย์ 31:15 คือรามาห์ และบุคคลที่พูดถึงคือราเชลที่ร่ำไห้เพราะบุตรของเธอ ทำให้นึกถึงการตายของราเชลในปฐมกาล 35:16-19 ราเชลมีปัญหาขณะคลอดบุตรชาย เธอตั้งชื่อเขาว่าเบนโอนี “บุตรแห่งความโศกเศร้า” แล้วเปลี่ยนเป็นเบนยามิน (บุตรแห่งมือขวาของเรา) ก็ถือกำเนิดมา แต่ราเชลตายหลังคลอด ราเชลเป็นมารดาของโยเซฟ (ผู้เป็นบิดาของเอฟราอิมและมนัสเสห์) และเบนยามิน เธอถูกเรียกว่าเป็น “มารดาของอิสราเอล” เธอใกล้ชิดและผูกพันกับอาณาจักรตอนเหนือของอิสราเอลมาก จึงเป็นการง่ายที่จะอธิบายการคร่ำครวญของแม่ๆในอาณาจักรเหนือว่าเป็น “นางราเชลร้องไห้คร่ำครวญเพราะบุตรทั้งหลายของตน” เมื่อถูกอัสซีเรียจับไปเป็นเชลย ถ้อยคำเดียวกันนี้สามารถนำมาอธิบายถึงแม่ๆในอาณาจักรใต้ที่คร่ำครวญเมื่อเห็นบุตรถูกนำตัวไปต่อหน้าต่อตา
(4) บริบทของเยเรมีย์ 31 ยังเป็น “พันธสัญญาใหม่” ด้วย:
“พระเจ้าตรัสว่า ดูเถิด วันเวลาจะมาถึง เมื่อเราจะหว่านพืชคนและพืชสัตว์ในประชา อิสราเอลและประชายูดาห์ และจะเป็นไปอย่างนี้ คือเมื่อเราเฝ้าดูเขา เพื่อจะถอนออกและพังลงคว่ำเสีย ทำลาย และนำเหตุร้ายมาฉันใด เราจะเฝ้าดูเหนือเขาเพื่อจะสร้างขึ้นและปลูกฝังฉันนั้น พระเจ้าตรัสดังนี้แหละ ในสมัยนั้น เขาจะไม่กล่าวต่อไปอีกว่า ‘บิดารับประทานองุ่นเปรี้ยวและบุตรก็เข็ดฟัน’ แต่ทุกคนจะต้องตายเพราะบาปของตนเอง มนุษย์ทุกคนที่รับประทานองุ่นเปรี้ยว ก็จะเข็ดฟัน “พระเจ้าตรัสว่า ดูเถิด วันเวลาจะมาถึง ซึ่งเราจะทำพันธสัญญาใหม่กับประชาอิสราเอลและประชายูดาห์ ไม่เหมือนกับพันธสัญญาซึ่งเราได้กระทำกับ บรรพบุรุษของเขาทั้งหลาย เมื่อเราจูงมือเขาเพื่อนำเขาออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ เป็นพันธสัญญาของเราซึ่งเขาผิด ถึงแม้ว่าเราได้เป็นสามีของเขา พระเจ้าตรัสดังนี้แหละ แต่นี่จะเป็นพันธสัญญาซึ่งเราจะกระทำกับ ประชาอิสราเอลภายหลังสมัยนั้น พระเจ้าตรัสดังนี้แหละ เราจะบรรจุพระธรรมไว้ในเขาทั้งหลาย และเราจะจารึกมันไว้บนดวงใจของเขาทั้งหลาย และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นประชากรของเรา และทุกคนจะไม่สอนเพื่อนบ้านของตน และพี่น้องของตนแต่ละคนอีกว่า ‘จงรู้จักพระเจ้า’ เพราะเขาทั้งหลายจะรู้จักเราหมดตั้งแต่คน เล็กน้อยที่สุดถึงคนใหญ่โตที่สุด พระเจ้าตรัสดังนี้แหละ เพราะเราจะให้อภัยบาปชั่วของเขา และจะไม่จดจำบาปของเขา ทั้งหลายอีกต่อไป” (เยเรมีย์ 31:27-34)
ผมพบว่าเยเรมีย์พยายามอธิบายถึงความสำคัญจากผลที่เกิดในพันธสัญญาใหม่ในข้อ 29 และ 30 ประเด็นของท่านคือเมื่ออยู่ภายใต้พันธสัญญาเดิม เด็กจะต้องรับผลจากโทษบาปของพ่อแม่ ซึ่งจะไม่เป็นเช่นนั้นในพันธสัญญาใหม่ ถ้ามาพิจารณาพระคำในเยเรมีย์ 31:15 ให้ใกล้ๆ ผมพบว่ามันยากที่จะพูดว่าทารกบริสุทธิ์ที่ตายลงในเบธเลเฮมเป็นเพราะบาปของพ่อแม่ และจากที่เราเรียนมาในตอนต้น ก็ยังยากที่จะสรุปว่าที่ทารกเหล่านี้ตายเพราะอยู่ภายการตัดสินของพระเจ้า ซึ่งแตกต่างจากกรณีของเฮโรด ที่ตายในมัทธิวบทที่ 2
แล้วเราจะเชื่อมรอยต่อนี้ได้อย่างไร? ผมเชื่อว่ามัทธิวกำลังบอกเราว่าพระเยซูคืออิสราเอลใหม่ และพระองค์เชื่อมต่อกับโมเสสผู้ถูกฟาโรห์ตามล่าชีวิตด้วย แต่พระเจ้าทรงช่วยไว้ พระเยซูเช่นเดียวกับดาวิด ถูกกษัตริย์ขี้อิจฉาตามล่าเพราะเป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์ พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งที่อิสราเอลทำไม่สำเร็จ ดังนั้นการเดินทางไปอียิปต์และกลับมาจึงเป็นเหมือนย้อนรอยอพยพตามที่โฮเชยาพูดถึงในโฮเชยา 11:1
การเดินทางไปอียิปต์และกลับมาของพระเยซูคือภาพอิสราเอลที่ตกไปเป็นเชลย (ทั้งเชลยอัสซีเรียของอาณาจักรเหนือ และเชลยบาบิโลนของอาณาจักรใต้) มัทธิวจึงโยงการร้องไห้คร่ำครวญของราเชลที่บุตรถูกอุ้มไป แม้จะโอดครวญเพราะคิดว่าพวกเขาจะไม่ได้กลับมาอีกแล้ว แต่พระเจ้าสัญญาว่าพวกเขาจะได้กลับมา รับการฟื้นฟูและรับพระพร สิ่งนี้เป็นนัยบอกเราหรือไม่ว่าการคร่ำครวญของแม่ (และพ่อด้วย) ที่ในเบธเลเฮม ที่ลูกถูกฆ่าจะเป็นเวลาเพียงสั้นๆด้วย? และทั้งหมดนี้เป็นเพราะพระเยซูผู้เป็นอิสราเอลใหม่ ขณะที่ทารกพวกนี้ตายเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสต์ ผมเชื่อว่าเมื่อถึงเวลา พวกเขาจะฟื้นขึ้นมาเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์ และจะกลับมาด้วยสง่าราศี64 เฮโรดตายโดยต่อต้าน “กษัตริย์ของชาวยิว” ทารกพวกนี้ตายโดยแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับ “กษัตริย์ของชาวยิว” ปลายทางช่างแตกต่างกันสิ้นดี
ข้อคิดสุดท้ายเรื่องการทนทุกข์จาก โรม 8
ในบทเรียนนี้ เราได้เห็นว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญความทุกข์ และมีผลหลายแบบ ขณะที่เราอยากได้คำตอบง่ายๆในเรื่องความทุกข์ (คำตอบแบบที่พวกสาวกอยากได้ในยอห์น 9 หรือจากเพื่อนๆของโยบ) แต่คำตอบแบบนั้นหาไม่ได้ เป็นเวลาหลายปีกว่าชายตาบอดแต่กำเนิดจะรู้สาเหตุของความทุกข์ที่เขาเผชิญ และเชื่อว่าเขาคิดว่ามันคุ้มค่า โยบไม่ได้รับคำตอบจากความทุกข์ของท่าน ท่านแค่ถูกเตือนว่าพระเจ้าคือผู้ใด แค่นั้นก็เพียงพอ ขณะที่ยังหาคำตอบง่ายๆสำหรับคำถามเรื่องความทุกข์ไม่ได้ แต่มีความมั่นใจบางประการที่ทำให้เราอดทนได้ในความเชื่อ เพื่อจะสรุปเรื่องความมั่นใจนี้ ผมขอให้เรากลับไปที่โรม 8
(1) การทนทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในชีวิตมนุษย์ (โรม 8:18-25) ใน 1โครินธ์ 10 ตามที่ อ.เปาโลเขียน:
ไม่มีการทดลองใดๆเกิดขึ้นกับท่าน นอกเหนือจากการทดลองซึ่งเคยเกิดกับมนุษย์ทั้งหลาย พระเจ้าทรงสัตย์ธรรม พระองค์จะไม่ทรงให้ท่านต้องถูกทดลองเกินกว่าที่ท่านจะทนได้ และเมื่อท่านถูกทดลองนั้น พระองค์จะทรงโปรดให้ท่านมีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ด้วย เพื่อท่านจะมีกำลังทนได้ (1โครินธ์ 10:13)
การมีชีวิตอยู่ในโลกที่เสื่อมสลายนี้แปลว่าเราต้องเผชิญกับผลของความเสื่อมด้วย ทำให้ความทุกข์กลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต ไม่ใช่เพราะเป็นคริสเตียน แต่ในฐานะมนุษย์
(2) องค์พระเยซูคริสต์ทรงสถิตกับเราเสมอโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งประทานความมั่นใจให้เราว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้า และมีความหวังใจในชีวิตนิรันดร์ พระองค์ทรงสื่อสารแทนเราเมื่อเป็นทุกข์หนัก พระเยซูให้ความมั่นใจว่าจะทรงอยู่กับเราเสมอจนกว่าจะสิ้นยุค (มัทธิว 28:20) พระองค์ตรัสว่าจะไม่ละหรือทอดทิ้งเราเลย (ฮีบรู 13:5) เราจะไม่มีวันอยู่ตามลำพังในท่ามกลางความทุกข์ ที่จริงแล้วพระองค์ดึงเราให้เข้าใกล้โดยผ่านความทุกข์ (ดูสดุดี 73:21-28)
(3) คริสเตียนต้องมั่นใจว่าความทุกข์ใดที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมาจากพระหัตถ์แห่งความรักของพระเจ้าที่มีต่อพวกเขา เพื่อให้เกิดผลดี และเพื่อพระสิริของพระองค์ :
เรารู้ว่า พระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง คือคนทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์ เพราะว่าผู้หนึ่งผู้ใดที่พระองค์ได้ทรงทราบอยู่แล้ว ผู้นั้นพระองค์ได้ทรงตั้งไว้ให้เป็นตามลักษณะพระฉาย แห่งพระบุตรของพระองค์ เพื่อพระบุตรนั้นจะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพวกพี่น้องเป็นอันมาก และบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงตั้งไว้นั้น พระองค์ได้ทรงเรียกมาด้วย และผู้ที่พระองค์ได้ทรงเรียกมานั้น พระองค์ทรงโปรดให้เป็นผู้ชอบธรรม และผู้ที่พระองค์ทรงโปรดให้เป็นผู้ชอบธรรม พระองค์ก็ทรงโปรดให้มีศักดิ์ศรีด้วย (โรม 8:28-30)
(4) เราสามารถเผชิญความทุกข์อย่างผู้มีชัยชนะ โดยรับรู้ความจริงว่าพระคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดของเรา ได้ทนทุกข์เพื่อเรา เพื่อให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์:
ถ้าเช่นนั้นเราจะว่าอย่างไร ถ้าพระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเรา ใครจะขัดขวางเรา พระองค์ผู้มิได้ทรงหวงพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ แต่ได้ทรงโปรดประทานพระบุตรนั้นเพื่อประโยชน์แก่เรา ถ้าเช่นนั้นพระองค์จะไม่ทรงโปรดประทานสิ่งสารพัดให้เราทั้งหลาย ด้วยกันกับพระบุตรนั้นหรือ ใครจะฟ้องคนเหล่านั้นที่พระเจ้าได้ทรงเลือกไว้ พระเจ้าทรงโปรดให้พ้นโทษแล้ว ใครเล่าจะเป็นผู้ปรับโทษอีก พระเยซูคริสต์น่ะหรือ ผู้ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว และยิ่งกว่านั้นอีกได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย ทรงสถิต ณ เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า และทรงอธิษฐานขอเพื่อเราทั้งหลายด้วย แล้วใครจะให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระคริสต์ได้เล่า จะเป็นความทุกข์ หรือความยากลำบาก หรือการเคี่ยวเข็ญ หรือการกันดารอาหาร หรือการเปลือยกาย หรือการถูกโพยภัย หรือการถูกคมดาบหรือ ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า เพราะเห็นแก่พระองค์ ข้าพระองค์จึงถูกประหารวันยังค่ำ และนับว่าเป็นแกะสำหรับจะเอาไปฆ่า แต่ว่าในเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ เรามีชัยเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ได้ทรงรักเราทั้งหลาย เพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า แม้ความตาย หรือชีวิต หรือบรรดาทูตสวรรค์ หรือเทพเจ้า หรือสิ่งซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนี้ หรือสิ่งซึ่งจะมีในภายหน้า หรือฤทธิ์เดชทั้งหลาย หรือซึ่งสูง หรือซึ่งลึก หรือสิ่งใดๆอื่นที่ได้ทรงสร้างแล้วนั้น จะไม่สามารถกระทำให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ (โรม 8:31-39)
สรรเสริญพระเจ้าที่เรามีพระบิดาที่รักเรา และทรงครอบครองอยู่ ผู้อนุญาตให้เราผ่านความทุกข์เพื่อผลดีของเรา และเพื่อพระสิริของพระองค์ !
โดย : Robert L (Bob) Deffinbaugh
ได้รับอนุญาตและเป็นลิขสิทธิของ https://bible.org/
แปล : อรอวล ระงับภัย (Church of Joy)
47 บทเรียนต่อเนื่องบทนี้ปรับจากต้นฉบับเดิมของพระกิตติคุณมัทธิวบทเรียนที่ 3 จัดทำโดย อ. Robert L. Deffinbaugh วันที่ 2 มีนาคม 2003
48ผมเพิ่มพระวจนะข้อ 3-15 เพื่อให้ง่ายต่อการดูบริบท
49 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.
50 ผมมีประสบการณ์ในประเทศอินเดียที่ช่วยให้เข้าใจว่าทำไมหลายคนมองคนตาบอดว่าไร้สมรรถภาพ ตอนเข้าประเทศอินเดียพร้อมกับเพื่อนตาบอดอีกคน เคร็ก เนลสัน เราถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสอบถาม เมื่อเห็นว่าเพื่อนของผมพิการ เขาหันมาที่ผมแทน ถามว่า “เขาป่วยเหรอ?” เพื่อนผมตอบว่า “ผมไม่ได้ป่วย ผมแค่มองไม่เห็น” พอได้ยิน เจ้าหน้าที่คนนั้นไม่ยอมพูดกับเพื่อนผมเลย พูดกับผมแทน เหมือนกับเพื่อนผมไม่มีตัวตน จึงไม่น่าประหลาดใจที่ขอทานพิการนอกพระวิหาร (กิจการ 3) เรียกร้องอยากได้บางสิ่งเมื่อเขารู้สึกว่าเปโตรและยอห์นมองมา
51ชายคนนี้ตาบอดมาตั้งแต่เกิด ดังนั้นเรื่องทำบาปคงเป็นไปได้ยาก แต่กลับต้องรู้สึกว่าที่ตาบอดเป็นเพราะพระเจ้าลงโทษ
52 ดูลูกา 4:18-19
53 ดูตัวอย่างที่พระเยซูรักษาชายพิการที่สระเบธซาธา พระองค์กลับไปพบเขาที่พระวิหาร ตรัสสั่งว่า “นี่แน่ะ เจ้าหายโรคแล้ว อย่าทำบาปอีก มิฉะนั้นเหตุร้ายกว่านั้นจะเกิดกับเจ้า” (ยอห์น 5:14)
54 โยเซฟแกล้งทำเป็นดุดัน (ปฐมกาล 42:7) เพราะเขาแอบไปร้องไห้เมื่ออยู่ลำพัง (42:24; 43:30)
55ใน 2โครินธ์ 1:3-7 ด้วยที่ อ.เปาโลสอนว่าการเล้าโลมใจที่เราได้รับเมื่อผจญความทุกข์ทำให้เราสามารถไปเล้าโลมใจผู้อื่นในยามที่พวกเขาทุกข์ได้
56 อย่าลืมว่าความตายของพวกปุโรหิตอาจเกี่ยวข้องกับคำแช่งสาปของเอลีใน 1 ซามูเอล 2:27-36
57ในปฐมกาล อับราฮัมคัดค้านพระเจ้าแทนผู้ชอบธรรม ในโยนาห์ พระเจ้าทรงปกป้อง “พวกไร้เดียงสา” เช่นเด็กๆและสัตว์เลี้ยง
58 ดูอพยพ 34:6 เนหะมีย์ 9:17, 31; สดุดี 103.8; 111:14; 112:4; 116:5
59 สิ่งหนึ่งที่พวกคิดว่าตนเองชอบธรรมเกลียดชังคือพระคุณ
60 ผู้อ่านอาจจะสังเกตว่าผมใช้คำว่า “ไร้เดียงสา” แทนคำว่าผู้ชอบธรรมตามที่อับราฮัมใช้ในปฐมกาล 18:23 เพราะสถานการณ์นี้แตกต่างจากสถานการณ์ในโสดมโกโมราห์ แต่ก็มีส่วนคล้าย
61 จาก Walvoord, J. F. Zuck, R. B., & Dallas Theological Seminary. 1983-c1985. The Bible Knowledge Commentary: An Exposition of the Scriptures. Victor Books: Wheaton, IL. Emphasis mine.
62 Ibid.
63 Ibid.
64 ข้อสรุปนี้ใกล้เคียงกับที่ผมเข้าใจว่าทารกที่ตายจะได้ไปสวรรค์ มุมมองที่ผมพูดไว้อย่างละเอียดในบทเรียน 2ซามูเอล 12