“เมื่อคุณให้อภัย คุณไม่ได้เปลี่ยนอดีต แต่จงแน่ใจเถิดว่า คุณได้เปลี่ยนอนาคต!”
(When you forgive, you in no way change The past but you sure do change the future.)
ใคร ๆ ก็อยากได้ (Get) แต่มีน้อยคนมักที่จะยอมให้ (Give)
คนที่เอาแต่ได้ เขาเรียกว่า “เด็ก” (ที่ยังไม่โต)
คนที่รู้จักให้ เขาเรียกว่า “ผู้ใหญ่” (หรือคนที่โตแล้ว)
คนที่เอาแต่ได้ มักเป็นคนที่ไร้วุฒิภาวะ
แต่คนที่รู้จักให้ ถือว่าเป็นคนที่มีวุฒิภาวะ!
ดังนั้น หากเราอยากเป็น “ผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ” ก็ขอให้เราเป็นคนที่เต็มใจให้อยู่เสมอ ไม่ว่าให้มากหรือให้น้อย และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นก็ขอให้เราเป็นผู้ให้ด้วยความรัก และการให้ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในความ สัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็คือ การให้อภัย! (Forgiveness)
เพราะในส่วนลึกของหัวใจมนุษย์ เราทุกคนต่างก็ปรารถนาที่จะได้รับการให้อภัยจากผู้อื่นทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่เราทำผิดต่อเขา
ด้วยเหตุนี้ ในงานศพของคนไทยเรา จึงมักจะเป็นธรรมเนียมประเพณีที่เราจะไปรดน้ำศพผู้ที่เสียชีวิตไป โดยที่ผู้ตายยื่นมือออกมารับการรดน้ำจากผู้มาร่วมงาน ทั้งเป็นเครื่องหมายแห่งการอาลัยและการอโหสิกรรมให้อภัยแก่กันและกัน เพื่อว่าผู้ที่จะตายไปแล้วจะจากไปอย่างไม่มีอะไรติดค้าง ถือว่า ได้ลืม (Forget) ในสิ่งที่เคยล่วงเกินต่อกันไปหมดแล้ว!
การให้อภัยหรือการอโหสิกรรมนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด !
วันนี้ ยังมีใครที่คุณเกลียดโกรธเขา ชนิดที่คนไทยเรียกว่า “ตายแล้วไม่เผาผี” กันเลยบ้างเลยหรือไม่?”
หากมี ขอให้คุณยุติการกระทำเช่นนั้นโดยด่วน เพราะว่า การเก็บความโกรธเกลียดหรือความแค้นขมขื่นเหล่านั้นไว้จะเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้คุณเองกลายเป็นผีก่อนคนที่คุณเกลียดโกรธ!
แต่การให้อภัยหรือการอโหสิกรรมนี้ จะเป็นตัวที่ทำให้เราเป็นอิสระจากคุกแห่งความขมขื่นใจและมีชีวิตปลอดโปร่งโล่งใจ มีความสุขกับชีวิตและตายช้าลง
ดังนั้น จงเลือกเองนะครับว่า คุณจะตายเร็วหรือตายช้า
…และการให้อภัยจะเป็นตัววัดชะตาของคุณเอง!
ธงชัย ประดับชนานุรัตน์–
twitter.com/thongchaibsc, facebook.com/thongchaibsc, twitter.com/ lifeanswer,